วันศุกร์ที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2553

โรงเรียนอนุบาลในหมู่บ้าน
     
 ในหมู่บ้านของแม่มีที่รับสอนหนังสือเด็กเล็กก่อนเข้าเรียนภาคบังคับในวัยเจ็ดขวบ เราจะเรียกกันว่าโรงเรียนบ้านพี่ผา(บ้านครูผา) พี่ผาที่กล่าวถึงเป็นหญิงสาว รูปร่างหน้าตาสวยงาม มีกิริยามารยาทเรียบร้อย เป็นคนดีและเป็นที่ชื่นชมของคนทั่วไปทั้งหมู่บ้าน พ่อแม่ของเด็กๆ ในหมู่บ้าน เวลาสั่งสอนลูกผู้หญิงก็จะยกพี่ผาให้เป็นตัวอย่างที่ดีของเด็กๆ
          พี่ผามีความรู้สูงกว่าทุกๆ คนในหมู่บ้าน (ในเวลานั้น) บ้านพี่ผามีฐานะดี มีบ้านทรงไทยแบบเก่า ใต้ถุนสูงพื้นบ้านเป็นไม้กระดานเนื้อแข็งแผ่นกว้างมาก แต่ละแผ่นกว้างประมาณ 15 นิ้ว ฝาบ้านหน้าต่างและประตูแกะเข้าลิ่ม หน้าต่างแคบแต่สูงใช้ไม้แผ่นสวย มีห้องหลายห้อง มีห้องโถงกลางบ้าน มีนอกชานบ้าน 
                                                                                                     
        สภาพโรงเรียนอนุบาลบ้านป้าผาในปัจจุบันน้ำท่วมผุพังไม่ใช้แล้ว 09/10/50
  
         ส่วนที่เป็นโรงเรียนใช้พื้นใต้ถุนบ้านทรงไทยนั่นเองพื้นเป็นดินทราย เนื้อดินแข็งและแน่น โดยใช้ไม้กระดานแผ่นโตๆ ไม้กระดานเป็นไม้เนื้อแข็งกว้างมาก ประมาณ 15 - 20 นิ้ว น่าจะได้ ใช้ไม้นี้วางแผ่นเดียวตั้งสลับบนล่าง สำหรับนั่ง 1 แผ่น สำหรับวางหนังสือและกระดานชะนวนเขียนหนังสือ 1 แผ่น เกาะกับเสาเต็มใต้ถุน ใช้เนื้อที่โรงเรียนกว้างยาวประมาณช่วง 2 ห้องของตัวบ้าน
          พี่ผาเปิดสอนเด็กๆ ด้วยว่าในสมัยนั้นไม่นิยมให้ลูกผู้หญิงไปทำงานนอกบ้าน พี่ผาจึงเปิดสอนเด็กอยู่ที่บ้าน มีเด็กๆ จากหมู่บ้านอื่นๆ และจากตลาดมาเรียนกันหลายคน ทุกคนที่จะไปบ้านหรือโรงเรียนบ้านพี่ผา ก็จะต้องเดินผ่านบ้านแม่ทุกเช้าและเย็น อย่างที่เคยเล่าตอนแม่ยังเล็กแต่ละบ้านในหมู่บ้านยังไม่มีบ้านหลังใดเลยที่ล้อมรั้วบ้าน เรียกว่าเดินผ่านบันไดบ้านเลยทีเดียว โดยมีพวกผู้ใหญ่เดินส่ง เดินรับกันทุกเช้าเย็น แม่เรียกว่าเดิน คือ เดินกันจริงๆ (รถมอเตอร์ไซยังไม่มี จักรยานก็ยังไม่มีใช้กัน) เมื่อแม่พอจะไปโรงเรียนได้ ยายก็ให้ไป แม่จะเดินตามเด็กๆ พวกนั้นทั้งไปและกลับ โดยที่ยายไม่ต้องไปส่งหรือไปรับเนื่องจากเป็นทางผ่านที่เด็กอื่นๆ จะต้องผ่านเพื่อไปโรงเรียนอยู่แล้ว
            แม่ก็จำไม่ได้ว่าโรงเรียนบ้านพี่ผา มีขึ้นตั้งแต่เมื่อไรและเก็บค่าเล่าเรียนเด็กๆ คนละกี่บาท  ต่อเดือน (จำได้แต่ตอนที่ลูกๆ ของแม่ไปเรียน คนละ 30 บาท ต่อเดือน) แม่พอจะจำได้ว่าแม่มีเพื่อนสนิท อยู่คนหนึ่ง ชื่อ สถาพร นมพุก จำได้ว่าเพื่อนคนนี้สวยและมีฐานะค่อนข้างดี พ่อทำงานน่าจะตำแหน่งดีในสำนักงานชลประทานท่าหลวง มีเพื่อนมาจากชลประทาน 2 คนที่สนิทกัน คือ สถาพร นมพุก และแต๋ว ศรีวิไลย หอมถวิล เวลาเช้าจะขึ้นบันไดมาเรียกและรอไปโรงเรียนพร้อมกันทุกวัน และต่อมาได้เข้าเรียนชั้นประถมศึกษาด้วยกัน จนถึง ป.3 สถาพรย้ายตามพ่อไปจังหวัดอื่น เคยสอบถามจากแต๋ว แต่เราเป็นเด็กจึงไม่รู้ว่าย้ายไปที่ไหน จากนั้นจนบัดนี้เป็นเวลา 45 ปีแล้ว ยังนึกถึงเพื่อนคนนี้ได้ดี ไม่เคยลืมเหตุการณ์ในช่วงนี้เลย เป็นความประทับใจและความรู้สึกผูกพัน ในช่วงเรียนอยู่โรงเรียนบ้านพี่ผา

