วันพุธที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2553

ทุ่งนาหลังเก็บเกี่ยว
ปัจจุบันใช้รถเกี่ยว
     เมื่อถึงเดือน มีนาคม – เมษายน ของทุกปี ชาวนาเกี่ยวข้าวเสร็จ ท้องนาที่เก็บเกี่ยวแล้วเป็นที่เล่นสนุกสนานของเด็กๆ และเป็นที่พักผ่อนของพวกผู้ใหญ่ในหมู่บ้าน ในเวลาเย็นอากาศที่ทุ่งนาเย็นสบาย บรรยากาศรื่นรมย์ หลังกลับจากโรงเรียนและทำงานบ้านเรียบร้อยแล้ว (หุงข้าว ทำกับข้าว) แม่และเด็กๆในหมู่บ้านเล็กๆ 20 กว่าหลังคาเรือนนี้   ก็จะพากันออกไปทุ่งนาหลังบ้านมีพวกผู้ใหญ่ออกไปนั่งคุย นั่งพักผ่อนกันบ้างหรือเอาข้าวมานั่งป้อนลูก หลาน เล็กๆ และดูเด็กๆเล่นกันบริเวณทุ่งนา  โดยนั่งกันบนคันนานั่นเอง ดินบนคันนาจะแห้งและแข็งนั่งได้ไม่เปื้อน (ไม่มีฝุ่น)
   ลงแขกเกี่ยวข้าว

      เด็กๆจะลุยไปในนาที่เจ้าของเก็บเกี่ยวไปแล้ว เพื่อหาเก็บข้าวตก ข้าวตกที่ว่านี้คือ  รวงข้าวที่ชาวนาเก็บเกี่ยวไปไม่หมดหรือร่วงอยู่มีอยู่มากมาย  ส่วนใหญ่จะเป็นรวงเล็กและสั้นๆ เด็กๆจะวิ่งไปหาเก็บตามซังข้าว ใครหาเก่งเก็บข้าวตกได้มากก็นำไปขายให้คนในหมู่บ้านที่เลี้ยงไก่ รับซื้อข้าวตกจากเด็กในราคาลิตรละ 50 สตางค์ เด็กคนหนึ่ง ๆ จะเก็บมาขายได้คนละหลายบาท
    ชีวิตในวัยเด็กของแม่ ผู้คนจะอยู่กันอย่างสบายๆ มีความพอเพียง ชีวิตไม่เร่งรีบกับเวลา ของกินของใช้ส่วนมากจะหาและทำใช้กันเอง จะซื้อก็แต่ของที่จำเป็นหรือหามาทำเองไม่ได้เท่านั้น และตามหมู่บ้านนอกๆออกไปยังใช้วิธีแลกข้าวแลกของกันอยู่ มีการเอาข้าวเปลือกหรือข้าวสารไปแลกของใช้ของกิน เช่นข้าวแลกกับไข่เป็ด หรือไข่ไก่ หรือแลกกับผ้านุ่งผ้าขาวม้าเป็นต้น แต่แม่จำอัตราที่เขาใช้แลกเปลี่ยนกันไม่ได้  
        ในช่วงหลังเก็บเกี่ยวข้าวและเก็บข้าวตกกันแล้ว ในเวลาเย็นหลังเสร็จจากงานบ้านแล้วเมื่อออกไปนั่งเล่นกันที่ทุ่งนาพวกผู้ใหญ่ก็คุยกันไป เด็กเล็กๆ ก็หาของเล่นหรือวิ่งเล่นกัน ที่โตๆหน่อยก็มีโอกาสนั่งคุยกันเป็นกลุ่มๆ มีทั้งเด็กเล็ก เด็กโตรุ่นๆ และผู้ใหญ่ในหมู่บ้านเล็กๆไม่กี่หลังคาเรือนนี้จะออกมานั่งเล่นพักผ่อน และเสวนากัน ที่ทุ่งนาหลังหมู่บ้านในฤดูกาลนี้เป็นประจำ
       อากาศยามเย็นที่ทุ่งนามีลมพัดผ่านเย็นสบาย เป็นที่ผ่อนคลายความเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าจากการงานและความร้อนในช่วงเวลากลางวัน เด็กๆรุ่นเล็กอย่างแม่จะมีผู้ใหญ่ทำของเล่นจากวัสดุใกล้ตัวให้ เช่นถอนต้นข้าวที่เก็บเกี่ยวแล้วโดยที่โคนต้นยังเขียวอยู่ มาตัดตรงส่วนบนของข้อออก ยาวประมาณฝ่ามือ ใช้มีดผ่าทำช่อง ทำลิ้น  เมื่อนำมาเป่าจะคล้ายเสียงปี่ เราจะเรียกกันว่าทำปี่ เป่าเล่นกัน
        มีของเล่นอีกอย่างที่แม่ชอบมากก็คือการเก็บปล้องอ้อมาเล่น เดินตามคันนาไปจนสุดคันนามีคูน้ำติดถนน ซึ่งถ้าหน้าแล้งน้ำก็จะแห้งแต่ดินก็ยังชื้นอยู่ มีพืชชนิดหนึ่งขึ้นมากคือต้นอ้อที่เป็นไม้เลื้อย ไม่ใช่ต้นอ้อที่ขึ้นสูงๆเป็นป่าอยู่ในสระบัวหน้าวัดหรอกนะ เป็นพืชที่ขึ้นอยู่ริมคูชาวนานี่เอง แม่จะดึงต้นอ้อยาวๆ มาหลายๆต้น แล้วมาตัดเป็นท่อนๆ ต้องตัดตรงข้อปล้องออกเอาไว้แต่ตัวของปล้องยาวๆเท่านั้น
      เมื่อเอากลับมาบ้านก็หาไม้กำลังพอเหมาะมาเสียบกับรูปล้องอ้อ ปล้องอ้อที่งามๆจะมีขนาดหลอดกาแฟนั่นเองเมื่อหาไม้เสียบกลมๆให้ยาวกว่าปล้องอ้อ (โดยมากใช้ไม้ที่ตาเหลาไว้เสียบพริก เลียบปลาใช้ย่างนั่นเอง) นำไม้มาดันเข้าไปในปล้องอ้อจนสุด ไส้อ้อก็จะเด้งหล่นออกมามีลักษณะคล้ายกับฟองน้ำที่ใช้ล้างถ้วยชาม แต่มีสีขาวทรงกลมยามตามปล้องอ้อนั่นเอง เด็กผู้หญิงจะชอบเล่นไส้อ้อนี้มาก เก็บกันมาคนละมากๆ เอามาย้อมสีต่างๆไว้ทำของเล่นกัน เช่นเอามาตกแต่งเป็นตุ๊กตา หรือตัวสัตว์ต่างๆแล้วแต่จะคิดหรือประดิษฐ์ออกมาเป็นของเล่นเก็บไว้ได้นาน
ต้นอ้อ
ปล้องอ้อ
                        ส่วนเด็กผู้ชายที่โตหน่อยก็จะเล่นว่าวกัน การเล่นว่าวนี้ มีทางเลือก 2 ทางคือจะทำตัวว่าวเองหรือซื้อตัวว่าวสำเร็จรูปที่ตลาด ถ้าทำเองหรือให้ญาติทำให้ก็เริ่มตั้งแต่หาตัดไม้ไผ่มาเหลาทำโครงว่าว มีกอไผ่มากมายหาตัดได้ซื้อกระดาษว่าวสีต่างๆตามชอบมาแปะและซื้อด้ายป่านยาวๆ มาทำสายป่านว่าว เสร็จแล้วมาประลองว่าวกันว่า ว่าวใครจะขึ้นดีกว่ากัน เด็กโตส่วนใหญ่จะทำว่าวกันเอง หรือคนในบ้านทำให้ มากกว่าที่จะซื้อ เนื่องจากทำให้ได้ว่าวตัวใหญ่หรือเล็กและแบบของว่าวได้ตามต้องการ เป็นว่าวจุฬา ว่าวปักเป้า ว่าวอีลุ้ม หรือว่าวดุ๋ยดุ่ย เป็นต้น
       มีเพียงเด็กเล็กๆที่ยังเล่นไม่ได้หรือไม่เป็นเท่านั้น ที่ผู้ใหญ่จะซื้อไว้ให้ถือวิ่งเล่น  ตาของลูกทำว่าวได้สวยนัก ตาจะตัดไม้ไผ่มาเหลา แล้วเอาไม้ไผ่ลนไฟต่อยๆดัด ค่อยๆเกลา อย่างประณีต ว่าวของตาสวยและขึ้นดีทุกตัว ว่าวเป็นการเล่นของเด็กผู้ชาย เราเด็กผู้หญิงก็นั่งดูและเชียร์ว่าว่าวใครจะขึ้นสูงกว่ากัน  จนถึงติดลมบนที่แรง  จนสายป่านอาดขาดว่าวลอยหายไปก็มีอยู่บ่อยๆ
เก็บเห็ด

      ฤดูฝนเป็นฤดูที่แม่ชื่นชอบมากที่สุด  เมื่อฝนตกใหม่ๆ หลังจากพื้นดินแห้งแล้งมานาน  พื้นดินจะชุ่มฉ่ำ ต้นไม้เขียวขจีสดชื่น วัชพืชต้นเล็กต้นน้อยขึ้นเต็มไปหมด ทางเดินตรงไหนเป็นดินทรายจะไม่เฉอะแฉะ  ดินซึ่งแห้งแล้งมานาน  เมื่อฝนตกแรงๆ ครั้งแรกดินจะดูดซึมน้ำได้อย่างเต็มที่  หลังฝนตกเมื่อเดินผ่านจะได้กลิ่นไอดินหอมมาก เป็นกลิ่นไอดินที่ปัจจุบันนี้ แม่ไม่เคยได้กลิ่นแบบนี้มานานแล้ว  เนื่องจากเมื่อความเจริญย่างก้าวมาถึง พื้นดินก็ไม่ค่อยมีให้เหยียบ (ในเมือง) เดินไปตรงไหนถนนหรือทางเดินก็เทปูน หรือลาดยาง ลูกจึงไม่รู้จักและไม่เคยได้กลิ่นหอมของไอดิน ตามชนบทที่ห่างไกลมีธรรมชาติที่ยังไม่ถูกทำลาย สิ่งเหล่านี้ก็ยังมีให้พบเห็นกันอยู่บ้าง

