วันศุกร์ที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2553

เที่ยวงานกลางคืนครั้งแรก

       มีอยู่ครั้งที่บริษัทปูนซีเมนต์ไทยท่าหลวง  จัดงานครบรอบก่อตั้งบริษัทปีที่เท่าไรแม่จำไม่ได้จัดงานใหญ่มีมหรสพ ภาพยนตร์ มีดนตรีลูกทุ่ง มีลิเก ตอนนั้นแม่รุ่นๆ อายุประมาณ 14 หรือ15 ก็จำไม่ได้ เกิดอยากไปคูดาราตลกชื่อดังที่ชื่นชอบยิ่งนักคือดอกดิน กัญญามาน และชูศรี มีสมมน โดยมีครูพี่ผา และเพื่อนๆ เช่น แป๊ว นิภา ตุ๊ ม็อก ฯลฯ รวมแล้ว10 กว่าคนชักชวนกัน


       เมื่อมีครูพี่ผาไปด้วย เป็นผู้คุ้มกันและดูแลสาวๆรุ่นน้องอยู่ทั้งคน มีหรือจะไม่ได้ไป ยายให้ไปแต่มีข้อแม้ คือให้แม่เอาข้าวโพดคั่วใส่ถุงหิ้วไปขายด้วย ยายบอกไปเที่ยวก็เอาของติดไปขายด้วย งานแบบนี้คนมาก จะได้ไม่เสียเวลาและเสียโอกาสจำได้ตลอดมาจนเดี๋ยวนี้ เอาละซีคราวนี้ต้องหอบหิ้วถุงข้าวโพดคั่วไปด้วย โดยมีเพื่อนช่วยหิ้วด้วย แม่จำไม่ได้ว่าเอาไปขายกี่มัดกี่ถุง (หนึ่งมัดมี 10 ถุง) มี ม็อก คู่หู บ้านอยู่ติดกัน ช่วยหิ้วถุงข้าวโพด ที่จัดงานอยู่ไกลจากบ้าน ถ้าเดินตามถนนลูกรังออกผ่านทุ่งนาหลังหมู่บ้าน ระยะทางประมาณ 4-5 กิโลเมตร แต่เราไปทางด้านในเดินลัดเลาะผ่าน 3 หมู่บ้าน ระยะทางจะเหลือประมาณ 2-3 กิโลเมตร เดินกันจริงๆ นะขาไปก็ดี เดินกันอย่างคึกคักเดินไปคุยกันไป หนทางดูไม่ไกลและไม่เหนื่อยเลย

       เมื่อไปถึงก็หาที่นั่งเอาละซีมีคนเดินขายกระดาษ และผ้าพลาสติกสำหรับปูนั่งหลายคน ชุดเราเตรียมผ้าพลาสติกผืนใหญ่มาสำหรับปูนั่งแล้ว เมื่อหาที่นั่งแล้วแม่ก็บอกพี่ผาขอออกเดินขายข้าวโพด แล้วชวนเพื่อนสนิท ม็อก ออกไปช่วยเดินขายข้าวโพดในสมัยเมื่อ 35 ปีมาแล้วข้าวโพดคั่วถุงละ 1 บาท ถุงขนาดเดียวกับปัจจุบันที่ขายอยู่ถุงละ 10 บาท เป็นครั้งแรกที่แม่มีโอกาสได้ไปเที่ยวงานกลางคืน และก็ดูการแสดงดนตรีพร้อมดาราตลกครั้งแรกเช่นกัน ดอกดิน กัญญามาน และชูศรี มีสมมนต์ นำภาพยนตร์ที่ดอกดิน กัญญามาน สร้างเองมาฉายและโปร์โมทร์ด้วย ถ้าจำไม่ผิด คือเรื่องตะวันยอแสง ดารานำแสดงหญิง ภาวนา ชนะจิตร ดาราชายจำชื่อไม่ได้

       เดินขายข้าวโพดคั่วได้พักเดียว พอเริ่มการแสดงบนเวทีก็กลับมานั่งดูตลกดอกดิน - ชูศรี สนุกมาก หัวเราะกันจนเหนื่อย พอเวทีตลกเลิก ภาพยนตร์เริ่มฉายก็ดูกันเพลินไม่ลุกเดินขายข้าวโพดแล้ว ขายได้แต่พวกเดียวกัน และพวกที่นั่งดูอยู่ใกล้ๆ หนังสนุกพระเอกในเรื่องชื่อ สุริยา นางเอกชื่อยอแสง ทั้งดอกดิน – ชูศรี แสดงด้วย ดูจนจบเรื่อง กลับบ้านหิ้วถุงข้าวโพดที่เหลือมัดกว่าๆ ด้วย ขากลับเนี่ยไม่มีเสียงพูดคุยกันเลยเงียบกริบ หนทางเดินก็ดูช่างยาวและไกลกว่าเดิมมากนัก เดินเท่าไรก็ไม่ถึงซักที่เมื่อยก็เมื่อย ง่วงก็ง่วงเดินไปตาก็จะปิดเสียให้ได้ ง่วงมาก กว่าจะเดินกลับถึงบ้าน นี่เป็นความทรงจำประทับใจมากเรื่องหนึ่งที่จดจำมาเล่าได้

ข้าวโพดคั่ว

       เป็นอันว่าถ้าที่วัดมีหนังกลางแปลงมาฉาย หรือมีงานวัดที่ขายของได้ก็จะออกขายทุกครั้ง ยายยังเพิ่มของขายอีกอย่างคือ คั่วข้าวโพดขาย ตอนนั้นไม่ได้ซื้อ ที่คั่วข้าวโพด ตาทำให้ใช้เอง ใช้คั่วข้าวโพดขายได้ดี อีกหลายปีต่อมามีที่คั่วข้าวโพดขายจึงซื้อมาใช้ ยายทำน้ำคลุกข้าวโพดคั่ว อร่อย มีรสหวานไม่มาก เน้นรสมัน และเค็ม ไม่เหมือนกับที่ขายกันอยู่ทั่วไปในปัจจุบันนี้ที่ทำแยกกันคนละรสเลย แบบเค็มก็เค็มอย่างเคียว แบบหวานก็หวานเพียงอย่างเดียว หรือเป็นช้าวโพดอบเนยไปเลย


       การทำน้ำคลุกข้าวโพด ยายคั้นน้ำกะทิใส่หม้อเคลือบมีหูขิ้ว ใส่น้ำตาลปีบ ใส่เกลือป่นใส่แบะแซ ตั้งไฟใช้ทัพพีคนเคี่ยวให้เหนียวและเข้ากันดี ชิมรสแต่แม่จำได้ยายไม่ต้องชิมทำกี่ครั้งก็รสชาติเหมือนกันทุกครั้ง แล้วยกลงจากเตาทิ้งไว้ให้เย็น ตอนนั้นแม่ไม่ได้สนใจจดจำ มานึกทบทวนดูเห็นยายใส่เกลือป่น 1 ถุง (ถุงเดี๋ยวนี้เล็กกว่า) ใส่น้ำดาลปีบ 1 กิโลกรัม แบะแซ ½ กิโลกรัม จำไม่ได้ว่าใช้น้ำกะทิมากน้อยแคร่ไหนในแต่ละครั้ง กระว่าประมาณครึ่งหม้อที่ยายใช้ใส่ทำน้ำคลุกข้าวโพด

       การคั่วข้าวโพดเมื่อเมล็ดข้าวโพดแตกหมดแล้ว ก็เทลงใส่ตระแกรงพักไว้ คั่วต่ออีกครั้งเทรวมกัน แล้วจึงใช้ไม้จุ่มน้ำคลุกให้โชกมาคนเมล็ดข้าวโพดที่คั่วแล้วในตระแกรงให้เข้ากัน 1- 2 ครั้ง ทิ้งให้ข้าวโพดเย็น แล้วกรอกใส่ถุงมัดยางวางขายได้ คราวนี้พอมีงานขายกลางคืนก็ต้องเอาข้าวโพดมาคั่วขายด้วย ขายดีนะเพราะข้าวโพดเมื่อร้อนก็จะแตกเสียงดังเพี้ยพะๆ และส่งกลิ่นหอมได้ไกล  นั่งดูหนังไปกินช้าวโพดคั่วไปอย่างเพริดเพลิน

       ต่อมายายเริ่มหัดขี่รถจักรยานจนแข็ง และเลิกหาบผลไม้ขาย จำไม่ได้ว่ายายเลิกขายเพราะสาเหตุใด หันมาขายข้าวโพดคั่วเพียงอย่างเดียวไปคั่วข้าวโพดขายอยู่ที่ริมถนนด้านเข้าตลาดใหม่ท่าลาน ยายเอาเตาถ่าน ตะแกรงและที่คั่วข้าวโพด ไปฝากไว้ที่บ้านน้าบุญเรือนคนชอบพอกัน บ้านใกล้กลับเพิงขายของ ที่ทำด้วยหลังคาสังกะสีกันแดดและกันฝนได้ มีโต๊ะวางของขายมีเก้าอี้นั่ง

       เช้าหลังเสร็จงานที่บ้านยายก็ขี่รถจักรยานเอาของที่เตรียมไว้มัดใส่ท้ายรถและห้อยหน้ารถ ไปที่ร้าน เอาของออกมาเตรียมทำขาย ติดเตาอุ่นหรือทำน้ำคลุกข้าวโพดก่อนอื่น เมื่อยกลงจากเตาแล้ว ยายจึงทำอย่างอื่นต่อเสร็จแล้วจึงเริ่มคั่วข้าวโพด น้ำคลุกข้าวโพดก็จะเย็นใช้ได้พอดี

       ตอนนี้แม่เริ่มรุ่นสาวแล้ว ยายขายข้าวโพดคั่วอยู่นานหลายปีมาก ตาก็เป็นยามที่ตลาด แม่ทำงานในบ้าน นานๆครั้งแม่จึงออกไปช่วยยายขายของบ้าง ครั้งแรกที่ออกไปขายก็เจอหนุ่มโรงงานรูปหล่อนิสัยดี ยิ้มง่ายและอารมณ์ดี ทำงานที่บริษัทเหล็กสยามซึ่งต่อมาแยกเป็น บริษัทนวโลหะไทยเป็นบริษัทในเครือปูนซีเมนต์ไทยจำกัด มานั่งกินข้าวและสนทนากลับคนขับรถโดยสารสาย ท่าลาน – สระบุรี ชื่อเผือก อยู่ที่ร้านขายอาหารของลุงทาบ และพี่หล่อเป็นประจำ  (ปัจจุบันคนหนุ่มที่ยิ้มง่าย และอารมณ์ดี ไม่รู้หายไปไหนเสียแล้ว)

วันจันทร์ที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2553

หนังกลางแปลง

       พวกเราชาวหมู่บ้านท้ายวัด ถ้ามีงานมหรสพที่ไหนสาวๆจะไปเที่ยวงานไหนกันแต่ละครั้ง ต้องมีผู้ใหญ่ไปด้วย ไม่มีเสียละที่จะไปเที่ยวไหนคนเดียวได้ หรือถ้าไปกันเป็นกลุ่มก็จะมีพี่ผาเป็นผู้นำไปซึ่งพ่อแม่ของทุกบ้านก็ไว้ใจให้ไปได้ ดังนั้นสาวๆในหมู่บ้านของเราจะไม่มีชื่อเสียงไปในทางเสื่อมเสีย ด้วยมีแม่แบบหรือแบบอย่างที่ดีคือพี่ผานั่นเอง สาวในหมู่บ้านท้ายวัดส่วนใหญ่จะเรียบร้อย และนิสัยดีกันแทบทุกคน ไปไหนไปกันเป็นทีม จึงไม่มีหนุ่มใหญ่น้อยที่ไหนเข้ามาเกาะแกะได้
        วันไหนที่วัดมีรถขายยา มาขอพระอาจารย์เจ้าวัดฉายหนังกลางแปลงที่ลานวัด และได้รับอนุญาตจากทางวัดให้ฉายหนังได้แล้ว รถขายยาก็จะประกาศโฆษณาไปทั่วในบริเวณหมู่บ้านใกล้ไกลที่ผู้คนจะสามารถเดินทางมาดูได้ ตั้งแต่เวลาหลังพระฉันเพลไปแล้ว หนังกลางแปลงเป็นมหรสพที่ไม่เสียเงินในการชม และเป็นสิ่งที่มาให้ความบันเทิง และเพริดเพลินแก่คนในชนบทได้เป็นอย่างดี ในสมัยที่ยังไม่มีเครื่องใช้ไฟฟ้า ไม่มีโรงภาพยนตร์ถึงมีก็อยู่ไกลออกไปมาก ต้องเสียเงินและการเดินทางไปมาก็ไม่สะดวก

       ในสมัยที่ยังไม่มีรถจักรยานยนต์เมื่อ 40 กว่าปีก่อนนี้ (วันที่เขียนเรื่องนี้ต่อ 3 ส.ค. 2549) ปกติแม่เป็นคนที่ไม่ชอบออกไปเที่ยวงานกลางคืน แม่ชอบหาหนังสืออ่านอยู่บ้านมากกว่า หรือชอบการไปเที่ยวสถานที่ไกลๆ ที่ไม่เคยไปหรือเรียกว่าชอบไปทัศนศึกษามากกว่าที่จะไปดูหนังดูละคร

       นิสัยนี้ติดมาจนถึงปัจจุบัน ตั้งแต่เกิดมาดูหนัง หรือละครในโทรทัศน์ นับเรื่องได้ จะดูก็แต่หนัง หรือละครที่อ่านแล้วดี และเอามาสร้าง และหาผู้แสดงได้เหมาะสมกับบทบาทของตัวละครในเนื้อเรื่อง (เช่นผู้แต่ง เขียนไว้พระเอกในเรื่องเป็นหนุ่มใหญ่วัย 40 เศษ แต่ในภาพยนตร์ใช้ดาราแสดงอายุ 20 ต้นๆ ดูยังไงก็ไม่สมกับบทบาทในเนื้อเรื่อง)

       เมื่อรถขายยาประกาศโฆษณาไปทั่ว คนก็จะแห่มาดูกันมากบอกแล้วว่าเป็นความบันเทิงและข่าวสาร เล็กๆน้อยๆ ที่มากับหนังกลางแปลง ของผู้คนในยุคนั้นที่มีแต่วิทยุ AM ฟังข่าวสารอยู่ได้ไม่กี่สถานี  เอาละซีคราวนี้พอยายกลับจากขายของก็ไม่อยู่เฉยแล้ว เตรียมขายของหาเงินจากคนมาดูหนังกลางแปลงตอนค่ำที่วัด ปกติที่บ้าน ยายจะซื้อมะยมมาดองไว้ขายไม่ขาดอยู่แล้ว อ้อยก็ซื้อมาเป็นมัดๆ มีพุทราแห้งทุบๆไว้เชื่อมขาย มะม่วงดอง และอาจจะมีถั่วลิสงดิบซื้อไว้ต้มขายวันพรุ่งนี้ก็เอาวัตถุดิบที่มีอยู่อย่างอ้อย ตาจะเป็นคนตัดอ้อยเป็นท่อนๆ และปอกใส่กะละมังใบใหญ่ไว้ให้ ยายจะเป็นคนควั่นอ้อยใส่กะละมังเอง 2 อย่างนี้ ตากับยายต้องทำเองลูกๆทำไม่ได้

เครื่องมีอควั่นอ้อยของยายที่แม่เก็บไว้
       เมื่อยายควั่นอ้อยเสร็จแล้วก็ตักน้ำใส่ถังมาล้างอ้อยที่ควั่นเสร็จแล้ว ใส่กะละมังที่เตรียมไว้ ตาเมื่อปอกอ้อยเสร็จก็จะเอาพุทราแห้งที่ล้างสะอาดแล้วผึ่งแดดเก็บไว้มาทุบกับทั่ง (คือเหล็กทรงกลมสูงสัก 10 นิ้วพื้นบนล่างเรียบ ใช้สำหรับวางรองทุบของต่างๆ ด้วยค้อนอีกที่) ด้วยค้อนพอ บุบๆ ไม่ให้แตกละเอียด ตลอดเวลาแม่จะเป็นลูกมือหยิบจับของช่วยยายและตาทำงาน แม่เอามะม่วงดองมาปอกด้วยมีดสำหรับปอกผลไม้แล้วล้างใส่กะละมังไว้ยายจะหั่นเอง แม่เอาถั่วลิสงล้างน้ำให้สะอาดจนหมดดิน แล้วติดไฟเตาถ่านพอพัดจนไฟติดก็เอาถั่วลิสงใส่ปีบเอาน้ำใส่พอท่วม ใส่เกลือเม็ดลงไปด้วย หาฝาหม้อใบใหญ่ปิดปี๊บไว้ยกขึ้นตั้งไฟ
       ตั้งแต่เล่าๆมานี้แม่พยายามนึกย้อนหลังกลับ ถึงเหตุการณ์แต่ละครั้ง พี่ๆน้องๆไปไหนหมด กิจกรรม ที่ทำ ที่เล่าๆมาไม่มีพี่ๆเข้ามาร่วมในเหตุการณ์ต่างๆ ด้วย นึกย้อนหลังกลับไป น่าจะเป็นพี่ชายคนโตมาเรียนก่อสร้างต่อที่วิทยาลัยเทคนิคกรุงเทพฯ ทุ่งมหาเมฆ และพี่คนรองมาฝึกงานช่างเชื่อมและอ๊อกเหล็กที่ร้านยี่เส็งตรงสะพานดำ กรุงเทพฯ มีแต่น้องสาวอีกคนที่ยังเล็กอายุห่างกัน 5 ปี ช่วยเก็บล้าง และตักน้ำขึ้นบ้านเท่านั้น

