วันจันทร์ที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2561

เล่าไว้ก่อนที่จะลืม (ต่อ)



บทนำ ครั้งที่ ๒
 
        เรื่องราวของคนทุกคนในแต่ละวันที่ผ่านไป ล้วนมีความหมาย บ้างก็เป็นความทรงจำที่ดี บ้างก็เป็นเรื่องที่ไม่อยากจำ ในแต่ละบท แต่ละตอนของชีวิต อาจเป็นบทเรียนสำหรับวันข้างหน้า เป็นทั้งยาชูกำลัง และเป็นภูมิคุ้มกันของชีวิต
ความสุขเล็ก ๆ น้อย ๆ เรามักจะหลงลืมไปเพราะคนเราต้องเจอะเจอกับสิ่งใหม่ๆ ผู้คนใหม่ๆ อยู่ทุกเมื่อเชื่อวันจนไม่มีเวลาที่จะนึกย้อนไปหาวันแห่งความสุขเมื่อครั้งยังเป็นเด็ก หรือคิดทบทวนถึงเรื่องราวต่างๆในอดีตที่ผ่านมาได้ก็ต่อเมื่อ เป็นวันที่อยู่คนเดียวว่างและ เป็นช่วงเวลาที่มีความสุข ทำให้ย้อนกลับไปคิดถึงความสุข หรือเหตุการณ์ที่ผ่านมาในอดีต หรือเมื่อต้องเจอะเจอเหตุการณ์ที่ละม้ายคล้ายกับที่เคยเจอเคยเห็นมาก่อน เช่น ได้กินอาหารรสชาติเดียวกับที่แม่เคยทำ เคยกิน ได้กลับไปเห็นสถานที่คุ้นเคยตอนที่เป็นเด็กและเติบโตมา เป็นต้น
        แต่หลายครั้งที่นึกไม่ออกว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตอนนั้นเป็นเช่นไร ช่วงเวลาไหน จึงเขียน blog นี้ไว้เพื่อเก็บความทรงจำที่ดี เกี่ยวกับคนที่เรารักเรารู้จัก บ้านที่เราเกิดและเติบโตมา รวมทั้งวิถีชีวิตและขนบธรรมเนียมประเพณีของชุมชน หมู่บ้านและประเทศของเราตามที่เรารู้จักและเข้าใจในสมัยที่เราเป็นเด็กและเติบโตมา เก็บเอาไว้ให้ลูกหลานอ่าน เมื่อผู้เขียนไม่อยู่เล่าให้ฟังได้แล้ว ...........
 
 
 
                                                                                เสาวลักษณ์
                                                                        ๒๓ มีนาคม ๒๕๕๗
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
ตอบกระทู้ในเวปก๊วนเกษตร
 
 
« เมื่อ: กุมภาพันธ์ 28, 2012, 08:49:41 PM »
eddy8225  มาเข้าคำถามกันเลยดีกว่าครับ  ผมอยากถามว่าเพื่อนสมาชิกในก๊วนว่า ท่านชอบอ่านหนังสือแนวไหน เพราะอะไร  ถ้าเป็นไปได้กรุณาระบุชื่อหนังสือเล่มโปรดของท่านด้วย จะคัดเลือกผู้โชคดีจากการจับฉลากครับ
ผู้โชคดีจะได้รับต้นจิงจู้ฉ่ายกอใหญ่ๆ  ผมให้กระถางใหญ่ที่สุดในรูป ปลูกในกระถาง 12 นิ้ว ส่งตรงถึงบ้านท่านเลยครับ
 ยังสามารถร่วมกิจกรรมท่านชอบอ่านหนังสือแนวไหน เพราะอะไร   ได้จนถึงค่ำคืนวันอาทิตย์ที่ 4 มีนาคม ขอจับฉลากและประกาศรายชื่อในวันจันทร์ที่ 5 มีนาคมนี้ ขอบคุณทุกท่านที่
ร่วมกิจกรรมครับ 
 
ป้าเสาว์ « ตอบ #12 เมื่อ: มีนาคม 02, 2012, 10:12:23 PM »  (ตอบกระทู้ใน เวปก๊วนเกษตร)
     