เห็ดเผาะ
ล้างและผ่าเห็ดเผาะ
     
      หากวันไหนฝนตกแล้วทิ้งช่วงไป 4-5 วัน และอากาศร้อนอบอ้าวมากๆ แล้วมีฝนตกมาสักครั้ง จะมีเห็ดโคนแอบขึ้นตรงที่เคยขึ้น และเห็ดข้าวตอก ขึ้นมาอย่างมากมาย เห็ดโคนจะมีกลิ่นหอม พวกผู้ใหญ่มักจะรู้เมื่ออากาศอบอ้าวและมีฝนตก ก็จะออกหาเห็ดโคน
แกงเห็ดเผาะ
กัน เห็ดโคนถ้าขึ้นแล้วไม่มี
เห็ดข้าวตอก
เห็ดข้าวตอก
ใครพบมันก็จะบานแล้วโรยไปเอง ส่วนเห็ดข้าวตอกเป็นเห็ดที่ขึ้นง่าย ขึ้นมากขึ้นเป็นกลุ่มขาวยาวเป็นแถบๆตามข้างทางเดิน แม่จะเก็บไปให้ยาย เก็บได้ครั้งละมากๆ เห็ดข้าวตอกมีลักษณะดอกเล็กๆสีขาว  จะออกพร้อมกันครั้งละมากๆ ยายจะต้มยำให้กิน กลิ่นและรสชาติของเห็ดข้าวตอกคล้ายเห็ดโคน เพียงแต่ดอกเล็กกว่าเห็ดโคนเท่านั้นเอง

      ถนนจากบ้าน -วัด ต้นยางใหญ่เรียงราย 10 กว่า ต้น   2. พื้นดินชุ่มฉ่ำเก็บเห็ดใต้ต้นยางส่วนที่ต่ำกว่าถนน 3.ฝั่งวัดยางนม
    เห็ดอีกชนิดที่แม่เคยหาเก็บคือเห็ดเผาะ  ที่ริมตลิ่งข้างทางเดิน จากบ้านไปถึงถนนหน้าโรงเรียน ช่วงที่ผ่านวัดนั้นมีต้นยางเรียงรายเป็นระยะตามตลิ่ง 10 กว่าต้น มีลำต้นสูงใหญ่มาก เป็นริมตลิ่งที่สูงและชัน บริเวณใต้ต้นยางมีวัชพืชขึ้นคลุมดินโปร่งๆ ดินจะชื้นและร่วนซุย   ใต้ต้นยางต้นแรกจากหมู่บ้านตรงชานตลิ่งมีกอไผ่ไม่ใหญ่นัก พื้นดินเป็นทางลาดเท และดินแถวนี้ร่วนซุย ไปจนถึงตลิ่งหน้าวัด ยายพาแม่เอาเสียมหรือพลั่วอันเล็กๆ คุ้ยดินแบบถากๆ หาเห็ดเผาะซึ่งหาได้ไม่ยากเลย 
         แม่ชอบตามยายไปหาเห็ดเผาะ สนุกกับการคุ้ยดิน หาเก็บเห็ดเผาะ ได้ครั้งละครึ่งถังใบย่อมๆ ก็พอที่จะทำอาหารแล้ว  ลักษณะของเห็ดเผาะเป็นลูกกลมๆ สีน้ำตาล ลูกขนาดนิ้วหัวแม่มือ เมื่อนำมาผ่าครึ่ง เนื้อข้างในของเห็ดเผาะ ยุ่ยๆ สีน้ำตาลออกดำ เมื่อเก็บเห็ดเผาะมาแล้ว ต้องนำมาล้างน้ำหลายๆครั้งให้หมดเนื้อเยื่อที่หุ้มเปลือกจนหมดดิน สะอาดดีแล้วนำมาลวกน้ำร้อนอีกครั้ง นำมาแกงเผ็ดได้ทั้งลูกโดยไม่ต้องผ่า เวลาเคี้ยวเห็ดจะแตกดังโพ๊ะ และเนื้อเห็ดชั้นนอกจะเคี้ยวกรุบๆ เนื้อชั้นในอร่อยมาก  การเก็บเห็ดจะเก็บกันมาแค่พอกินในแต่ละมื้อเท่านั้น เห็ดมีอยู่มากใครอยากได้ก็ไปหาเก็บเอา (ปัจจุบันเคยซื้อเห็ดเผาะจากตลาดมาแกง ไม้อร่อยเหมือนก่อนเลยและเหนียวมากไม่กรอบอร่อยเหมือนที่เคยกิน)

บริเวณที่เก็บเห็ดเผาะ
ตรงทางเดินปูนเคยเป็นที่ขึ้นของเห็ดข้าวตอก ขวามือริมคลองเป็นที่ขึ้นของเห็นเผาะ
น้ำลด – ปลูกผักสวนครัว

     น้ำจะท่วมอยู่ประมาณครึ่งเดือนก็เริ่มลดลงเรื่อยๆ  ตอนน้ำลดจะลดลงเร็วกว่าตอนน้ำขึ้นมาก  แค่ 3-4 วัน น้ำก็ลดจนหมด  แต่ยังไม่อยู่ในระดับปกติ  คือลดบริเวณบ้านและทางเดิน  แต่ในคลองน้ำก็ยังเต็มปริ่มอยู่  ช่วงนี้น้ำจะลดลงช้ามาก  พื้นดินตามทางเดินใต้ถุนบ้านจะเละ แฉะไม่น่าเดิน  ตาจะเอาไม้กระดานมาวางพาดเป็นทางเดินที่จำเป็นก่อน  จนกว่าพื้นดินจะค่อยๆแห้งไปเอง 
     ช่วงนั้นก็ต้องคอยปรับพื้นดินไปด้วย  มิฉะนั้นเมื่อดินแห้งจะเป็นตุ่มๆ ต่ำๆ ไม่เรียบเหมือนเดิม  ในช่วงนี้หลังกลับจากโรงเรียนในตอนเย็น  แม่ชอบเดินค่อยๆ เบาๆ ดูตามริมน้ำตื้นๆ ที่ๆน้ำลงพื้นดินจะแฉะหน่อยๆ  แม่จะพบปลาหรือกุ้งเป็นประจำ  และตะครุบจับได้ เป็นปลาหรือกุ้งที่อยู่ริมน้ำตื้นๆ  ปลาที่จับได้ เป็นปลาช่อนตัวไม่โตนัก กุ้งที่ได้ก็จะเป็นกุ้งที่ขึ้นมาลอกคราบริมตลิ่ง จับได้ง่ายมากตัวขนาดนางๆ บางวันไม่ได้ก็มี แต่ก็สนุกที่จะได้จับปลาหรือกุ้งมาอวดกัน

        พูดถึงกุ้งเมื่อแม่ยังเด็กนั้นมีกุ้งแม่น้ำอุดมสมบูรณ์ ตาจะหากุ้งแม่น้ำได้บ่อย เป็นกุ้งก้ามกรามตัวโตๆ ครั้งละ 1-2 ตัว ยายก็ทำต้มยำให้กินอย่างเอร็ดอร่อย เนื้อกุ้งจะเหนียวแน่นและหวาน มันกุ้งลอยฟ่องในน้ำต้มยำ ก้ามอันใหญ่เนื้อมากอร่อย มีอีกส่วนของกุ้งที่แม่ชอบมาก อยู่ตรงหัวกุ้ง ลักษณะคล้ายๆ เรือ เรียกปลีกุ้ง 

กุ้งตกที่แม่น้ำสุพรรณหน้าบ้าน
       กุ้งที่ว่าตัวใหญ่ๆ นี้ มีเนื้อนิดเดียว เพราะไปใหญ่อยู่ที่หัว ยาย-ตา จะกินหัวกุ้ง ให้ลูกๆได้กินเนื้อกุ้ง กินกันกี่ครั้งก็ไม่เคยอิ่มและพอเลย ในสมัยนั้นยังไม่มีใครเริ่มทำ การเลี้ยงกุ้งแม่น้ำกันเลย มีแต่กุ้งทะเล กุ้งแม่น้ำจะได้กินแต่ละครั้งต้องหาได้เอง หากไปซื้อที่เขาหามาขายราคาแพงมาก กิโลละ 100 บาทในตอนนั้น แม่เคยคิดว่าน่าจะมีใครคิดเพาะเลี้ยงกุ้งก้ามกรามบ้าง คงจะรวยน่าดูเลย เงิน 100 บาทในขณะนั้นถือว่าสูงมากนัก ในเวลานั้นจำได้แต่ว่ามีการเพาะเลี้ยงปลาดุกแล้ว กุ้งยังไม่มีการเพาะเลี้ยงกัน  แม้ปัจจุบันนี้มีการเพาะเลี้ยงกุ้งกันอย่างแพร่หลายแล้วก็ตาม แต่รสชาติสู้กุ้งแม่น้ำที่เกิดตามธรรมชาติไม่ได้เลย