        ระหว่างนี้ยายก็เปิดไห หยิบเอามะยมที่ดองไว้ออกมาสัก 1 กะละมังใบพอเหมาะ ล้างมะยมดองให้สะอาดใส่กะละมังที่เตรียมไว้ เมื่อถั่วต้มในปี๊บสุกได้ที่ ยายก็เทน้ำออกและพักไว้ให้เย็นในปี๊บ แล้วจึงใส่กะละมังที่เตรียมไว้ แล้วยายก็ตั้งกระทะเคี่ยวน้ำตาลปี๊บจนได้ที่ใส่เกลือป่นนิดเอาพุทราที่ทุบแล้วใส่ลงไป ใช้เตาหลิวหรือไม้พายคนเบาๆ ยกลงจากเตาคนให้พุทรากับน้ำเชื่อมเข้ากัน เทใส่กะละมังที่เตรียมไว้ เหลือหั่นมะม่วงดองที่แม่ปอกไว้ให้ ยายฝานมะม่วง 1 ลูก 2 ครั้งโดยไม่มีเศษเนื้อมะม่วงติดเม็ดเลย แล้วจึงฝานแฉลบยาวตามลูกมะม่วงข้างละ 4-5 ชิ้น เมื่อทำของเสร็จหมดแล้ว
       ยายทำพริกเกลือน้ำตาลทรายใส่ขวดใหญ่ มีขวาปิด แม่หาถุงพลาสติกถุงกระดาษเตรียมรวมกันไว้ ตาหาตะเกียงและเติมน้ำมันก๊าดเตรียมไว้ให้ เริ่มเย็นแล้วแม่รีบไปอาบน้ำและมากินข้าว  ยายกับตายกโต๊ะ + เก้าอี้ สำหรับนั่งอีก 2 ตัวไปจองที่ขายของเหมาะๆไว้ ส่วนรถขายยาจอดและตั้งจอภาพยนตร์เตรียมไว้แล้ว มีแม่ค้ามาตั้งโต๊ะจองที่ขายของกันหลายคน เมื่อแม่กินข้าวเรียบร้อยแล้วยายก็เอาของใส่หาบ แม่ก็ถือของที่ใส่หาบไม่หมดเดินออกไปเอาของวางจัดบนโต๊ะ ตั้งแต่ยังไม่มืดมีเด็กๆ ออกมาเล่นที่ลาดวัดมากแล้ว พอจัดของเรียบน้อยยายก็กลับบ้านไปเก็บกวาด อาบน้ำและกินข้าวทำงานบ้านอื่นๆ กว่ายายจะออกมาอีกก็เกือบ 1 ทุ่ม หนังเริ่มฉายนั่นแหละ ในช่วงหนังยังไม่ฉายไฟจะสว่างทั้งลานวัด ของกินขายดีคนจะซื้อไปเตรียมไว้กินตอนดูไปกินไป พื้นด้านหน้าจอหนังคนจะปูเสื่อ ปูกระดาษ จองที่นั่งกันไว้พอมืดคนก็มากันมากขึ้นๆ จนเต็มบริเวณด้านหน้า ที่นั่งกับเสื่อหรือกระดาษยาวมาเกือบถึงแถวแม่ค้าขายของ คนมาทีหลังจึงยืนดูหนังกัน  ด้านหลังโต๊ะแม่ค้า หรือดูด้านหลังของจอหนัง ซึ่งจะมองภาพยนตร์กลับด้านกัน คนล้นจนขึ้นไปนั่งดูบนศาลาวัดก็มาก โดยเฉพาะพวกกลุ่มท้ายวัด
        
          ในยุคที่ยังไม่มีโทรทัศน์ มีก็แต่วิทยุไว้ฟัง แม่จำได้ ที่บ้านตามีวิทยุเครื่องหนึ่งมีรูปร่างเป็นกล่องไม้สี่เหลี่ยมใหญ่ๆ ใช้ถ่านถ้าจำไม่ผิด มี 6 แถวๆละ 5 ก้อนวิทยุเครื่องหนึ่งใช้ถ่านถึง 30 ก้อน จำยี่ห้อวิทยุได้คลับคล้ายคลับคลาว่าชื่อ กรุนดิกส์ ไม่แน่ใจ เมื่อมีหนังกลางแปลงมาฉาย จึงเป็นความบันเทิงที่เข้าถึงผู้คนในยุคสมัยนั้น  ก่อนฉายหนังรถของบริษัทยาก็จัดสินค้าออกมาวางตั้งและโฆษณาด้วยขายด้วย แต่ในช่วงนี้คนจะสนใจน้อยมาก มีแต่คนที่จองที่นั่งใกล้ๆเท่านั้นที่ยืนดู หรือซื้อบ้างเล็กน้อย เรียกว่าหนังยังไม่ฉายคนจะยังไม่นิ่ง ตอนนี้แม่ค้าขายของกินดี

       เมื่อหนังเริ่มฉายจะปิดไฟมืด มีเพียงแสงตะเกียงจากร้านขายของส่องรำไรๆอยู่เป็นที่ๆ ในยุคนั้นหนังกลางแปลงทุกเจ้าที่มา จะเปิดฉายภาพยนตร์ข่าวพระราชกรณียกิจของพระเจ้าอยู่หัว  ให้ดูก่อนทุกครั้ง (แต่ละครั้งไม่ซ้ำกัน) เป็นภาพยนตร์ขาวดำ คนก็จะดูกันอย่างเงียบเชียบด้วยความสนใจของกินตอนนี้จะขายไม่ออก คนจะไม่ลุกมาซื้อของ พอจบภาพยนตร์ข่าวก็เริ่มฉายหนังเรื่อง

      ในยุคนั้นต้องฉายไปและพากไปด้วย  ยังไม่มีเสียงในฟิล์มเหมือนปัจจุบัน พอหนังฉายไปสักพัก ถึงตอนตื่นเต้นก็จะหยุดฉายพักเครื่องฉายก่อน และเปิดไฟสว่างทั่วบริเวณพนักงานประจำรถยาเริ่มการโฆษณาสินค้า และขายสินค้า คนก็จะซื้อกันมากและเริ่มเดินไปซื้อของกินด้วย แล้วก็จึงฉายหนังต่อ ของที่ยายเตรียมมา ขายดีมีเหลือบ้างก็นิดหน่อย บางอย่างก็เก็บไว้ขายต่อวันพรุ่งนี้ได้ จะมีหยุดพักฉายหนังขายสินค้าอีกครั้ง หลังจากนั้นแม่กับยายก็จะเก็บของกลับบ้าน โดยไม่รอให้หนังฉายจนจบเรื่อง

สงกรานต์แสนสุข

       ในเทศกาลสงกรานต์เป็นที่ชื่นชอบของเด็กและผู้ใหญ่ทุกคนก็ว่าได้ ที่วัดจะมีการทำบุญ 3 วันติดกัน มีการทำบุญและบังสุกุลกระดูกให้ญาติผู้ล่วงลับแล้วด้วย  หนุ่มสาวและเด็กๆอย่างเรา จะรอสงกรานต์กันอย่างใจจดใจจ่อ เตรียมหาเสื้อผ้าใหม่สวยๆ ไว้ใส่เป็นที่รื่นเริงกันยิ่งนัก

       เย็นก่อนวันมหาสงกรานต์ ยายจะพาแม่ถือถังใส่น้ำไปตักทรายที่ชายตลิ่งริมน้ำท่าวัด คนอื่นๆ ก็ทำเช่นกัน ต่างก็นำทรายมากอง และก่อพระเจดีย์ทรายกันที่พื้นลานวัด ก่อกันกองใหญ่บ้าง ทำเป็นรูปภูเขา มีคันล้อมรอบบ้าง และประดับด้วยธงกระดาษสีต่างๆ บางคนก็เอาสตางค์ ใส่ไปในกองทรายด้วย ยายบอกว่าการก่อพระเจดีย์ทรายนี้ ก็เพื่อชดใช้ดินให้วัด คือเมื่อเราทุกคนเดินเข้าหรือเดินออกจากวัด เราจะเหยียบย่ำ ดิน ทรายในวัดติดไปเป็นบาปโดยที่ไม่รู้ตัว เราจึงต้องนำทรายเข้าวัด ทำบุญด้วยการก่อพระเจดีย์ทรายนี้เอง

       เช้าวันที่ 13 เมษายน เกือบทุกคนในหมู่บ้าน ก็จะออกมาทำบุญรวมกันอยู่ที่วัด ต่างคนแต่งกายกันสวยงาม ประดับเครื่องตบแต่งมีค่าใส่มาทำบุญที่วัดกัน เสียงคุยเสียงทักทายกันด้วยหน้าตายิ้มแย้มแจ่มใสกันทุกผู้คน บางคนไม่เคยได้พบปะเจอะเจอกันมานาน เนื่องจากไปทำงานหรือไปอยู่ที่อื่นที่ห่างไกลออกไป ก็จะกลับบ้านมาทำบุญกันในช่วงเทศกาลสงกรานต์นี้

        เมื่อทำบุญแล้วชาวบ้านและทางวัด   ก็จะนัดแนะกันว่าวันไหนจะทำการสรงน้ำพระ ซึ่งในวันมหาสงกรานต์วันที่ 13 นี้ จะไม่นิยมสรงน้ำพระภิกษุสงค์  จะสรงน้ำพระกันประมาณวันที่ 14-17 เมษายน วัดอื่นๆที่อยู่ใกล้เคียงกันจะหลีกเลี่ยงการสรงน้ำพระไม่ให้วันและเวลาตรงกันเช่นถ้าวันที่ 17 เหมือนกันเวลาก็จะต่างกันเป็นเช้าหรือบ่าย เพื่อที่ชาวบ้านจะได้ไปสรงน้ำพระกันได้ทั่วถึงทุกวัด

       หลังกลับจากทำบุญในวันมหาสงกรานต์แล้ว แต่ละบ้านก็จะทำความสะอาดบ้านของตนเอง และนิมนต์พระพุทธรูปที่หิ้งพระของตนเอง นำออกมาทำความสะอาดและสรงน้ำพระพุทธรูปพร้อมประพรมน้ำอบไทย แล้วนิมนต์ไว้หิ้งพระเหมือนเดิม การทำความสะอาดพระพุทธรูปหรือกระถางธูป เทียน ที่ทำจากทองเหลืองให้ใช้ ลูกมะกรูด 2-3 ลูกบีบเอาแต่น้ำ+น้ำยาล้างจาน+ผงซักฟอก+ผงชูรส ผสมกัน ขัดทองเหลืองได้เงาวับเหมือนของใหม่

       ถึงวันที่นัดหมายการสรงน้ำพระ จะได้ยินเสียงระฆังจากที่วัดตีบอกเป็นระยะๆ เมื่อได้ยินเสียงระฆังครั้งแรกก็เตรียมตัวอาบน้ำแต่งตัว เตรียมขันเงินใส่น้ำ และขวดน้ำอบไทยพอเสียงระฆังครั้งที่สองดัง คนก็พากันเดินออกจากบ้านมารวมกันที่ศาลาวัด ที่จัดเตรียมไว้สำหรับพิธีสรงน้ำพระโดยผู้ชายหลายๆคนที่พร้อมช่วยงานบุญในวัด การสรงน้ำพระพอระฆังดังครั้งที่สาม เป็นที่รู้กันว่าถึงเวลาสรงน้ำพระแล้ว เป็นเวลาที่พระในวัดลงจากกุฏิมานั่งที่เก้าอี้ที่จัดเตรียมไว้สำหรับการสรงน้ำพระ โดยมีตุ่มใส่น้ำเต็มวางไว้ใกล้ๆแล้ว และแต่ละคนที่มาสรงน้ำพระที่วัดก็จะมีขันใส่น้ำมาจากบ้านแล้ว

       คนมาสรงน้ำพระมีทั้งคนในหมู่บ้าน และคนหมู่บ้านใกล้เคียงอื่นๆมีคนต่างถิ่นบ้านไกลๆ ที่รู้ก็จะพากันมาแน่นศาลาวัด พระนั่งเก้าอี้จากเจ้าอาวาสเรียงกันตามลำดับ การสรงน้ำเริ่มขึ้นจะเริ่มสรงน้ำจากเจ้าอาวาส ไร่ลงมาจนครบทุกองค์ด้วยการเดินก้มตัวไว้ ขอขมาพระและรินน้ำที่มือของท่านเรียงไปจนครบทุกองค์ แล้วเวียนมาสรงน้ำที่ด้านหลังพระตรงช่วงคอเสร็จแล้วลงนั่งยองยกมือไหว้พระในขณะที่สรงน้ำพระ น้ำหมดก็เติมได้จากตุ่มที่ทางวัดจัดเตรียมไว้ให้

       พอสรงน้ำพระเสร็จแล้วในขณะที่รอพระไปเปลี่ยนจีวรและมาให้ศีลให้พรนั้น ก็จะรดน้ำ สาดน้ำกันเป็นที่สนุกสนานกันทุกคนเป็นการรดน้ำกันจริงคือรดน้ำกันแบบค่อยรินน้ำใส่ตัวกันตรงๆ หรือสาดกันใกล้ๆ แบบยิ้มแย้มเต็มอกเต็มใจ ที่จะรดน้ำให้พรปีใหม่กันให้ร่มเย็นเป็นสุข ถ้าคนเป็นเด็กกว่าไปรดน้ำคนที่วัยสูงกว่าก็จะขอก่อนแล้วจึงรดน้ำ สาวๆหนุ่มๆ จะรู้จักกันและชอบพอกันได้ ก็เมื่อมีงานเทศกาลเช่นนี้เท่านั้นเอง

       เมื่อพระเปลี่ยนจีวรลงมาแล้ว ก็จะสวดมนต์ให้ศีลให้พร ทุกคนก็จะนั่งรับศีลรับพรทั้งๆที่ยังเปียกกันอยู่อย่างนั้น (เปียกในยุคสมัยนั้นเปียกยังไงก็ไม้โป้) การสาดน้ำเล่นสงกรานต์กันนั้นเราจะไม่สาดกันแรงๆ จะเดินเข้าไปใกล้ๆแล้วรดน้ำลงไปบนตัว คนที่ถูกรดน้ำก็จะยืนให้รดดีๆ และรดน้ำกลับให้คนที่รดน้ำตัวอีกที แล้วต่างก็ให้ศีลให้พรให้มีความสุขกัน

       พอสรงน้ำพระที่วัดนี้เสร็จ ก็อาจจะเดินไปสรงน้ำพระวัดที่อยู่ใกล้ๆ ต่อได้อีก เนื่องจากก่อนสรงน้ำพระทุกวัดทางวัดจะตีระฆังบอกชาวบ้านล่วงหน้า จากสัญญาณระฆังนี้ (ในสมัยนั้นชุมชนหรือชาวบ้านจะมีวัดเป็นจุดศูนย์กลาง ไม่ว่าจะมีงานอะไร มีเหตุดี หรือร้ายใดๆ เกิดขึ้น วัดก็จะเคาะระฆังกังวานขึ้นติดๆกัน ผู้คนในหมู่บ้านไม่ว่ากำลังทำอะไรอยู่ก็จะละมือ ออกเดินมาวัดกันเป็นทิวแถวมารับรู้และหารือร่วมกันแก้ไขสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้น โดยมีหลวงพ่อที่เป็นเจ้าอาวาส และผู้ใหญ่บ้านหรือกำนันเป็นผู้บอกเล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ดังนั้นวัดจึงเป็นจุดศูนย์กลางของผู้คนในยุคนั้น)

       ในช่วงเย็นวันตั้งแต่ก่อนสงกรานต์ ระหว่างวันที่ 11-17 เมษายน เป็นเวลาที่ทุกคนรอคอย เนื่องด้วยในแต่ละวัดเป็นประเพณีกันมาช้านาน (ปัจจุบันไม่มีแล้ว) เวลาช่วงเย็นจะมีหนุ่มๆ สาวๆ ในหมู่บ้านและหมู่บ้านอื่นๆ ใกล้เคียงมาเล่นกันมีการละเล่นเป็นที่สนุกสนาน  (ปกติถ้าไม่มีงาน  ลูกผู้หญิงทุกคนได้รับการอบรมมาลูกสาวจะไม่ออกไปไหนข้างนอกให้หนุ่มๆได้เห็นหรือพูดคุยกัน ส่วนใหญ่ถ้าไปไหนก็จะไปกับผู้ใหญ่ หรือไปกันหลายๆคนไม่ไปไหนคนเดียว ถือเป็นเรื่องปกติไม่เห็นมีใครเรียกร้องหาสิทธิเสรีภาพอะไรกัน ก็เห็นอยู่สุขสบายกันดี) หนุ่มสาวได้พบปะรู้จักกัน สาวๆจะได้รับอนุญาตจากผู้ใหญ่ให้ออกมาเล่นสงกรานต์กันที่วัดได้

       วัดไหนมีหมู่บ้านที่มีสาวๆ สวยมากๆก็จะมีหนุ่มต่างถิ่นเข้ามาเล่นสงกรานต์กันเป็นที่ครึกครื้น วัดที่แม่อยู่ก็ไม่แพ้วัดไหน สาวๆในหมู่บ้านสวยๆทั้งนั้นทั้งหมู่บ้านท้ายวัด หมู่บ้านใน หมู่บ้านตลาด
       ในหมู่บ้านมีสาวงามที่ขึ้นชื่อลือชาไปทั่วอยู่ 3-4 คน หนึ่งในนั้นก็คือครูพี่ผาของเด็กๆนั่นเอง แต่พี่ผาเป็นสาวรุ่นใหญ่ในหมู่บ้าน มีความเป็นผู้ใหญ่เต็มตัวด้วยการวางตัวดี ความประพฤติและกิริยาวาจาดี เป็นแบบอย่างที่ดีของน้องๆ และสาวๆ ในหมู่บ้าน   เป็นที่เชื่อถือและได้รับความไว้วางใจจากผู้หลักผู้ใหญ่ในหมู่บ้าน ทุกๆคน อีก 3 สาวงามรุ่นเล็กกว่าพี่ผามาก ก็คือ พี่สมบัติอยู่หมู่บ้านท้ายว้ดด้วยกัน พี่กุหลาบอยู่หมู่บ้านใกล้วีดบึง และน้าดา (เป็นน้าเพื่อน)อยู่หมู่บ้านใน ทั้ง 3 คนเป็นเพิ่อนสนิทกัน ทั้งสามคนสวยมากสวยแบบธรรมชาติไมมีการแต่งเติมหรือเสริมแต่ง นี่ถือว่ารุ่นโตๆ หน่อย รุ่นหลังที่โตกว่าแม่นิดหน่อย ก็มีอีกหลายคน เช่นพิมล(แป๊ว) นิภา ริน โนรี เป็นต้น จึงมาถึงรุ่นแม่