      ขอมีส่วนร่วมกิจกรรมด้วยค่ะ (แต่ไม่ร่วมลุ้น จิงจู้ฉ่าย) ตั้งแต่ป้าจำความได้
(วันนี้เข้า ๖๐ แล้วค่ะ) อ่านทุกอย่างที่ขวางหน้า ตอนเด็กๆ บ้านอยู่ห่างไกลความเจริญมาก ตลาดเล็กๆใกล้บ้านไม่มีร้านขายหนังสือ ป้าเป็นเด็กต้องช่วยแม่ติดไฟเตาถ่านสำหรับหุงข้าวและทำกับข้าว โดยใช้ถุงกระดาษเป็นเชื้อติดไฟ (ตอนนั้นยังไม่มีถุงพลาสติกใช้) ก่อนใช้ไม้ขีดติดไฟ ก็จะค่อยๆ แกะถุงกระดาษให้ดีไม่ให้ขาด อ่านตัวอักษรทุกตัว ทำแบบนี้ทุกวัน เจอกระดาษ นสพ.ที่ห่อของมาก็ค่อยๆ ใช้มือรีดให้เรียบแล้วอ่านทุกตัวอักษร คือหาหนังสืออ่านยากมาก
        พ่อของป้าก็ชอบอ่านหนังสือ พ่อมีหนังสือนิยายอยู่ชุดหนึ่ง เสียดายจำชื่อเรื่องได้ถูกหรือเปล่าไม่แน่ใจ เป็นนิยายเก่าจ๊ะน่าจะเรื่อง เจ้าหญิงแสนหวีหรืออะไรเนี่ย
ไม่แน่ใจป้าก็อ่านทุกเล่ม เมื่อเข้าโรงเรียนชั้นประถม ที่โรงเรียนมีห้องสมุดเล็กๆ มีหนังสือไม่เยอะค่ะ พอพักกลางวันป้าก็รีบจัดการอาหารอย่างเร็วแล้ว เข้าห้องสมุดอ่านหนังสือ หรือถ้ามีชั่วโมงไหนว่าง ก็เข้าห้องสมุดอ่านหนังสือ เป็นอย่างนี้ทุกวันอ่านหนังสือจนหมดทุกเล่มค่ะ และพ่อยังให้เอาหนังสือนิยายมาบริจาคห้องสมุดด้วยค่ะ จะบอกว่าชอบเล่มไหนมากที่สุดก็ตอบไม่ได้ เป็นเรื่องรักการอ่าน มากกว่าค่ะ
ที่บ้านมีหนังสือเก็บไว้เยอะมากนิยายก็ชอบอ่านมีบางเรื่องอ่านไม่เบื่อ อ่านซ้ำ แล้วซ้ำอีกได้ไม่เบื่อ
 
