วันอังคารที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2553

อาบน้ำ

       ในช่วงหลังบริษัทปูนซีเมนต์ไทย ได้ขยายโรงงานออกมาถึงโรงเรื่อย ได้รื้อบ้านพักพนักงาน และปิดรั้วให้เข้าออกที่ประตูด้านหน้า เวลานั้นแม่เริ่มรุ่นๆสาวแล้ว แม่และเพื่อนๆ จึงไปอาบน้ำที่ศาลาท่าน้ำบ้านกำนันพัฒน์ ซึ่งเป็นกำนันเก่าที่เสียชีวิตไปแล้ว เป็นบ้านชั้นเดียวใต้ถุนสูงทำด้วยไม้สักหลังใหญ่สวยมาก หลังคาทรงปั้นหยามุงกระเบื้องสีแดง ในสมัยนั้นไม่เคยเห็นบ้านไหนใหญ่และสวยมากไปกว่าบ้านหลังนี้ยังติดตรึงอยู่ในใจมาช้านาน บ้านมีบริเวณกว้างขวางเนื้อที่ติดริมน้ำล้อมรั้วด้วยลวดหนาม มีไม้ดอกไม้ผลอยู่มากมาย ที่ชอบและเคยทานผลไม้ของบ้านนี้คือชมพู่ม่าเหมี่ยวที่มีรสชาติดีและอร่อย (ไม่เคยกินมาก่อนแถวที่บ้านไม่มีใครปลูก)
       กำนันมีลูกคนเดียวเป็นชายชื่อ เกื้อ (หวนมานึกทบทวนย้อนหลังไปน่าจะเป็นบ้านหลังนี้นี่เองที่ติดอยู่ใต้สำนึกตลอดมา เมื่อปลูกบ้านที่อยู่ในปัจจุบันจึงมีส่วนคล้ายหลายอย่างเช่นหลังคาบ้านที่เจาะจงทรงปั้นหยา หลังคาก็มุงกระเบื้องซีแพคโมเนียร์สีแดงกุหลาบ ปลูกไม้ดอกไม้ผลที่หายาก ที่สำคัญมีศาลาท่าน้ำ)

ทางเดินผ่านสวนเข้าบ้านปัจจุบัน 12/10/53

บ้านหลังคาทรงปั้นหยา
แม่น้ำสุพรรณ (ท่าจีน) ภาพถ่ายจากศาลาท่าน้ำ

ศาลาท่าน้ำ 12/10/53
        บ้านกำนันอยู่ด้านหลังโรงเรียน เลาะตามแม่น้ำไป เป็นช่วงที่แม่น้ำป่าสักไหลผ่าน เหนือเขื่อน พระราม 6 และมีคลองแยกมาข้างโรงเรียนติดฝั่งตลาด เพื่อให้เรือผ่าน เข้า – ออก อ้อมไปเชื่อมกับแม่น้ำป่าสักใต้เขื่อน ตรงหน้าวัดสะตือได้นั่นเอง เป็นความชอบ ที่ประทับใจในการใช้ศาลาท่าน้ำอาบน้ำ ซักผ้าและเล่นน้ำในวัยขนาดนั้น เป็นความฝันที่ฝังใจมานานที่อยากมีบ้าน ที่มีศาลาท่าน้ำเป็นของตัวเอง

       การเดินจากบ้านไปอาบน้ำที่ศาลานี้ได้ ต้องเดินผ่านวัดถลุงเหล็ก ข้ามถนนหน้าโรงเรียนเดินข้างรั้วโรงเรียนข้างบ้านพักครูเดินลัดเลาะผ่านอู่ซ่อมเรือ ซึ่งเราจะเรียกกันว่า “คานเรือ“ และเดินผ่านโรงไม้จึงถึงสะพานไม้ยาว เดินตามสะพานที่น้ำตื้นๆไปศาลาท่าน้ำที่อยู่ลึกออกไป
แม่น้ำป่าสักหลังเขื่อน พระราม 6

