วันอังคารที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2553

คานเรือ

        คานเรือนี้อยู่บนบกใกล้ๆกับโรงไม้ที่ตั้งอยู่ริมตลิ่ง (ปลูกในน้ำชายตลิ่ง) ยกพื้นเสมอดินส่วนตัวเสาฝังอยู่ในน้ำ จำหน่ายไม้สำหรับก่อสร้างทุกชนิด (ขณะนั้นยังใช้เรือในการเดินทาง การขนส่งและการค้าขายสินค้า) และที่โรงไม้จะมีศาลาท่าน้ำแต่ไม่มีใครกล้าเข้าไปใช้ เพราะจะเป็นการเกะกะการทำงานของคนงานในโรงไม้ ข้างๆโรงไม้เป็นบ้านกำนันเก่า (กำนันพัฒน์)

        คานเรือที่ว่านี้ลูกๆคงไม่รู้จัก แม่จำไม่ได้ว่าคานเรือเลิกไปเมื่อไร ตอนนั้นการสัญจรไปมาส่วนใหญ่เป็นทางน้ำทั้งนั้น มีถนนอยู่สายเดียวจากอำเภอมาสิ้นสุดที่ตลาด  จากตลาดไปก็เป็นที่ของกรมชลประทาน ไม่มีถนนไปต่อ มีแต่ทางเดิน และบ้านเรือนทั่วไปจะตั้งอยู่ริมน้ำเป็นส่วนใหญ่ ข้าวเปลือกก็จะขนด้วยเรือเอี้ยมจุ๊นขนาดใหญ่ มีให้เห็นอยู่ทั่วไป

       คานเรือนี้ก็คือท่าซ่อมเรือที่รั่วหรือไม้เรือเริ่มผลุ หรือต่อเรือใหม่นั่นเอง    จะมีรางเหล็กคล้ายทางรถไฟ 2 รางคู่ วางกว้างประมาณ 1/1/2 เมตร มีหมอนรองโดยตลอด ต่อจากบนพื้นดินลงไปถึงในน้ำจนถึงพื้นดินที่ลึกพอที่จะลากดึงเรือผ่านรางมาได้ และมีรอกตัวใหญ่   เวลาเรือจะเข้าซ่อมก็จอดเรือให้ตรงรางนี้แล้วคนงานก็จะใช้รอกและลวดสลิงดึงเรือขึ้นมา มีเครื่องจักรดึงด้วยการหมุนฟันเฟือง ที่ตั้งอยู่ในโรงเล็กๆ จากนั้นก็นำเรือขึ้นวางบนคานไม้ที่ตั้งไว้มากมายนั้น ตอนยกเรือขึ้นบนคานไม้แม่ไม่เคยเห็น
รู้แต่ว่าใช้รอกยก เห็นแต่ตอนเรือขึ้นบกและลงน้ำจากรางเท่านั้น

        เรือที่มาซ่อมลำหนึ่งๆใช้เวลาเป็นเดือน ตัวเรือวางค้างอยู่บนคานไม้เพื่อรับน้ำหนัก ช่างซ่อมที่เป็นช่างไม้ส่วนมาก จะเปลี่ยนไม้ลำเรือส่วนที่ผลุ เป็นบางแผ่นหรือบางส่วน อุดรอยรั่วด้วยชัน และใช้ชุด(ผ้าเป็นเส้นๆ หมุนเป็นเกลียว)ผสมกับน้ำมันยางและปูนแดงนิดหน่อย และทาน้ำมันยางเป็นรายการสุดท้าย ปล่อยจนแห้งดีแล้วจึงทำการเข็นเรือลงน้ำด้วยวิธีการใช้รอกและลวดสลิงยกลงรางเพื่อลงน้ำ

       แม่เคยเห็นลุงช่วยคนข้างบ้านที่ทำงานที่คานเรือซ่อมและยาเรืออยู่ประจำ และเคยช่วยเป็นลูกมือตาของลูกยาเรือสำปั้นที่บ้านบ่อยครั้งพอที่จะยาเรือที่รั่วได้เองบ้าง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น