มีนักเขียนที่ชื่นชอบคือ
 
  - ทมยันตี (วิมล ศิริไพบูลย์)อ่านเกือบทุกเรื่องค่ะเช่น ดาวเรือง,ทวิภพ,พี่เลี้ยง ฯลฯ
  - ว.วินิจฉัยกุล (วินิตา ดิถียนต์) เรือนมยุรา
  - โสภาค สุวรรณ (รำไพพรรณ ศรีโสภาค) ลมหวน
  - สุทัศสา อ่อนค้อม  ชุดสัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม
  - ปองพล อดิเรกสาร เรื่องรัตนโกสินทร์
  - พนมเทียน (ฉัตรชัย วิเศษสุวรรณภูมิ) เพชรพระอุมา อ่านตั้งแต่ชุดแรกๆ จนถึง  
    ภาคสามของ  เพชรพระอุมา ตอน มงกุฎไพร ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2525 ถึง   
    พ.ศ. 2533 ต้องอ่านทีละตอนจากนิตยสารจักวาลปืนจนจบค่ะ
  - ลอรา อิงกัลส์ ไวลเดอร์  ชุดบ้านเล็กในป่าใหญ่
        ที่เขียนมาจะบอกว่าหนังสือที่อ่านแล้วประทับใจ จดจำและชอบมากที่สุดคือ ชุดบ้านเล็กในป่าใหญ่ ของ ลอรา อิงกัลส์ ไวลเดอร์  “ ที่เขียนเล่าเรื่องราวชีวิตและความเป็นอยู่ในครอบครัวเล็กๆ ทำให้มองเห็นภาพของประเทศสหรัฐอเมริกาในอีกมุมมองหนึ่งของยุคสมัยนั้นได้เป็นอย่างดี
        เคยได้รับรางวัลส่งเสริมการอ่าน จากห้องสมุดของบริษัทปูนซิเมนต์ไทยจํากัด ที่ท่าลานมาแล้วจากหัวข้อคล้ายๆ กลับคุณ eddy 8225 ค่ะ ชอบอ่านหนังสือเรื่องไหน  เพราะอะไร  ให้อธิบายด้วยให้เขียนอธิบาย อย่างน้อย 2 หน้ากระดาษนานมาแล้วค่ะ (ได้รับรางวันที่ ๒ เป็นคูปองเงินสดของสหกรณ์ปูนซีเมนต์ มูลค่า ๑,๕๐๐ บาท)
        ขอนอกเรื่องหน่อยคะ เอาเป็นว่าชอบการอ่านและการเขียนมาก แต่หลังจากประสบอุบัติเหตุ เมื่อหลายปีก่อน สมองซีกซ้ายช้ำมีเลือดคลั่ง มีผลให้ความทรงจำไม่ดี การอ่านและเขียนมีปัญหามาก ตอนนี้ก็ดีขึ้น 70-80 % แล้ว พิมพ์ไม่ค่อยไหวแล้วค่ะ ถ้าเขียนเองจะได้เร็วกว่า แต่ก็ยังมีปัญหาด้านการสะกดคำอยู่พอสมควร  ใช้พิมพ์ก็ไม่คล่องเพิ่งหัดพิมพ์ไม่กี่ปีนี้เอง เหนื่อยสายตาในการหาตัวอักษรในแป้นพิมพ์ค่ะ ที่เขียนแค่นี้ก็ใช้เวลาเป็น 2 วัน เมื่อก่อนเคยเขียน เรื่อง เล่าไว้ - ก่อนลืมเก็บไว้ให้ลูกหลานอ่าน โดนลูกๆ ล้อว่าแม่จะเขียนไว้แจกงานศพเหรอ ก็ใช้ความมานะพยายามเขียนเอาลงบล็อกไว้ด้วย
ถ้าสนใจเข้าไปอ่านและเป็นผู้ติดตามได้ค่ะที่  http://saosusuk-76.blogspot.com/
ขอบคุณทุกท่านที่อ่านค่ะ
(ต้องขออนุญาตกราบเรียนให้ทราบว่าการพิมพ์และใช้แป้นคีย์บอร์ดได้ช้ามาก
ต้องค่อยๆหาตัวอักษรทีละตัว และจึงกดแป้นทีละตัวกว่าจะพิมพ์เสร็จแต่ละประโยค ต้องใช้เวลานานมาก ตาก็ไม่ค่อยดีใส่ทั้งแว่นสายตา บางทีแถมด้วยแว่นขยาย ไม่เหมือนช่วยที่ไม่ต้องใช้แว่น (ก่อนเกิดอุบัติเหตุ)
จึงพิมพ์ผิดบ้างถูกบ้าง แก้แล้วแก้อีก บางครั้งต้องเรียบเรียงใหม่ เพื่อให้อ่านรู้เรื่อง)
 