21-01-46


ซื้อจากเรือที่ตกอยู่หน้าท่าน้ำ
ถั่วฝักยาว
แปลงผัก
บวบ
      พอน้ำลดลงอยู่ในระดับเดิมแล้ว ตลิ่งแห้ง พื้นดินแถบริมตลิ่งเป็นดินทรายปนดินเหนียว ผู้หญิงส่วนใหญ่ในหมู่บ้านรวมทั้งยายของลูก ก็จะจับจองที่ดินริมฝั่งน้ำเพื่อปลูกผัก ไว้กินและขาย ยายจะใช้จอบฟันดินเป็นก้อนใหญ่ๆ ตากแดดไว้ก่อน อีก 1 สัปดาห์ถึงจะทุบดิน พรวนดินและกั้นเป็นแปลงๆ คือพอดินที่พลิกขึ้นมาแข็ง ก็ทำแปลงเพาะปลูกผัก
พริก
ผักทีปลูกก็จะมีผักกาด ผักคะน้า ต้นหอม ผักชี ตะไคร้ กะเพรา โหระพา ใบแมงรัก มะเขือเทศ มะเขือเปาะเป็นต้น อาจจะมีถั่วฝักยาว แตงกวา แตงร้านด้วยซึ่งต้องทำค้างให้เลื้อยเกาะ สรุปแล้วพืชผัก ที่ปลูกเป็นพืชสวนครัวทั้งหมด เมล็ดพันธ์ผักก็จะซื้อมาจากร้านค้าในตลาด มีขายเป็นซองกระดาษ ซองละ 2-3 บาท
      ผักที่ปลูกต้องรดน้ำทั้งเช้าและเย็น ไม่ต้องใส่ปุ๋ยไม่ต้องฉีดยาค่าแมลง เนื่องจากดินหลังน้ำลดเป็นดินที่อุดมสมบูรณ์ ด้วยมีธาตุอาหารจากธรรมชาติอยู่แล้ว หรือหาขี้วัวมาใส่บ้าง แม่และเด็กๆต่างก็ช่วยพ่อแม่ของตัวปลูกผัก และมีหน้าที่ตักน้ำรดผักในเวลาเช้าเย็น คอยถอนหญ้าที่แซมขึ้นตามแปลงผักอีกด้วย
เป็นงานที่เด็กๆ ช่วยได้เป็นอย่างดี ผักที่ปลูกจะงามมาก ถ้ามีมากก็เก็บไปขายที่ตลาดได้
ปลาท้ายเขื่อน


    ในฤดูน้ำเหนือหลากนั้น ตัวเขื่อนพระราม 6 จะเปิดประตูน้ำที่กั้นเขื่อน ให้น้ำเหนือเขื่อนที่เพิ่มสูงมากขึ้นเรื่อยๆ 2 บานโดยยกบานปล่อยน้ำเพียงครึ่งเดียว น้ำจะไหลลงมาสันใต้เขื่อนพุ่งแรงเป็นฝอย ปลามากมายก็จะทะลักออกมา น้ำท้ายเขื่อนจะแรงและหมุนวนมองเห็นปลามากมายขาวไปหมด

    มีชาวบ้านนำเรือมาทอดแห หรือยกยอ จับปลากันมากมาย คนหาปลาก็มาก คนมาดูน้ำ มาดูปลาก็มากทุกวัน ในเวลาเช้า – สาย ของทุกวัน คนหาปลาจะเอาปลาสดๆ ที่หาได้ ขึ้นมาวางขายเป็นแถวยาว จากทางเดินสันใต้เขื่อนถึงคันคลองที่จะข้ามไปวัดสะตือ เป็นตลาดปลาสดๆทุกวัน ปลาที่จับได้มาวางขาย มีปลาม้า ปลาสร้อย ปลากด ปลาตะเพียน ปลาหางแดง ปลาเนื้ออ่อน ฯลฯ
(ปลาม้าเท่าที่รู้มา มีแต่ที่เขื่อนพระราม 6 และที่อำเภอบางปลาม้า จ.สุพรรณบุรี เท่านั้น) พอสายๆหน่อยคนก็น้อยลง แต่ก็มีปลาสดวางขายทั้งวัน มีน้อยหรือมากตามแต่จับปลากันได้ จนกว่าจะหมดฤดูน้ำหลากไม่เปิดเขื่อนปลามีไม่มาก
    การปล่อยน้ำที่เขื่อนถ้าน้ำเหนือเขื่อนมาก จนท่วมพื้นที่การเกษตรเหนือเขื่อน ก็จะยกเขื่อนทุกบาน และเปิดประตูระบายน้ำพระนารายน์ ส่งน้ำเข้าคลองรพีพัฒน์ น้ำก็จะท่วมใต้เขื่อน จนถึงที่บ้านยาย
ประตูระบายน้ำพระนารายน์

    ต่อมาอีกนานหลายสิบปี ผู้คนมากขึ้น จำนวนปลาลดน้อยลง ประกอบกับทางการห้ามจับปลาที่ท้ายเขื่อน ตลาดปลาสดท้ายเขื่อนจึงเลิกไป มองเห็นคนตกปลาท้ายเขื่อนที่เคยเป็นตลาดปลาสด 

ทางเดินริมเขี่อน
ปลาที่เขื่อน 09/10/50

    
น้ำท้ายเขื่อน
บริเวณที่เคยเป็นตลาดขายปลาท้ายเขื่อน
             
 
  ริมเขื่อนที่เคยเป็นทางเดินข้ามเรือรับจ้างและเรือปูนไปยังวัดสะตือนี้  ในฤดูน้ำเหนือหลากระหว่างเดือนกันยายนจนถึงหน้าหนาวเดือนมกราคม มีปลาสดที่หาจับหน้าเขื่อนวางขายยาวเรียงรายเต็มทางเดินริมเขื่อนนี้ ปัจจุบันไม่มีให้เห็นแล้ว วันที่ไปถ่ายภาพ ( 09 ตุลาคม 2550 ) มีแม่ค้าปลาจากเขื่อนวางขายอยู่ที่ถนนนอกเขื่อนเพียงเจ้าเดียว          
             
น้ำท่วม – ตกปลาเสือพ่นน้ำ
ปลาเสือพ่นน้ำ

       ที่หมู่บ้านท้ายวัดนี้พอหน้าน้ำ น้ำจะขึ้นมากจากตลิ่งที่สูงเดินขึ้นลงเหนื่อย น้ำจะขึ้นปริ่มถึงบนตลิ่งทุกปี  แต่ที่จะท่วมถึงบ้านนั้น ปีเว้นปีหรือเว้น 2 ปี น้ำก็จะท่วมบ้านซักที   น้ำท่วมนั้นก็เป็นเรื่องปกติ ไม่เป็นที่เดือดร้อน เรียกว่าเราเห็นเป็นเรื่องของธรรมชาติฝนตกทางเหนือมากน้ำก็ไหลมาท่วมเป็นเรื่องธรรมดา  ชาวบ้านไม่เดือดร้อน  เหตุนี้เองที่ทำให้บ้านในภาคกลางส่วนใหญ่จึงปลูกสร้างแบบใต้ถุนสูง ไว้รับฤดูที่น้ำเหนือหลากและท่วม
สำหรับเด็กๆอย่างเราแล้ว เป็นที่สนุกสนานกันเสียอีก เด็กๆ จะคอยเฝ้าดูระดับน้ำกันตลอดเวลา น้ำจะขึ้นเรื่อยๆ ทีละน้อยๆ ตอนเช้าแม่ไปโรงเรียนน้ำยังไม่ท่วมทางเดิน ในตอนพักกลางวันมากินข้าวกลางวันที่บ้านน้ำเริ่มท่วมทางเดิน ในตอนเย็นเมื่อเดินกลับจากโรงเรียน น้ำได้ท่วมจนถึงลานวัดแม่ต้องเดินลุยน้ำมาจนถึงบ้าน
ระยะนี้แม่จะไม่ค่อยกล้าเดินนัก เนื่องจากมีไส้เดือน ที่หนีน้ำเต็มไปหมดทั้งทางเดินเป็นที่น่าขยะแขยง  เมื่อจำเป็นต้องเดินลุยน้ำ หรือบนบกในช่วงนี้แม่จะไม่ยอมถอดรองเท้าเป็นอันขาด กลัวที่จะเดินเหยียบไส้เดือน เมื่อน้ำท่วมมากขึ้นโรงเรียนก็สั่งปิด 
 ในเวลาเช้าพระก็ต้องพายเรือมาบิณฑบาตตามบ้าน  แล้วถ้าถึงวันพระยายก็จะพาแม่พายเรือไปทำบุญที่วัด เท่าที่จำได้ในช่วงที่น้ำท่วมนี้ ส่วนใหญ่จะตรงกับวันพระสารทไทย  เด็กๆ จะหัดว่ายน้ำและว่ายเป็นกัน ในช่วงน้ำท่วมนี้เอง  น้ำท่วมเด็กๆ ออกไปเล่นที่ไหนไม่ได้ต้องจับเจ่าอยู่กับบ้าน  เวลายายไปซื้อกับข้าวที่ตลาดโดยการพายเรือผ่านเข้าไปทางสระบัว  ไปจอดเรือไว้ที่ถนนข้างตลาดท่าหลวง ยายก็จะซื้อเบ็ดตกปลามาให้ลูกๆ ตกปลาเล่นกัน 
ปลาเข็ม และปลาเสือพ่นน้ำตัวโตๆ จะว่ายกันให้เห็นอยู่เสมอๆ  ยายบอกปลาเสือชอบกินแมลงสาป  ให้เอาแมลงสาปเป็นเหยื่อและก็ได้ผลจริงๆ  ตกได้ปลาเสือจริงๆ  ปลาเสือจะชอบไล่จับแมลงสาปมาก  ส่วนใหญ่แม่จะตกปลาได้แต่ ปลาตะเพียน ปลาหางแดง  ปลาแขยง  หรือปลาซิวตัวโตๆ
เจ้าปลาแขยงนี่ตัวร้ายเชียว เวลาแม่ลงอาบน้ำที่ขั้นบันได  ปลาแขยงมันจะตอดตามขากันยิบยับทีเดียว  ปลาแขยงนี้จะอยู่ที่พื้นดินใต้น้ำ  เยอะมาก  บางทีเหยียบโดนเงี่ยงปลาเจ็บอีกก็หลายครั้ง  ส่วนปลาซิวนั้นจะตอดเนื้อตัวช่วงบนผิวน้ำ เรียกว่า ตอดกันยิบยับ ต้องกระพุ้งน้ำไล่กันเลย  สักครู่ก็จะมาใหม่อีกเป็นเช่นนี้ประจำ
    ลืมเล่าไปว่าในบางปีที่น้ำท่วมไม่ถึงบ้านแค่ปริ่มๆตลิ่ง  การตกปลาริมตลิ่งตรงน้ำลึกๆหน่อย  ถ้าหย่อนเบ็ดให้เกือบถึงพื้นดิน  จะวัดเบ็ดกันไม่ได้หยุด ตกได้ปลาหมอตัวโตๆอวบอ้วนที่มีชุมมาก ตกได้กันคนละมากเป็นกระถังๆ