       เวลาเย็นแทบทุกบ้าน  จะรีบหุงหาอาหารให้แล้วเสร็จแต่วันๆ บ้านไหนมีลูกหลานเล็กๆ  ก็จะตักข้าวใส่ชามมาป้อนกันที่ลานวัด เพื่อจะดู หนุ่มๆสาวๆจับกลุ่มเล่นการละเล่นในเทศกาลสงกรานต์กัน มีการตั้งวงเล่นหลายกลุ่ม กลุ่มเล่นลูกช่วง กลุ่มเล่นตี่จับ กลุ่มเล่นมอญซ่อนผ้า เด็กๆอย่างแม่จะไม่ได้เล่น จะได้แค่นั่งดูกันอยู่ข้างวงเท่านั้น แต่ก็สนุกกับการดูและการเชียร์ พี่ๆที่แข่งกับหนุ่มๆต่างถิ่น ในความรู้สึกอยากให้ตัวเองโตเพื่อที่จะได้สนุกเช่นนั้นบ้าง ทุกวันนี้แม่ยังระลึกถึงความสุข ความสนุกสนานในวัยเด็กๆ และวัยระหว่างรุ่นสาวในหน้าสงกรานต์อยู่เสมอ เป็นภาพความหลังแห่งความสุขที่จดจำได้ไม่เคยลืมเลือน

       ปัจจุบันนี้ค่านิยม วัฒนธรรมและประเพณีเปลี่ยนไป ไม่มีวันที่สิ่งดีงามเหล่านี้จะหวนกลับมาได้อีก แค่ช่วงอายุของแม่เองเท่านั้น สิ่งใหม่ๆเข้ามาแทนที่ เช่นการแต่งกายเลียนแบบตะวันตกใส่เสื้อสายเดี่ยวโชว์อก และกางเกงเอวต่ำกว่าใต้สะดือโชว์เอวและไหล่ ในสายตาของแม่ดูอย่างไรก็ไม่งามทำไมเราไม่รับเอาแต่สิ่งดีๆของเขาเข้ามา อย่างเช่นด้านเทคโนโลยี ส่วนวัฒนธรรมและประเพณีที่ดีงาม ก็ช่วยกันเก็บรักษาไว้ให้ดี พูดไปลูกๆก็ว่าแม่ไม่ทันสมัยบ้าง เต่าล้านปีบ้าง แม่แสนเสียดายช่วงและวัย แห่งความสุข ความสนุกสนาน และผู้คนที่อยู่กันอย่างถ้อยทีถ้อยอาศัย มีน้ำใจ มีความรักความผูกพันเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน อยู่กันแบบพี่น้อง มีความพอเพียง มีชีวิตที่ร่มเย็น มีวัดและศาสนาเป็นศูนย์กลาง ของชุมชน มีชีวิตไม่รีบเร่ง มีฐานะและความสุขตามอัตภาพตามฐานะของตนเอง

อีโบ๊ะ – ของเล่นพื้นบ้านเด็กผู้ชาย

       พูดถึงของใช้ที่ทำจากไม้ไผ่ อีโบ๊ะซึ่งเป็นของเล่นอีกอย่างของเด็กผู้ชายในยุคนั้น เป็นของเล่นที่เด็กๆผู้ชายทำเล่นกันเองได้ (เด็กโตหน่อย) โดยใช้วัสดุที่มีและหาง่าย  คือไม้ไผ่หรือไม้รวกลำเล็กๆ เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1.5 – 2.5 เซนติเมตร ความยาว 30 – 50 เซนติเมตร ทำเป็นลำกล้อง และเหลาไม้ไผ่เป็นแท่งกลมๆ ให้เล็กกว่ารูของลำกล้องเล็กน้อย  เพื่อเป็นก้านสูบมาประกอบกับด้ามจับเป็นไม้ไผ่ขนาดเท่ากับลำกล้องแต่สั้นกว่า เมื่อเสียบก้านสูบเข้ากับลำกล้องแล้วต้องเลื่อนลูกสูบเข้าออกได้คล่อง และตัดปลายก้านสูบให้สั้นกว่าลำกล้อง ประมาณ 0.5 – 1.0 เซนติเมตร
       วิธีการเล่น ใช้กระดาษหนังสือพิมพ์แช่น้ำ ปั้นเป็นก้อนกลมๆ ยัดใส่ลำกล้อง  แล้วตอกด้วยด้ามกระบอกให้กระสุนเข้าไปอัดแน่นในลำกล้อง ใส่กระสุนอีก 1 ลูกอัดเข้าไปอีก หันปลายลำกล้องไปตามที่ต้องการยิง กระแทกก้านสูบอย่างแรงเข้าในลำกล้อง จะเกิดเสียงดัง โบ๊ะ จากลูกกระสุนที่วิ่งออกมาจากลำกล้องสู่เป้าหมาย

       การเล่นอีโบ๊ะนี้จะเล่นคนเดียวหรือเล่นกันหลายคนก็ได้ จะใช้ยิงจิ้งจก ตุ๊กแก ซ้อมความแม่นยำก็ได้
ประโยชน์ที่ได้คือความสนุกสนาน ความภาคภูมิใจในการประดิษฐ์ของเล่นได้ และของเล่นใครจะยิงได้ดังและไกลกว่ากัน


อีโบ๊ะ


วันอังคารที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2553

การละเล่น

       การเล่นของเด็กๆทั้งที่บ้านและที่โรงเรียนอย่างเด็กโตๆหน่อย ที่เป็นผู้หญิงถ้าอยู่กันหลายๆคน ก็จะชอบเล่นกระโดดเชือกกัน วิธีเล่นก็ไม่จำกัดคนเล่น โดยให้เด็ก 2 คน ยืนถือเชือกคนละด้านให้ห่างกันพอดีกับระยะที่จะแกว่งเชือก แล้วแกว่งเชือกไขว้ไปทางเดียวกัน พวกที่เหลือก็จะเข้ามากระโดดใครเหนื่อยก็วิ่งออก หายเหนื่อยก็เข้ามาโดดเชือกต่อ ถ้าใครโดดไม่ถูกจังหวะทำให้เชือกหยุด ก็ต้องมาแกว่งเชือกแทน สลับผลัดเปลี่ยนกันไปเช่นนี้จนเลิกเล่น

       นอกจากนี้ก็อาจจะมีเล่นตี่จับ งูกินหาง รีรีข้าวสาร หมากเก็บ ฯ ส่วนพวกเด็กผู้ชายจะชอบเล่น ก้อยต๊อกหรือทอยสตางค์กัน วิธีการเล่นก็คือ หาไม้กระดานแผ่นสั้นๆ มาวางพิงเสาหรือพิงต้นไม้ จากนั้น ก็เอาสตางค์แดง ที่เป็นเหรียญสีทองแดงมีรูตรงกลาง ราคาเหรียญละ 1 สตางค์ เป็นเหรียญที่สร้างในสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งในขณะนั้นมีอยู่มากมายแทบทุกบ้าน เอาเหรียญสตางค์แดง ถือด้านสันให้ตั้ง แล้วหย่อนลงบนไม้กระดานที่วางพิงอยู่ เหรียญก็จะวิ่งก้อยออกไปจนกว่าจะหมดแรงวิ่งและหยุดลง ก้อยเหรียญกันจนคบผู้เล่น เหรียญของใครหยุดได้ไกลกว่า (ไม่ออกนอกเส้นที่ขีดไว้ ส่วนผู้ที่ก้อยเหรียญออกนอกเส้นไปก็เก็บเหรียญเลยเกมนี้ไม่ได้เล่น) ก็จะเป็นผู้เล่นก่อน โดยหยิบเหรียญโยนให้ถูกเหรียญ ของคนที่อยู่ลำดับถัดมา ถ้าถูกเหรียญเรียกว่าถูกแก๊ก ถ้าโยนหรือวางทับบนเหรียญผู้อื่นได้เรียกว่า ถูกกบ ถ้าโยนถูกก็เล่นต่อไปถ้าโยนไม่ถูกก็ออกไปคนถัดไปได้เล่นต่อ เป็นการเล่นเอาเงินกันจริงๆมากกว่าที่จะเล่น เคาะหรือตีมือกัน ตามกติกาที่ผู้เล่นต่างตกลงกันไว้ก่อนเล่นในแต่ละครั้ง

       ส่วนการเล่นทอยสตางค์นั้น วิธีการเล่นแบบเดียวกับก้อยต๊อก แตกต่างกันก็คือไม่ต้องใช้ไม้วางลองสำหรับก้อยเหรียญโดยให้ผู้เล่นโยนเหรียญเอง และต้องขีดเส้นเป็นรูปสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่พอสมควรบนลาน และขีดเส้นเขตสำหรับคนที่จะเล่น เพื่อยืนโยนเหรียญ จากนั้นแต่ละคนก็โยนเหรียญไปให้ใกล้เส้นบนที่สุดเท่าที่จะทำได้จนครบผู้เล่นทุกคน ถ้าใครโยนเหรียญแรงเกินจนออกนอกเส้นไปเกมนี้ก็ไม่ได้เล่น เหรียญใครอยู่บนสุดก็จะเป็นผู้ได้เล่นก่อนด้วยการโยนเหรียญ แก๊ก หรือ กบ เหมือนการเล่น ก้อยต๊อก กติกาสำหรับผู้ชนะก็เหมือนกันจะเป็นเงิน หรือใช้ตีก็ได้ ตีในที่นี้หมายถึง แบมือให้คนชนะตีที่มือกี่ทีก็แล้วแต่ตกลงกันไว้ หรือใช้กำมือเคาะด้วยห้อนิ้วก็ได้ เป็นการเคาะหรือตีเพื่อสนุกสนานตามกติกา ไม่ได้ตีกันจนเจ็บจริงจังนัก

       เมื่อแม่ยังเด็กมีสตางค์เหรียญ 5 สตางค์ 10 สตางค์ 25 และสูงสุด 50 สตางค์ ใช้กันอยู่ ของใช้ของกินมีราคา 5 สตางค์หรือ 10 สตางค์ ยังมีการใช้เศษเหรียญทอนกันอยู่ ส่วน ราคา 1 บาท 5 บาท และ10 บาท จะเป็นธนบัตรทั้งสิ้น

       ตาของลูกจะทำกระป๋องออมสินให้แม่ 1 ใบ กระป๋องออมสินของตาทำจากกระบอกไม้ไผ่ที่ลำดีๆ ปล้องกลมและยาวกำลังพอดี ตัดปล้องบนตาไม้ไผ่ทั้งบนและล่าง เจาะรูไว้หย่อนเหรียญ ตาทำให้แม่ลักษณะดังที่เล่านี้  แล้วก็ตั้งพิงฝาข้างเสาบ้าน ถ้ามีเงินเหลือกลับจากโรงเรียน หรือได้เงินพิเศษอะไรก็จะใส่กระป๋องออมสินนี้ไว้ (ถูกสอนเรื่องการเก็บและการออมมาตั้งแต่เล็กในสมัยอายุไม่ถึงขวบ) ถ้าเต็มเมื่อไรตาสัญญาว่าจะพาไปฝากเงินที่ธนาคารออมสินสาขาอำเภอท่าเรือ ในขณะที่ยังไม่มี ธนาคาร      พานิชอื่นๆ ที่ตัวอำเภอเหมือนในปัจจุบันชาวบ้านจะรู้จักก็แต่ธนาคารออมสินเท่านั้น

       กระป๋องออมสินกระบอกไม้ไผ่ในความรู้สึกของแม่ เหมือนไม่มีวันที่จะเต็มได้ ด้วยการหยอดเพียงวันละ 5 สตางค์หรือ 10 สตางค์เท่านั้น จากการที่ได้เงินไปโรงเรียนเพียงวันละ 50 สตางค์   ต้องใช้เงินให้เหลือเพื่อมาใส่กระปุกออมสินด้วย

รองน้ำฝน

       เล่าเรื่องน้ำสำหรับอาบ และใช้สอยมามากแล้ว ขาดเสียไม่ได้ที่จะต้องเล่าเรื่องน้ำ สำหรับดื่มกินต่อ น้ำกินไม่เดือดร้อนแต่ละบ้านจะเก็บน้ำฝนใส่ตุ่มไว้บ้านละหลายๆใบใช้กินกันได้ตลอดทั้งปี  ที่บ้านยายมีตุ่มใส่น้ำฝนเรียงรายอยู่รอบบ้านสามารถเก็บน้ำฝนไว้กินได้ตลอดทั้งปีเป็นน้ำฝนที่ตกตามฤดูกาล

       หลังคาบ้านในสมัยนั้นโดยส่วนใหญ่มุงด้วยสังกะสีเมื่อฝนตกจะมีเสียงดังมาก บ้านยายมีรางใช้รองน้ำฝนอยู่ใต้ชายหลังคาบ้าน   เมื่อฝนตก   น้ำฝนก็จะไหลลงมาตามร่องสังกะสีลงสู่รางรองรับน้ำฝน และไหลลงใส่โอ่งหรือตุ่มน้ำที่มีผ้าสะอาดวางพาดคลุมบนปากโอ่งเพื่อกรองน้ำฝน เมื่อน้ำเต็มโอ่งก็จะลากสายยางรองน้ำฝนจากรางไปโอ่งอื่นอีกต่อไปเรื่อยๆ น้ำฝนถ้าเป็นน้ำฝนใหม่เกินไปก็จะมีรสชาติเฝื่อนๆหน่อย  ถ้าเป็นน้ำฝนที่รองหลังฝนตกแล้วหลายครั้ง จะมีรถชาติปกติ

       เวลาฝนตก ถ้าอยู่บ้านจะทั้งสนุกกับการเล่นน้ำ และเหนื่อยกับการรองน้ำฝน ฝนตกครั้งแรกๆ 2-3 ครั้ง  เราจะไม่รองน้ำปล่อยให้น้ำฝนชะล้างฝุ่นละอองบนหลังคาบ้านออกเสียก่อน ถ้าฝนตกแรงๆครั้งต่อไปอีกสักพัก จนน้ำฝนบนหลังคาสะอาดดีแล้วจึงเริ่มรองน้ำใส่โอ่งหรือตุ่มกัน เราจะรองน้ำฝนเก็บใส่โอ่งไว้กินกันทุกบ้าน ในแต่ละบ้านจะมีโอ่งมังกรไว้รองรับน้ำฝนเก็บไว้กินกันได้จนถึงฝนใหม่กันเลย บ้านหนึ่งๆจะมีโอ่งมังกรนี้ไม่ต่ำมา 5-6 โอ่ง

คานเรือ

        คานเรือนี้อยู่บนบกใกล้ๆกับโรงไม้ที่ตั้งอยู่ริมตลิ่ง (ปลูกในน้ำชายตลิ่ง) ยกพื้นเสมอดินส่วนตัวเสาฝังอยู่ในน้ำ จำหน่ายไม้สำหรับก่อสร้างทุกชนิด (ขณะนั้นยังใช้เรือในการเดินทาง การขนส่งและการค้าขายสินค้า) และที่โรงไม้จะมีศาลาท่าน้ำแต่ไม่มีใครกล้าเข้าไปใช้ เพราะจะเป็นการเกะกะการทำงานของคนงานในโรงไม้ ข้างๆโรงไม้เป็นบ้านกำนันเก่า (กำนันพัฒน์)

        คานเรือที่ว่านี้ลูกๆคงไม่รู้จัก แม่จำไม่ได้ว่าคานเรือเลิกไปเมื่อไร ตอนนั้นการสัญจรไปมาส่วนใหญ่เป็นทางน้ำทั้งนั้น มีถนนอยู่สายเดียวจากอำเภอมาสิ้นสุดที่ตลาด  จากตลาดไปก็เป็นที่ของกรมชลประทาน ไม่มีถนนไปต่อ มีแต่ทางเดิน และบ้านเรือนทั่วไปจะตั้งอยู่ริมน้ำเป็นส่วนใหญ่ ข้าวเปลือกก็จะขนด้วยเรือเอี้ยมจุ๊นขนาดใหญ่ มีให้เห็นอยู่ทั่วไป

       คานเรือนี้ก็คือท่าซ่อมเรือที่รั่วหรือไม้เรือเริ่มผลุ หรือต่อเรือใหม่นั่นเอง    จะมีรางเหล็กคล้ายทางรถไฟ 2 รางคู่ วางกว้างประมาณ 1/1/2 เมตร มีหมอนรองโดยตลอด ต่อจากบนพื้นดินลงไปถึงในน้ำจนถึงพื้นดินที่ลึกพอที่จะลากดึงเรือผ่านรางมาได้ และมีรอกตัวใหญ่   เวลาเรือจะเข้าซ่อมก็จอดเรือให้ตรงรางนี้แล้วคนงานก็จะใช้รอกและลวดสลิงดึงเรือขึ้นมา มีเครื่องจักรดึงด้วยการหมุนฟันเฟือง ที่ตั้งอยู่ในโรงเล็กๆ จากนั้นก็นำเรือขึ้นวางบนคานไม้ที่ตั้งไว้มากมายนั้น ตอนยกเรือขึ้นบนคานไม้แม่ไม่เคยเห็น
รู้แต่ว่าใช้รอกยก เห็นแต่ตอนเรือขึ้นบกและลงน้ำจากรางเท่านั้น

        เรือที่มาซ่อมลำหนึ่งๆใช้เวลาเป็นเดือน ตัวเรือวางค้างอยู่บนคานไม้เพื่อรับน้ำหนัก ช่างซ่อมที่เป็นช่างไม้ส่วนมาก จะเปลี่ยนไม้ลำเรือส่วนที่ผลุ เป็นบางแผ่นหรือบางส่วน อุดรอยรั่วด้วยชัน และใช้ชุด(ผ้าเป็นเส้นๆ หมุนเป็นเกลียว)ผสมกับน้ำมันยางและปูนแดงนิดหน่อย และทาน้ำมันยางเป็นรายการสุดท้าย ปล่อยจนแห้งดีแล้วจึงทำการเข็นเรือลงน้ำด้วยวิธีการใช้รอกและลวดสลิงยกลงรางเพื่อลงน้ำ