 
8 มีนาคม 2557
 
       ไม่ได้เข้ามาเขียนเรื่องเล่า-ก่อนลืม เพิ่มเติมเสียนาน เนื่องจากมีภารกิจมากมายที่รัดตัว แล้วยังมีเรื่องเศร้าๆ ในครอบครัวของเราตามมาอีกด้วย
จนวันหนึ่งแอ๊ดลูกชายคนโต มานอนค้างที่บ้านเป็นครั้งที่สองในปีนี้ (๓๐ ธันวาคม ๒๕๕๖) เท่ากับต้นปี และปลายปี ซึ่งปกติจะมาพร้อมครอบครัวแบบวันเดียวกลับ คืนนั้นแม่ลูกจึงมีเวลานอนคุยกันถึงเรื่องราวต่างๆ ที่ผ่านมาอย่างเพริดเพลิน(ส่วนใหญ่ไม่ค่อยมีโอกาสได้คุยกัน ด้วยเรื่องราวเก่าๆกันเลย) คุยกันไปคุยกันมา แล้ว อยู่ๆลูกก็พูดขึ้นมาว่า แม่ทำไมไม่เขียนเรื่องราวเก่าๆลง blog ต่ออีกล่ะ
ตรงนี้แม่ก็แอบปลื้มอยู่เงียบๆ นะที่ลูกเขาสนใจอ่าน แต่ก็บอกกลับลูกไปว่า แม่ยังไม่มีอารมณ์ ที่อยากเขียน บวกกับยังนึกไม่ออกว่าจะเขียนเล่าเรื่องอะไรต่อดี ลูกชายนิ่งไปสักนิดแล้วบอกว่า แม่ทำไมไม่เขียนเรื่อง อ่างล้างตีน ล่ะ มันแปลกดีนะ แอ๊ดสงสัยตั้งแต่เด็กๆแล้วว่า ทำไมบ้านเราถึงไม่มีอ่างล้างตีน ในขณะที่ ทั้งหมู่บ้านเขามีอ่างล้างตีนกันทุกบ้าน (ก่อนอื่นต้องขอบอกคนอ่านก่อนจ้ะ เดี๋ยวจะว่าใช้คำว่าตีนไม่สุภาพ แต่จริงๆเป็นคำไทยโบราณ และเป็นคำศัพท์ที่เรียกกันอย่างนี้จริง ๆ) คราวนี้แม่เลยได้ไอเดียร์ ปิ๋ง... เรื่องที่จะเขียนขึ้นมาได้เลย
หลังจากนั้นก็เริ่มต้นค้นหาภาพบ้านหลังเก่า ที่แม่เกิดและโตมากับตา-ยายจำได้คลับคล้ายคลับคลาว่า แม่เคยถ่ายภาพตายืนถือกระถางต้นกล้วยไม้ที่กำลังออกดอกสวย อยู่บนบันไดตรงชานบ้าน ซึ่งน่าจะติดภาพอ่างล้างตีนที่แสนจะเก่าและโบราณมาก ที่เคยใช้เป็นประจำมาด้วย ในตอนนั้นเริ่มมีกล้องถ่ายรูปขาวดำแล้ว แม่หารูปตาจากอัลบั้มเก่าได้ แต่ไม่มีอ่างล้างตีนติดอยู่ในรูป เอ้ ! จะทำไงดีหนอที่จะหาภาพอ่างล้างเท้าเก่าๆ มาประกอบการเขียนจากไหนได้ดีนะ ลองสืบค้นข้อมูลหาจากกรูเกิล โอ? แทบไม่น่าเชื่อเลย มีเพียงภาพเดียวเอง และก็ไม่ถูกใจในรูปทรงอ่าง ไม่เหมือนที่เคยใช้คือน่าจะเป็นอ่างที่มีในช่วงที่ใกล้จะเลิกใช้อ่างล้างเท้ากันแล้ว จึงอยากได้ภาพอ่างใบเก่าที่เคยใช้มาเป็นภาพประกอบ ซึ่งในปัจจุบันนี้ไม่มีใครเขาใช้อ่างล้างเท้ากันแล้วจึงไม่มีใครอยากเก็บอ่างล้างเท้าไว้ หาในกรูเกิลก็มีแต่ภาพอ่างแช่เท้าสปาสำหรับทำสวยเท่านั้น
     
 
๑. อ่างแช่เท้าสปาสำหรับสุขภาพเท้าในปัจจุบัน ภาพจากกรูเกิล
๒. หาภาพอ่างล้างเท้าจากกรูเกิล ได้เพียงภาพเดียว
 