ปลาหมอ
ปลาแขยง
ปลาซิว

   น้ำท่วมนี้ตรงกับคำสุภาษิตที่ว่า น้ำท่วมทุ่งผักบุ้งโหรงเหรง คือ น้ำท่วมขาวไปหมดมองไปทางไหนก็เห็นแต่น้ำ  นาข้าวหลังบ้านถูกน้ำท่วม  แต่น้ำท่วมไม่มิดต้นข้าว  ข้าวจึงไม่ตาย  และต้นข้าวก็ถีบตัวขึ้นสูงเหนือน้ำได้อย่างรวดเร็ว มองเห็นสีเขียวขจีของต้นข้าวบนสายน้ำใสสวยงาม แม่พายเรือแหวกต้นข้าวไปตามคันนาที่น้ำท่วมเจิ่งท้องนา เพื่อเก็บดอกโสนที่มีสีเหลืองสดใสมาทำกับข้าว หรือลวกจิ้มน้ำพริก  แม่ใช้มือโน้มกิ่งโสนมาในเรือ  เลือกเก็บดอกโสนได้อย่างง่ายดาย  เนื่องจากต้นโสนแช่อยู่ในน้ำ

วันอังคารที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2553

น้ำเหนือหลาก - ฝูงปลาสร้อย

          ในช่วงเดือนแปด ถึงเดือนสิบ ( สิงหาคม – ตุลาคม )  น้ำเหนือเริ่มมาน้ำในคลองหน้าบ้านเต็มเปี่ยม ในวัยเด็กจนถึงรุ่นสาวแม่จะเห็นฝูงปลาสร้อย  ฝูงปลาสร้อยนี้จะมีอยู่ไม่กี่วัน แม่ชอบดูมาก เพราะว่าในช่วงกลางคลองจะมองเห็นฝูงปลาสร้อยเคลื่อนยาวมาตามน้ำมองไปทางไหน ก็จะเป็นสีเขียวเข้มออกดำเต็มไปหมด ทั้งกลางวันและกลางคืน                          
น้ำปลาที่ทำจากปลาสร้อย
ปลาลร้อย
ปลาสร้อย
ยิ่งถ้าเป็นคืนเดือนหงายนะ  เห็นฝูงปลาสร้อยไหลเรียงมาเป็นสายในน้ำ มองช่วงกลางคลอง  ฝูงปลาสร้อยจะกระโดดเล่นแสงจันทร์ น้ำแตกกระจายขาวโพลนราวสีเงินยวงดูพร่างพราวสวยงามนัก  ในช่วงนี้ถ้าใครมียอก็จะเตรียมยกยอ  ใครมีแหก็จะทอดแหจับปลาสร้อย ปลาสร้อยมีมากๆจริงๆ  มากเหมือนปลาไม่มีวันหมดเขียวเป็นสายตลอดกลางคลอง
      ตาก็เหมือนชาวบ้านทั่วไปทอดแหจับปลาสร้อย  ตอนนี้แม่ไม่ชอบเลยเพราะว่าแต่ละคนได้ปลาสร้อยกันมากเหลือเกิน  ปลาสร้อยตัวมันก็ไม่ใหญ่นัก  เป็นหน้าที่ที่จะต้องช่วยยายของลูกทำปลาที่ตาหามาได้  ทำกันเกือบทั้งคืนกว่าจะเสร็จ  ปลาจำนวนมากมายเหล่านี้ได้  การทำปลาก็คือยายจะตัดหัวปลาดึงไส้ออกล้างน้ำ  แล้วเรียงใส่ตับที่ทำด้วยไม้ไผ่ ย่างด้วยไฟอ่อนและครอบเตาถ่านที่เผาด้วยฝาสังกะสี  เพื่อย่างเก็บไว้กินได้นานๆ
ย่างไว้แล้วก็ต้องนำออกตากแดดให้แห้ง  แล้วจึงจะเก็บใส่ปี๊บปิดฝาให้ดีเก็บไว้ได้นาน  ส่วนปลาที่ทำไม่ทันก็จะหมักเกลือใส่ไห เก็บไว้ทำเป็นน้ำปลาจากปลาสร้อยแท้ๆไว้กิน  น้ำปลาที่ทำจากปลาสร้อยนี้จะสะอาดและอร่อย  เก็บไว้กินได้นาน  วิธีทำน้ำปลาปลาสร้อยแม่ไม่รู้กำวิธีในการทำ  เนื่องจากยังเด็กนัก ไม่ค่อยได้สนใจ ไว้จะสอบถาม  วิธีในการทำจากคนเก่าๆมาให้ถ้ามีโอกาส  ( นำปลาที่ทำแล้วคลุกเคล้ากับเกลือโดยประมาณ หมักไว้ในโอ่งมังกรขนาดพอเหมาะกับจำนวนปลาสร้อยหรือไห ประมาณ 10-12 เดือน แล้วนำมาต้ม และกรอง จากนั้นเก็บใส่ขวดนำมาตากแดด  เก็บไว้ได้นาน น้ำปลาปลาสร้อยแท้ที่ได้มาใส และมีกลิ่นหอม 10/03/48 ) หรือปลาที่มีมากๆนี้ถ้าทำไม่ทันก็จะเน่า  ปลาเริ่มอ่อนตัวก็จะขอดเกล็ดล้างน้ำหมักทำปลาร้าไว้ได้อีก คือใช้ประโยชน์ได้ทั้งหมด
อาหารจากปลาสร้อยที่แม่ชอบมากที่สุดก็คือ  ปลาสร้อยสดๆตัดหัวดึงไส้ออกขอดเกล็ดล้างให้สะอาด  นำมาสับด้วยมือ (ยังไม่มีเครื่องบด หรือเครื่องปั่นอย่างปัจจุบัน) ให้ละเอียดเนื้อปลาจะเหนียวแล้วนำมาแกงเผ็ด  เรียกกันว่าแกงสับนก ส่วนประกอบในการแกงคือปลาและพริกแกง  มะเขือ  ใบโหรภา  พริกสดเม็ดใหญ่และกะทิทุกอย่างทำเองหมดไม่มีการซื้อพริกแกงหรือกะทิสำเร็จรูปอย่างปัจจุบัน  สมัยนั้นเรียกว่าการจะแกงกันแต่ละทีกว่าจะเตรียมของและทำ ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ แม้แต่เตาก็ยังเป็นเตาถ่านยังไม่มีเตาแก๊สใช้
การหุงข้าวและแกงด้วยเตาถ่าน แต่ได้รสชาติของอาหารอร่อยมาก  แกงสับนกที่ว่านี้แม่ชอบมากคือนำเนื้อปลาสดๆมาสับให้ละเอียด แล้วแกงเลยนั้นอร่อยจริงๆ แม่ไม่ได้กินแกงสับนกที่ทำกินกันเองแสนอร่อยๆ แบบนี้นานนับกี่สิบปีมาแล้วจำไม่ได้ เคยซื้อที่เขาแกงขายก็ไม่อร่อยเลย คือ ปลาไม่สด เนื้อปลาที่สับมาแกงขายก็จะเละๆ พริกแกงส่วนใหญ่ก็เป็นพริกแกงซื้อไม่อร่อยเลย  แกงสับนกที่ว่านี้  แม่เห็นว่าเรียกแปลกมาก ทำจากปลาสับแท้ๆ (สับปลากับมือ) กลับเรียกว่าแกงสับนก (ไม่ทราบถึงเหตุผลในการตั้งชื่อเลย)
อาหารที่ทำจากปลาสร้อย (หรือ ปลาอื่นๆ) อีกอย่างก็ คือ การทำปลาเห็ด (ภาษาสุภาพ คือ ทอดมัน)  แกงสับนกและปลาเห็ดนี้เป็นของชอบทำกินเองได้ การทำปลาเห็ด คือ นำปลาที่ทำแล้วมาสับให้ละเอียดและโขลกกับพริกแกงให้เหนียวใส่ใบมะกรูดหั่นฝอยๆด้วย  ปลาเห็ดแบบสูตรชาวบ้านนี้จะอร่อยไปอีกแบบ คือ ทอดออกมาแผ่นปลาเห็ดจะกรอบ มีรสเค็ม เผ็ดนิดหน่อย หอมใบมะกรูด  กินกับข้าวสวยร้อนๆ หรือกินเล่นก็แสนอร่อย  ผิดกับทอดมันซึ่งเนื้อปลาจะต้องโขลกจนเหนียว รดชาดไปอีกแบบหนึ่ง ปลาเห็ดแบบที่ว่านี้ทำจากปลาที่หาได้เป็นปลาสดๆ ถึงเป็นปลาที่เนื้อไม่เหนียวแต่รสชาติของความสดและเครื่องปรุงที่ถูกรสจึงแสนอร่อย
ปัจจุบันจะหาปลาเห็ดแบบที่ว่านี้กินได้บ้าง จากแม่ค้าตามต่างจังหวัดนานๆจะเจอที่อร่อยแบบเก่าๆ บ้างคือ เมื่อทอดปลาเห็ดแล้วกรรมวิธีในการขาย คือ ร้อยปลาเห็ดเป็นพวงมัดด้วยตอก  ขายพวงละ 10 บาท มี 10 ชิ้นเป็นต้น ปลาเห็ดแบบนี้จะแห้งไม่มีน้ำมันที่ทอดติดเยิ้ม เหมือนกับทอดมันที่ขายในปัจจุบันที่เหนียวนิ่มดี แต่มีน้ำมันติดเยิ้ม

