การเล่นของเด็กๆทั้งที่บ้านและที่โรงเรียนอย่างเด็กโตๆหน่อย ที่เป็นผู้หญิงถ้าอยู่กันหลายๆคน ก็จะชอบเล่นกระโดดเชือกกัน วิธีเล่นก็ไม่จำกัดคนเล่น โดยให้เด็ก 2 คน ยืนถือเชือกคนละด้านให้ห่างกันพอดีกับระยะที่จะแกว่งเชือก แล้วแกว่งเชือกไขว้ไปทางเดียวกัน พวกที่เหลือก็จะเข้ามากระโดดใครเหนื่อยก็วิ่งออก หายเหนื่อยก็เข้ามาโดดเชือกต่อ ถ้าใครโดดไม่ถูกจังหวะทำให้เชือกหยุด ก็ต้องมาแกว่งเชือกแทน สลับผลัดเปลี่ยนกันไปเช่นนี้จนเลิกเล่น
นอกจากนี้ก็อาจจะมีเล่นตี่จับ งูกินหาง รีรีข้าวสาร หมากเก็บ ฯ ส่วนพวกเด็กผู้ชายจะชอบเล่น ก้อยต๊อกหรือทอยสตางค์กัน วิธีการเล่นก็คือ หาไม้กระดานแผ่นสั้นๆ มาวางพิงเสาหรือพิงต้นไม้ จากนั้น ก็เอาสตางค์แดง ที่เป็นเหรียญสีทองแดงมีรูตรงกลาง ราคาเหรียญละ 1 สตางค์ เป็นเหรียญที่สร้างในสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งในขณะนั้นมีอยู่มากมายแทบทุกบ้าน เอาเหรียญสตางค์แดง ถือด้านสันให้ตั้ง แล้วหย่อนลงบนไม้กระดานที่วางพิงอยู่ เหรียญก็จะวิ่งก้อยออกไปจนกว่าจะหมดแรงวิ่งและหยุดลง ก้อยเหรียญกันจนคบผู้เล่น เหรียญของใครหยุดได้ไกลกว่า (ไม่ออกนอกเส้นที่ขีดไว้ ส่วนผู้ที่ก้อยเหรียญออกนอกเส้นไปก็เก็บเหรียญเลยเกมนี้ไม่ได้เล่น) ก็จะเป็นผู้เล่นก่อน โดยหยิบเหรียญโยนให้ถูกเหรียญ ของคนที่อยู่ลำดับถัดมา ถ้าถูกเหรียญเรียกว่าถูกแก๊ก ถ้าโยนหรือวางทับบนเหรียญผู้อื่นได้เรียกว่า ถูกกบ ถ้าโยนถูกก็เล่นต่อไปถ้าโยนไม่ถูกก็ออกไปคนถัดไปได้เล่นต่อ เป็นการเล่นเอาเงินกันจริงๆมากกว่าที่จะเล่น เคาะหรือตีมือกัน ตามกติกาที่ผู้เล่นต่างตกลงกันไว้ก่อนเล่นในแต่ละครั้ง
ส่วนการเล่นทอยสตางค์นั้น วิธีการเล่นแบบเดียวกับก้อยต๊อก แตกต่างกันก็คือไม่ต้องใช้ไม้วางลองสำหรับก้อยเหรียญโดยให้ผู้เล่นโยนเหรียญเอง และต้องขีดเส้นเป็นรูปสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่พอสมควรบนลาน และขีดเส้นเขตสำหรับคนที่จะเล่น เพื่อยืนโยนเหรียญ จากนั้นแต่ละคนก็โยนเหรียญไปให้ใกล้เส้นบนที่สุดเท่าที่จะทำได้จนครบผู้เล่นทุกคน ถ้าใครโยนเหรียญแรงเกินจนออกนอกเส้นไปเกมนี้ก็ไม่ได้เล่น เหรียญใครอยู่บนสุดก็จะเป็นผู้ได้เล่นก่อนด้วยการโยนเหรียญ แก๊ก หรือ กบ เหมือนการเล่น ก้อยต๊อก กติกาสำหรับผู้ชนะก็เหมือนกันจะเป็นเงิน หรือใช้ตีก็ได้ ตีในที่นี้หมายถึง แบมือให้คนชนะตีที่มือกี่ทีก็แล้วแต่ตกลงกันไว้ หรือใช้กำมือเคาะด้วยห้อนิ้วก็ได้ เป็นการเคาะหรือตีเพื่อสนุกสนานตามกติกา ไม่ได้ตีกันจนเจ็บจริงจังนัก
เมื่อแม่ยังเด็กมีสตางค์เหรียญ 5 สตางค์ 10 สตางค์ 25 และสูงสุด 50 สตางค์ ใช้กันอยู่ ของใช้ของกินมีราคา 5 สตางค์หรือ 10 สตางค์ ยังมีการใช้เศษเหรียญทอนกันอยู่ ส่วน ราคา 1 บาท 5 บาท และ10 บาท จะเป็นธนบัตรทั้งสิ้น
ตาของลูกจะทำกระป๋องออมสินให้แม่ 1 ใบ กระป๋องออมสินของตาทำจากกระบอกไม้ไผ่ที่ลำดีๆ ปล้องกลมและยาวกำลังพอดี ตัดปล้องบนตาไม้ไผ่ทั้งบนและล่าง เจาะรูไว้หย่อนเหรียญ ตาทำให้แม่ลักษณะดังที่เล่านี้ แล้วก็ตั้งพิงฝาข้างเสาบ้าน ถ้ามีเงินเหลือกลับจากโรงเรียน หรือได้เงินพิเศษอะไรก็จะใส่กระป๋องออมสินนี้ไว้ (ถูกสอนเรื่องการเก็บและการออมมาตั้งแต่เล็กในสมัยอายุไม่ถึงขวบ) ถ้าเต็มเมื่อไรตาสัญญาว่าจะพาไปฝากเงินที่ธนาคารออมสินสาขาอำเภอท่าเรือ ในขณะที่ยังไม่มี ธนาคาร พานิชอื่นๆ ที่ตัวอำเภอเหมือนในปัจจุบันชาวบ้านจะรู้จักก็แต่ธนาคารออมสินเท่านั้น
กระป๋องออมสินกระบอกไม้ไผ่ในความรู้สึกของแม่ เหมือนไม่มีวันที่จะเต็มได้ ด้วยการหยอดเพียงวันละ 5 สตางค์หรือ 10 สตางค์เท่านั้น จากการที่ได้เงินไปโรงเรียนเพียงวันละ 50 สตางค์ ต้องใช้เงินให้เหลือเพื่อมาใส่กระปุกออมสินด้วย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น