วันอังคารที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2553

วัดและโรงเรียนของเรา

       โรงเรียนที่แม่เรียน (ต่อมาลูกๆทุกคนก็เรียนที่นี่) มีสอนชั้นประถมปีที่ 1-7 เป็นโรงเรียนประจำตำบลท่าหลวง เป็นโรงเรียนเดียวในตำบลที่มีสอนถึงชั้น ป.7 ในขณะที่โรงเรียนอื่นๆมีสอนถึง ป.4 เท่านั้น ตัวโรงเรียนตั้งอยู่ฝั่งถนนอีกฟากของวัด แต่ต้องข้ามถนนมาอาศัยลานวัดเป็นสนามให้เด็กเล่นหรือทำกิจกรรมเกี่ยวกับกีฬา ตัวโรงเรียนจะไม่มีบริเวณ


       โรงเรียนตั้งอยู่ริมแม่น้ำป่าสักตรงข้ามกับตลาดท่าหลวง ด้านหลังโรงเรียนถ้านั่งเรียนอยู่บนชั้นที่ 3 ของอาคาร มองด้านหลังมีแม่น้ำป่าสักเป็นฉากหลัง เป็นทัศนียภาพที่สวยงาม มองเห็นเขื่อนพระราม 6 และเรือนรับรองของกรมชลประทาน อีกฟากหนึ่งเป็นสำนักงานโครงการป่าสักใต้ ด้านขวาที่เป็นตลาดมีประตูน้ำสำหรับปรับระดับน้ำให้เรือผ่าน ถ้าแม่จำไม่ผิดชื่อประตูน้ำพระนเรศ

       เขื่อนพระราม 6 นี้เป็นเขื่อนทดน้ำเขื่อนแรกของประเทศไทย (เขื่อนมี 2 ประเภท คือ เขื่อนทดน้ำ และเขื่อนกักเก็บน้ำ) สร้างเมื่อ ปี พ.ศ. 2459 – 2467 เดิมชื่อ เขื่อนพระเฑียรราชา พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ รัชกาลที่ 6 เสด็จมาประทับแรมที่เรือนรับรอง ทำพิธีเปิดเขื่อนเมื่อ 29 พฤศจิกายน 2467 และประทับแรมที่เรือนรับรองหลายวันจนวันที่ 1 ธันวาคม 2467 ทรงเปลี่ยนชื่อเขื่อนใหม่เป็น 
" เขื่อนพระราม 6 "
ทางเดินจากตัวเขื่อนไปเรือนรับรอง
      







มีถนนหน้าโรงเรียนจนถึงตลาดแล้วมีสะพานเหล็กข้ามประตูน้ำพระนเรศไปจนถึงเขื่อนพระราม 6 และข้ามสะพานเหล็กที่เป็นสันเขื่อนไปอีกฝั่งที่เป็นเรือนรับรองได้ ถนนนี้สูงกว่าตัวโรงเรียนมาก พื้นของโรงเรียนเท่าพื้นตลิ่งริมแม่น้ำ (ในสมัยนั้นยังไม่มีการถมที่ก่อนการก่อสร้าง) โรงเรียนเป็นอาคารไม้ 2 ชั้นใต้ถุนสูง เข้าใจว่าสร้างหนีน้ำที่ท่วมถึงเกือบทุกปี ชั้น 2 นั้นก็ยังต่ำกว่าระดับถนนกว่าครึ่งชั้น

