วันศุกร์ที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2553

พืชผักในฤดูฝน

       แม่มานึกย้อนหลังไป ถึงคิดได้ว่า การละเล่นของเด็กในสมัยก่อนนั้น ก็ขึ้นกับฤดูกาลเป็นหลักนั่นเอง ฤดูกาลไหนหรือเรียกเป็นภาษาพูดกันว่า หน้าไหนมีสิ่งของที่จะมาเป็นวัสดุในการเล่นได้ก็นำมาเป็นของเล่นกันได้ วนเวียนต่อเนื่องกันไป คนโบราณช่างเก่งเหลือเกินที่ใช้สิ่งของหรือวัสดุที่มีอยู่มาคิดค้นเป็นของเล่นของใช้ ได้ต่อเนื่องกันไป ไม่สิ้นสุดจนดูเหมือน ไม่รู้ว่าเป็นการเล่นตามฤดูกาล เนื่องจาก มีของให้เล่นให้ใช้ ได้ต่อเนื่องกันตลอดเวลา

      ฤดูฝน พอฝนตกสักพักต้นไม้ ต้นหญ้าก็ขึ้นกัน เขียวขจี รวมทั้งพวกวัชพืชต้นเล็กๆ ขึ้นตามริมทางเดิน ริมรั้ว ริมน้ำ เต็มไปหมด เช่นต้นผักกระสัง ต้นกำปัด ต้นกระถิน ต้นตำแย ต้นตำลึง ขึ้นตามริมรั้วตามต้นไม้บ้าง ต้นผักขมและอื่นๆ อีกมาก
                                        มีต้นไม้อยู่ 2 ชนิดที่เด็กๆ อย่างแม่จะเอามาเล่นกันคือ ผักกระสังและใบตำลึง ผักกระสังข์ เป็นต้นไม้เล็กๆ ลำต้นอวบน้ำ ใบเขียวใส มีคุณสมบัติดูดซึมน้ำได้ดี แม่และเด็กๆ ด้วยกัน ก็จะแอบหยิบหมึกของพี่ชายมา พูดถึงตรงนี้ก็ต้องแทรกสักหน่อย หมึกที่ว่านี้ คือ ในยุคนั้นการเขียนหนังสือในเด็กเล็กใช้กระดานชนวนและดินสอหินเด็กประถมใช้ดินสอดำ เด็กมัธยมจะใช้ปากกาซึ่งเป็น ปากกาหมึกซึมปลายปากกา มีลักษณะดังภาพ มีหลอดใส่หมึกติดอยู่เขียนพอหมึกหมด ก็จะสูบหมึกจากน้ำหมึกในขวด ด้วยวิธี บีบและปล่อยๆหลอดยางที่ใส่หมึกจนเต็มหลอดยาง และจากขวดหมึกแดงและน้ำเงินนี้เอง ที่นักเรียนต้องใช้มีปากกาและขวดหมึก คนละ 2 ด้าม ส่วนครูนิยมใช้หมึกสีดำและปากกาคอแร็ง ซึ่งเขียนได้สวยใช้หมึกอินเดียน์อิงค์ ปากกาหมึกซึมแต่ละด้ามซื้อแล้วจะใช้ได้นานจนกว่าปลายของปากกาจะเสียหรือหลอดใส่หมึกจะเปลื่อย จึงจะซื้อใหม่กันที ผิดกับปัจจุบันนี้ใช้ปากกาลูกลื่นใช้หมดก็ต้องทิ้งเลย แต่ส่วนที่เสียของปากกาหมึกซึมก์คือ ไม่สะดวกที่ต้องพกขวดหมึกไปด้วย ซึ่งมักจะหกเลอะเทอะเป็นประจำ ขวดหมึกพวกนี้เองเด็กๆ ชอบแอบเอามาหยดลงน้ำในแก้ว แล้วเอาต้นกระสังแช่น้ำ  ผสมหมึกสีน้ำเงิน หรือแดงไว้ ต้นไม้ (ที่ถอนมาทั้งราก) จะค่อยๆ ดูดซึมน้ำผสมหมึกเห็นเป็นสีแดง หรือสีน้ำเงินของหมึก เข้าไปในลำต้นอย่างช้าๆ เห็นได้ชัด ต้นกระสังจะดูดน้ำเข้าไปจนเต็มถึงใบตามสีของหมึกดูสวยงาม

(ข้อมูลใหม่ ณ วันที่ 21 มิถุนายน 2550 เพิ่งรู้ว่าผักกระสัง ใช้รับประทานได้สดๆ โดยใช้เป็นผักเครื่องเคียงใช้จิ้มน้ำพริกได้ ทดลองทานแล้ว)
ต้นไม้อีกชนิดที่เด็กๆ ผู้หญิงชอบเก็บมาเล่นก็คือ ต้นตำลึง เด็ดเอาแต่ใบแก่ๆมา (ใบและยอดอ่อนเก็บให้ผู้ใหญ่ทำกับข้าว แกงจืดตำลึงหรือลวกกินกับน้ำพริก) สัก 2 กำมือ มาตำกับครกเล็กๆ ที่เป็นชุดของเล่นชุดหม้อข้าว หม้อแกงของเด็ก แม่มีของเล่นชุดหม้อข้าว หมอแกงสำหรับเด็ก เป็นเครื่องปั้นดินเผาครบชุดยายซื้อให้ที่งานวัดสะตือ เมื่อตำแล้วใส่น้ำค่อยๆเติมพร้อมใช้มือขยำๆ จนน้ำข้นและเหนียวเป็นยางเหมือนขนมเต้าส่วน ก็คือขนมเต้าส่วนของเล่นสำหรับเด็ก ตอนเล่นขายข้าวขายแกงนั้นเอง การเล่นขายข้าวขายแกงของเด็ก เด็กก็จะหาของมาทำเป็นข้าวเป็นแกง เป็นขนมจนครบและเล่นกันได้นาน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น