วันจันทร์ที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2553

แพผักบุ้ง

      เรือขุดลอกคลองนานนัก ผลก็คือคลองหน้าบ้านแม่กลายเป็นดินโคลนเต็มคลองยาวไปจรดคุ้งน้ำช่วงติดกับบริษัทปูนซีเมนต์ไทย  หลังจากนั้นวิถีชีวิตชาวบ้าน 2 ฝั่งคลอง ช่วงนั้นในการใช้น้ำสำหรับดำรงชีวิตก็เปลี่ยนไป  หน้าแล้งเราจะไม่มีน้ำคลองให้ใช้ ดินคลองแห้งแข็งหญ้าขึ้นรกสามารถเดินข้าม ไปฝั่งตรงข้ามคือวัดยางนมได้สบาย
  หลังจากนั้นทุกบ้านต้องจ้างเขาขุดบ่อไว้สำหรับใช้น้ำ และต่อท่อสูงสูบน้ำจากบ่อขึ้นใช้ตามบ้าน และน้ำจะขึ้น-ลง เป็นเวลา น้ำขึ้นมากหน่อยก็พออาบและใช้น้ำในคลองได้ ถ้าน้ำขึ้นไม่ถึงหรือขึ้นน้อยก็จะตักน้ำจากบ่ออาบและใช้ซักผ้ากัน 
แพผักบุ้ง
แพผักบุ้ริมแม่น้ำ
ในคลองหน้าบ้าน ยายจะปลูกผักบุ้งไว้ 1 แพ เป็นแพใหญ่ที่เดียวปลูกไว้นานแล้ว คือ ใครจะปลูกก็ได้ถ้าขยันไม่มีใครว่า  แพผักบุ้งนี้จะใหญ่มาก ยายจะใช้ไม่ไผ่ยาวๆ ปักไว้ที่แพ 4-5 ลำ  ปักจนถึงดิน  เพื่อไม่ให้แพผักบุ้งลอยตามน้ำไปในช่วงน้ำขึ้น  ยิ่งถ้าเป็นหน้าน้ำ น้ำเหนือมา ทุกบ้านที่มีแพผักบุ้งต้องหาลวดยาวๆ มามัดต่อกันให้ยาว ผูกแพผักบุ้งไว้กับต้นไม้ใหญ่ๆ ใกล้กับตลิ่ง กันผักบุ้งลอยไปกับน้ำ  เนื่องจากน้ำลึกมากไม้ที่ทำแพผักบุ้งไว้ ใช้ไม่ได้คือหยั่งไม่ถึงพื้นดิน 

ในบางครั้งแพผักบุ้งที่ผูกไว้ถ้ามีฝนลมมาแรงๆ แพอาจขาดได้  แพผักบุ้งก็จะลอยไปไกล  ซึ่งเป็นเรื่องยุ่งยากพอสมควรที่จะนำแพผักบุ้งกลับมาที่เดิมได้ โดยตากับยายจะต้องนั่งเรือไปด้วยกัน มีไม้ไผ่ยาวๆ ไปด้วย ยายจะเป็นคนพายเรือ ดันแพผักบุ้ง ตาก็จะใช้ไม่ไผ่ยาวๆถ่อดันให้กลับ  ช่วยกันดันด้วยเรือและไม้ไผ่ มาเรื่อยจนถึงบ้าน หรืออาจมีเพื่อนบ้านเอาเรือไปช่วยเอาแพผักบุ้งกลับมาด้วย 
แพผักบุ้งนี้เป็นที่หาเงินของยายอีกอย่างหนึ่ง  ยายจะพายเรือเก็บผักบุ้งยอดอวบๆ  ขาวๆ มาเต็มลำเรือ มาวางไว้ริมตลิ่ง แล้วก็ไปเก็บต่ออีก ยายจะเก็บครั้งละมากๆ เก็บอาทิตย์ละ 2 ครั้ง แบ่งเก็บเป็นแถบๆ คือพอเก็บด้านซ้ายจนหมด อาทิตย์หน้าเก็บด้านขวา  สลับกันไป เก็บด้านขวาหมด อาทิตย์ต่อไปด้านซ้ายที่ตัดหมดไปแล้วก็จะแตกอวบขาวให้ตัดได้อีก  สลับกับไปเช่นนี้
เมื่อนำผักบุ้งที่เก็บมาได้วางกองไว้บนฝั่ง ขนขึ้นมาวางที่นอกชานบนบ้าน เราแม่ลูก ก็จะช่วยกันเด็ดใบที่มากไปออกวางกองไว้ แล้วยายจะเป็นคนมัดผักบุ้งเป็นกำๆ ขนาดกำลังเหมาะ ผักบุ้งที่เก็บมานี้จะงาม  ยอดยาวขาวกรอบที่เดียว (ในยุคนั้นไม่มีการฉีดยากำจัดวัชพืช นานๆยายก็จะใช้รำข้าวหว่านลงในแพผักบุ้งสักที บางครั้งมีหนอนและตัวเต่าทองกินยอดผักบุ้งจนเก็บไม่ได้เลยก็มี  แต่ถ้ามีฝนตกลงมาสักพักแมลงเหล่านี้ก็หายไปเอง  เก็บผักบุ้งขายได้อีกและมลภาวะก็ไม่มี น้ำในคลองยังใช้อาบและใช้ในชีวิตประจำวันได้บ้าง ตามจังหวะการขึ้นลงของน้ำ
เล่าเรื่องผักบุ้งของยายไม่จบต่ออีกนิด  ยายจะมัดผักบุ้งเป็นกำๆ ด้วยตอกที่ตาจักเก็บไว้ให้ครั้งละมากๆนั่นเอง  ก่อนจะใช้ตอกต้องนำมาแช่น้ำให้ตอกอ่อนตัวก่อน จึงจะนำมามัดได้โดยที่ตอกไม่หัก  เมื่อกำผักบุ้งหมดแล้ว ยายก็จะใช้มีดยาวๆหั่นตรงโคนกำผักบุ้งให้เสมอกัน  แล้วนำมาเรียงมัดเป็นฟ่อนใหญ่  ฟ่อนละ 25 กำ  โดยใช้ใบตองห่อมัดด้วยเชือกกล้วย  เพื่อเตรียมไว้ไปส่งแม่ค้าเจ้าประจำที่ตลาดในตอนเช้ามืด ถ้าแม่จำไม่ผิด ชื่อ ”ยายฮอง” ในราคาฟ่อนละ 5 บาท รับไปวางขายราคากำละ 25 สตางค์ ในแต่ละครั้งที่ยายหาบผักบุ้งไปส่งแม่ค้าผักที่ตลาด จะได้เงินครั้งละ 25 - 30 บาท



ผักบุ้งยอดงามๆ
กำผักบุ้ง
ยอดผักบุ้ง
ปลาชะโด

ขุดลอกคลอง – ปลาชะโดสำลักโคลน


ปลาชะโด

ในชีวิตของแม่เคยเห็นปลาชะโดมากที่สุดครั้งหนึ่ง  ปีนั้นเป็นปี พ.ศ. เท่าไรแม่ก็จำไม่ได้  ทบทวนดูน่าจะเป็นช่วงแม่อายุ 10 -11 ปี  กรมชลประทานหรือกรมเจ้าท่า  (แม่ก็ไม่แน่ใจ ด้วยว่ายังเด็กอยู่จะไม่รู้เรื่องไกลตัวมากนัก)  ได้นำเรือมาขุดลอกแม่น้ำป่าสัก  ช่วงหน้าเขื่อน พระรามหก – ประตูน้ำพระนเรศน์
ตัวโรงเรียนประจำตำบลนั้นหันหน้าเข้าหาถนน  และอยู่ต่ำกว่าถนนมากนัก (ดูภาพโรงเรียนประกอบหน้า 30 ) คือ อยู่ตรงระดับตลิ่งเหนือแม่น้ำป่าสักไม่สูงนัก  โรงเรียนมี 3 ชั้น ตัวพื้นชั้นที่ 2 ยังต่ำกว่าถนนหน้าโรงเรียน และถ้ามองจากถนนหันหน้าเข้าหาโรงเรียน ด้านหลังของโรงเรียนเป็นช่วงแม่น้ำป่าสักที่ถูกเขื่อนพระราม 6 กั้นอยู่ เป็นแม่น้ำหน้าเขื่อนกว้างและน้ำสูงกว่าแม่น้ำท้ายเขื่อนมาก
แม่น้ำกว้างมาถึงข้างโรงเรียนด้านขวาและถูกถนนสายท่าหลวงกั้นน้ำไว้  ถนนจากหน้าโรงเรียนจนถึงตลาดท่าหลวง ตรงไปข้ามสะพานเหล็กมีประตูน้ำพระนเรศน์  สำหรับกักระดับน้ำให้เรือผ่านระหว่างเหนือเขื่อนและใต้เขื่อน  ถนนนี้มีไปจนถึงหน้าเขื่อนพระรามหก   จากโรงเรียนด้านขวานี้เอง จะมองไปถึงตลาดได้  น้ำช่วงนี้ถูกดินตระกอนทับถมจนตื้นเขินมาก ในหน้าแล้งจะติดพื้นเรือ จึงมีเรือมาขุดลอกคลอง โดยทำการฝังท่อต่อกันเพื่อนำดินและน้ำส่งผ่านท่อขึ้นมา  การฝังท่อกับถนนระหว่างโรงเรียน – ตลาดท่าหลวง  และต่อท่อเพื่อทิ้งดินและน้ำ ที่ขุดลอดผ่านสระบัวที่อยู่หน้าวัดด้านขวามองจากวัดหันหน้าเข้าหาถนนอีกด้านติดถนนและตลาดท่าหลวง  สระบัวนี้ไม่มีบัว  มีแต่ต้นอ้อขึ้นอยู่เต็มไปหมด
การขุดลอดนั้นทำอยู่นานทีเดียว คือ ขนาดคลองหน้าบ้านแม่เป็นคลองที่มีน้ำ  มีเรือเข้ามาขายสินค้าได้จนถึงวัดถลุงเหล็ก และวัดยางนมได้ ก่อนนั้นเป็นคลองที่ทะลุจนถึงฝั่งที่กำลังขุดลอกอยู่ได้  ต่อมาทำถนนก็เป็นคลองตัน  น้ำในคลองลึกจะเดินข้ามฝั่งไม่ได้ ต้องใช้เรือในการข้ามไปที่วัดตรงข้ามอีกฝังหนึ่งของคลอง  การขุดลอกคลองฝั่งโรงเรียนนั้น 2-3 วันแรก ก็ยังไม่เท่าไร เราเด็กๆ ก็จะตื่นเต้นคอยดูน้ำ ดิน โคลน ที่ไหลลงมา  เมื่อการขุดลอกหลายวันเข้าผลกระทบที่ตามมาคือ คลองหน้าบ้านเราที่เคยเป็นที่ใช้น้ำในการดำรงชีวิต  น้ำคลองขุ่นควักมีแต่โคลนและเลนเต็มไปหมด เมื่อขุดลอกนานเข้า ดินเลนก็เต็มคลองหน้าบ้าน ใช้ประโยชน์ไม่ได้เลย
ในช่วงก่อนที่ดินโคลนจะเติมคลองนั้น  วันหนึ่งแม่ตื่นขึ้นมาตอนเช้ามืด  เห็นปลาชะโดตัวใหญ่ๆ เต็มบ้านไปหมด ยายบอกว่าปลาสำลักโคลน  ไม่มีที่อยู่ลอยขึ้นมาเหนือน้ำโคลนนั้น  ตาไปส่องไฟเห็นเข้าก่อนใครในตอนดึก จึงมาตามยายไปช่วยกันจับปลามากมายได้อย่างง่ายดาย เนื่องจากปลาลอยขึ้นมาหายใจใกล้ตายแล้วนั่นเอง  ยายใส่ปลาไว้ในโอ่งบ้าง ในไหบ้างและในกระจาดบ้างเต็มไปหมด นั่นเป็นครั้งแรกและครั้งเดียวเท่านั้น ที่แม่เคยเห็นปลาชะโดตัวใหญ่ๆ  มากมายอย่างนั้น (ปลาอย่างอื่นจะมีด้วยหรือเปล่าแม่ไม่ทันดู  มัวสนใจแต่ปลาชะโดตัวใหญ่ๆ เท่านั้น และยังมืดอยู่ในสมัยนั้นยังไม่มีไฟฟ้าใช้) นับจากวันนั้นจนบัดนี้  แม่ไม่เคยเห็นปลาชะโดที่ไหนตัวใหญ่และมากมายเช่นนั้นอีก นอกจากในพิพิธภัณฑ์ปลาเท่านั้นเอง
(หลังจากย้ายมาอยู่ที่บ้านใหม่ริมแม่น้ำสุพรรณแล้ว ไปตลาดนัดที่บ้านกล้วย มีแม่ค้านำปลาชะโดตัวใหญ่มากหนัก 5 กิโล กว่าๆ ที่หาได้จากเขื่อนกระเสียวมาขาย  5 กรกฎาคม 2550)