       ในช่วยที่แม่เข้าเรียนพื้นโรงเรียนด้านล่างยังเป็นพื้นดิน ต่อมาได้ขยับขยายพื้นชั้นล่างให้เป็นห้องเรียน ที่จำได้เนื่องจากบริษัทปูนซีเมนต์ไทยได้ส่งพนักงาน แสะวัสดุอุปกรณ์ในการเทพื้นคอนกรีตและก่ออิฐมาจัดทำให้จนแล้วเสร็จ ในจำนวนพนักงานที่มาก่อสร้างมีตาของลูกรวมอยู่ด้วย โดยใช้เวลาในการก่อสร้างนานพอสมควร บริษัทปูนซีเมนต์ไทยทำพิธีส่งมอบให้ทางโรงเรียน และได้อุปถัมภ์โรงเรียนเรื่อยมา ดังนั้นชื่อโรงเรียนวัดถลุงเหล็กจึงต่อท้ายด้วย (ปูนซีเมนต์ไทยอุปถัมภ์)  ตั้งแต่นั้นและโรงเรียน จึงมีอาคารเพิ่มเป็น 3 ชั้น

       ดังได้กล่าวแล้วว่าต้องอาศัยลานวัดเป็นที่ให้นักเรียนเล่นและทำกิจกรรมกลางแจ้งต่างๆ เรานักเรียนต้องเดินข้ามถนนกันวันละหลายครั้ง เพื่อใช้พื้นที่บริเวณลานวัด เวลาพักกลางวันมีแม่ค้านำอาหารมาขายให้นักเรียนในเวลาพักกลางวัน มีก๋วยเตี๋ยวเนื้อวัว มีราดหน้า มีอาหารที่แสนอร่อยมากที่สุดคือก๋วยเตี๋ยวเส้นหมี่เครื่องในวัวของป้าคำที่หาบมาขายจากตลาด (ขายตลาดตอนเช้า) ป้าคำ ทำน้ำเคี่ยวต้มเครื่องในที่เดือดพล่านหอมอบอวลชวนหิว อร่อยมากไม่เคยรับทานก๋วยเตี๋ยวต้มเครื่องในที่ไหนอร่อยเท่าของป้าคำ จนเลิกทานเนื้อวัวมาหลาย 10 ปีแล้ว (ป้าคำเป็นแม่ของเพื่อนที่เรียนอยู่ชั้นเดียวกัน คือประจวบ เมื่อลูกๆโตประกอบอาชีพและมีครอบครัว ป้าคำอายุมากขึ้นก็เลิกขาย) ก๋วยเตี๋ยวเส้นหมี่เครื่องในวัวนี้ ราคาชามละ 1 บาท ถือว่าแพงกว่าอาหารอย่างอื่นที่ขายให้เด็กในช่วงนั้น

       ส่วนก๋วยเตี๋ยวเนื้อ และเส้นหมี่หรือเส้นใหญ่ราดหน้าของป้าแฉล้มและลุงคุ่ยขายจานละ 50 สตางค์ ด้านหนึ่งเป็นราดหน้าจะเรียงชามตราไก่โดยใส่เส้นหมี่ หรือเส้นใหญ่ที่ผัดซีอิ้วใส่หม้อใหญ่ๆมาแล้วจากบ้าน มีหม้อใหญ่อีกใบที่ใส่น้ำราดหน้าที่ปรุงมาแล้วจากบ้านวางอยู่ใกล้ๆลุงคุ่ยที่เป็นคนตักราดหน้าขาย อีกด้านหนึ่งป้าแฉล่มก็ทำลักษณะเหมือนกันขายก๋วยเตี๋ยวเนื้อ เตรียมเส้นและใส่เครื่องก๋วยเตี๋ยวเตรียมไว้มีหม้อปรุงน้ำก๋วยเตี๋ยวตั้งเตาถ่านไฟอ่อนๆให้น้ำเดือดรอไว้ ใครซื้อก็หยิบชามเลือกเส้นดามชอบส่งให้ป้าแฉล่มเดิมน้ำก๋วยเตี๋ยวให้