       แม่เคยเห็นลุงช่วยคนข้างบ้านที่ทำงานที่คานเรือซ่อมและยาเรืออยู่ประจำ และเคยช่วยเป็นลูกมือตาของลูกยาเรือสำปั้นที่บ้านบ่อยครั้งพอที่จะยาเรือที่รั่วได้เองบ้าง

อาบน้ำ

       ในช่วงหลังบริษัทปูนซีเมนต์ไทย ได้ขยายโรงงานออกมาถึงโรงเรื่อย ได้รื้อบ้านพักพนักงาน และปิดรั้วให้เข้าออกที่ประตูด้านหน้า เวลานั้นแม่เริ่มรุ่นๆสาวแล้ว แม่และเพื่อนๆ จึงไปอาบน้ำที่ศาลาท่าน้ำบ้านกำนันพัฒน์ ซึ่งเป็นกำนันเก่าที่เสียชีวิตไปแล้ว เป็นบ้านชั้นเดียวใต้ถุนสูงทำด้วยไม้สักหลังใหญ่สวยมาก หลังคาทรงปั้นหยามุงกระเบื้องสีแดง ในสมัยนั้นไม่เคยเห็นบ้านไหนใหญ่และสวยมากไปกว่าบ้านหลังนี้ยังติดตรึงอยู่ในใจมาช้านาน บ้านมีบริเวณกว้างขวางเนื้อที่ติดริมน้ำล้อมรั้วด้วยลวดหนาม มีไม้ดอกไม้ผลอยู่มากมาย ที่ชอบและเคยทานผลไม้ของบ้านนี้คือชมพู่ม่าเหมี่ยวที่มีรสชาติดีและอร่อย (ไม่เคยกินมาก่อนแถวที่บ้านไม่มีใครปลูก)
       กำนันมีลูกคนเดียวเป็นชายชื่อ เกื้อ (หวนมานึกทบทวนย้อนหลังไปน่าจะเป็นบ้านหลังนี้นี่เองที่ติดอยู่ใต้สำนึกตลอดมา เมื่อปลูกบ้านที่อยู่ในปัจจุบันจึงมีส่วนคล้ายหลายอย่างเช่นหลังคาบ้านที่เจาะจงทรงปั้นหยา หลังคาก็มุงกระเบื้องซีแพคโมเนียร์สีแดงกุหลาบ ปลูกไม้ดอกไม้ผลที่หายาก ที่สำคัญมีศาลาท่าน้ำ)

ทางเดินผ่านสวนเข้าบ้านปัจจุบัน 12/10/53

บ้านหลังคาทรงปั้นหยา
แม่น้ำสุพรรณ (ท่าจีน) ภาพถ่ายจากศาลาท่าน้ำ

ศาลาท่าน้ำ 12/10/53
        บ้านกำนันอยู่ด้านหลังโรงเรียน เลาะตามแม่น้ำไป เป็นช่วงที่แม่น้ำป่าสักไหลผ่าน เหนือเขื่อน พระราม 6 และมีคลองแยกมาข้างโรงเรียนติดฝั่งตลาด เพื่อให้เรือผ่าน เข้า – ออก อ้อมไปเชื่อมกับแม่น้ำป่าสักใต้เขื่อน ตรงหน้าวัดสะตือได้นั่นเอง เป็นความชอบ ที่ประทับใจในการใช้ศาลาท่าน้ำอาบน้ำ ซักผ้าและเล่นน้ำในวัยขนาดนั้น เป็นความฝันที่ฝังใจมานานที่อยากมีบ้าน ที่มีศาลาท่าน้ำเป็นของตัวเอง

       การเดินจากบ้านไปอาบน้ำที่ศาลานี้ได้ ต้องเดินผ่านวัดถลุงเหล็ก ข้ามถนนหน้าโรงเรียนเดินข้างรั้วโรงเรียนข้างบ้านพักครูเดินลัดเลาะผ่านอู่ซ่อมเรือ ซึ่งเราจะเรียกกันว่า “คานเรือ“ และเดินผ่านโรงไม้จึงถึงสะพานไม้ยาว เดินตามสะพานที่น้ำตื้นๆไปศาลาท่าน้ำที่อยู่ลึกออกไป
แม่น้ำป่าสักหลังเขื่อน พระราม 6

      บ้านกำนันสร้างศาลาท่าน้ำไว้ดี เป็นศาลาไม้มีบันไดยื่นลงในน้ำทั้ง 2 ด้าน มีทางเดินทำด้วยไม้จากริมตลิ่งไปยังศาลาซึ่งยื่นไปในน้ำซึ่งลึกมากพอสมควร ท่าน้ำนี้เจ้าของอนุญาตให้ใช้อาบน้ำและซักผ้าได้ โดยไม่หวงห้าม เป็นที่เล่นน้ำกันได้อย่างสนุกสนานของเด็กๆรุ่นเดียวกัน หรือรุ่นโตๆกว่าหน่อยก็จะชวนกันไปอาบน้ำที่ท่าน้ำนี้ การไปอาบน้ำก็จะนุ่งผ้าถุงกระโจมอกกันไปจากบ้านเลย ห่มทับด้วยผ้าขนหนูกันทุกคน ไปกันครั้งละ 5-6 คน พอใกล้เวลา16.30 น.ก็เปลี่ยนผ้าสำหรับอาบน้ำมีถังใส่ผ้าไปซัก ตะกร้าสบู่ และผงซักฟอก คล้องแขนไปคนละใบ ซึ่งผงซักฟอกที่มีอยู่ในสมัยนั้นชนิดเดียวคือ แฟบ คนทั่วไปจึงเรียกผงซักฟอกกันติดปากว่า แฟบ โดยใช้ซักผ้าและใช้ล้างจาน (ยังไม่มีน้ำยาล้างจาน) นอกจากแฟบแล้ว มีก็แต่สบู่ชันไรย์ ใช้ซักผ้า ขัดหม้อขัดขันอลูมิเนียม หรือล้างจานอีกเท่านั้น แม้ว่าต่อมาจะมีผงซักฟอกชนิดอื่นๆผลิตออกมาใหม่ๆก็ยังเรียก แฟบ กันอยู่นั่นเอง เช่นเดียวกับยาสระผม มียีห้อเดียวคือ แฟซ่า เป็นยาสระผมชนิดผง(ไม่เป็นน้ำเหมือนปัจจุบัน) ซองมีสีขาวและเขียว ขายราคาซองละ 50 สตางค์

      วิธีซักผ้าของแม่ก็เทผ้าลงบนพื้นบันไดท่าน้ำเอาถังใส่น้ำครึ่งหนึ่งแล้วใส่แฟบไป ตีน้ำแรงๆ ให้ขึ้นฟอง จากนั้นก็นำผ้ามาขยี้ที่ละชิ้นจนหมด จากนั้นก็เทน้ำแฟบในถังลงน้ำและล้างถังน้ำให้สะอาด ผ้าที่วางไว้ก็เอามาส่ายในน้ำจนสะอาด แล้วบิดให้หมาดใส่ถังไว้การซักผ้าด้วยวิธีนี้ผ้าจมหายโดยไม่รู้ตัวบ่อยมาก

      เมื่อซักผ้าเสร็จแล้ว ก็เล่นน้ำกันเป็นที่สนุกสนาน ว่ายน้ำเล่นบ้าง ทำโป่งลอยเล่นบ้าง (พวกอยู่บ้านใกล้น้ำ จะรู้จักการทำโป่งเล่นน้ำกันอย่างดี) วิธีเล่นก็คือขมวดปมผ้าถุงที่นุ่งกระโจมอกไว้ให้แน่น ยืนในน้ำหรือบนขั้นบันไดครึ่งตัว ดึงชายผ้านุ่งด้านหนึ่งขึ้นพ้นน้ำ กำมือวักน้ำหรือพุ้ยน้ำให้ลมเข้าชายผ้านุ่งด้านที่เหลือจะอยู่ในน้ำ ผ้าก็จะโป่งขึ้นจนพอแก่ความต้องการ แล้วเอาสองมือรวบชายผ้าใต้น้ำไว้ ย่อตัวลงปล่อยเท้าที่เหยียบดินหรือขั้นบันไดไว้ ก็ลอยตัวเล่นน้ำได้อย่างสบาย โดยใช้เท้าพุ้ยน้ำไปได้ใกล้หรือไกลตามถนัด ไม่มีการหงายท้องหรือโป่งหลุดจมน้ำอย่างแน่นอนถ้าขมวดผ้าบนหน้าอกให้ดีไม่ให้หลุดได้

       การเล่นน้ำอีกอย่างคือขึ้นไปยืนบนม้านั่งศาลา จับปลายผ้านุ่งให้กว้างหน่อยๆ ให้แน่นแล้วกระโดดลงมาตรงๆผ้าก็โป่งลอยน้ำพุ้ยเล่นได้เหมือนกัน หรือกระโดดน้ำพุ่งแหลนเล่นก็ได้ เล่นน้ำกันจนพอใจและเย็นมากแล้วจึงชวนกันขึ้นจากน้ำ ผลัดผ้าอาบน้ำซัก เดินกลับบ้าน (การนุ่งผ้ากระโจมอกไปอาบน้ำแม่น้ำ ลำคลอง หรือบ่อ เป็นเรื่องปกติไม่เป็นที่น่าแปลกหรือน่าอับอาย เป็นวิถีชีวิตของผู้คนในยุคสมัยนั้น ที่ยังไม่มีน้ำประปาใช้)

ฤดูแล้ง

       ในฤดูแล้งเมื่อคลองหน้าบ้านถูกถมแล้ว ไม่มีน้ำใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น อาบ ทำกับข้าว ซักเสื้อผ้า ฯลฯ ทำให้เป็นที่ลำบาก แต่ละบ้านต้องขุดบ่อเก็บกักน้ำไว้ใช้  ที่ริมๆน้ำขึ้นถึงข้างคลอง (ในสมัยนั้นชาวบ้านไม่มีปากเสียง ทางการมาถมคลอง ก็ไม่สนใจชาวบ้านตลอดคันคลองว่าจะเอาน้ำที่ไหนมาใช้ ชาวบ้านจะต้องคิดแก้ไขหาวิธีอยู่รอดเอาเอง) การตักน้ำและหาบขึ้นมาใช้ จากตลิ่งที่สูงแบบเดินตัวเปล่า ก็เหนื่อยมากแล้ว เรียกว่าอาบน้ำแล้วเดินขึ้นมาถึงบนตลิ่งก็ร้อนจนเหงื่อออก การหาบน้ำเดินขึ้นจะเหนื่อยแค่ไหน ที่บ้านยายจะจ้างเขาตักน้ำใส่โอ่งมังกร (ตุ่ม) ราคาหาบละ 1 บาท (หาบก็คือปีบที่ใส่น้ำตาลหรือใส่ของอื่นๆ  แล้วเอาไม้ท่อนสี่เหลี่ยมเท่าปีบตอกตรงกลางผูกเชือกสำหรับใช้ไม้คานสอดหาบ คือ 2 ปีบ เท่ากับ 1 หาบ) ใส่ตุ่มไว้จนเต็มแล้วแกว่งด้วยสารส้ม ตุ่มหนึ่งๆ จุน้ำได้ 6-8 หาบ

       มีหญิงชาวจีนยากจนอยู่คน สามีสูบฝิ่นและขี้ยา (จริงแล้วมาจากครอบครัวเดิมที่ฐานะดี และสามีก็เป็นพี่ชาย ของเจ้าของร้านค้าที่ใหญ่ในตลาด) เราจะเรียกกันติดปากว่า “ยายซิ้ม ” (ไม่ทราบชื่อจริง)
ยายซิ้มเป็นคนรับจ้างตักน้ำในหมู่บ้านทุกหลัง การใช้น้ำจึงต้องใช้กันอย่างประหยัด

      ส่วนน้ำกินก็รองน้ำฝนใส่ตุ่ม เรียงรายไว้รอบบ้านพอกินได้ตลอดทั้งปีไม่เดือดร้อน ส่วนการอาบน้ำหรือซักผ้า ก็ต้องลงไปอาบหรือซักกันที่ริมตลิ่งข้างล่างแถวๆบ่อน้ำของตนเองที่ขุดกันไว้นั่นเอง ต้องมีถังตักน้ำและกะละมังถือลงไปด้วย ตักน้ำจากบ่อมาอาบและซักผ้านอกบ่อ เมื่ออาบน้ำและซักผ้าเสร็จแล้วก็ต้องตักน้ำใส่ถังหิ้วขึ้นมาจากตลิ่งด้วย เพื่อไม่ให้เสียเที่ยว เอาไปใส่อ่างไว้ล้างเท้าก่อนขึ้นบ้าน
ทุกบ้านจะมีอ่างใส่น้ำไว้ล้างเท้าก่อนขึ้นบ้านทุกครั้ง

       ถ้าปีไหนแล้งจัด น้ำในบ่อก็แห้งและเหม็นโคลน เราก็จะพากันไปขอใช้น้ำของบริษัทปูนซีเมนต์ไทย ที่ “โรงเลื่อย” เดินจากหมู่บ้านประมาณ 2 กิโลเมตร ด้วยการเดินไปตามคันนาหลังหมู่บ้าน ตัดขึ้นถนนไปยังบริเวณโรงเลิ่อยเก่าของบริษัทปูนซีเมนต์ไทย บริเวณนี้เป็นบ้านพักส่วนหนึ่งของพนักงานบริษัท มีลักษณะเป็นบ้านไม้ใต้ถุนสูงแถวยาว 2-3 แถว ทาสีดำ แต่ละบ้านจะมีก๊อกน้ำประปา ของโรงงานตั้งอยู่ทุกบ้าน

       เราก็จะขออนุญาตยาม (รปภ.) ที่เฝ้าอยู่ที่ป้อม เข้าไปขอใช้น้ำซึ่งทางโรงงานไม่ห้ามเราจะหอบผ้าไปซักและอาบน้ำกันที่กลางแจ้ง ตรงนั้นอย่างสบาย (ไปกันครั้งละหลายๆคน)  การอาบน้ำก็จะใช้ผ้าถุงนุ่งกระโจมอก มีผ้านุ่งไปผลัดเปลี่ยน มีผ้าขนหนูไปเช็ดตัว อาบเสร็จก็ผลัดเปลี่ยนผ้ากันตรงที่โล่งใกล้ก๊อกน้ำนั่นเอง เป็นเรื่องปกติธรรมดาๆ ไม่อายกัน ไม่เป็นเรื่องประหลาดที่ใครๆจะมาสนใจ โดยปกติชาวบ้านส่วนใหญ่ก็อาบน้ำกันที่บ่อ คลอง หรือแม่น้ำกันอยู่แล้ว อย่างดีก็อาบจากตุ่มน้ำข้างบ้านวัฒธรรม
การอาบน้ำในห้องน้ำยังมาไม่ถึงหมู่บ้าน ขากลับก็กลับทั้งๆ นุ่งกระโจมอก ห่มทับด้วยผ้าเช็ดตัว  มากันเป็นกลุ่ม มีถังน้ำใส่ผ้าซักแล้วมาด้วย บางคนก็เอาถัง 2 ใบ พร้อมไม้คานหาบน้ำประปากลับมาไว้กินด้วย

เก็บหอยทราย - หอยขม

       แม่เคยไปงมเก็บหอยทรายและหอยตลับในคลองหรือแม่น้ำที่พื้นดินใต้น้ำเป็นดินทราย มาเป็นอาหารกับยายที่คลองเชื่อมกับแม่น้ำป่าสักตรงข้างวัดบึงลัฏฐิวัน ซึ่งเป็นคลองตัน (ปัจจุบันถมหมดแล้ว) คลองนี้พื้นเป็นดินทราย อยู่ข้างวัดบึงฯ เล็กน้อย





หอยทราย

       การเดินทางไปไหนสมัยนั้นก็คือการเดินจริงๆ ไปหาหอยทรายก็ไปกันหลายคนมีถังน้ำกันคนละใบ ถ้าจะเดินไปตามถนนที่ว่าก็ไกลมาก มีคลองส่งน้ำที่ 12 ของกรมชลประทาน (ส่งน้ำมาจากเขื่อนเจ้าพระยาที่จังหวัดชัยนาท มาลงแม่น้ำป่าสักที่หน้าวัดวังหิน) ขวางอยู่ พวกเราก็ใช้วิธีลอยคอข้ามคลอง 12 ซึ่งกว้างประมาณ 20 - 30 เมตรเท่านั้น การลอยคอข้ามน้ำนั้น  ไม่ใช่การว่ายน้ำข้ามคลอง เป็นการเดินลงน้ำเท่าที่เดินถึง แล้วใช้ถังวางบนน้ำใช้ 2 มือเกาะขอบถัง ใช้เท้าพุ้ยน้ำเคลื่อนตัวไปข้างหน้า จนถึงอีกฝั่ง  ขึ้นจากคลองแล้วก็เดินต่อไปอีกกว่าจะถึงคลอง ที่จะไปเก็บหอยทรายซึ่งเป็นคลองตันเชื่อมจากแม่น้ำป่าสัก

       น้ำในคลองฯนี้ไม่ลึกนัก ตรงไหนน้ำตื้นๆ แม่ก็จะใช้มืองม คุ้ยไปตามทราย ถ้าตรงไหนน้ำลึกก็จะใช้เท้าเหยียบคุ้ยๆ ถูกตัวหอยก็ดำน้ำลงไปเก็บ ทำอย่างนี้เรื่อยไป จนกว่าจะได้หอยทรายพอตามต้องการ จึงจะชวนกันกลับ