         แม่ไปโรงเรียนโดยมีกระเป๋าหรือถุงผ้า 1 ใบ สำหรับใส่กระดานชนวน 1 แผ่น มีดินสอหินอีก1 แท่ง
กระดานชนวนใช้เขียนหนังสือ ด้วยดินสอหิน แม่ก็จำไม่ได้หรอกว่าราคาดินสอหินนั้น 2 หรือ 3 แท่งต่อ 1 สลึง ดินสอหินเป็นแท่งกลมๆ หรือสี่เหลี่ยม ขนาด เล็กกว่าดินสอดำ มีความยาว ขนาดปากกาทั่วๆไปในปัจจุบัน และมีกระดาษเขียนยี่ห้อ หรือเขียนอะไรแม่ก็จำไม่ได้แปะที่ดินสอหินด้วย
(ดินสอหินเป็นแท่งๆ ยาวขนาดดินสอดำปัจจุบัน แต่แท่งเล็กกว่า ขนาดปลายด้ามพู่กันเบอร์เล็กๆ นั้นแหละ) เวลาเหลาดินสอหิน ก็จะต้องเหลา กับก้อนหินลับมีด ที่โรงเรียน จะมีแท่งหิน ลับมีดมีลักษณะ เป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า สูงขนาด 1 ฝ่ามือมีน้ำหนักมากเด็กยกเล่นไม่ได้ วางไว้และมีถังใส่น้ำวางไว้คู่กับการฝนดินสอกับหิน จะต้องค่อยๆ ราดน้ำล้างขี้หิน ถ้าใช้ดินสอในสมัยนี้ โดยใช้กบเหลาดินสอเราก็จะเรียกว่า ขี้กบ ถ้าเป็นหินก็ คงเรียกว่าขี้หิน ฝนแหลมแล้วก็มาเขียน ถ้าดินสอหินทื่ออีก ก็ออกไปลับอีก ไอ้เจ้าดินสอหินนี้อย่าให้ตกเชียวนะ ถ้าตกเป็นหักทันที