        มีขนมหวานห่อใบตองขาย 2-3 ห่อ 25 สตางค์ มีน้ำแข็งใสใส่น้ำหวานขายถ้วยละ สลึง (25 สตางค์) ยายให้เงินค่าขนมแม่วันละ 50 สตางค์ แต่ต้องกลับไปทานข้าวกลางวันที่บ้านก่อน ถึงจะให้เงินเป็นอย่างนี้ทุกวัน แม่ไม่ค่อยได้มีโอกาสกินก๋วยเตี๋ยวหรือราดหน้านักหรอก ก็ต้องไปกินข้าวบ้านก่อนอิ่มมาแล้วได้เงินมาจำกัด ต้องคิดและชั่งใจว่าอยากกินอะไรมากกว่ากันจึงซื้อ

       วันไหนอยากกินก๋วยเตี๋ยวเส้นหมี่เครื่องในวัวละก็ ต้องเก็บสตางค์วันละ 25 สตางค์ ซื้อขนมกินวันละ 25 สตางค์ เก็บ 4 วัน ถึงจะได้กินของที่ชอบอาทิตย์ละครั้ง โดยเฉพาะวันนั้นต้องกินข้าวกลางวันที่บ้านให้น้อยเพื่อเก็บท้องมากินก๋วยเตี๋ยวที่โรงเรียน มานั่งนึกทบทวนย้อนหลังกลับไปในขณะนั้น ก็ไม่เคยมีความรู้สึกเดือดร้อนหรือน้อยเนื้อต่ำใจหรืออับอายเลย ที่ยายให้เงินแม่มาโรงเรียนน้อย ก็ที่บ้านมีข้าวมีกับข้าว แถมมีขนมที่ยายทำขายเยอะแยะ กินหรือแอบเอาไปฝากเพื่อนยังได้ คือไม่เคยอดนั่นเอง มีเพียงความอยากในรสอาหารที่แตกต่างไปจากที่บ้านมีเท่านั้นเอง

       ในช่วงนั้น วัดกับโรงเรียนยังแยกกันไม่ออก ปีไหนนักเรียนมีมากห้องเรียนไม่พอ (ห้องหนึ่งมีนักเรียนไม่ต่ำกว่า 50 คน และอย่างที่เล่ามาเป็นโรงเรียนประจำตำบล ที่มีสอนในระดับชั้น ป.5 - ป.7 เป็นโรงเรียนเดียวในตำบลนี้) เมื่อเด็กมากห้องเรียนไม่พอ ต้องเพิ่มห้องเรียน ก็ต้องอาศัยศาลาวัดเป็นห้องเรียนมีบอร์ดมีกระดานดำ มีเก้าอี้นั่งบ้าง หรือนั่งกับพื้นบ้างก็เป็นเรื่องไม่แปลก ตอนแม่เรียน ชั้น ป 2 ก็เรียนที่ศาลาวัด นั่งเรียนกลับพื้น มีครูฉอ้อน ฉลวยศรี เป็นครูประจำชั้น

       วัดกับโรงเรียนไม่แยกกัน ชื่อโรงเรียนคือชื่อวัด เช่นโรงเรียนวัดถลุงเหล็ก (ปูนซีเมนต์ไทยอุปถัมภ์) โรงเรียนวัดวังหิน โรงเรียนวัดสะตือ เป็นต้น โรงเรียนก็จะหยุดในวันพระ เวลาพักกลางวันก็พักเวลาเพล คือเวลา 11.00 น. ดังได้กล่าวแล้วว่าวัดกับโรงเรียนแยกกันไม่ออก เด็กวัดหลายคนมาเรียนหนังสือ พอเพลก็ต้องรีบกลับไปจัดอาหารเพลถวายพระ ดังนั้นจึงเอาเวลาเพลเป็นเวลาพักกลางวันของโรงเรียนไปด้วย เป็นอย่างนี้เหมือนกันหมด