       แม่นึกไปนึกมา เอบ้านเก่าที่ท้ายวัดถลุงเหล็ก ที่ตาได้ขายไป คนที่ซื้อไว้ก็ยังอยู่และรู้จักกันดี แถมญาติที่มีศักดิ์เป็นพี่ (แต่อายุน้อยกว่า จึงเรียกแม่ว่าพี่) ก็เป็นเขยบ้านนี้อยู่ จึงต้องติดต่อหาญาติอีกคนเพื่อหาเบอร์โทรศัพท์ จนได้โทรพูดคุยกัน แล้วก็สอบถามถึงอ่างล้างเท้าใบเก่ายังอยู่ไหม ได้รับคำตอบว่ายังอยู่แต่ไม่ได้ใช้แล้วและยกไปวางไว้ตรงรั้วหลังบ้าน เลยบอกไปว่าอีก ๒ -๓ วันพี่มีธุระไปที่ ท่าลาน จะแวะเข้าไปหา (ดูอ่าง) วันนั้นเป็นวันจันทร์ที่ ๖ มกราคม ๒๕๕๗ ซึ่งวันพฤหัสบดี ที่ ๙ ม.ค. ๕๗ นี้จะต้องไปงานฌาปณกิจแม่เพื่อนที่ท่าลานอยู่แล้ว จะได้ถือโอกาสแวะไปดูและถ่ายภาพอ่างของจริงแท้ๆ ที่เคยใช้ในตอนเป็นเด็ก มาประกอบการเขียน ตั้งความหวังอย่างนี้จริงๆ ระหว่างรอที่จะเดินทางจึงไม่หาค้นข้อมูลอื่นๆ อีกเลย
       แต่แล้วก็ไม่ได้ดั่งหวัง วันที่ ๙ ม.ค. ๕๗ ออกเดินทางจากบ้านที่ ต.ย่านยาว อ.สามชุก จ.สุพรรณบุรี เวลา ๐๘.๕๐น.มาถึงวัดถลุงเหล็กที่ อ.ท่าเรือ จ.พระนคร
ศรีอยุธยา ประมาณห้าโมงเช้า ขับรถไปที่หมู่บ้านท้ายวัด บ้านและสถานที่เกิด และเติบโตจนมีครอบครัว และบ้านติดๆ กันอีกหลังที่ใช้ชีวิตหลังแยกบ้านที่ลูกๆ ทั้งสามคนก็เกิดและเติบโตที่นี่ จนลูกสาวคนเล็กอยู่ชั้นประถมปีที่ ๕ จึงย้ายไปซื้อร้านหนังสือ ที่ตลาดใหม่ท่าลานพร้อมกิจการร้านให้เช่าหนังสือ และขายหนังสือทุกชนิด หารายได้เพิ่มเติมจากงานที่พ่อของลูกๆทำอยู่
        ถึงบ้านเดิมเวลา ๑๑.๐๐ น.ไม่ได้เข้ามาหลายปี ทัศนวิสัยทุกอย่างเปลี่ยนหรือหายไป เช่นมะขามต้นใหญ่ขนาดหลายคนโอบกลางลานหมู่บ้าน ได้หายไปพร้อมกับบ้านพักครูที่ไม่มีคนอยู่ ได้ความว่าพายุฝนลมแรงพัดมะขามกิ่งใหญ่หัก หล่นทับ