ปลาชะโด

วันอาทิตย์ที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2553

ตาหาปลา และกบ

สุ่มจับปลา
ชุด

        ในหน้าฝนนี้ถ้าฝนตกแรงๆ ตอนกลางคืน  เสียงกบ เขียดและอึ่งอ่างร้องละก็  ตาของลูกก็จะออกหากบหาปลากัน  ตาจะมีเครื่องมือหาปลาเกือบทุกชนิดทั้ง  ลอบ  ข่าย  แห  ฉมวก  ชุด ข้อง ฯลฯ มีทั้งใหญ่และเล็ก  ส่วนเครื่องมือที่ตาของลูกทำเองจากไม้ไผ่ที่มีอยู่มากมาย จะซื้อก็แต่ส่วนที่เป็นเหล็กเท่านั้น เครื่องมือหาปลาที่ตาทำไว้เมื่ออายุมากขึ้น ใครขอตาก็แจกจ่ายไป มีบางส่วนแม่บริจาคห้องสมุด ที่เหลืออยู่ถ่ายรูปไว้เท่านี้เอง
                                                                                         
ตาของลูกเป็นคนมีฝีมือในการใช้ประโยชน์จากไม้ไผ่  มาทำเครื่องจักสานและเครื่องใช้จากไม้ไผ่ได้เองทั้งหมด  บ้านเราไม่ต้องซื้อปลากินเลย  ตาจะออกหาปลาด้วยการวางลอบดักปลาตามทางน้ำไหลผ่าน  หรือหาแทงปลาตามนาในเวลาค่ำคืน และโดยเฉพาะในหน้าน้ำประมาณเดือน กรกฎาคม-สิงหาคม   น้ำเหนือเริ่มหลากมา  คลองที่บ้านปกติ ตลิ่งสูงมาก น้ำเริ่มขึ้นปริ่มตลิ่ง
บ้านเรามีเรือสำปั้น1 ลำ เมื่อน้ำขึ้นมากตาก็จะใช้เรือพายออกหาปลาด้วยการวางข่ายดักปลา ข่ายนี้จะมีความยาวข้ามคลองเลยทีเดียว  ผูกหัวท้ายไว้กับไม้หลักทั้ง 2 ฝั่ง  ทำทุ่นไว้ 3 - 4 ช่วงของตาข่าย เพื่อให้ตาข่ายลอยตั้งได้ ไม่จมน้ำ วันหนึ่งๆ ตาจะเลาะข่าย 2 - 3 ครั้ง  เช้า เย็น และกลางคืน ปลาที่ติดข่ายโดยมากก็จะเป็นปลาตะเพียน  ปลาหางแดงหรือปลากด  บ้านเรามีปลากินไม่ขาด  ถ้ามีเหลือกินยายก็จะย่าง  หรือทำปลาเค็มเก็บไว้กินได้อีก 
ตาไม่ได้หาปลาด้วยการลงข่ายอย่างเดียว  เมื่อน้ำมากจนท่วม ขึ้นถึงริมตลิ่งต้นไม้ที่อยู่ริมฝั่งน้ำจะถูกน้ำท่วมถึงครึ่งค่อนต้น  ตาจะวางเบ็ดบ้าง ทำเบ็ดราวบ้าง  จากเบ็ดราวนี้  ส่วนมากจะได้ปลาตัวใหญ่ เช่นปลากราย ปลาน้ำเงิน ปลาเนื้ออ่อน หรือปลาคร้าวเป็นส่วนใหญ่ ปลาที่ได้ตัวหนึ่งหนักระหว่าง  1-2 กิโล ขึ้นไป  ปลาพวกนี้เมื่อหาได้ เราไม่ค่อยได้กินหรอกเพราะตัวมันใหญ่  ยายจะนำไปขายที่ตลาด คนซื้อไปทำห่อหมกขาย แต่ถ้าวันไหนได้ปลาเนื้ออ่อน หรือปลาชะโอนละก็เราจะได้กินเนื่องจากลูกๆ ชอบกินปลาเนื้ออ่อนทอดกรอบจิ้มน้ำปลากันมาก
ตายังมีวิธีหาปลาอีกอย่างคือ การเฝ้าปลาอย่างเงียบกริบ เนื่องจากในช่วงนี้ แม่ปลาช่อนและแม่ปลาชะโด จะพาลูกปลาออกมาหากิน  ลูกปลาช่อนหรือลูกปลาชะโดนี้ เราเรียกกันว่าปลาลูกครอก  ปลาลูกครอกนี้จะขึ้นเห็นเป็นกลุ่มตัวเล็กๆสีแดง  ตาจะดูรู้เลยว่าเป็นลูกปลาช่อนหรือลูกปลาชะโด ถ้าตาเห็นปลาลูกครอกนี้เมื่อไร ตาจะรีบกลับบ้านมาเอาฉมวก ไปคอยเฝ้าเลยทีเดียว  เพราะว่าที่ไหนมีปลาลูกครอกนี้หากินอยู่  แม่ของมันจะคอยเฝ้าอยู่ข้างล่างและนานๆ จะโผล่ขึ้นมาหายใจสักครั้ง 
ตาจะคอยซุ่มอยู่บนเรืออย่างเงียบกริบ  ถ้าแม่ปลาโผล่ขึ้นมาเมื่อไร  ตาก็จะพุ่งฉมวกลงไปทันที  โดยมากจะไม่พลาด  เรียกว่า แม่ปลาตายเพราะลูกปลา นั่นเอง เมื่อแม่ยังเด็กปลาในแม่น้ำยังอุดมสมบูรณ์ ผู้คนก็ยังมีไม่มากนักสมกับคำพูดที่ว่า ในน้ำปีปลาในนามีข้าว ได้กินปลาช่อน  ปลาชะโด ปลาเนื้ออ่อน ปลากดแม่น้ำตัวใหญ่ๆ ตัวหนึ่งๆหนัก 1 - 2 กิโล   หรือเกินกว่านั้น   ยังมีพืชผักอุดมสมบูรณ์ ปลูกอะไรก็ขึ้นงอกงาม ไม่มีสารพิษ
ฤดูฝน
ชาวนาใช้ควายไถนาภาพจาก google