       ในแต่ละห้องเรียนห้องหนึ่งมีนักเรียน จำนวน 40 - 50 คนทุกห้อง ในแต่ละปี จำนวนนักเรียนรวม 700 กว่าคนทุกปี จนต้องสร้างอาคารเรียนเพิ่มขึ้นในบริเวณลานวัดด้านริมถนนที่ห่างจากตัววัด อีก 2 อาคาร เป็นอาคารชั้นเดียว 1 หลังก่อน ต่อมาก็สร้างอาคาร 2 ชั้น อีกหนึ่งหลัง

      โรงเรียนวัดถลุงเหล็กที่แม่เรียน (ต่อมาลูกทั้งสามคนก็เรียนชั้นประถมที่นี่เช่นกัน) มีลักษณะที่แปลกอาจจะเป็นโรงเรียนเดียวในประเทศก็เป็นได้ ที่ตัวอาคารโรงเรียนตั้งต่ำกว่าถนน เกินครึ่งของอาคารชั้นที่ 2 ทางลงจากถนนจะเป็นพื้นปูนเทแบบขั้นบันไดกว้าง แบ่ง 2 ด้านซ้ายขวาสำหรับให้นักเรียนเข้าแถว ทำกิจกรรมหน้าเสาธงในเวลาเช้า เวลาที่นักเรียนยืนเข้าแถวเหมือนยืนเข้าแถวเป็นขั้นๆ ในอัฒจันทร์ในสนามกีฬา ส่วนตรงกลางเว้นว่างทำเป็นระดับขั้นบันไดลดหลั่นลงมาสำหรับเดินขึ้นลง จนถึงพื้นถนนปูนหน้าเสาธง

 
1. ปัจจุบันอาคารนี้ทรุดโทรมไม่ได้ใช้แล้ว ถ่ายภาพ  09/10/50   
2. ถนนหน้าโรงเรียนให้สังเกตตัวโรงเรียนอยู่ต่ำกว่าถนน
       และมีถนนทำเป็นระดับขั้นบันไดลดหลั่นลงมาสำหรับเดินขึ้นลงทั้งสองด้าน ทั้งข้างซ้ายและข้างขวามีประตูไม้ไว้ปิดเวลาเด็กเข้าเรียนแล้วทั้งสองด้าน จนถึงพื้นปูนชั้นล่างที่มีระดับต่ำที่สุดของอาคารที่มีห้องเรียน และบันไดไม้สำหรับขึ้นอาคารเรียนชั้น 2 และบันไดไม้สำหรับขึ้นอาคารเรียนชั้น 3 อีกต่อไป
ภาพ 3. เป็นทางเดินขึ้นลง


4. อาคารใหม่ที่ใช้เรียนปัจจุบันหันหน้าอาคารเข้าวัด ด้านหลังติดถนน

      ในช่วงเช้าเด็กๆจะเดินเข้าแถว บนขั้นบันไดปูนตรงทางลงจากถนนที่กว้างทั้ง 2 ด้านซ้ายขวาที่ในช่วงแรกๆ ที่แม่เรียนเป็นพื้นดินถึงพื้นปูนตรงกลางทางเดินขึ้นลง โดยเว้นช่องตรงกลางไว้เป็นทางเดิน 1 ช่องเมื่อทำพิธีหน้าเสาธงเสร็จก็จะเดินเข้าอาคารเรียนริมน้ำ ส่วนที่เรียนที่อาคารใหม่ริมถนนในลานวัดก็จะเดินข้ามถนนไปอาคารของตัวเองเป็นแถวโดยมีครูคุมแถว คอยดูแล ในยุคนั้นรถยนต์และรถจักรยานยนต์ยังมีน้อยมาก ส่วนใหญ่จะมีใช้กันแต่รถจักรยานสองล้อ และไม่เคยมีอุบัติเหตุกับเด็กๆเลย