บ้านพักครูพัง มะขามต้นใหญ่อายุกว่าร้อยปีก็ถึงคราวล้ม ส่วนมะขามต้นใหญ่กว่าสองคนโอบอีก ๒ ต้น ที่อยู่ติดบ้านตาและอีกต้นที่ติดครัวบ้านเราที่ตรงริมตลิ่งก็ถูกตัดไปเช่นกัน ถนนทางเข้าหมู่บ้านท้ายวัด ทางองค์การบริหารส่วนตำบลท่าหลวง ก็ทำเป็นถนนลาดปูนอย่างถาวร รถยนต์เข้าออกได้สะดวก ส่วนที่ยังอยู่ยืนยงคือต้นยางใหญ่ ยังยืนต้นอย่างสง่า เป็นแถวยาวอยู่ริมถนนทางเดินข้างวัด (ถนนเดิมเป็นดินทรายแน่น และมีเห็ดข้าวตอกขึ้นในฤดูฝน ถนนริมตลิ่งมีต้นยางที่แม่เขียนเล่าไว้ว่า เคยมาเก็บเห็ดเผาะกลับยาย)
        มาถึงบ้านเดิมทั้งสองหลัง มีการตั้งศาลพระภูมิกันใหม่ในวันนี้ เลยเป็นลูกช้างกับเขาด้วย โดยญาติเจ้าของบ้านจัดอาหารกลางวันให้ทาน แล้วจึงขอดูอ่าง โอยไม่ใช่อ่างเก่าที่เราเคยใช้นี่นา ยังไงก็ไม่ใช่จำภาพเก่าๆ ไม่ผิดแน่ ที่สอบถามมาบอกว่าเป็นอ่างเก่าที่อยู่ติดบ้านผิดหวังอย่างแรง ถามไปถามมาก็ไม่มีใครรู้ เลยกลับมาบ้านสุพรรณฯ แบบมึนๆ
        เมื่อกลับบ้านที่อยู่ปัจจุบันแล้ว นึกขึ้นได้ว่าในอีกหมู่บ้านห่างออกไปไม่กี่ซอยยังมีบ้านทรงไทยเก่าๆอยู่อีกหลายหลังน่าจะยังมีอ่างล้างเท้าแบบเดิมๆ  ให้เห็นได้บ้างน่ะ จึงชวนเพื่อนให้พาไป ก็ได้รูปมาอย่างที่เห็นนี่แหละ แต่ใจก็ยังนึกอยู่นะว่ายังไม่เก่ามากเหมือนที่แม่เคยใช้ เรียกว่าที่เห็นและถ่ายภาพมารวมทั้งภาพที่ได้ จากกรูเกิลเพียงหนึ่งเดียวก็ยังไม่เหมือน แต่รูปทรงคล้ายกับที่ได้ไปถ่ายรูปมา จึงต้องกลับ
มาค้นหาจากภาพถ่ายเก่าๆอีกครั้ง ค้นไปค้นมาเจอรูปที่ติดอ่างล้างเท้าของเก่าที่เคยใช้จริงๆ ถึงจะเห็นได้ไม่ทั้งหมดก็ดีใจแล้ว ที่ความทรงจำของเราถูกต้อง อ่างล้างตีน ที่เราเคยใช้มีรูปลักษณ์หรือรูปทรงไม่เหมือนของใคร จากภาพที่ได้มาทั้งหมด
       
