วันเสาร์ที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2553

หมากเก็บ
เล่นหมากเก็บ

การเล่นของเด็กผู้หญิงนั้น มีอีกหลายอย่าง เช่น เล่นหมากเก็บ เล่นตาเขย่ง เล่นหมากเก็บนั้นลูกๆ ก็เคยเล่นกันมาแล้ว (ไม่รู้ว่าถึงรุ่นหลานจะยังมีเล่นกันอีกหรือไม่)  การเล่นมีผู้เล่น 2 คน ขึ้นไป นั่งหันหน้าเข้าหากัน ถ้าเล่นหลายคนก็นั่งล้อมวง   เว้นที่ตรงกลางไว้ ทุกคนมีก้อนหินหรือก้อนกรวดกลมๆ ของตัวเองคนละ 5 ก้อน (ส่วนใหญ่ทุกคนจะหาเก็บก้อนหินหรือก้อนกรวดผิวเรียบมัน ก้อนกลมเท่าๆ กันพอเหมาะมือไว้ประจำของตัวเองอยู่แล้วทุกคน)
 การหาผู้เล่นก่อน / หลัง โดยการทอดหมาก คือ วางหินทั้ง 5 ก้อน ในฝ่ามือขวา หรือซ้ายตามแต่จะถนัด  แล้วโยนก้อนหินทั้ง 5 ก้อนขึ้นและพลิกหลังมือรับไว้ แล้วโยนก้อนหินขึ้นจากหลังมืออีกครั้ง  ใช้ฝ่ามือรับไว้ ใครมีก้อนหินในฝ่ามือมากกว่าเป็นผู้เล่นก่อนหลังตามลำดับ     การเล่นหมากเก็บมี 6 ตา ดังนี้
ตาที่ 1     คือ หมาก 1 หรือ ”อีหนึ่ง” โดย กำก้อนหินทั้ง 5 ก้อน ไว้ในฝ่ามือแล้วโยนก้อนหิน 1 ก้อนในมือให้ลอยขึ้น (หมากโยน) พร้อมหว่านก้อนหิน 4 ก้อน ในมือลงบนพื้นและรับหมากโยนไว้ แล้วโยนหมากโยนขึ้นพร้อมเก็บก้อนหินที่อยู่บนพื้นทีละก้อนให้ครบ 4 ก้อน    (เก็บสี่ครั้ง โดยที่ก้อนหินที่เก็บทั้งหมดจะต้องอยู่ในมือไม่วางกับพื้นจนเก็บครบ)
เทคนิคในการเล่น ตาที่ 1 คือ หว่านให้ก้อนหินกระจายไม่เกาะกัน ไม่ให้มือไปถูกหินก้อนอื่น มิฉะนั้นจะตายในเกม ผู้เล่นลำดับถัดไปจะได้เล่น
ตาที่  2  เรียกว่า ”หมากสอง” หรือ ”อีสอง” เล่นเหมือนกับ ตาที่ 1 เพียงแต่เก็บก้อนหินขึ้นทีละ 2 ก้อน (เก็บ 2 ครั้ง) เทคนิค คือ การหว่านให้หินแยกเป็น 2 กอง กองละ 2 ก้อน
ตาที่  3  หรือ หมากสาว  (อีสาม) เล่นเหมือนตาที่ 1 แต่เก็บก้อนหิน ครั้งแรก 3 ก้อน ครั้งที่สอง 1 ก้อน (เก็บ 2 ครั้ง) เทคนิค คือ การวางก้อนหิน 2 กองๆ ละ 3 ก้อนและ 1 ก้อน
ตาที่  4  หรือ  หมากสี่ (อีรวม)  เล่นเหมือนกัน แต่เก็บครั้งเดียว 4 ก้อน (เก็บ 1 ครั้ง) เทคนิค คือ วางก้อนหิน 4 ก้อนให้ติดกันในการหว่าน
ตาที่  5  หมากจุ๊บ (อีจุ๊บ)  การวางก้อนหินเหมือน ตาที่ 4 ต่างกันตอนรับหมากโยน  ต้องให้หมากโยนตกลงในช่องระหว่างนิ้วหัวแม่มือกับนิ้วชี้ที่นำมาชนกันยกชูไว้ เทคนิค คือ โยนหมากให้สูงและรวบหิน 4 ก้อนอย่างเร็วและทำช่องระหว่างนิ้วโป้ง  นิ้วชี้ให้กว้างรับหมากโยนให้ได้ทัน
ตาที่  6  เรียกว่า  หมากหยอด หรือ อีหยอด  มีวิธีเล่น คือ โยนหมากโยนขึ้นแล้วทิ้งก้อนหินจากในมือลงพื้น 1 ก้อน รับหมากโยนไว้แล้วโยนหมากโยนขึ้นอีก เก็บก้อนหินบน พื้นที่ทิ้งไว้ 1 ก้อนขึ้นมา พร้อมปล่อยก้อนหินในมือลงบนพื้นอีก 3 ก้อน โยนหมากโยนขึ้นอีกแล้วเก็บก้อนหินบนพื้น 3 ก้อนขึ้น พร้อมรับหมากโยนไว้
ตาที่  7  หมากชน หรือ อีชน วิธีเล่น คือ โยนหมากโยนขึ้น แล้วทิ้งก้อนหินทั้ง 4 ก้อนลงพื้น แล้วรับหมากโยนไว้  ให้ผู้ที่จะเล่นคนต่อไปเลือกเก็บก้อนหิน 2 ก้อนจากในกอง 4 ก้อนบนพื้น  แล้วนำมาวางให้ติดกับก้อนหินก้อนใดก้อนหนึ่งใน 2 ก้อนที่เหลือ โดย วางเรียงติดกัน บน-ล่างเป็น 3 ก้อน      โดยผู้เล่นจะต้องเก็บก้อนกลางก่อน 1 ก้อนโดยไม่ให้มือกระทบหรือโดนก้อนหินอีก 2 ก้อนที่ถูกวางไว้ติดกันนั้น แล้วเก็บก้อนหิน 2  ก้อน  โดยโยนหมากครั้งเดียว และเก็บก้อนหินที่เหลืออีก 1 ก้อน (เก็บ 3 ครั้ง)