        ต่อมาในยุคหลังๆ ทางโรงเรียนได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบการเข้าแถวเพื่อความปลอดภัยของนักเรียนโดยให้นักเรียนที่เรียนอาคารใดก็ให้แยกเข้าแถวที่อาคารนั้น การเรียนในสมัยนั้นแต่ละห้องเรียนจะมีครูประจำชั้น 1 คน ที่ดูแลและสอนทุกวิชาโดยครูคนเดียวกัน นักเรียนจะรู้จักสนิทสนมและเคารพรักครูประจำชั้นเป็นอย่างดี ครูก็จะรู้จักเด็กได้ดีทั้งห้องด้วยสอนและดูแลตลอดเวลา 1 ปี

        ไม่แน่ใจว่าเริ่มมีการสอนเป็นรายวิชาในช่วงใดแต่พอจะจำได้ว่าในช่วงอยู่ชั้นประถมปลาย ปี 2506 – 2509 มีครูภาษาไทย ครูภาษาอังกฤษ ครูพละแยกแล้ว การจัดห้องพักครูก็จะคนละรูปแบบกับปัจจุบัน ที่โรงเรียนห้องครูใหญ่ 1 ห้อง และห้องพักครูรวมกันใช้ห้องใหญ่อีก 1 ห้อง อยู่บนชั้น 3 ห้องสมุดอยู่ชั้น 2 ซึ่งต่างจากปัจจุบันที่ห้องครูใหญ่ หรือห้องผู้อำนวยการ และห้องสมุดส่วนใหญ่จะอยู่ชั้นล่างของอาคารเพื่อสะดวกในการติดต่อและการบริการ ส่วนห้องพักครูจะแยกตามหมวดวิชาอยู่ตามอาคารแต่ละชั้น

       ห้องสมุดที่อยู่ชั้น 2 มีหนังสือให้อ่านน้อยมากแม่อ่านหนังสือจนหมดห้องสมุดในยุคสมัยนั้นหนังสือเป็นสิ่งที่หาอ่านได้ยากจะมีอ่านก็แต่หนังสือเรียน ในห้องสมุดจำได้ว่านอกจากมีหนังสือให้อ่านแล้ว มีลูกโลกลูกใหญ่และมีตู้จัดแสดงหินต่างๆ มีแผนที่ประเทศไทย มีแผ่นพับตัวอักขระไทยและอังกฤษ ที่ดูจะเป็นสูตรสำเร็จที่กระทรวงกำหนดให้ห้องสมุดทุกโรงเรียนมี

      เวลาพักกลางวันแม่จะรีบทำธุระ เรื่องกินให้เสร็จเร็วแล้วก็จะเข้าห้องสมุดไม่ค่อยออกไปเล่น ถ้ามีเวลาที่ครูไม่อยู่และโรงเรียนยังไม่ปล่อยกลับบ้านก็จะเข้าหาหนังสืออ่านเป็นส่วนใหญ่ ที่บ้านนอกจากหนังสือเรียนแล้วจะไม่มีหนังสือให้อ่าน ตาและยายไม่เห็นมีความจำเป็นอะไรที่จะต้องซื้อหนังสืออื่นๆนอกเหนือจากหนังสือเรียน และการจะซื้อหนังสืออื่นๆอ่านได้นั้นต้องออกไปซื้อหาถึงตลาดที่ในตัวอำเภอ หรือที่ตลาดสุขาภิบาลมีร้านของครูสร่างที่มีหนังสือแบบเรียน หนังสืออื่นๆและอุปกรณ์ในการเรียนการเขียนขาย

       ซึ่งอยู่อีกฟากของคลองต้องเดินอีกไกลหลายกิโลจนออกถนนตรงโรงภาพยนตร์ศรีอรุณ เดินต่ออีกถึงถนนทางเข้าที่อยู่สุดเขตของถนนที่มาจากตัวอำเภอท่าเรือ เป็นถนนที่ติดต่อกับทางเข้าบริษัทปูนซิเมนต์ไทยมีร้านค้าและร้านอาหารมากเพื่อขายคนทำงานในโรงงาน ในสมัยนั้นบริษัทปูนซิเมนต์ไทยไม่ปิดทางเข้าออกบริษัท ผู้คนสามารถเดินผ่านเข้าออก ข้ามไปมาเชื่อมต่อกับตลาดท่าหลวงและหมู่บ้านนอกๆได้โดยไม่มีการหวงห้าม

