แพผักบุ้ง
เรือขุดลอกคลองนานนัก ผลก็คือคลองหน้าบ้านแม่กลายเป็นดินโคลนเต็มคลองยาวไปจรดคุ้งน้ำช่วงติดกับบริษัทปูนซีเมนต์ไทย หลังจากนั้นวิถีชีวิตชาวบ้าน 2 ฝั่งคลอง ช่วงนั้นในการใช้น้ำสำหรับดำรงชีวิตก็เปลี่ยนไป หน้าแล้งเราจะไม่มีน้ำคลองให้ใช้ ดินคลองแห้งแข็งหญ้าขึ้นรกสามารถเดินข้าม ไปฝั่งตรงข้ามคือวัดยางนมได้สบาย
หลังจากนั้นทุกบ้านต้องจ้างเขาขุดบ่อไว้สำหรับใช้น้ำ และต่อท่อสูงสูบน้ำจากบ่อขึ้นใช้ตามบ้าน และน้ำจะขึ้น-ลง เป็นเวลา น้ำขึ้นมากหน่อยก็พออาบและใช้น้ำในคลองได้ ถ้าน้ำขึ้นไม่ถึงหรือขึ้นน้อยก็จะตักน้ำจากบ่ออาบและใช้ซักผ้ากัน
แพผักบุ้ง |
แพผักบุ้ริมแม่น้ำ |
ในบางครั้งแพผักบุ้งที่ผูกไว้ถ้ามีฝนลมมาแรงๆ แพอาจขาดได้ แพผักบุ้งก็จะลอยไปไกล ซึ่งเป็นเรื่องยุ่งยากพอสมควรที่จะนำแพผักบุ้งกลับมาที่เดิมได้ โดยตากับยายจะต้องนั่งเรือไปด้วยกัน มีไม้ไผ่ยาวๆ ไปด้วย ยายจะเป็นคนพายเรือ ดันแพผักบุ้ง ตาก็จะใช้ไม่ไผ่ยาวๆถ่อดันให้กลับ ช่วยกันดันด้วยเรือและไม้ไผ่ มาเรื่อยจนถึงบ้าน หรืออาจมีเพื่อนบ้านเอาเรือไปช่วยเอาแพผักบุ้งกลับมาด้วย
แพผักบุ้งนี้เป็นที่หาเงินของยายอีกอย่างหนึ่ง ยายจะพายเรือเก็บผักบุ้งยอดอวบๆ ขาวๆ มาเต็มลำเรือ มาวางไว้ริมตลิ่ง แล้วก็ไปเก็บต่ออีก ยายจะเก็บครั้งละมากๆ เก็บอาทิตย์ละ 2 ครั้ง แบ่งเก็บเป็นแถบๆ คือพอเก็บด้านซ้ายจนหมด อาทิตย์หน้าเก็บด้านขวา สลับกันไป เก็บด้านขวาหมด อาทิตย์ต่อไปด้านซ้ายที่ตัดหมดไปแล้วก็จะแตกอวบขาวให้ตัดได้อีก สลับกับไปเช่นนี้
เมื่อนำผักบุ้งที่เก็บมาได้วางกองไว้บนฝั่ง ขนขึ้นมาวางที่นอกชานบนบ้าน เราแม่ลูก ก็จะช่วยกันเด็ดใบที่มากไปออกวางกองไว้ แล้วยายจะเป็นคนมัดผักบุ้งเป็นกำๆ ขนาดกำลังเหมาะ ผักบุ้งที่เก็บมานี้จะงาม ยอดยาวขาวกรอบที่เดียว (ในยุคนั้นไม่มีการฉีดยากำจัดวัชพืช นานๆยายก็จะใช้รำข้าวหว่านลงในแพผักบุ้งสักที บางครั้งมีหนอนและตัวเต่าทองกินยอดผักบุ้งจนเก็บไม่ได้เลยก็มี แต่ถ้ามีฝนตกลงมาสักพักแมลงเหล่านี้ก็หายไปเอง เก็บผักบุ้งขายได้อีกและมลภาวะก็ไม่มี น้ำในคลองยังใช้อาบและใช้ในชีวิตประจำวันได้บ้าง ตามจังหวะการขึ้นลงของน้ำ
เล่าเรื่องผักบุ้งของยายไม่จบต่ออีกนิด ยายจะมัดผักบุ้งเป็นกำๆ ด้วยตอกที่ตาจักเก็บไว้ให้ครั้งละมากๆนั่นเอง ก่อนจะใช้ตอกต้องนำมาแช่น้ำให้ตอกอ่อนตัวก่อน จึงจะนำมามัดได้โดยที่ตอกไม่หัก เมื่อกำผักบุ้งหมดแล้ว ยายก็จะใช้มีดยาวๆหั่นตรงโคนกำผักบุ้งให้เสมอกัน แล้วนำมาเรียงมัดเป็นฟ่อนใหญ่ ฟ่อนละ 25 กำ โดยใช้ใบตองห่อมัดด้วยเชือกกล้วย เพื่อเตรียมไว้ไปส่งแม่ค้าเจ้าประจำที่ตลาดในตอนเช้ามืด ถ้าแม่จำไม่ผิด ชื่อ ”ยายฮอง” ในราคาฟ่อนละ 5 บาท รับไปวางขายราคากำละ 25 สตางค์ ในแต่ละครั้งที่ยายหาบผักบุ้งไปส่งแม่ค้าผักที่ตลาด จะได้เงินครั้งละ 25 - 30 บาท
ผักบุ้งยอดงามๆ |
กำผักบุ้ง |
ยอดผักบุ้ง |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น