      บ้านกำนันสร้างศาลาท่าน้ำไว้ดี เป็นศาลาไม้มีบันไดยื่นลงในน้ำทั้ง 2 ด้าน มีทางเดินทำด้วยไม้จากริมตลิ่งไปยังศาลาซึ่งยื่นไปในน้ำซึ่งลึกมากพอสมควร ท่าน้ำนี้เจ้าของอนุญาตให้ใช้อาบน้ำและซักผ้าได้ โดยไม่หวงห้าม เป็นที่เล่นน้ำกันได้อย่างสนุกสนานของเด็กๆรุ่นเดียวกัน หรือรุ่นโตๆกว่าหน่อยก็จะชวนกันไปอาบน้ำที่ท่าน้ำนี้ การไปอาบน้ำก็จะนุ่งผ้าถุงกระโจมอกกันไปจากบ้านเลย ห่มทับด้วยผ้าขนหนูกันทุกคน ไปกันครั้งละ 5-6 คน พอใกล้เวลา16.30 น.ก็เปลี่ยนผ้าสำหรับอาบน้ำมีถังใส่ผ้าไปซัก ตะกร้าสบู่ และผงซักฟอก คล้องแขนไปคนละใบ ซึ่งผงซักฟอกที่มีอยู่ในสมัยนั้นชนิดเดียวคือ แฟบ คนทั่วไปจึงเรียกผงซักฟอกกันติดปากว่า แฟบ โดยใช้ซักผ้าและใช้ล้างจาน (ยังไม่มีน้ำยาล้างจาน) นอกจากแฟบแล้ว มีก็แต่สบู่ชันไรย์ ใช้ซักผ้า ขัดหม้อขัดขันอลูมิเนียม หรือล้างจานอีกเท่านั้น แม้ว่าต่อมาจะมีผงซักฟอกชนิดอื่นๆผลิตออกมาใหม่ๆก็ยังเรียก แฟบ กันอยู่นั่นเอง เช่นเดียวกับยาสระผม มียีห้อเดียวคือ แฟซ่า เป็นยาสระผมชนิดผง(ไม่เป็นน้ำเหมือนปัจจุบัน) ซองมีสีขาวและเขียว ขายราคาซองละ 50 สตางค์

      วิธีซักผ้าของแม่ก็เทผ้าลงบนพื้นบันไดท่าน้ำเอาถังใส่น้ำครึ่งหนึ่งแล้วใส่แฟบไป ตีน้ำแรงๆ ให้ขึ้นฟอง จากนั้นก็นำผ้ามาขยี้ที่ละชิ้นจนหมด จากนั้นก็เทน้ำแฟบในถังลงน้ำและล้างถังน้ำให้สะอาด ผ้าที่วางไว้ก็เอามาส่ายในน้ำจนสะอาด แล้วบิดให้หมาดใส่ถังไว้การซักผ้าด้วยวิธีนี้ผ้าจมหายโดยไม่รู้ตัวบ่อยมาก

      เมื่อซักผ้าเสร็จแล้ว ก็เล่นน้ำกันเป็นที่สนุกสนาน ว่ายน้ำเล่นบ้าง ทำโป่งลอยเล่นบ้าง (พวกอยู่บ้านใกล้น้ำ จะรู้จักการทำโป่งเล่นน้ำกันอย่างดี) วิธีเล่นก็คือขมวดปมผ้าถุงที่นุ่งกระโจมอกไว้ให้แน่น ยืนในน้ำหรือบนขั้นบันไดครึ่งตัว ดึงชายผ้านุ่งด้านหนึ่งขึ้นพ้นน้ำ กำมือวักน้ำหรือพุ้ยน้ำให้ลมเข้าชายผ้านุ่งด้านที่เหลือจะอยู่ในน้ำ ผ้าก็จะโป่งขึ้นจนพอแก่ความต้องการ แล้วเอาสองมือรวบชายผ้าใต้น้ำไว้ ย่อตัวลงปล่อยเท้าที่เหยียบดินหรือขั้นบันไดไว้ ก็ลอยตัวเล่นน้ำได้อย่างสบาย โดยใช้เท้าพุ้ยน้ำไปได้ใกล้หรือไกลตามถนัด ไม่มีการหงายท้องหรือโป่งหลุดจมน้ำอย่างแน่นอนถ้าขมวดผ้าบนหน้าอกให้ดีไม่ให้หลุดได้

       การเล่นน้ำอีกอย่างคือขึ้นไปยืนบนม้านั่งศาลา จับปลายผ้านุ่งให้กว้างหน่อยๆ ให้แน่นแล้วกระโดดลงมาตรงๆผ้าก็โป่งลอยน้ำพุ้ยเล่นได้เหมือนกัน หรือกระโดดน้ำพุ่งแหลนเล่นก็ได้ เล่นน้ำกันจนพอใจและเย็นมากแล้วจึงชวนกันขึ้นจากน้ำ ผลัดผ้าอาบน้ำซัก เดินกลับบ้าน (การนุ่งผ้ากระโจมอกไปอาบน้ำแม่น้ำ ลำคลอง หรือบ่อ เป็นเรื่องปกติไม่เป็นที่น่าแปลกหรือน่าอับอาย เป็นวิถีชีวิตของผู้คนในยุคสมัยนั้น ที่ยังไม่มีน้ำประปาใช้)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น