       แม่เคยเข้าไปดูการทำงาน เข้าไปส่งของหรือขายของในนั้นได้ ไปดูหมวกเจ๊กหมุนกวนดินที่จะมาทำปูน เคยเดินลอดเตาเผาปูนขนาดใหญ่เรียงรายกันอยู่ 3 – 4 - 5 เตาเผา เคยเดินข้ามสะพานโค้ง ที่พนักงานกำลังใช้ปั้นจั่นทำงานอยู่ คือในความรู้สึกของผู้คนในยุคนั้นโรงงานเป็นของเขา เขามีพี่น้องหรือพ่อแม่ทำงานอยู่ในโรงงาน เขาเดินผ่านเข้าออกโรงงานเมื่อไรตอนไหนก็ได้ ไม่มีอันตรายในการปฏิบัติงาน ผู้คนจะคอยดูแลคอยระวังกันเอง ดังนั้นจึงมีความรักและผูกพันกัน โรงงานจึงเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตด้วย


       ตลาดท่าหลวงในตำบลเล็กๆไม่มีร้านขายหนังสือ ตัวอำเภอในสมัยนั้นถือว่าอยู่ห่างไกล การเดินทางไปมาไม่มีรถประจำทาง ถนนหน้าโรงเรียนเป็นถนนลูกรังไม่สามารถเชื่อมต่อไปถึงอำเภอได้ เนื่องจากมีที่ของเอกชนขั้นอยู่และเป็นเนื้อที่คาบเกี่ยวกับจังหวัดสระบุรี

       ลืมเล่าว่าเสื้อนักเรียนที่ต้องปักด้ายสีน้ำเงิน ชื่อ – นามสกุล ที่ด้านซ้าย และปักชื่อโรงเรียนด้านขวานั้นปัก ว่า อ.ย. 46 ซึ่งก็คงจะหมายความว่า เป็นโรงเรียนลำดับที่ 46 ของจังหวัดพระนครศรีอยุธยานั่นเอง ปัจจุบัน (18 กรกฎาคม 2549) ไม่รู้ว่าเปลี่ยนการปักเสื้อเป็นแบบไหนแล้ว ในตอนนั้นถ้าต้องออกไปแห่งกีฬา หรือมีกิจกรรมอื่นๆนอกอำเภอ หรือนอกจังหวัดพระนครศรีอยุธยาแล้วจะถูกล้อเสมอว่า ที่โรงเรียนมีนักเรียนอดอยากกันมากถึง 46 คนเชียวหรือเป็นประจำ

       ต่อจากที่ต้องเพิ่มอาคารเรียนอีก 2 หลัง หลังจากแม่จบชั้นประถมปีที่ 7 ในปี พ.ศ.2509 แล้วอีกหลายปีจำนวนนักเรียนในแต่ละปีเริ่มลดลง เนื่องจากมีการเปิดสอนระดับชั้นประถมปลายในแต่ละโรงเรียนบริเวณใกล้เคียงของตำบลท่าหลวง ทยอยเปิดเพิ่มมากขึ้นจนครบทุกโรงเรียน และต่อมาอีกไม่นานกระทรวงศึกษาธิการ ก็ยกเลิกชั้นประถมปี่ที่ 7 มีการเรียนในระดับประถมศึกษา 1 - 6 เท่านั้น


นักเรียนชั้นประถมปีที่ 2 โรงเรียนวัดถลุงเหล็ก (ปูนซีเมนต์ไทยอุปถัมภ์)
ปี พ.ศ. 2504 มีครูฉะอ้อน ฉลวยศรี เป็นครูประจำชั้น (คนที่ 3 จาก ซ้าย แม่)





ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น