 
 
 
 
 
 
 
 
    ภาพจากบ้านในซอยใกล้เคียงกัน ในปัจจุบัน บันไดจากภาพบนไมได้ใช้แล้วแต่ยังมีอ่างวางไว้ข้างบันไดเป็นบ้านคนรู้จักจ้า ในบ้านหลังเดียวกันมีบันได ๒ ด้าน ด้านนี้ยังใช้อ่างล้างเท้าอยู่
 
ภาพล่าง อ่างล้างเท้าบ้านนี้ยังใช้อยู่ค่ะเป็นบ้านชั้นเดียว  ๒ ภาพตัวบ้านเดียวกันค่ะ
 
 
 
อ่างบ้านนี้รุ่นใหม่ที่สุดแบบใกล้ปัจจุบัน
 
 
บ้านทรงไทยที่ยังพอมีอ่างล้างเท้าให้เห็นอยู่บ้าง
 
เกริ่นนำมาเยอะแล้ว คราวนี้ก็เล่าต่อเรื่องราวของการใช้และประโยชน์ของ อ่างล้างตีน กันเสียที
        เนื่องจากสมัยก่อนยังไม่มีการใส่รองเท้ากันอย่างในปัจจุบันนี้ (ไม่มีรองเท้า
จะใส่ด้วย) และถึงมีก็จะใส่รองเท้ากันไม่ค่อยเป็น ทุกคนจึงเดินเท้าเปล่ากันทั้งหมู่บ้าน เนื่องมาจากประเทศไทยของเราตั้งอยู่ในภูมิภาคอากาศที่ร้อนชื้น พื้นดินเปียกชุ่มอยู่เสมอ และมีฝนตกมากบางครั้งเกิดน้ำท่วมบ้านเรือนของประชาชน ปลูกสร้างด้วยไม้ โดยยกพื้นขึ้นสูงมีบันไดขึ้นไปบนบ้าน ดังนั้นทุกคนต้องล้างเท้าก่อนขึ้นบ้านทุกครั้ง เวลาที่ไปบ้านใคร หรือขึ้นไปบ้านใครก็ต้องล้างเท้าก่อนเสมอ
วิธีการล้างเท้า คือการก้าวเท้าลงไปยืนอยู่ตรงก้อนหินตรงกลางอ่าง (ดูรูป) แล้วใช้เท้าวักน้ำขึ้นมาทีละข้างแล้วถูๆเท้า เพื่อให้ดินหรืออะไรที่ติดเท้าอยู่หลุดจากเท้าเรา เมื่อสะอาดดีแล้ว ก้าวเท้าออกมาจากอ่าง เช็ดเท้ากับผ้าขี้ริ้วอีกครั้งก่อนก้าวขึ้นบ้าน
การใช้อ่างล้างเท้าจะต้องหมั่นล้างทำความสะอาดอ่าง อย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง ไม่เช่นนั้นน้ำ ในอ่างจะสกปรกส่งกลิ่นเหม็นแถมมีตะไคร่น้ำสีเขียวๆ ขึ้นติดตามขอบอ่าง ตรงที่มีน้ำ เวลาจะล้างทำความสะอาดเปลี่ยนน้ำในอ่าง ก็จะใช้กะลาวิดเอาน้ำออก (อ่างสมัยนั้นไม่มีจุกสำหรับปล่อยน้ำทิ้ง) แล้วใช้ซังข้าวโพดหรือกาบมะพร้าวมาขัดตะไคร่น้ำสีเขียวๆ ที่ติดตามขอบอ่างออก หรือถ้ามีแปรงทองเหลืองก็ใช้ขัด
จากนั้นค่อยหิ้วน้ำใส่ถังมาเทใส่ลงไปให้เต็ม หรือท่วมหินตรงกลาง แม่ไม่ชอบการล้างอ่างเลยทั้งเหม็นและสกปรก ถ้าต้องล้างก็จะใช้วิธีหาถังเล็กๆ ค่อยๆวิดน้ำออกมาไม่ให้น้ำถูกมือไม่ยอมขัดตะไคร่น้ำ วิดน้ำเท่าที่วิดได้แล้วหิ้วน้ำมาเทให้ท่วมจนล้นๆๆๆ ไล่น้ำที่ขุ่นออกไปจนน้ำไสแล้วจึงพอ
        จำได้ว่าตอนเป็นเด็กที่โรงเรียนก็มีอ่างขนาดใหญ่ไว้ให้เด็กนักเรียนล้างเท้าก่อนขึ้นบันไดไปชั้นเรียน อ่างที่โรงเรียนอยู่มาจนถึงรุ่นลูกๆ
ที่เล่ามานี้คือสาเหตุที่เมื่อแม่แต่งงานมีครอบครัว และแยกมาปลูกบ้านอยู่ใกล้ๆ บ้านตา-ยายแล้ว บ้านเราจึงเป็นบ้านหลังเดียวในหมู่บ้านท้ายวัด ที่ไม่มีอ่างล้างเท้าอยู่ข้างบันไดสำหรับล้างเท้าขึ้นบ้าน แต่แม่กับพ่อเอาโอ่งขนาดกลางๆ มาตั้งใส่น้ำให้เต็มมีไม้กระดานพอเหมาะวางพาดบนขอบโอ่ง มีขันพลาสสติก วางไว้สำหรับตักน้ำ ล้างเท้าขึ้นบ้าน มีไม้วางไว้รองเหยียบหรือวางเท้าเวลาล้างเท้าก่อนขึ้นบ้าน มีผ้าวางไว้สำหรับเหยียบเช็ดเท้าให้แห้งที่บันไดขั้นแรก ก่อนขึ้นบ้าน
 
 
นี่คืออ่างล้างตีนที่บ้านเกิดแลเคยใช้มาจริงๆ หาได้ภาพเดียว
สาเหตุ ที่ไม่ใช้อ่างล้างเท้าที่ลูกถามเพราะ
 