 ในหน้าฝนนอกบริเวณหมู่บ้านด้านหลัง  ซึ่งเป็นนาข้าว  ทำนาแบบนาดำ  โดยการไถทำเทือกไว้ก่อน 1 แปลง เพื่อหว่านพันธุ์ข้าวปลูกไว้สำหรับ   การปักดำเมื่อฝนตกมากขึ้น  น้ำเริ่มขังในแปลงนา  โดย ใช้คันไถเทียมควาย  นาแปลงหลังหมู่บ้านนี้เนื้อที่ประมาณ 15 – 20  ไร่  เจ้าของใช้ควายเพียงตัวเดียวในการไถหว่าน 
เมื่อข้าวกล้าโตได้ที่เขาก็จะเริ่มการปักดำนา  ด้วยการถอนข้าวที่เพาะพันธุ์ไว้ใช้ตอกมัดไว้เป็นกำใหญ่ๆ  และตัดปลายยอดข้าวออกบ้างให้เท่ากันประมาณ 20 - 30 ซ.ม. และแช่น้ำไว้ในนานั้นเอง  ทำเช่นนี้จนหมดต้นข้าวที่เพาะไว้ในแปลง  ต่อจากนั้นการดำนาก็เริ่มขึ้น  โดยนำพันธุ์ข้าวที่มัดไว้ใส่ไม้คาน หาบไปวางในแปลงนาที่ไถและมีน้ำขังอยู่แล้ว  วางไว้ห่างๆ กัน  จากนั้นก็เริ่มดำนาด้วยการแกะพันธุ์ข้าวที่มัดกำไว้ออก  หยิบออกมาครั้งละ 2-3 ต้น แล้วจิ้มลงไปในนาที่ไถพรวนดินไว้แล้วนั้น  ที่เรียกว่า ”ดำนา” ก็คงเพราะในนามีน้ำกระมังต้องเอาต้นข้าวดำลงในน้ำเอารากต้นข้าว  จิ้มลงไปในดินที่ชุ่มน้ำ  กดลงดินให้อยู่ไม่ลอยขึ้น  ชาวนาจะแบ่งต้นข้าวจิ้มลงๆ อย่างว่องไว  เป็นแถวๆ โดยจะเดินถอยหลังไปเรื่อยๆ  จนกว่าจะหมดแต่ละแปลงนา
  รอยต่อของแปลงนาแต่ละแปลงจะทำคันกั้นน้ำไว้ในแต่ละแปลงย่อยๆ  เรียกว่าคันนา  ซึ่งเป็นทางเดินของชาวนาและชาวบ้านที่จำเป็นต้องเดินผ่าน  ดินที่คันนาจะเป็นดินเหนียว  ถ้าฝนตกใหม่ๆ จะลื่นเดินยาก  ต้องเดินบนหญ้าที่ขึ้นอยู่ริมข้างขอบคันนา  เด็กๆ อย่างแม่ก็หาของเล่นได้อีกจากดินเหนียวที่คันนานี้  นำมาปั้นเป็นตัวอะไรเล่นกัน  แต่ที่ปั้นกันมากที่สุดก็เห็นจะเป็นควายนั้นเอง  อาจจะเนื่องมาจากมีควายให้เห็นเป็นแม่แบบในการปั้นนั่นเอง 
เป็นวิถีชีวิตของผู้คนในยุคนั้นก็ได้  ที่ใช้ควายประกอบอาชีพและเห็นคุณค่าของมัน  หมายถึง เห็นคุณค่าของควายที่ไถนาปลูกข้าวให้ผู้คนได้กินกัน  จนมีคำพังเพยที่ว่าไปอาศัยอยู่บ้านผู้อื่น ให้ช่วยงานทุกอย่างแม้แต่การปั้นวัวปั้นควายให้ลูกหลานท่านเล่น  ไม่ใช่คำในปัจจุบันที่ดูถูกควายว่าโง่เง่าจึงต้องไถแต่นา และเอามาเปรียบเปรยคนด้วยกันว่าโง่เป็นควาย

วันเสาร์ที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2553

หมากเก็บ
เล่นหมากเก็บ

การเล่นของเด็กผู้หญิงนั้น มีอีกหลายอย่าง เช่น เล่นหมากเก็บ เล่นตาเขย่ง เล่นหมากเก็บนั้นลูกๆ ก็เคยเล่นกันมาแล้ว (ไม่รู้ว่าถึงรุ่นหลานจะยังมีเล่นกันอีกหรือไม่)  การเล่นมีผู้เล่น 2 คน ขึ้นไป นั่งหันหน้าเข้าหากัน ถ้าเล่นหลายคนก็นั่งล้อมวง   เว้นที่ตรงกลางไว้ ทุกคนมีก้อนหินหรือก้อนกรวดกลมๆ ของตัวเองคนละ 5 ก้อน (ส่วนใหญ่ทุกคนจะหาเก็บก้อนหินหรือก้อนกรวดผิวเรียบมัน ก้อนกลมเท่าๆ กันพอเหมาะมือไว้ประจำของตัวเองอยู่แล้วทุกคน)
 การหาผู้เล่นก่อน / หลัง โดยการทอดหมาก คือ วางหินทั้ง 5 ก้อน ในฝ่ามือขวา หรือซ้ายตามแต่จะถนัด  แล้วโยนก้อนหินทั้ง 5 ก้อนขึ้นและพลิกหลังมือรับไว้ แล้วโยนก้อนหินขึ้นจากหลังมืออีกครั้ง  ใช้ฝ่ามือรับไว้ ใครมีก้อนหินในฝ่ามือมากกว่าเป็นผู้เล่นก่อนหลังตามลำดับ     การเล่นหมากเก็บมี 6 ตา ดังนี้
ตาที่ 1     คือ หมาก 1 หรือ ”อีหนึ่ง” โดย กำก้อนหินทั้ง 5 ก้อน ไว้ในฝ่ามือแล้วโยนก้อนหิน 1 ก้อนในมือให้ลอยขึ้น (หมากโยน) พร้อมหว่านก้อนหิน 4 ก้อน ในมือลงบนพื้นและรับหมากโยนไว้ แล้วโยนหมากโยนขึ้นพร้อมเก็บก้อนหินที่อยู่บนพื้นทีละก้อนให้ครบ 4 ก้อน    (เก็บสี่ครั้ง โดยที่ก้อนหินที่เก็บทั้งหมดจะต้องอยู่ในมือไม่วางกับพื้นจนเก็บครบ)
เทคนิคในการเล่น ตาที่ 1 คือ หว่านให้ก้อนหินกระจายไม่เกาะกัน ไม่ให้มือไปถูกหินก้อนอื่น มิฉะนั้นจะตายในเกม ผู้เล่นลำดับถัดไปจะได้เล่น
ตาที่  2  เรียกว่า ”หมากสอง” หรือ ”อีสอง” เล่นเหมือนกับ ตาที่ 1 เพียงแต่เก็บก้อนหินขึ้นทีละ 2 ก้อน (เก็บ 2 ครั้ง) เทคนิค คือ การหว่านให้หินแยกเป็น 2 กอง กองละ 2 ก้อน
ตาที่  3  หรือ หมากสาว  (อีสาม) เล่นเหมือนตาที่ 1 แต่เก็บก้อนหิน ครั้งแรก 3 ก้อน ครั้งที่สอง 1 ก้อน (เก็บ 2 ครั้ง) เทคนิค คือ การวางก้อนหิน 2 กองๆ ละ 3 ก้อนและ 1 ก้อน
ตาที่  4  หรือ  หมากสี่ (อีรวม)  เล่นเหมือนกัน แต่เก็บครั้งเดียว 4 ก้อน (เก็บ 1 ครั้ง) เทคนิค คือ วางก้อนหิน 4 ก้อนให้ติดกันในการหว่าน
ตาที่  5  หมากจุ๊บ (อีจุ๊บ)  การวางก้อนหินเหมือน ตาที่ 4 ต่างกันตอนรับหมากโยน  ต้องให้หมากโยนตกลงในช่องระหว่างนิ้วหัวแม่มือกับนิ้วชี้ที่นำมาชนกันยกชูไว้ เทคนิค คือ โยนหมากให้สูงและรวบหิน 4 ก้อนอย่างเร็วและทำช่องระหว่างนิ้วโป้ง  นิ้วชี้ให้กว้างรับหมากโยนให้ได้ทัน
ตาที่  6  เรียกว่า  หมากหยอด หรือ อีหยอด  มีวิธีเล่น คือ โยนหมากโยนขึ้นแล้วทิ้งก้อนหินจากในมือลงพื้น 1 ก้อน รับหมากโยนไว้แล้วโยนหมากโยนขึ้นอีก เก็บก้อนหินบน พื้นที่ทิ้งไว้ 1 ก้อนขึ้นมา พร้อมปล่อยก้อนหินในมือลงบนพื้นอีก 3 ก้อน โยนหมากโยนขึ้นอีกแล้วเก็บก้อนหินบนพื้น 3 ก้อนขึ้น พร้อมรับหมากโยนไว้
ตาที่  7  หมากชน หรือ อีชน วิธีเล่น คือ โยนหมากโยนขึ้น แล้วทิ้งก้อนหินทั้ง 4 ก้อนลงพื้น แล้วรับหมากโยนไว้  ให้ผู้ที่จะเล่นคนต่อไปเลือกเก็บก้อนหิน 2 ก้อนจากในกอง 4 ก้อนบนพื้น  แล้วนำมาวางให้ติดกับก้อนหินก้อนใดก้อนหนึ่งใน 2 ก้อนที่เหลือ โดย วางเรียงติดกัน บน-ล่างเป็น 3 ก้อน      โดยผู้เล่นจะต้องเก็บก้อนกลางก่อน 1 ก้อนโดยไม่ให้มือกระทบหรือโดนก้อนหินอีก 2 ก้อนที่ถูกวางไว้ติดกันนั้น แล้วเก็บก้อนหิน 2  ก้อน  โดยโยนหมากครั้งเดียว และเก็บก้อนหินที่เหลืออีก 1 ก้อน (เก็บ 3 ครั้ง)