         หอยทรายหรือหอยตลับเป็นหอยที่สะอาดไม่สกปรก เนื่องจากอยู่ในดินทราย เมื่อหาเก็บมาได้ก็ล้างให้สะอาดนำมาต้มใส่ตะไคร้ หรือใบโหระพาด้วยก็ได้ ต้มพอเดือดยกลงเทน้ำทิ้ง ตำน้ำจิ้มด้วยพริกขี้หนูสด กระเทียม แล้วบีบมะนาวและเยอะน้ำปลา ใช้ไม้เสียบจิ้มดึงตัวหอยออกจากเปลือก กินกับข้าวสวยร้อนๆ เป็นที่เอร็ดอร่อยมาก การเก็บหอยทรายต้องเลือกเก็บในเวลาข้างขึ้น หอยทรายจะตัวอ้วนขาวไม่มีลูก ถ้าเก็บข้างแรมตัวหอยจะผอมและมีลูกติด หอยทรายเป็นอาหารที่แม่ไม่ได้กินมานานกว่า 10 ปี แล้ว

       ส่วนหอยขมที่พวกผู้ใหญ่ชอบมากอีกอย่าง เด็กๆจะไม่ชอบหอยขมนัก แต่การเก็บหอยขมก็เป็นที่สนุกอีกเช่นกัน หอยขมไม่ต้องไปหาไกลคลองหน้าบ้านที่ถูกโคลนทับถมนั้น มีหอยขมอยู่มากมาย คลองหน้าบ้านน้ำจะขึ้นลงเป็นเวลา บางวันขึ้นตอนเช้าพอตกเย็นน้ำก็จะลงจนเกือบแห้ง หรือขึ้นช่วงเย็นพอเช้าน้ำแห้ง พวกเด็กๆก็จะลุยโคลนหาเก็บหอยกันอย่างสนุกสนาน เนื้อตัวและเสื้อผ้าดำปี๋มีแต่โคลนทั้งนั้น (งานแบบนี้แม่ไม่เอาด้วยขอเป็นผู้ดูเท่านั้น) หอยขมเมื่อเก็บมาแล้วก็ล้างให้สะอาดและใส่ถังแช่น้ำไว้ 1 คืน มีเทคนิคในการให้หอยขมอ้าปากคลายดิน และไม่เหม็นโคลน ให้ทุบพริกขี้หนูสด 3 - 4 เม็ด ใส่ลงในถังน้ำที่แช่หอยขม หอยจะอ้าปากคายดินออกมาเอง เวลานำมาแกงจะไม่มีดินและโคลนติดอยู่ในตัวหอยเลย


หอยขม

       หอยขมเอามาทำแกงคั่ว ผู้ใหญ่ชอบมาก แกงคั่วหอยขมที่ทำกินกัน ต่างกับที่เขาแกงขายกันในปัจจุบัน คือแกงแบบทั้งเปลือกหอยเลย เพียงล้างหอยขมหลายน้ำให้สะอาดตัดก้นหอยออก แล้วล้างน้ำอีกครั้งก็ใส่หม้อแกงได้ เวลากินก็ใช้ปากจุ๊บออก การกินแกงหอยขมนี้บางคนทำอย่างไรก็จุ๊บตัวหอยออกจากเปลือกไม่ได้ ต้องหาไม้จิ้มตัวหอยออกมาทุกครั้งเป็นประจำ (เช่นพ่อของลูก) มีเทคนิคอยู่นิดเดียวเอง ในการจุ๊บตัวหอยออกมาได้ การจุ๊บตัวหอยออกมากินได้เอง  รสชาติจะอร่อยมากกว่าการใช้ไม้จิ้ม เนื่องจากมีน้ำแกงในตัวหอยผสมรวมในเปลือกด้วย

หอยตลับ

หุงข้าวเช็ดน้ำ

       พอโตขึ้นหน่อยเด็กผู้หญิงจะไม่ค่อยมีเวลาเล่นมากนัก เด็กผู้หญิงอายุ 8 - 9 ขวบ ต้องหุงข้าวเป็น ทำกับข้าวง่ายๆได้ แม่ก็ไม่แตกต่างจากเด็กผู้หญิงอื่นๆ การหุงข้าวนั้นเป็นการหุงแบบเช็ดน้ำ ไม่ใช่ของง่ายๆนักหรอก ใช้เวลาในการหุงข้าวครั้งละชั่วโมงกว่าจึงหุงข้าวเสร็จ พอแม่กลับจากโรงเรียนจะต้องรีบกลับมาติดไฟถ่านหุงข้าว กวาดบ้านและถูบ้านเป็นประจำ


       การหุงหาอาหารใช้เตาถ่านหรือบางครั้งก็เตาฟืน เตาถ่านเป็นเตาที่ปั้นจากดินเผา ตรงกลางจะมีรังผึ้ง (เป็นตะแกรงสำหรับรองถ่านในเตา ปั้นจากดินเผาเป็นแผ่นกลมๆ ใส่เตาได้ตามขนาดของเตา มีรูเล็กๆ ไว้เป็นช่องระบายอากาศ) การติดไฟก็ไม่ยาก หาเชื้อไฟเก็บไว้เป็นเศษไม้ มาแจรก (อ่านว่า เจียก คือทำให้แยกหรือแตกออก) เป็นชิ้นเล็กๆ ยาวขนาดฝ่ามือแจรกใส่ปี๊บเก็บไว้ หรือจะเป็นกาบมะพร้าวมาฉีกหรือหั่นเก็บไว้ก็ได้

      ขั้นตอนต่อไปของการติดไฟก็คือ ถ้าใช้กาบมะพร้าวเป็นเชื้อไฟ เอากาบมะพร้าวที่ฉีกหรือหั่นเก็บไว้มาวางไว้บนตะแกรงเตาก่อน เอาถ่านวางลงไปอย่าให้แน่น พอให้อากาศผ่านได้ จากนั้นก็เอาถุงกระดาษห่อของที่เก็บไว้สำหรับติดไฟมาค่อยๆแกะออก กลางอ่านให้หมดทุกเรื่องทุกตัวอักษรก่อนทุกครั้ง จึงขยุ้มใส่ใต้เตาเอาไม้ขีดไฟจุดที่กระดาษก่อน (มีไม้ขีดไฟอยู่ 2 ยี่ห้อคือตราพญานาค และตราสวัสดี) และใช้พัดให้ไฟลุกติดกาบมะพร้าว ถ่านก็จะติดไฟจากเชื้อของกาบมะพร้าว การติดไฟด้วยวิธีนี้ควันไฟจะคลุ้งตลบอบอวล

        แต่ถ้าติดไฟโดยใช้เศษไม้ที่แจรกชิ้นเล็กๆไว้ ก็ใช้มือขยุ้มกระดาษวางบนรังผึ้งเตาแล้วค่อยๆเรียงเศษไม้ไว้บนกระดาษ และวางถ่านเพียง 3 - 4 ก้อนไม่ให้เศษไม้ล้มจึงขีดไฟที่กระดาษเศษไม้จะค่อยๆ ติดไฟ เมื่อเศษไม้ติดไฟลุกดีแล้วจึงค่อยวางถ่านลงไปจนเต็มเตา ติดไฟด้วยวิธีนี้ควันไฟจะไม่มากนัก การติดไฟทำกับข้าวนี้ ถ้ามองแต่ไกลๆ พอได้เวลาที่จะต้องทำอาหารกันในเวลาเช้าและเย็น ก็จะเห็นควันไฟจากบ้านโน้นบ้าง บ้านนี้บ้างเป็นม่านควันจางๆ ไร่เรียงกันไปทุกๆบ้าน

       ช่วงที่ติดไฟกว่าถ่านจะแดงจนหมดควัน ก็จะตวงข้าวใส่หม้อถ้ามีกรวดหรือกลากข้าวก็เก็บออกก่อน นำไปล้างซาวด้วยน้ำให้สะอาด สัก 2 ครั้ง เทน้ำซาวข้าวทิ้งแล้วใส่น้ำในหม้อข้าวให้ท่วม 2-3 เท่าของข้าวที่หุง น้ำซาวข้าวนี้ใช้ประโยชน์ในการดองผักได้หลายชนิด หม้อที่ใช้หุงข้าวเป็นหม้ออลูมีเนียมหรือหม้อดิน แม่ไม่เคยใช้หม้อดินในการหุงข้าว การใส่น้ำหุงข้าวเท่าใดต้องอาศัยความชำนาญ กะน้ำเอาเองถ้ากะคร่าวๆ ก็ต้องน้ำ 3 เท่าของจำนวนข้าว พอหมดควันไฟแล้วก็ยกหม้อข้าวมาตั้ง หมอข้าวนี้จะหนักมาก พอตั้งแล้วสักพัก ต้องเปิดฝาหม้อใช้ทัพพีคนข้าวในหม้อมิฉะนั้นข้าวจะติดก้นหม้อทำให้ข้าวไหม้ได้ การหุงข้าวแบบนี้ไม่ง่ายเหมือนปัจจุบันที่หุงข้าวด้วยหม้อไฟฟ้า เสียบปลั๊กกดเปิด แล้วไปไหน หรือทำไรก็ได้ไม่ต้องคอยนั่งเฝ้า คอยใช้ทัพพีคน และตักฟองข้าวออกทิ้ง เมื่อข้าวเดือดให้เปิดฝาหม้อวางไว้ถ้าเผลอหรือไปทำอะไร ปล่อยข้าวเดือดจนล้นออกมา หม้อข้าวจะเปื้อนเลอะเทอะและน้ำจากหม้อข้าวจะไหลลงเตาทำให้ขี้เถ้าฟุ้งออกมาขาวไปหมด

       การหุงข้าวจึงต้องนั่งอยู่ไม่ไกล ต้องคอยมาดู ต้องกะเวลาเป็น พอข้าวเดือดพลั่กๆ ต้องคอยคน และตักเมล็ดข้าวออกมาดูว่าข้าวสุกหรือยัง ถ้ายังหุงข้าวไม่เก่งดูเมล็ดข้าวไม่เป็น ก็ต้องคอยใช้ทัพพีตักข้าวขึ้นมาใช้นิ้วหยิบบี้เมล็ดข้าวดูว่าสุกหมดหรือยัง คือถ้าลองบี้แล้วเมล็ดข้าวข้างในยังแข็งอยู่บี้เป็นเม็ดๆ ก็ต้องเคี่ยวต่อไปอีกจนข้าวสุก สำหรับคนที่หุงข้าวจนชำนาญแล้วแค่ตักเมล็ดข้าวออกมาดูเท่านั้นก็รู้ว่าข้าวสุกหรือไม่สุก

       เมื่อข้าวสุกได้ที่แล้วก็ยกหม้อข้าวลงจากเตาซึ่งต้องระวังมากหม้อข้าวทั้งหนักทั้งร้อน การยกหม้อข้าวลงจากเตาต้องใช้ผ้าจับหูหม้อทั้ง 2 ข้าง ค่อยๆเทน้ำข้าวลงในอ่างจนถึงเมล็ดข้าว วางหม้อข้าวและปิดฝาให้สนิทใช้ไม้ขัดหม้อข้าวสอดไม้เข้าไปที่หูทั้งสอง โดยผ่านหูของฝาหม้อด้วย แล้วยกขึ้นวางบนไม้ที่ทำไว้ลองโดยเฉพาะบนปากอ่าง เพื่อให้น้ำข้าวไหลออกจากหม้อให้หมด (ข้าวเสด็จน้ำ) เหลือแต่เมล็ดข้าว

       จากนั้นก็ราไฟในเตา โดยใช้เหล็กคีบถ่านที่เป็นเหล็กแบนยาวๆ 2 ข้างเชื่อมติดกัน คีบถ่านออกใส่ไหใบเล็กๆปิดให้ถ่านดับด้วยกะลาเสียบ้าง ให้เตาลดความร้อนลงบ้างแล้ว ยกหม้อข้าวขึ้นตั้ง เรียกว่าดงข้าวโดยวิธี ตั้งตรงบ้าง เอียงซ้ายบ้าง ขวาบ้าง สลับกันไป คอยหมั่นพลิกหม้อข้าวกลับไป-หมา เพื่อไม่ให้ข้าวไหม้ ในช่วงนี้ใช้ผ้าขาวบางชุบน้ำบิดให้หมาด เช็ดทำความสะอาดหม้อข้าวทุกด้าน เมื่อดงข้าวได้ที่แล้วก็ยกหม้อข้าวลง ทำกับข้าวต่อไป ถ้าจะกินน้ำข้าวก็รินน้ำข้าวใส่ถ้วยไว้ก่อนเช็ดข้าว (ข้าวสุกแล้วการเทน้ำข้าวออกให้แห้งเรียกว่าการเช็ดข้าว) แล้วจึงเทน้ำข้าวที่เหลือลงอ่างเอาไว้เลี้ยงหมา การหุงข้าวแบบเช็ดน้ำนี้กว่าจะหุงเป็น จนได้ที่ให้ข้าวร่วนสวยนั้นแต่ละคนก็จะผ่านการหุงข้าวดิบ แฉะ ไหม้ หรือสุกๆดิบๆ กันมาก่อนแทบทั้งนั้น

หลวงพ่อโต –วัดสะตือ

       มีงานวัดอยู่งานหนึ่งที่เด็กๆ ใจจดใจจ่อ รอคอยอยู่ คืองานประจำปีปิดทองหลวงพ่อโตวัดสะตือ ซึ่งอยู่ไม่ไกลนักเดินตามถนนหน้าโรงเรียนผ่านตลาดผ่านที่ทำการสำนักงานชลประทานป่าสักใต้ จนถึงตัวสันเขื่อนพระราม 6 ไม่ต้องขึ้นที่สะพานสันเขื่อน ให้เดินเลาะไปตามตลิ่งริมแม่น้ำป่าสัก(ที่เป็นตลาดปลาริมเขื่อน)ทางใต้เขื่อนที่ผ่านวัดสะตือ มองเห็นพระนอนองค์ใหญ่หรือหลวงพ่อโตได้แต่ไกล มีคลองขวางอยู่ เป็นคลองที่ขุดตอนใต้ของเขื่อนอ้อมวัดสะตือลัดเลาะตลาดท่าหลวงเข้าประตูน้ำพระนเรศน์ ที่ติดต่อถึงหน้าโรงเรียนสำหรับให้เรือผ่านประตูน้ำเข้าแม่น้ำป่าสักทางเหนือน้ำได้


      คลองนี้เองที่ผ่านตลาดท่าหลวง แล้วอ้อมผ่านบริษัทปูนซีเมนต์ไทย โดยโค้งอ้อมกลับมาถึงหน้าบ้านเรา สิ้นสุดที่ถนนหน้าวัดถลุงเหล็กและอีกด้านของตลาดท่าหลวง ต้องข้ามเรือไปอีก แต่เป็นทางที่ไปวัดสะตือได้ใกล้และสะดวกที่สุด ในสมัยที่ยังไม่มีรถยนต์ และรถจักรยานยนต์มากมายเช่นปัจจุบันนี้

       ในสมัยนั้นเมื่อมีงานประจำปีของวัดสะตือ ทุกครั้งบริษัทปูนซีเมนต์ไทย จะล่งเรือปูน 2 ลำ มาเรียงต่อกันกั้นคลองเป็นทางเดินให้คนข้ามไปและกลับ เพื่อสักการะองค์หลวงพ่อโตที่วัดสะตือ ตรงจุดนี้ทุกปี ผู้คนจากที่ใกล้และไกลต่างหลั่งไหลกันมาอย่างไม่ขาดสาย จำได้ว่ามีคนตั้งโต๊ะนั่งเก็บเงินค่าเรือข้ามฟาก นำเงินเข้าวัดคนละ 50 สตางค์ หรือ 1 บาท ก็จำไม่ได้แน่นอน ต่อมาการเดินทางด้วยรถยนต์และรถจักรยานยนต์สะดวกมากขึ้น งานประจำปีวัดสะตือก็ไม่มีเรือปูนจอดให้ข้ามคลองนานแล้ว

                      ช่วงที่เรือปูนสองลำจอดให้คนเดินข้ามคลองจากถนนริมเขื่อนมาวัดสะตือ


       หลวงพ่อโตวัดสะตือเป็นพระพุทธรูปปางไสยาสน์องค์ใหญ่อยู่กลางแจ้ง เป็นที่เคารพบูชาของประชาชนทั้งใกล้และไกลตลอดมาเนิ่นนานแล้ว เล่ากันมาว่าสมเด็จพระพุฒาจารย์ โต พรหมรังสี เป็นผู้สร้างพระนอนองค์ใหญ่นี้ เนื่องจากสมเด็จท่านมาถือกำเนิดในเรือที่จอดพักนอนอยู่บริเวณท่าน้ำหน้าวัด ท่านจึงมาสร้างพระพุทธรูปนอนองค์ใหญ่ไว้เป็นที่ระลึก



เพิ่มภาพน้ำท่วม 21/10/53

       ชาวบ้านใกล้เคียงและต่างถิ่นไกลล้วนนับถือหลวงพ่อโตองค์นี้ว่าศักดิ์สิทธิ์มาก ที่แม่ได้ยินจากผู้เฒ่าผู้แก่เล่ากันต่อๆมาถึงความศักดิ์สิทธิ์ของท่าน คือเรื่องสมัยสงครามโลก การบอกเล่าไม่ชัดเจนว่าสงครามโลกครั้งที่ 1 หรือ 2 ฟังเหตุการณ์จากคำบอกเล่าแล้วคาดว่าเป็นสงครามครั้งที่ 2 เครื่องบินมาทิ้งระเบิดหลวงพ่อโตใช้มือซ้ายปัดลูกระเบิดไป ไม่ให้ตกในชุมชนแถบนั้นและข้อมือซ้ายขององค์หลวงพ่อโตเป็นรอยค่อยๆแตกร้าวไปจริงๆ เคยสอบถามผู้เฒ่าผู้แก่ว่ารู้ได้อย่างไร ก็ได้รับคำตอบว่าหลวงพ่อมาเข้าฝันบอก เล่าต่อกันมาจนไม่รู้ว่าเข้าฝันใครแล้ว