 ๑.น้ำในอ่างจะสกปรกและมีตะไคร่น้ำขึ้นเขียวมีกลิ่นเหม็น
 ๒.การล้างทำความสะอาดยากและหนักแรง
 ๓.เกิดอุบัติเหตุได้ คือน้ำในอ่างเป็นตะไคร่ทำให้ลื่น เคยเหยียบก้อนหินอ่าง
    แล้วลื่นหกล้ม (ลูกชายคนโตยังเคยลื่นล้มที่อ่างล้างเท้าที่โรงเรียน หน้าผากแตก  เป็นแผลเป็นบางๆ มาจนถึงทุกวันนี้)
        ต่อมาผู้คนเริ่มใส่รองเท้ากันมากขึ้น เท้าจึงไม่เปรอะมากมายเหมือนก่อน อ่างล้างเท้าจึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องใช้อีกต่อไป
 
มีประเพณี ที่เกี่ยวข้องกับการล้างเท้าอีกคือ ประเพณีแต่งงาน ต้องล้างเท้าเจ้าบ่าวซึ่งมีคล้ายกันในทุกภูมิภาคของเรามาอย่างต่อเนื่องอาจจะมีเพิ่มเติมหรือเปลี่ยนแปลงไปบ้างตามยุคสมัย ปัจจุบันประเพณีแต่งงานที่ต้องล้างเท้าเจ้าบ่าวก็ยังคงมีอยู่
 
 
ประเพณีแต่งงาน ล้างเท้าเจ้าบ่าว

เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม

          เมื่อขบวนขันหมากของเจ้าบ่าวเดินทางมาถึงบ้านเจ้าสาวสิ่งหนึ่งที่พึงปฏิบัติสืบเนื่องกันมาแต่โบราณกาลนั่นก็คือ"การล้างเท้าเจ้าบ่าว"
 เชื่อว่าหลายคนคงอยากรู้ว่า การล้างเท้าเจ้าบ่าว มีที่ไปที่มาอย่างไร วันนี้กระปุกเวดดิ้งเลยจะพาไปหาคำตอบกันค่ะ 

         
 ในสมัยโบราณนั้น ยังไม่มีรองเท้าสวมใส่เหมือนอย่างในปัจจุบัน เมื่อขบวนขันหมากยกมาถึงบ้านเจ้าสาว จึงจำเป็นต้องมีการล้างเท้าให้สะอาดก่อนขึ้นเรือน ต่อมาคนไทยได้รับวัฒนธรรม ทางของอิสลามมาผสมผสาน ทำให้พิธีล้างเท้าของเจ้าบ่าวต้องรองด้วยใบตองและก้อนหินใหญ่ตามอย่างในวัฒนธรรมของอิสลาม อีกทั้งคนไทยเห็นว่าการยืนล้างเท้าบนใบตองและก้อนหิน สะอาดกว่าการยืนล้างเท้าบนพื้นดิน จึงสืบทอดปฏิบัติกันมาจนถึงปัจจุบั
 
ทั้งนี้ ส่วนมากบุคคลที่จะมาล้างและช่วยเช็ดเท้าให้เจ้าบ่าวมักเป็นน้อง  หรือญาติของเจ้าสาว เพื่อเป็นการแสดงถึงความเคารพ ตามประเพณี การแสดงอัธยาศัยไมตรีในการต้อนรับเจ้าบ่าวที่จะมาเป็นพี่เขย และเป็นการแสดงความเคารพตามประเพณี

          
โดยมีขั้นตอนคือ เมื่อเจ้าบ่าวถึงบริเวณหน้าประตูภายในบ้านเจ้าสาว น้องหรือญาติของเจ้าสาวจะตักน้ำสะอาด (ผสมมะกรูด มะนาว) บรรจุในขันเงิน ล้างเท้าและช่วยเช็ดเท้าให้เจ้าบ่าว เพื่อเป็นการต้อนรับ เจ้าบ่าวเข้ามาอยู่ในครอบครัว ซึ่งเจ้าบ่าวต้องให้ซองเงิน  หรือสิ่งของเล็ก ๆ น้อย ๆ เป็นรางวัล จากนั้นญาติผู้ใหญ่ฝ่ายเจ้าสาวที่มีการครองเรือนดี จะออกมารับและจูงมือเจ้าบ่าวเข้าบ้านเพื่อทำพิธีต่อไป ......