กระดานชะนวน

  
หินลับมีด

        แม่ไม่เคยมีดินสอยาวๆ เกิน 2 วันเลย มีเหตุเป็นอันต้องตกหักทุกที ตอนเช้ามาโรงเรียนมีดินสอมาแท่งเดียว ขากลับมีกลับตั้งหลายแท่ง เนื่องจากดินสอหัก เด็กบางคนทิ้งเลย แม่ก็จะเก็บไว้ใช้ ดินสอหินเขียนในกระดานชนวน
ของครูเขียนบนกระดานดำใช้ช็อก (มีแต่สีขาว) หรือเขียนตามคำบอกของครู เขียนเสร็จก็จะเอาไปส่งครู กระดานชนวนวางเรียงกันให้ครูตรวจนั้น ซ้อนกันเป็นตั้งๆ เลย ถ้าทำผิด หรือต้องแก้ วิธีลบกระดานชนวนก็คือล้างด้วยน้ำ แต่เด็กๆ บางคน (เช่น เด็กผู้ชาย) ก็จะแอบใช้มือจุ่มน้ำลายถูก็มี เมื่อครูพี่ผาเห็นก็จะถูกดุ
เด็กๆ จะเรียกที่ผาว่าครูพี่ผา ตอนกลางวันเด็กๆ ก็จะกินข้าวที่ห่อใส่กล่องหรือใส่ปิ่นโตมาจากบ้าน ของแม่ยายซื้อปิ่นโตเถาเล็กให้ 1 เถา มี 3 ชั้นปิ่นโตนี้เก็บร้กษาไว้เดี๋ยวนี้ยังอยู่เลย ปี 2539 (มาหายไปเมื่อถูกขโมยงัดบ้าน ปี พ.ศ.2541)
          ต่อมามีปัญหาเรื่องการรับประทานอาหารกลางวันที่ต่างคนต่างเอามา อาหารจะหลากหลายไม่เหมือนกัน เด็กๆ บางคนจะแย่งหรือทะเลาะกัน ทางโรงเรียนบ้านพี่ผา จึงจัดอาหารหลางวันให้เด็กทานโดยเก็บเงินเพิ่มอีกเล็กน้อย (หลังแม่ออกมาแล้ว10 ปีเศษ) เด็กเล็กๆ นี้เรียนบ้าง เล่นบ้าง หลังพักทานข้าวกลางวันแล้ว ตอนบ่ายจะถูกบังคับให้นอนกันทุกคน จะหลับหรือไม่หลับก็ตาม ประมาณบ่าย 2 โมง ก็จะตื่น  ครูผู้สอนก็จะล้างหน้าประแป้งให้หน้าขาวกันทุกคน เพื่อรอเวลาพ่อ แม่ มารับกลับบ้าน แต่จะมีผู้ช่วยสอนหนึ่งคน เดินรับส่งเด็กตามทางจนถึงตลาดท่าหลวงทุกวัน ถ้าเด็กคนใดอยู่เส้นทางสายนี้ ผู้ใหญ่ก็ไม่ต้องไปรับ-ไปส่ง ถ้าอยู่เส้นทางสายอื่นก็ต้องไปรับ-ส่งเอง (แต่สายไหนก็ตามต้องผ่านบ้านแม่)
         โรงเรียนบ้านพี่ผานี้อยู่สอนเด็กมาจนกระทั่งทุกวันนี้ แม่เรียนที่นี้ และลูกๆ ของแม่ทั้ง 3 คน ก็เรียนกับ ครูป้าผากันทั้งนั้น เมื่อแม่เรียนโรงเรียนบ้านครูผานั้นเรียนจนถึงหนังสือแบบเรียนเร็วซึ่งจะเรียกกันติดปากว่าหนังสือสระอะจริงแล้วคือหนังสือแบบเรียนเร็วนั่นเอง หนังสือแบบเรียนเร็วนี้ทำให้เด็กๆ รุ่นเก่าอ่านหนังสือ
ได้แตกฉานดี รู้จักประสมคำ ประสมสระ สะกดคำจากหนังสือได้อย่างดี   ผิดกับการเรียนการสอนในสมัยปัจจุบันเด็กส่วนมากจะอ่านและเขียนหนังสือได้ไม่แตกฉาน