         มีอีกครั้งลูกสาวแพทย์ประจำตำบล ตกน้ำ ที่ใต้เขื่อนพระราม 6 ไม่ไกลสถานีอนามัยประจำตำบลไก่จ้นที่เป็นบ้านพักของแพทย์ด้วย ซึ่งเป็นตลิ่งสูงและน้ำไหลแรงมีผู้ช่วยเหลือทันไม่บาดเจ็บและไม่เสียชีวิต คำเล่าลือต่อมาคือพลวงพ่อโตช่วยรับเด็กไว้จึงไม่บาดเจ็บและไม่เสียชีวิต

          ผู้คนมากมายทุกสารทิศต่างมาสักการะและปิดทององค์หลวงพ่อโตกันเป็นประจำ โดยเฉพาะในวันงานประจำปี ในแต่ละปี ที่มีงานเทศกาล 2 ครั้ง คือ กลางเดือน 5 และกลางเดือน 12 (เดือนไทย ตามจันทร์คติ) โดยเฉพาะงานกลางเดือน 12 งานจะมี 3 วัน 3 คืน ในวันสุดท้ายของงานจะตรงกับวันลอยกระทงของทุกปี

       งานในตอนกลางวันผู้คนจะหลั่งไหลกันมานมัสการและปิดทององค์หลวงพ่อโตกันอย่างเนืองแน่น ล้นหลามจนต้องเดินไหลตามกันไป ทั้งๆที่ในยุคนั้นการเดินทางมาวัดไม่สะดวก ไม่มีรถประจำทางผ่านหนทางเป็นถนนลูกรังฝุ่นแดง ไม่สะดวกสบายเหมือนปัจจุบัน งานกลางวันไม่เก็บเงินค่าผ่านประตู และบ่ายๆมียังมีลิเกให้ดูฟรีอีกด้วย ในลานวัดมีทั้งผู้คน ทั้งร้านค้าที่นำสินค้าจากต่างถิ่นมาขายกันอย่างมากมาย

       ที่แม่ชอบและโปรดปรานมากทุกครั้งที่ไปงานปิดทองหลวงพ่อโตในเวลาเย็นๆแดดไม่ร้อน และคนมาจากที่ไกลๆกลับแล้ว คนไม่แน่นเดินในวัดได้สบาย ที่จะขาดเสียไม่ได้ทุกปีจนถึงปัจจุบันถ้ามีโอกาสได้ไปก็คือ สินค้าที่เป็นเครื่องจักสาน ที่ชาวบ้านจากอำเภอบางปะหัน หรือจากอำเภออื่นๆ ของจังหวัดพระนครศรีอยุธยานำมาขาย โดยวางขายนอกรั้ววัด ริมแม่น้ำป่าสักไม่ไกลตรงที่แม่ข้ามเรือปูนและเดินตรงมาก่อนเข้าประตูวัด ตอนที่แม่เป็นเด็กผู้หญิงตัวเล็กๆ ยายของลูกก็จะซื้องอบเล็กๆสำหรับเด็กผู้หญิงให้ ตัวงอบปักดอกไม้ดอกเล็กๆด้วยเชือกฟาง สีเขียว แดง และเหลืองเป็นดอกบานชื่นบ้าง ดาวเรืองบ้าง น่ารักมากแม่สวมงอบไม่ยอมถอดเลย และใช้จนพัง มีงานอีกก็ซื้อใหม่ทุกครั้ง (ไม่เคยสนใจจดจำราคา)

        ส่วนยายของลูกก็จะเลือกซื้อเครื่องจักสานสำหรับใช้ในบ้าน เช่น กระชอน กระด้ง ฯลฯ เป็นต้น เป็นสินค้าที่แม่ค้าทำเองด้วยมือของตัวและยังมีของเพื่อนบ้านใกล้เรือนเคียงฝากมาขาย อีกด้วย สินค้ามีมากอย่าง ทั้งชิ้นเล็ก ชิ้นน้อย ชิ้นกลางจนถึงชิ้นใหญ่ๆอย่างเช่นกระบุง ตะกร้าจนถึงซุ่มไก่ ขายดีมีคนมาเลือกหาซื้อกันไม่หยุด

        เครื่องจักสานที่ทำด้วยมือนี้แม้จะแบบเดียวกันก็จริงแต่ว่าแต่ละชิ้นจะแตกต่างกันที่ฝีมือในการจักสานชิ้นไหนทำได้ดีกว่ากัน ยายจะเลือกซื้องานชิ้นที่ดีและใช้ได้ถนัดมือเท่านั้น จนถึงทุกวันนี้ถ้าแม่มีโอกาสไปงานปิดทองหลวงพ่อโตที่วัดสะตือในช่วงเทศกาล แม่ก็จะเข้าไปเลือกซื้อเครื่องจักสานทุกครั้ง

       ในช่วงงานเดือน 12 นี้ โดยเฉพาะวันขึ้น 15 ค่ำ คนจะมากมายมาจากทุกทิศทุกทางที่มุ่งสู่วัดสะตือ คนมาเที่ยวสายที่ผ่านถนนหน้าโรงเรียนมากกว่าทุกเส้นทาง (ในยุคสมัยนั้น) หลังจากพักกลางวันแล้วเด็กๆ ไม่เป็นอันที่จะเรียนหนังสือกันแล้ว กระสับกระส่ายชะเง้อมองกันแต่ที่หน้าต่าง มองดูผู้คนที่เดินผ่านไปและกลับมากมายทั้งสองข้างของถนน ส่วนใหญ่หลังพักกลางวันแล้วเข้าเรียน ครูจะสอนทำกระทงกันเกือบทุกห้องจากวัสดุธรรมชาติคือกาบกล้วยและใบตองที่สั่งไว้ล่วงหน้าให้นำมาจากบ้าน เตรียมไว้ลอยกระทงในตอนกลางคืนถือเป็นประเพณีของท้องถิ่นเลย

      โรงเรียนจะปล่อยเด็กกลับบ้านเมื่อนักเรียนห้องไหนทำกระทงเสร็จก็กลับบ้านได้ ถ้าไม่ปล่อยกลับเร็วแบบนี้ จะมีเด็กมาโรงเรียนในวันนั้นน้อยมาก จริงแล้วตั้งแต่เช้าก็ไม่ค่อยได้เรียนหรอก ส่วนใหญ่ครูจะใช้วิธีสอนทำกระทงตั้งแต่ตอนเช้าโดยให้ทุกคนนำหยวกกล้วย ใบตอง ธูป เทียน ดอกไม้และไม้กัดมาจากบ้าน เด็กทุกคนต้องทำกระทงของตัวเองให้ได้และส่งก่อนพักกลางวัน พอเข้าเรียนก็คืนกระทงให้และปล่อยกลับบ้านเลยเด็กจะรีบกลับถึงบ้าน เพื่อไปเที่ยวและปิดทองพระที่วัดสะตือกับพ่อหรือแม่ที่รออยู่ที่บ้านในตอนบ่ายๆถึงเย็นกับครอบครัว โดยไม่เถลไถลเลย (ครูส่วนใหญ่ก็ไปเหมือนกัน)

        ที่วัดคนแน่นมากเดินแบบไหลตามกันไป ร้อนก็ร้อนคนก็มากเดินกันฝุ่นฟุ้ง กว่าจะถึงบริเวณที่ทางวัดจัดขายธูป เทียน ดอกไม้และทองคำเปลว ทางวัดมีถังใส่น้ำมนต์ใบใหญ่มีจอกเล็กๆ ลอยอยู่ ใครจะดื่มหรือตักใส่ขวดไปก็ได้ (หลายปีต่อมาทำเป็นบาตรพระลูกใหญ่สำหรับใส่น้ำมนต์) พระนอนองค์ใหญ่บริเวณที่คนเอื้อมมือปิดทองได้ถึงนั้นเหลืองอร่ามไปด้วยทองคำเปลวยาวตลอดทั้งองค์พระ

       เด็กๆ เมื่อปิดทองแล้วบังเอิญเอามือที่ติดเศษแผ่นทองคำเปลวไปเช็ดหน้าหรือแขนทองเปลวก็จะติดหน้า ติดผม ติดแขนกันแทบทุกคนหรือติดโดยตั้งใจก็มี เป็นการบอกว่าไปปิดทองที่วัดสะตือมาแล้ว ยายพาแม่มาปิดทองไหว้พระทุกปี เป็นเด็กนี้สนุก มองเห็นอะไรก็น่าดู น่ารื่นรมย์ไปหมด

       ในวัดมีคนมาออกร้านขายของเต็มพื้นที่ และจัดเนื้อที่เป็นทางสำหรับเดิน มีร้านยิงปืนไม้ก๊อก ชิงช้าสวรรค์ มอเตอร์ไซไต่ถัง ร้านขายของก็มากแม่ค้าก็มาก มีของทุกๆอย่างคนที่มางานวัดจากจังหวัดอื่นๆ ที่ใกล้เคียง หรือห่างไกลออกไปก็มี ยายจะพาแม่มาหาซื้อเครื่องจักสานที่มีอยู่หลายร้านส่วนใหญ่เป็นชาวบ้านมาปิดทองและนำสินค้ามาขายด้วยราคาที่ไม่แพง เนื่องจากไม่ผ่านมือพ่อค้าคนกลาง ยายจะซื้อสินค้าจำพวกกระชอนกรองมะพร้าว กระด้งใบใหญ่ๆ ไว้ใส่ของตากแดด ตะแกรงไว้ช้อนปลา ช้อนกุ้งตรงชายน้ำอย่างที่เล่ามาแล้ว จากนั้นก็จะพาไปดูลิเก เมื่อลิเกเลิกแล้วจึงกลับบ้านกัน

      ส่วนงานลอยกระทงตอนค่ำคนยิ่งมาก เด็กๆจะไม่มีโอกาสได้ไปเที่ยว นอกจากผู้ที่อยู่ใกล้ๆวัดและเดินทางไปกลับสะดวกเท่านั้น ส่วนใหญ่จะเป็นหนุ่มสาวและผู้ใหญ่ไปเที่ยวงานลอยกระทงและดูมหรสพ มีภาพยนตร์(หนัง) กลางแจ้ง มีลิเก (นาฏดนตรี) อาจมีวงดนตรีลูกทุ่งมาปิดวิค ด้วยเป็นบางครั้ง งานกลางคืนทางวัดขายบัตรค่าผ่านประตู เด็ก 1 บาท ผู้ใหญ่ 3 บาทงานกลางคืนนี้กว่าที่แม่จะมีโอกาสไปเที่ยวก็อีกหลายปี ในตอนรุ่นสาวแล้ว

                                                                    เขื่อนพระรามหกถ่ายภาพจากริมตลิ่งหน้าวัดสะตือ


ยายขายขนม

       เมื่อแม่เรียนอยู่ชั้นประถมปีที่ 2 ปลายปี ตาเข้าร่วมประท้วงกับคนงานก่อสร้างในกลุ่มนายกล้า (เจ้าของโรงเรียนเอกชนสอนเด็กประถมที่อยู่ไม่ไกลบริษัทปูนซีเมนต์ไทยนัก) ผลที่ตามมาผู้ที่ประท้วงถูกให้ออกจากงานทุกคนรวมตาของลูกด้วย คราวนี้ยายของลูกเลิกสานตะกร้า ต้องออกมาหารายได้ให้มากขึ้น ลูก 4 คนยังเล็กและเรียนหนังสือทุกคน


       ยายเลือกทำขนมขาย ยายทำขนมประกริมไข่เต่า ข้าวเหนียวถั่วดำ ลอดช่องเย็น หรือเผือก+ลอดช่องเขียวน้ำกะทิ ขนมบัวลอย ทำจนเต็มหาบมีถ้วยใส่ขนมมีถังไว้ใส่น้ำหิ้วติดมือไปด้วย บ่ายายคอนไม้คานหาบขนมที่หนักอึ้งขายเลี้ยงคนทั้งบ้าน พอทำเสร็จยายก็อาบน้ำแต่งตัวหาบขนมเดินจากบ้านไปขายจนถึงบ้านพักพนักงานบริษัทปูนซีเมนต์ไทย ที่อยู่ไกลมาก แต่ในสมัยนั้นเห็นการเดินแบบนี้เป็นเรื่องธรรมดา

       แต่เมื่อแม่หวนกลับมาคิดย้อนหลังแล้วสงสารยาย ยายทำงานที่หนักเกินแรงผู้หญิง (แต่ช่วงนั้นยายยังสาวและแข็งแรง) ช่วงนั้นแม่ยังเด็กไม่ได้คิดอะไร เพราะทุกคนก็ช่วยกันตาช่วยปอก ช่วยหั่น ช่วยต้มในการทำขนม ยายผสมและนวดแป้งสำหรับทำขนมบัวลอยไว้ตอนเย็น พอค่ำแม่ช่วยยายปั้นขนมบัวลอยเสร็จแล้วคลุมแป้งที่ปั้นไว้ด้วยผ้าดิบชุบน้ำบิดแห้งพอหมาด แล้วจึงจะได้นอน เช้ามืดก่อน 05.00 น.เด็กทุกคนจะถูกปลุกให้ตื่น มาช่วยงาน แม่ก็จะช่วยยายดูหม้อข้าวที่ยายตั้งไว้ก่อนแล้ว ยายไปตลาดแต่มืดเพื่อซื้อกับข้าวมาทำกินและซื้อของที่จะมาทำขาย แม่หุงข้าวและอุ่นของที่มีอยู่ และต้มถั่วดำที่แช่น้ำไว้ตั้งแต่เย็นวาน เมื่อยายกลับจากตลาดก็จะใส่น้ำตาลทรายและน้ำกะทิแล้วยกลง ทำกับข้าวต่อ เด็กอาบน้ำทานข้าวแล้วไปโรงเรียน ยายทำขนมต่อโดยมีตาคอยช่วยกว่าจะเสร็จและเตรียมตัวไปขายได้ก็สายมากแล้ว จากนั้นตาก็เก็บของที่ใช้ทำขนมล้าง (ถ้าเป็นวันที่โรงเรียนหยุดแม่ก็จะเก็บล้างเอง)

       ถ้าเป็นช่วงต้นตาลที่อยู่ติดบ้าน (อยู่ใกล้หน้าต่างบางทีหล่นใส่หลังคาบ่อยครั้ง) มีลูกแก่หล่นมาหลายลูกส่งกลิ่นหอม ยายก็จะเอามาทำขนมตาลขายด้วยการแกะเปลือกออกใส่ตะแกรงยีๆ คือจับลูกตาลหมุนด้วยมือยีให้เนื้อและน้ำตาลออกมา แล้วใส่ผ้าขาวบางผูกห้อยไว้ประมาณครึ่งวันให้น้ำตาลออกเหลือแต่เนื้อตาล หรือยีลูกตาลใส่ผ้าขาวบางทับน้ำไว้ทั้งคืนก็ได้ การโม่แป้งทำขนมต้องแช่ข้าวค้าง 1 คืน แล้วจึงโม่ด้วยมือแม่จะเป็นคนโม่แป้งประจำด้วยเครื่องโม่แป้งที่ใช้


ในภาพนี้ เป็นโม่ประจำบ้านอายุการใช้งานน้อยกว่าคนเขียน 8 ปี (29-06-53)
 และภาพกระต่ายขูดมะพร้าวของยายที่แม่เก็บไว้

      การโม่แป้ง ใช้ช้อนตักข้าวที่แช่ไว้ ที่ละช้อนหมุนโม่ไปในทิศทางเดียวกัน โม่ไปเติมไปถ้าโม่ฝืดก็เติมน้ำบ้างจนหมด เอาแป้งที่ทำเสร็จใส่ถุงผ้าดิบมัดและใช้อะไรหนักๆทับไว้ให้แห้ง (ไม่มีเครื่องรับจ้างโม่แป้งด้วยไฟฟ้า และยังไม่มีแป้งสำเร็จรูปขาย) แห้งแล้วเอาแป้ง มาผสมกับเนื้อตาล น้ำตาลทราย ให้เข้ากันดีไม่เหลว นำไปตากแดดให้ขึ้นฟู จึงใส่กระทงใส่มะพร้าวขูดเคล้าเกลือนึ่ง ยายทำขนมใช้ความเคยชินกะๆเอาใส่อะไรเท่าไรออกมารสชาติก็อร่อยเหมือนเดิมทุกครั้ง การทำอาหารและขนมถ้าใช้กะทิ ก็ขูดมะพร้าวเองครั้นเองทุกอย่าง การปอกและผ่ามะพร้าวเป็นหน้าที่ของตาการขูดการครั้นยายกับแม่

       กลับมาจากโรงเรียน แม่จะช่วยยายเก็บหม้อและของในหาบมาล้าง แล้วจึงเตรียมติดไฟตั้งข้าวต่อ ยายทำกับข้าวแล้วก็ทานอาหารเย็นกัน เก็บล้างเก็บทำ อาบน้ำอาบท่าแล้ว ช่วยยายปั้นขนมต่อ แล้วจึงเข้านอน ในช่วยนั้นตาไปทำงานเป็นคนทำสวนที่บ้านพักของหมอทนงศักดิ์ แพทย์ประจำสถานพยาบาลของบริษัทปูนซีเมนต์ไทย ในระยะนี้แม่ต้องเป็นคนเก็บล้างทั้งหมด ต่อมาบริษัทปูนซีเมนต์ไทย ปิดทางเข้าบ้านพักพนักงานและทางเข้าบริษัทปูนซีเมนต์ไทย โดยไม่ให้บุคคลหรือรถยนต์ที่ไม่เกี่ยวข้องผ่านเข้าออก โดยเปิดโรงอาหารให้แม่ค้าขายอาหาร ขนม กาแฟและน้ำดื่ม ให้แม่ค้าที่เคยเข้าไปขายมีโอกาสจองที่ขายก่อน โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายและค่าน้ำค่าไฟในโรงอาหาร ยายไม่เอาเพราะบ้านอยู่ไกล ไม่มีรถที่จะขนของไป-กลับได้ ตกลงยายก็ต้องเลิกขายขนม