กติกาในการเล่นหมากเก็บ
1.    ในการเก็บทุกครั้งต้องโยนหมากโยนขึ้นก่อนเสมอ  เมื่อเก็บแล้วต้องรับหมากโยนให้ได้  ถ้ารับไม่ได้ถือว่าตายในเกม
2.    ในการเก็บทุกครั้ง ต้องได้จำนวนตามท่าต่างๆ ที่กำหนดไว้ และก้อนหินที่เก็บต้องไม่หล่นจากมือ ถือว่า ตายในเกม
3.    ในการเก็บทุกครั้ง  มือของผู้เล่นจะต้องไม่ถูกก้อนหินก้อนอื่นที่อยู่ใกล้เคียงก้อนที่เก็บ  ถ้าถูก ถือว่า ตายในเกม
4.    ในการเล่น ถ้าเล่นได้ไม่ตายจนครบ 7 ตา ก็ให้ผู้ที่เล่นคนต่อไปเล่นได้จนครบทุกคน คนละ 1 เกม
5.    เมื่อหาผู้ชนะได้ คนชนะจะกำก้อนหิน 1 ก้อนในมือ มือทั้งสองข้างควงรวมกันและกันข้างหน้าแล้วเอามือข้างหนึ่งซ้อนไว้ให้ข้อศอกของมือข้างหนึ่ง  ซึ่งยกตั้งเป็นมุมฉากพร้อมในขณะที่ควงมือก็จะร้องว่า ”ตลึงตึงตังข้างล่างหรือข้างบน ข้างล่างห้า ข้างบนสิบ”  (หรือข้างบนห้า  ข้างล่างสิบก็ได้)  เมื่อพูดจบก็ยกมือตั้งเป็นมุมฉากพอดี  คนแพ้จะต้องทายว่าก้อนหินก้อนสุดท้ายอยู่ในกำมือบนหรือล่าง  ถ้าทายผิดคนแพ้จะถูกเขกหัวเข่า 10 ที ถ้าทายถูกก็ยุติหรือเจ๊ากันไป
เป็นการเล่นของเด็กๆ ในยุคนั้นเกือบทุกคน จะเล่นเป็นกันหมดถ้าคิดย้อนไปแล้วจะเห็นได้ว่าคนในยุคนั้น แม้การละเล่นก็ใช้สิ่งของที่หาได้ทั่วๆ ไป ไม่ยาก ไม่ต้องเสียเงิน เล่นกันได้อย่างสนุกสนาน
ประโยชน์ที่ได้  ถ้ามาคิดหรือวิเคราะห์ดูให้ดีก็จะพบว่าเป็นการเล่นที่ฝึกทักษะในการควบคุมบังคับจังหวะมือ ให้สัมพันธ์กับสายตา ฝึกให้มีความพยายามและความอดทนในการเล่นหรือการทำกิจกรรมร่วมกันได้เป็นอย่างดี
หลุมเมือง
เล่นหลุมเมือง
เล่นหลุมเมือง

หอยทราย
  หอยขม

       ของเล่นหาจากธรรมชาติอีกอย่างก็คือ เก็บเปลือกหอยทราย หรือหอยขมที่ถูกทิ้งแล้ว มาเล่นหลุมเมืองกัน
วิธีเล่น ใช้ผู้เล่น 2 คน ขึ้นไป เล่นได้ทั้งชายและหญิง ใช้วัสดุคือเปลือกหอย แล้วก็ขุดหลุมที่ดินเป็นสองแถวคู่กัน แถวละ 5 หลุม และขุดหลุมบนตรงกลางแถว ทั้ง สองแถว ให้ใหญ่กว่าหลุมอื่น เป็นหลุมเมืองของผู้เล่นแต่ละคน แล้วผู้เล่นก่อนทั้ง 2 คน  นั่งหันหน้าเข้าหากัน นำเปลือกหอยใส่ลงในหลุมของตัว หลุมละ 5 เปลือก หลุมเมืองใส่ 10 เปลือก  แล้วตกลงกัน ใครจะเล่นเป็นคนเดินเมืองก่อน
ผู้เดินเมืองก่อนจะหยิบเปลือกหอยในหลุมใดของตนขึ้นมาก็ได้ทั้งหลุม แล้วหยอดลงในหลุมถัดไปทางด้านหลุมเมือง โดยหยอดหมุนเวียนทางขวาหลุมละ 1 เปลือก เมื่อหยอดไปจนเปลือกหอยหมดที่หลุมใด ให้หยิบเปลือกหอยในหลุมถัดไปขึ้นมาทั้งหลุม แล้วหยอดเวียนไปอย่างนี้เรื่อยๆ จนกว่าเมื่อหยอดไปหมดแล้ว หลุมถัดไปเป็นหลุมว่าง ผู้เล่นก็จะได้กินเปลือกหอยในหลุมที่ถัดจากหลุมว่างนั้น ถ้ามีหลุมว่าง ตั้งแต่ 2 หลุมติดต่อกัน จะกินไม่ได้เรียกว่า “ด้วน“ ถ้าว่างหลุม เว้นหลุม กินได้ เรียกว่า “ กินสองต่อ“ หรือ “กินสามต่อ” ก็ได้ เมื่อกินแล้วต้องหยุดเดินให้อีกฝ่ายเล่นบ้าง
    โดยเล่นสลับกันอย่างนี้เรื่อยไป จนฝ่ายหนึ่งหมดเปลือกหอยที่จะเดิน เรียกว่า  “หมดเมือง” อีกฝ่ายยังมีเปลือกหอยเหลืออยู่ในหลุม ก็จะยึดเปลือกหอยนั้นมาเป็นของตน แล้วนับเปลือกหอยกัน ใครมีมากกว่าเป็นผู้ชนะ ผู้แพ้ออกให้ผู้อื่นมาเล่นต่อ หรืออาจปรับอย่างไรแล้วแต่ตกลงกันไว้
จาจี - อีตัก
มะขามเทศ

    เม็ดมะขามเทศที่แกะแล้วเหล่านี้ เด็กๆชอบกันนัก เก็บเม็ดมะขามเทศสีดำๆ นี้มาเล่น อีตัก กันเป็นที่สนุกสนาน วิธีการเล่นก็คือ นำเม็ดมะขามเทศจำนวนหนึ่งประมาณหนึ่งกำมือ มาเล่นกันกี่คนก็ได้ หากระดาษแข็งนิดหน่อย เช่นกระดาษหน้าปกของสมุดปกอ่อน มาตัดและพับเป็นลักษณะ รูปกรวยปากกว้างอันเล็กๆ คนละหนึ่งอัน แล้วก็ “ จาจี ” กัน แม่ก็ไม่รู้ว่าการ จาจี นั้นมีความหมายและประวัติความเป็นมาจากไหนอย่างไร ( เคยค้นจากพจนานุกรมก็ไม่มีคำอธิบายแม้แต่พจนานุกรมฉบับล่าสุด พ.ศ. 2542 )
เด็กๆในสมัยนั้นรู้จักการจาจีกันดี การจาจีนั้นคล้ายกับการจับไม้สั้นไม้ยาวนั่นเอง เพื่อจุดประสงค์ที่ใครจะได้เล่นเกมนี้ก่อนนั่นเอง วิธีการ จาจี ก็คือ ทุกคนที่จะเล่นอีตักด้วยกัน เอามือขวากำไว้ข้างหลังของตัวเอง แล้วพูดพร้อมกันว่า “ จาจี จุ้ยจ๊าย จับโป้ง ” พอกล่าวคำว่า โป้ง ทุกคนต้องชักมือขวาออกมา เป็นสัญลักษณ์ต่างๆ ที่มีอยู่ 3 รูปแบบ เป็นที่รู้กันดี

คือ
1.    ท่ากำมือคว่ำลง                           หมายถึง   ค้อน (เครื่องมือช่างไม้)
2.    ท่ากางมือหงายขึ้น                          “          กระดาษ
3.    ท่าชูนิ้ว 2 นิ้ว (นิ้วชี้และนิ้วกลาง)        “          กรรไกร

เช่น เล่นกัน 3 คน กำมือเสีย 2 คน = ค้อน 2 คน อีก 1 คน กางมือ คือกระดาษ คนกางมือก็ชนะ ความหมายคือกระดาษห่อค้อนได้ ค้อนไม่สามารถตีกระดาษได้   คนชนะก็ถอยออกมารอ  2 คนที่เหลือ ที่ต้อง จาจี กันใหม่ เพื่อหาผู้ชนะที่จะได้เล่นเป็นคนที่ 2 ถ้าจาจีออกมาแล้ว ทำสัญลักษณ์เหมือนกันเรียกว่า เจ๊า กันก็จาจีใหม่ จนกว่าจะหาผู้เล่นได้ตามลำดับ ก่อน หลังต่อไปได้
สรุปแล้ว สัญลักษณ์ทั้ง 3 มีค่าดังนี้

- ค้อน            แพ้    กระดาษ    ชนะ    กรรไกร
- กระดาษ         “     กรรไกร       “       ค้อน
- กรรไกร          “     ค้อน          “       กระดาษ

เป็น วัฎจักรกันเช่นนี้ตลอดไป เมื่อหา ”ผู้ชนะ”  เรียงตามลำดับ  1,2,3  ได้แล้ว ก็เริ่มเล่น วิธีการเล่น คือ นั่งล้อมวง  เว้นที่ว่างตรงกลางไว้  คนที่หนึ่งกำเม็ดมะขามเทศไว้ในมือทั้งหมดแล้วหว่านให้อยู่ในบริเวณที่ว่าง กลางวง  ถ้าหว่านเม็ดมะขามเทศได้กระจายไม่เกาะกันมากเท่าไร  โอกาสจะชนะก็มีมาก  เมื่อหว่านแล้วก็ใช้กรวยกระดาษที่ทำไว้มาตัก 
วิธีการตักต้องห่อกรวยให้แคบนิดหน่อย  แล้วช้อนตักเร็วๆ  ต้องตักเม็ดมะขามเทศให้เข้ากรวยครั้งละ 1 เม็ด   แล้วนำมาวางไว้ข้างตัว และตักต่อไปจนกว่าเม็ดมะขามเทศจะหมด  หรือจนกว่าจะตายในเกม  การตายในเกมคือตักเม็ดมะขามเทศไปถูกเม็ดอื่นๆ  หรือตักแล้วหล่นจากกรวย  ก็ต้องหยุดเล่นให้คนต่อไปเป็นผู้เล่นด้วยวิธีการเดียวกัน  เวียนกันเล่นจนเม็ดมะขามเทศหมดกอง 
จากนั้นจึงนับเม็ดมะขามเทศที่ตักได้ของแต่ละคน  ใครได้มากกว่าก็เป็นผู้ชนะในเกมการเล่นนั้น  และเป็นผู้เริ่มเล่นเกมต่อไปก่อน  ตามด้วยคนที่นับได้รองๆ กันต่อมา  เด็กๆ จะเล่นกันหลายๆ ตา (เกม) จนกว่าจะเบื่อ หรือเมื่อยจึงเลิก เป็นการเล่นของเด็กผู้หญิงในยุคแม่   โดยไม่ต้องใช้เงินจับจ่ายซื้อหาของเล่น ก็เล่นกันได้อย่างสนุกและเพลิดเพลิน (และยังเป็นการฝึกทักษะการใช้มือ ในการตักใช้สมองคิดวิธี ที่จะเล่นและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างไร )