       คราวนี้ยายหันมาปอกผลไม้ดองบ้างแล้วเฉาะขายสดบ้าง ทำพริกเกลือทั้งน้ำตาลปีบ และน้ำตาลทราย ผลไม้ก็มีมะม่วงแก้วแก่ๆ มะยมดอง กระท้อนทรงเครื่อง ชมพู่ ฝรั่ง มะกอก อ้อยควั่น พุทราเชื่อมและผลไม้ตามฤดูกาล หาบไปขาย พริกเกลือของยายทำอร่อย ไม่ทำอย่างแม่ค้าทั่วๆไป พริกเกลือของยายใส่ครกตำจริงๆ ถ้าเป็นพริกเกลือน้ำตาลปีบยายจะตำกระเทียม และพริกขี้หนูสดด้วยกันแล้วตักแยกไว้ แล้วจึงเอาเกลือเม็ดโขลกให้ละเอียดตักขึ้นมาคุกเค้ากับน้ำตาลปีบ ให้มีรสหวานนำเค็มแล้วจึงเอากระเทียมกับพริกที่โขลกไว้มาคนให้เข้ากัน (ใช้เกลือป่นแทนได้) ส่วนพริกเกลือน้ำตาลทรายก็ตำกระเทียม และพริกขี้หนูสดด้วยกันแล้วตักแยกไว้เหมือนกัน แต่ยายจะโขลกเกลือกับน้ำตาลทรายด้วยกัน แล้วจึงเอากระเทียมกับพริกที่โขลกไว้มาคนให้เข้ากัน

       ยายมีไม้ที่ตาทำให้ไว้ควั่นอ้อยขาย ดูของจริงที่แม่เก็บไว้จากภาพประกอบเป็น"ที่ควั่นอ้อย"ที่ ยายใช้ควั่นอ้อยขายมานาน จนหาบของขาย ไม่ไหวหรืออะไรแม่ก็ไม่รู้ ในช่วงนี้หมอทนงศักดิ์ ที่ตาเป็นคนสวนอยู่ ได้ย้ายเข้าไปเป็นแพทย์ประจำสถานพยาบาล อยู่ที่สำนักงานใหญ่บางซื่อ กรุงเทพฯ ตาไม่ได้ออกไปทำงานก็ช่วยยายปอกอ้อย หาปลา และเลี้ยงปลากัด

       ต่อมาอีกไม่นานนักตาได้งานเป็น รปภ. ที่ตลาดใหม่ท่าลาน เป็นตลาดที่บริษัทปูนซีเมนต์ไทยสร้างและขายให้ผู้ที่มีร้านค้าอยู่ที่ ตลาดสะพานหนึ่ง ที่ทางบริษัทมีนโยบายที่จะปิดทางเข้าออกและทำรั้วถาวร กั้นอาณาเขต ของบริษัทโดยเว้นเป็นทางให้รถจักรยานยนต์เข้าออกได้เท่านั้น

       ในช่วงนี้หลังจากแม่แยกครอบครัว และลูกแม่ทั้งสามคนโตหมดแล้ว ยายกลับมาสร้างบ้าน ทำสวนและดูแลที่นาที่อำเภอสามชุก จังหวัดสุพรรณบุรี ตาอยู่บ้านกับน้านี ตาทำงานอยู่นานมากจนทางตลาดเลิกจ้างยาม จึงกลับไปอยู่กับยายที่บ้าน ต.ย่านยาว อ.สามชุก จังหวัดสุพรรณบุรี

บ้านพักรับรอง (บ้านงู)

       คราวที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ เสด็จมาทำพิธีเปิดอะไรแม่ก็จำไม่ได้
ที่บริษัทปูนซิเมนต์ไทยนี้ ทางบริษัทได้สร้างเรือนรับรองไว้ให้เสด็จประทับแรม เป็นบ้านไม้ตกแต่ง เล่นระดับชั้นและมีชานเดินยื่นไปถึงกลางสระน้ำ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ ทรงปล่อยปลาที่สระด้วยทั้งสองพระองค์ ภาพนี้แม่ยืนดูอยู่ไม่ไกลนักเห็นได้ชัดเจนและจดจำได้อย่างประทับใจ บ้านพักรับรองหลังนี้ ตรงโค้งประตูเป็นบานไม้ทรงขนมเปียกปูน ปลูกไม้เลื้อยออกดอกสวยงามและหอมมีสีม่วง สีเหลือง สองข้างของบานไม้ที่โค้งเป็นรูปงูใหญ่ (พญานาค) เป๊นปูนปั้นสูงเท่าประตูไม้และโค้งของหัวงูใหญ่มาบรรจบกันตกแต่งได้สวยงามอย่างมีศิลปะ จึงเป็นสาเหตุให้เรียกบ้านพักรับรองนี้กันว่า "บ้านงู"


       จากนั้นหลายปีบริษัทปูนซิเมนต์ไทยได้ใช้เป็นบ้านรับรองแขกผู้ใหญ่ และสนามหญ้าหน้าบ้านรับรองใช้เป็นที่จัดงานเลี้ยงของพนักงานบริษัท เช่นงานปีใหม่ของทุกปี  จะเป็นงานใหญ่มีดนตรีและเวทีลีลาศ หรือจัดงานฉลองกฐินของบริษัททุกปี และเปิดให้พนักงานขอใช้พื้นที่ในงานเลี้ยงฉลองมงคลสมรส หรืองานอุปสมบทได้

       ต่อมาบริษัทปูนซิเมนต์ไทย ได้สร้างอาคารใหม่ที่บ้านม่วงน้อง  ใช้เป็นสถานที่อบรม  และจัดงานเลี้ยง มีห้องจัดงานและอบรมหลายห้องจุคนได้มาก ใช้เป็นที่อบรมของพนักงานในเครือซิเมนต์ไทย ที่อยู่ใกล้เคียงทั้งหมดเรียกว่า "บ้านรับรองม่วงน้อย" และมีเรือนรับรองเป็นอาคารสองชั้น มีสระว่ายน้ำและพนักงานต้อนรับ มีอาหารบริการลักษณะเป็นโรงแรม เรียกกันว่าโฮเต็ลม่วงน้อยไว้รับรองแขกของบริษัทที่มาทำงาน ดูงาน หรือวิทยากรที่มาอบรมใช้ค้างคืน

       ในช่วงนั้นบ้านรับรองหลังเดิมหรือบ้านงู ชั้นล่างเปิดให้บุคคลภายนอกมาเปิดร้านขายอาหารตามสั่ง ให้พนักงานได้พักผ่อน ชั้นบนของเรือนรับรองจัดเป็นห้องสมุดมีหนังสือไม่มากนัก  จัดเป็นหมวดหมู่ให้พนักงานและครอบครัว เข้ามาใช้บริการ มีที่นั่งอ่าน และให้บริการ ยืม-คึน หนังสือกลับบ้านได้  มีบรรณารักษ์ 1 คน มีห้องซ้อมดนตรีไทย มีห้องโต๊ะสนุก ปัจจุบัน (06/ 09/ 2549) ไม่ทราบว่าบ้านรับรองหรือบ้านงูใช้ทำอะไร หลังจากที่บริษัทปูนซิเมนต์ไทยได้สร้างอาคารใหม่สองชั้นหลังใหญ่ที่ บ้านมหาโลก ชั้นบนใช้เป็นสนานที่จัดงานเลี้ยง งานต่างๆได้  ทั้งพนักงาน และครอบครัวรวมทั้งเปิดโอกาสให้ชุมชนใกล้เคียงขอใช้ได้ โดยเรียกเก็บค่าสถานที่น้อยมาก คือเอื้ออำนวยให้ชุมชนได้ใช้ ถ้าอาคารว่าง ชั้นล่างเป็นร้านอาหาร และย้ายห้องสมุดมาอยู่ด้วย มีห้องออกกำลังกาย มีชื่อเป็นทางการว่า "ศูนย์กีฬามหาโลก"

       ส่วนบริเวณรอบๆ เป็นที่ออกกำลังกาย มีสนามฟุตบอล สนามบาสเกตบอล สนามเปตอง สนามเทนนิส   มีโรงยิมสำหรับปิงปองและแบตมินตัน  มีสนามเซปักตะกร้อ และสนามตะกร้อลอดห่วง มีลู่สำหรับวิ่งและเดินออกกำลังกายวกวนระยะทาง 1500 ก.ม. มีสระว่ายน้ำสร้างแบบสระมาตรฐาน มีลู่ว่ายน้ำ เพียงแต่ย่อส่วน จากยาว 50 เมตร เป็นยาว 25 เมตรไว้ให้พนักงานและครอบครัว เข้าใช้บริการโดยไม่เสียเงิน

       มีกีฬาบางชนิดเท่านั้น ที่ต้องนำบัตรประจำตัวของพนักงานหรือบัตรครอบครัวมาด้วยจึงจะเข้าใช้ได้คือ โรงยิม สนามเทนนิส และสระว่ายน้ำ นอกนั้นให้บริการกับบุคคลในชุมชนทั่วไปได้ ทุกเย็นหลังเลิกงานมีคนมาใช้ศูนย์กีฬามหาโลกเล่นกีฬาที่ชื่นชอบ วิ่งและเดินออกกำลังกาย กันมากร้านอาหารก็ขายดี ห้องสมุดก็มีคนใช้บริการมาก เป็นสถานที่พักผ่อนที่ดี สำหรับทุกคนจริงๆ (พ่อไปเดินออกกำลังประจำทุกวัน แม่เดินและว่ายน้ำ ลูกๆใช้สนามบาสเกตบอล สนามแบตมินตัน สนามเทนนิส กันเป็นประจำ)

รับเสด็จ

       มีอยู่ครั้งที่แม่เรียนอยู่ชั้น ป. 2 บริษัทปูนซิเมนต์ไทยได้กราบทูลเชิญพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ เสด็จมาทำพิธีเปิดอะไรแม่จำไม่ได้ที่บริษัทปูนซิเมนต์ไทย ในช่วงนั้นมีโรงเรียนอยู่ไม่กี่โรง ทุกโรงเรียนก็พาเด็กนักเรียนมาตั้งแถวรอรับเสด็จ ในขณะนั้นโรงเรียนวัดถลุงเหล็ก(ปูนซิเมนต์ไทยอุปถัมภ์) เป็นโรงเรียนเดียวในตำบลท่าหลวงที่มีสอนถึงระดับประถมปลายและอยู่ในอุปถัมภ์ของบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จึงถูกจัดให้รอรับเสด็จอยู่แถวหน้ามีนักเรียนหญิงอยู่คนแม่จำไม่ได้ว่าใคร ถูกจัดให้ถือพานถวายพวงมาลัยดอกไม้องค์สมเด็จฯ

       เด็กๆทุกคนที่มารับเสด็จ แต่งตัวกันเรียบร้อยและสะอาดสะอ้าน ใครมีขุดนักเรียนใหม่ๆก็เอามาใส่รับเสด็จ เด็กเล็กๆ แบบแม่จะใส่รองเท้าแตะ และทุกคนใส่หมวกกะโล่สีขาวที่เป็นหนึ่งในเครื่องแบบนักเรียนในสมัยนั้นและถือธงชาติโบกสะบัดในขณะที่รถพระที่นั่งขับช้าๆ ทั้งสองพระองค์ทรงโบกพระหัตถ์ให้กับผู้ที่ยืนรอรับเสด็จอยู่

       เมื่อขบวนรถพระที่นั่งผ่านไปแล้วนักเรียนก็ได้รับแจกข้าวและขนมกันคนละกล่อง ซึ่งเป็นอภินันทนาการจากบริษัทปูนซิเมนต์ไทย เป็นข้าวมันไก่ มีเนื้อน่องไก่อยู่ในกล่อง 1 – 2 น่อง และมีน้ำซุปใส่ถุงมาด้วย เด็กเล็กๆ อย่างแม่และเพื่อนๆไม่เคยกินข้าวมันไก่ อร่อยมากกินแต่ข้าวมันไก่และน้ำซุป จนอิ่มส่วนเนื้อน่องไก่ไม้รู้ว่าจะกินได้อย่างไร เมื่อกินกันเสร็จแล้ว ทุกคนก็ต้องเอากล่องไปทิ้งที่ถังขยะ มีคำถามกันเองว่าทำอย่างไรกับไก่ที่เหลือ ทุกคนต่างบอกกันว่าให้ทิ้งไปทั้งกล่อง (คือไม่รู้ว่าจะใช้มือจับเนื้อไก่กินได้อย่างไร ในสถานที่ผู้คนมากมายเช่นนี้)

       อันที่จริงถ้าไม่กลับบ้านแล้วเจ้าพี่ชายคนโตเอาน่องไก่ที่เก็บไว้หลายชิ้นมากินอวด ก็จะไม่นึกอะไรอีก นี่เอามากินและให้แม่กินด้วยและบอกว่าที่มีหลายชิ้นเพราะเพื่อนไม่เอา จึงเก็บมาโดยฉีกกล่องห่อและใส่กระเป๋ากางเกงมา จริงๆน่องไก่เมื่อตอนอยู่ในกล่องข้าว ก็หอมอยู่แล้วเมื่อมาได้กิน อร่อยมากไม่เคยได้กินมาก่อนเลย โอ๊ยเกิดความรู้สึกแสนเสียดายน่องไก่ในกล่องที่แม่และเพื่อนๆ ทิ้งไปเป็นอันมากบอกกับลุงเกกของลูกว่า แม่กับเพื่อนทิ้งไปกับกล่องกันแทบทั้งนั้น ลุงของลูกว่าพวกนี้มันโง่ไม่รู้จักของอร่อย นี่เป็นความไม่รู้อีกเรื่องที่เป็นสาเหตุทำให้จำเรื่องราวในวันนั้นได้อย่างแม่นยำมาก

วัดและโรงเรียนของเรา

       โรงเรียนที่แม่เรียน (ต่อมาลูกๆทุกคนก็เรียนที่นี่) มีสอนชั้นประถมปีที่ 1-7 เป็นโรงเรียนประจำตำบลท่าหลวง เป็นโรงเรียนเดียวในตำบลที่มีสอนถึงชั้น ป.7 ในขณะที่โรงเรียนอื่นๆมีสอนถึง ป.4 เท่านั้น ตัวโรงเรียนตั้งอยู่ฝั่งถนนอีกฟากของวัด แต่ต้องข้ามถนนมาอาศัยลานวัดเป็นสนามให้เด็กเล่นหรือทำกิจกรรมเกี่ยวกับกีฬา ตัวโรงเรียนจะไม่มีบริเวณ


       โรงเรียนตั้งอยู่ริมแม่น้ำป่าสักตรงข้ามกับตลาดท่าหลวง ด้านหลังโรงเรียนถ้านั่งเรียนอยู่บนชั้นที่ 3 ของอาคาร มองด้านหลังมีแม่น้ำป่าสักเป็นฉากหลัง เป็นทัศนียภาพที่สวยงาม มองเห็นเขื่อนพระราม 6 และเรือนรับรองของกรมชลประทาน อีกฟากหนึ่งเป็นสำนักงานโครงการป่าสักใต้ ด้านขวาที่เป็นตลาดมีประตูน้ำสำหรับปรับระดับน้ำให้เรือผ่าน ถ้าแม่จำไม่ผิดชื่อประตูน้ำพระนเรศ

       เขื่อนพระราม 6 นี้เป็นเขื่อนทดน้ำเขื่อนแรกของประเทศไทย (เขื่อนมี 2 ประเภท คือ เขื่อนทดน้ำ และเขื่อนกักเก็บน้ำ) สร้างเมื่อ ปี พ.ศ. 2459 – 2467 เดิมชื่อ เขื่อนพระเฑียรราชา พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ รัชกาลที่ 6 เสด็จมาประทับแรมที่เรือนรับรอง ทำพิธีเปิดเขื่อนเมื่อ 29 พฤศจิกายน 2467 และประทับแรมที่เรือนรับรองหลายวันจนวันที่ 1 ธันวาคม 2467 ทรงเปลี่ยนชื่อเขื่อนใหม่เป็น 
" เขื่อนพระราม 6 "
ทางเดินจากตัวเขื่อนไปเรือนรับรอง
      







มีถนนหน้าโรงเรียนจนถึงตลาดแล้วมีสะพานเหล็กข้ามประตูน้ำพระนเรศไปจนถึงเขื่อนพระราม 6 และข้ามสะพานเหล็กที่เป็นสันเขื่อนไปอีกฝั่งที่เป็นเรือนรับรองได้ ถนนนี้สูงกว่าตัวโรงเรียนมาก พื้นของโรงเรียนเท่าพื้นตลิ่งริมแม่น้ำ (ในสมัยนั้นยังไม่มีการถมที่ก่อนการก่อสร้าง) โรงเรียนเป็นอาคารไม้ 2 ชั้นใต้ถุนสูง เข้าใจว่าสร้างหนีน้ำที่ท่วมถึงเกือบทุกปี ชั้น 2 นั้นก็ยังต่ำกว่าระดับถนนกว่าครึ่งชั้น

       ในช่วยที่แม่เข้าเรียนพื้นโรงเรียนด้านล่างยังเป็นพื้นดิน ต่อมาได้ขยับขยายพื้นชั้นล่างให้เป็นห้องเรียน ที่จำได้เนื่องจากบริษัทปูนซีเมนต์ไทยได้ส่งพนักงาน แสะวัสดุอุปกรณ์ในการเทพื้นคอนกรีตและก่ออิฐมาจัดทำให้จนแล้วเสร็จ ในจำนวนพนักงานที่มาก่อสร้างมีตาของลูกรวมอยู่ด้วย โดยใช้เวลาในการก่อสร้างนานพอสมควร บริษัทปูนซีเมนต์ไทยทำพิธีส่งมอบให้ทางโรงเรียน และได้อุปถัมภ์โรงเรียนเรื่อยมา ดังนั้นชื่อโรงเรียนวัดถลุงเหล็กจึงต่อท้ายด้วย (ปูนซีเมนต์ไทยอุปถัมภ์)  ตั้งแต่นั้นและโรงเรียน จึงมีอาคารเพิ่มเป็น 3 ชั้น

       ดังได้กล่าวแล้วว่าต้องอาศัยลานวัดเป็นที่ให้นักเรียนเล่นและทำกิจกรรมกลางแจ้งต่างๆ เรานักเรียนต้องเดินข้ามถนนกันวันละหลายครั้ง เพื่อใช้พื้นที่บริเวณลานวัด เวลาพักกลางวันมีแม่ค้านำอาหารมาขายให้นักเรียนในเวลาพักกลางวัน มีก๋วยเตี๋ยวเนื้อวัว มีราดหน้า มีอาหารที่แสนอร่อยมากที่สุดคือก๋วยเตี๋ยวเส้นหมี่เครื่องในวัวของป้าคำที่หาบมาขายจากตลาด (ขายตลาดตอนเช้า) ป้าคำ ทำน้ำเคี่ยวต้มเครื่องในที่เดือดพล่านหอมอบอวลชวนหิว อร่อยมากไม่เคยรับทานก๋วยเตี๋ยวต้มเครื่องในที่ไหนอร่อยเท่าของป้าคำ จนเลิกทานเนื้อวัวมาหลาย 10 ปีแล้ว (ป้าคำเป็นแม่ของเพื่อนที่เรียนอยู่ชั้นเดียวกัน คือประจวบ เมื่อลูกๆโตประกอบอาชีพและมีครอบครัว ป้าคำอายุมากขึ้นก็เลิกขาย) ก๋วยเตี๋ยวเส้นหมี่เครื่องในวัวนี้ ราคาชามละ 1 บาท ถือว่าแพงกว่าอาหารอย่างอื่นที่ขายให้เด็กในช่วงนั้น

       ส่วนก๋วยเตี๋ยวเนื้อ และเส้นหมี่หรือเส้นใหญ่ราดหน้าของป้าแฉล้มและลุงคุ่ยขายจานละ 50 สตางค์ ด้านหนึ่งเป็นราดหน้าจะเรียงชามตราไก่โดยใส่เส้นหมี่ หรือเส้นใหญ่ที่ผัดซีอิ้วใส่หม้อใหญ่ๆมาแล้วจากบ้าน มีหม้อใหญ่อีกใบที่ใส่น้ำราดหน้าที่ปรุงมาแล้วจากบ้านวางอยู่ใกล้ๆลุงคุ่ยที่เป็นคนตักราดหน้าขาย อีกด้านหนึ่งป้าแฉล่มก็ทำลักษณะเหมือนกันขายก๋วยเตี๋ยวเนื้อ เตรียมเส้นและใส่เครื่องก๋วยเตี๋ยวเตรียมไว้มีหม้อปรุงน้ำก๋วยเตี๋ยวตั้งเตาถ่านไฟอ่อนๆให้น้ำเดือดรอไว้ ใครซื้อก็หยิบชามเลือกเส้นดามชอบส่งให้ป้าแฉล่มเดิมน้ำก๋วยเตี๋ยวให้

        มีขนมหวานห่อใบตองขาย 2-3 ห่อ 25 สตางค์ มีน้ำแข็งใสใส่น้ำหวานขายถ้วยละ สลึง (25 สตางค์) ยายให้เงินค่าขนมแม่วันละ 50 สตางค์ แต่ต้องกลับไปทานข้าวกลางวันที่บ้านก่อน ถึงจะให้เงินเป็นอย่างนี้ทุกวัน แม่ไม่ค่อยได้มีโอกาสกินก๋วยเตี๋ยวหรือราดหน้านักหรอก ก็ต้องไปกินข้าวบ้านก่อนอิ่มมาแล้วได้เงินมาจำกัด ต้องคิดและชั่งใจว่าอยากกินอะไรมากกว่ากันจึงซื้อ

       วันไหนอยากกินก๋วยเตี๋ยวเส้นหมี่เครื่องในวัวละก็ ต้องเก็บสตางค์วันละ 25 สตางค์ ซื้อขนมกินวันละ 25 สตางค์ เก็บ 4 วัน ถึงจะได้กินของที่ชอบอาทิตย์ละครั้ง โดยเฉพาะวันนั้นต้องกินข้าวกลางวันที่บ้านให้น้อยเพื่อเก็บท้องมากินก๋วยเตี๋ยวที่โรงเรียน มานั่งนึกทบทวนย้อนหลังกลับไปในขณะนั้น ก็ไม่เคยมีความรู้สึกเดือดร้อนหรือน้อยเนื้อต่ำใจหรืออับอายเลย ที่ยายให้เงินแม่มาโรงเรียนน้อย ก็ที่บ้านมีข้าวมีกับข้าว แถมมีขนมที่ยายทำขายเยอะแยะ กินหรือแอบเอาไปฝากเพื่อนยังได้ คือไม่เคยอดนั่นเอง มีเพียงความอยากในรสอาหารที่แตกต่างไปจากที่บ้านมีเท่านั้นเอง

       ในช่วงนั้น วัดกับโรงเรียนยังแยกกันไม่ออก ปีไหนนักเรียนมีมากห้องเรียนไม่พอ (ห้องหนึ่งมีนักเรียนไม่ต่ำกว่า 50 คน และอย่างที่เล่ามาเป็นโรงเรียนประจำตำบล ที่มีสอนในระดับชั้น ป.5 - ป.7 เป็นโรงเรียนเดียวในตำบลนี้) เมื่อเด็กมากห้องเรียนไม่พอ ต้องเพิ่มห้องเรียน ก็ต้องอาศัยศาลาวัดเป็นห้องเรียนมีบอร์ดมีกระดานดำ มีเก้าอี้นั่งบ้าง หรือนั่งกับพื้นบ้างก็เป็นเรื่องไม่แปลก ตอนแม่เรียน ชั้น ป 2 ก็เรียนที่ศาลาวัด นั่งเรียนกลับพื้น มีครูฉอ้อน ฉลวยศรี เป็นครูประจำชั้น

       วัดกับโรงเรียนไม่แยกกัน ชื่อโรงเรียนคือชื่อวัด เช่นโรงเรียนวัดถลุงเหล็ก (ปูนซีเมนต์ไทยอุปถัมภ์) โรงเรียนวัดวังหิน โรงเรียนวัดสะตือ เป็นต้น โรงเรียนก็จะหยุดในวันพระ เวลาพักกลางวันก็พักเวลาเพล คือเวลา 11.00 น. ดังได้กล่าวแล้วว่าวัดกับโรงเรียนแยกกันไม่ออก เด็กวัดหลายคนมาเรียนหนังสือ พอเพลก็ต้องรีบกลับไปจัดอาหารเพลถวายพระ ดังนั้นจึงเอาเวลาเพลเป็นเวลาพักกลางวันของโรงเรียนไปด้วย เป็นอย่างนี้เหมือนกันหมด

       ในแต่ละห้องเรียนห้องหนึ่งมีนักเรียน จำนวน 40 - 50 คนทุกห้อง ในแต่ละปี จำนวนนักเรียนรวม 700 กว่าคนทุกปี จนต้องสร้างอาคารเรียนเพิ่มขึ้นในบริเวณลานวัดด้านริมถนนที่ห่างจากตัววัด อีก 2 อาคาร เป็นอาคารชั้นเดียว 1 หลังก่อน ต่อมาก็สร้างอาคาร 2 ชั้น อีกหนึ่งหลัง

      โรงเรียนวัดถลุงเหล็กที่แม่เรียน (ต่อมาลูกทั้งสามคนก็เรียนชั้นประถมที่นี่เช่นกัน) มีลักษณะที่แปลกอาจจะเป็นโรงเรียนเดียวในประเทศก็เป็นได้ ที่ตัวอาคารโรงเรียนตั้งต่ำกว่าถนน เกินครึ่งของอาคารชั้นที่ 2 ทางลงจากถนนจะเป็นพื้นปูนเทแบบขั้นบันไดกว้าง แบ่ง 2 ด้านซ้ายขวาสำหรับให้นักเรียนเข้าแถว ทำกิจกรรมหน้าเสาธงในเวลาเช้า เวลาที่นักเรียนยืนเข้าแถวเหมือนยืนเข้าแถวเป็นขั้นๆ ในอัฒจันทร์ในสนามกีฬา ส่วนตรงกลางเว้นว่างทำเป็นระดับขั้นบันไดลดหลั่นลงมาสำหรับเดินขึ้นลง จนถึงพื้นถนนปูนหน้าเสาธง

 
1. ปัจจุบันอาคารนี้ทรุดโทรมไม่ได้ใช้แล้ว ถ่ายภาพ  09/10/50   
2. ถนนหน้าโรงเรียนให้สังเกตตัวโรงเรียนอยู่ต่ำกว่าถนน
       และมีถนนทำเป็นระดับขั้นบันไดลดหลั่นลงมาสำหรับเดินขึ้นลงทั้งสองด้าน ทั้งข้างซ้ายและข้างขวามีประตูไม้ไว้ปิดเวลาเด็กเข้าเรียนแล้วทั้งสองด้าน จนถึงพื้นปูนชั้นล่างที่มีระดับต่ำที่สุดของอาคารที่มีห้องเรียน และบันไดไม้สำหรับขึ้นอาคารเรียนชั้น 2 และบันไดไม้สำหรับขึ้นอาคารเรียนชั้น 3 อีกต่อไป
ภาพ 3. เป็นทางเดินขึ้นลง


4. อาคารใหม่ที่ใช้เรียนปัจจุบันหันหน้าอาคารเข้าวัด ด้านหลังติดถนน

      ในช่วงเช้าเด็กๆจะเดินเข้าแถว บนขั้นบันไดปูนตรงทางลงจากถนนที่กว้างทั้ง 2 ด้านซ้ายขวาที่ในช่วงแรกๆ ที่แม่เรียนเป็นพื้นดินถึงพื้นปูนตรงกลางทางเดินขึ้นลง โดยเว้นช่องตรงกลางไว้เป็นทางเดิน 1 ช่องเมื่อทำพิธีหน้าเสาธงเสร็จก็จะเดินเข้าอาคารเรียนริมน้ำ ส่วนที่เรียนที่อาคารใหม่ริมถนนในลานวัดก็จะเดินข้ามถนนไปอาคารของตัวเองเป็นแถวโดยมีครูคุมแถว คอยดูแล ในยุคนั้นรถยนต์และรถจักรยานยนต์ยังมีน้อยมาก ส่วนใหญ่จะมีใช้กันแต่รถจักรยานสองล้อ และไม่เคยมีอุบัติเหตุกับเด็กๆเลย

        ต่อมาในยุคหลังๆ ทางโรงเรียนได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบการเข้าแถวเพื่อความปลอดภัยของนักเรียนโดยให้นักเรียนที่เรียนอาคารใดก็ให้แยกเข้าแถวที่อาคารนั้น การเรียนในสมัยนั้นแต่ละห้องเรียนจะมีครูประจำชั้น 1 คน ที่ดูแลและสอนทุกวิชาโดยครูคนเดียวกัน นักเรียนจะรู้จักสนิทสนมและเคารพรักครูประจำชั้นเป็นอย่างดี ครูก็จะรู้จักเด็กได้ดีทั้งห้องด้วยสอนและดูแลตลอดเวลา 1 ปี

        ไม่แน่ใจว่าเริ่มมีการสอนเป็นรายวิชาในช่วงใดแต่พอจะจำได้ว่าในช่วงอยู่ชั้นประถมปลาย ปี 2506 – 2509 มีครูภาษาไทย ครูภาษาอังกฤษ ครูพละแยกแล้ว การจัดห้องพักครูก็จะคนละรูปแบบกับปัจจุบัน ที่โรงเรียนห้องครูใหญ่ 1 ห้อง และห้องพักครูรวมกันใช้ห้องใหญ่อีก 1 ห้อง อยู่บนชั้น 3 ห้องสมุดอยู่ชั้น 2 ซึ่งต่างจากปัจจุบันที่ห้องครูใหญ่ หรือห้องผู้อำนวยการ และห้องสมุดส่วนใหญ่จะอยู่ชั้นล่างของอาคารเพื่อสะดวกในการติดต่อและการบริการ ส่วนห้องพักครูจะแยกตามหมวดวิชาอยู่ตามอาคารแต่ละชั้น

       ห้องสมุดที่อยู่ชั้น 2 มีหนังสือให้อ่านน้อยมากแม่อ่านหนังสือจนหมดห้องสมุดในยุคสมัยนั้นหนังสือเป็นสิ่งที่หาอ่านได้ยากจะมีอ่านก็แต่หนังสือเรียน ในห้องสมุดจำได้ว่านอกจากมีหนังสือให้อ่านแล้ว มีลูกโลกลูกใหญ่และมีตู้จัดแสดงหินต่างๆ มีแผนที่ประเทศไทย มีแผ่นพับตัวอักขระไทยและอังกฤษ ที่ดูจะเป็นสูตรสำเร็จที่กระทรวงกำหนดให้ห้องสมุดทุกโรงเรียนมี

      เวลาพักกลางวันแม่จะรีบทำธุระ เรื่องกินให้เสร็จเร็วแล้วก็จะเข้าห้องสมุดไม่ค่อยออกไปเล่น ถ้ามีเวลาที่ครูไม่อยู่และโรงเรียนยังไม่ปล่อยกลับบ้านก็จะเข้าหาหนังสืออ่านเป็นส่วนใหญ่ ที่บ้านนอกจากหนังสือเรียนแล้วจะไม่มีหนังสือให้อ่าน ตาและยายไม่เห็นมีความจำเป็นอะไรที่จะต้องซื้อหนังสืออื่นๆนอกเหนือจากหนังสือเรียน และการจะซื้อหนังสืออื่นๆอ่านได้นั้นต้องออกไปซื้อหาถึงตลาดที่ในตัวอำเภอ หรือที่ตลาดสุขาภิบาลมีร้านของครูสร่างที่มีหนังสือแบบเรียน หนังสืออื่นๆและอุปกรณ์ในการเรียนการเขียนขาย

       ซึ่งอยู่อีกฟากของคลองต้องเดินอีกไกลหลายกิโลจนออกถนนตรงโรงภาพยนตร์ศรีอรุณ เดินต่ออีกถึงถนนทางเข้าที่อยู่สุดเขตของถนนที่มาจากตัวอำเภอท่าเรือ เป็นถนนที่ติดต่อกับทางเข้าบริษัทปูนซิเมนต์ไทยมีร้านค้าและร้านอาหารมากเพื่อขายคนทำงานในโรงงาน ในสมัยนั้นบริษัทปูนซิเมนต์ไทยไม่ปิดทางเข้าออกบริษัท ผู้คนสามารถเดินผ่านเข้าออก ข้ามไปมาเชื่อมต่อกับตลาดท่าหลวงและหมู่บ้านนอกๆได้โดยไม่มีการหวงห้าม

       แม่เคยเข้าไปดูการทำงาน เข้าไปส่งของหรือขายของในนั้นได้ ไปดูหมวกเจ๊กหมุนกวนดินที่จะมาทำปูน เคยเดินลอดเตาเผาปูนขนาดใหญ่เรียงรายกันอยู่ 3 – 4 - 5 เตาเผา เคยเดินข้ามสะพานโค้ง ที่พนักงานกำลังใช้ปั้นจั่นทำงานอยู่ คือในความรู้สึกของผู้คนในยุคนั้นโรงงานเป็นของเขา เขามีพี่น้องหรือพ่อแม่ทำงานอยู่ในโรงงาน เขาเดินผ่านเข้าออกโรงงานเมื่อไรตอนไหนก็ได้ ไม่มีอันตรายในการปฏิบัติงาน ผู้คนจะคอยดูแลคอยระวังกันเอง ดังนั้นจึงมีความรักและผูกพันกัน โรงงานจึงเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตด้วย


       ตลาดท่าหลวงในตำบลเล็กๆไม่มีร้านขายหนังสือ ตัวอำเภอในสมัยนั้นถือว่าอยู่ห่างไกล การเดินทางไปมาไม่มีรถประจำทาง ถนนหน้าโรงเรียนเป็นถนนลูกรังไม่สามารถเชื่อมต่อไปถึงอำเภอได้ เนื่องจากมีที่ของเอกชนขั้นอยู่และเป็นเนื้อที่คาบเกี่ยวกับจังหวัดสระบุรี

       ลืมเล่าว่าเสื้อนักเรียนที่ต้องปักด้ายสีน้ำเงิน ชื่อ – นามสกุล ที่ด้านซ้าย และปักชื่อโรงเรียนด้านขวานั้นปัก ว่า อ.ย. 46 ซึ่งก็คงจะหมายความว่า เป็นโรงเรียนลำดับที่ 46 ของจังหวัดพระนครศรีอยุธยานั่นเอง ปัจจุบัน (18 กรกฎาคม 2549) ไม่รู้ว่าเปลี่ยนการปักเสื้อเป็นแบบไหนแล้ว ในตอนนั้นถ้าต้องออกไปแห่งกีฬา หรือมีกิจกรรมอื่นๆนอกอำเภอ หรือนอกจังหวัดพระนครศรีอยุธยาแล้วจะถูกล้อเสมอว่า ที่โรงเรียนมีนักเรียนอดอยากกันมากถึง 46 คนเชียวหรือเป็นประจำ

       ต่อจากที่ต้องเพิ่มอาคารเรียนอีก 2 หลัง หลังจากแม่จบชั้นประถมปีที่ 7 ในปี พ.ศ.2509 แล้วอีกหลายปีจำนวนนักเรียนในแต่ละปีเริ่มลดลง เนื่องจากมีการเปิดสอนระดับชั้นประถมปลายในแต่ละโรงเรียนบริเวณใกล้เคียงของตำบลท่าหลวง ทยอยเปิดเพิ่มมากขึ้นจนครบทุกโรงเรียน และต่อมาอีกไม่นานกระทรวงศึกษาธิการ ก็ยกเลิกชั้นประถมปี่ที่ 7 มีการเรียนในระดับประถมศึกษา 1 - 6 เท่านั้น


นักเรียนชั้นประถมปีที่ 2 โรงเรียนวัดถลุงเหล็ก (ปูนซีเมนต์ไทยอุปถัมภ์)
ปี พ.ศ. 2504 มีครูฉะอ้อน ฉลวยศรี เป็นครูประจำชั้น (คนที่ 3 จาก ซ้าย แม่)