กติกาในการเล่นหมากเก็บ
1.    ในการเก็บทุกครั้งต้องโยนหมากโยนขึ้นก่อนเสมอ  เมื่อเก็บแล้วต้องรับหมากโยนให้ได้  ถ้ารับไม่ได้ถือว่าตายในเกม
2.    ในการเก็บทุกครั้ง ต้องได้จำนวนตามท่าต่างๆ ที่กำหนดไว้ และก้อนหินที่เก็บต้องไม่หล่นจากมือ ถือว่า ตายในเกม
3.    ในการเก็บทุกครั้ง  มือของผู้เล่นจะต้องไม่ถูกก้อนหินก้อนอื่นที่อยู่ใกล้เคียงก้อนที่เก็บ  ถ้าถูก ถือว่า ตายในเกม
4.    ในการเล่น ถ้าเล่นได้ไม่ตายจนครบ 7 ตา ก็ให้ผู้ที่เล่นคนต่อไปเล่นได้จนครบทุกคน คนละ 1 เกม
5.    เมื่อหาผู้ชนะได้ คนชนะจะกำก้อนหิน 1 ก้อนในมือ มือทั้งสองข้างควงรวมกันและกันข้างหน้าแล้วเอามือข้างหนึ่งซ้อนไว้ให้ข้อศอกของมือข้างหนึ่ง  ซึ่งยกตั้งเป็นมุมฉากพร้อมในขณะที่ควงมือก็จะร้องว่า ”ตลึงตึงตังข้างล่างหรือข้างบน ข้างล่างห้า ข้างบนสิบ”  (หรือข้างบนห้า  ข้างล่างสิบก็ได้)  เมื่อพูดจบก็ยกมือตั้งเป็นมุมฉากพอดี  คนแพ้จะต้องทายว่าก้อนหินก้อนสุดท้ายอยู่ในกำมือบนหรือล่าง  ถ้าทายผิดคนแพ้จะถูกเขกหัวเข่า 10 ที ถ้าทายถูกก็ยุติหรือเจ๊ากันไป
เป็นการเล่นของเด็กๆ ในยุคนั้นเกือบทุกคน จะเล่นเป็นกันหมดถ้าคิดย้อนไปแล้วจะเห็นได้ว่าคนในยุคนั้น แม้การละเล่นก็ใช้สิ่งของที่หาได้ทั่วๆ ไป ไม่ยาก ไม่ต้องเสียเงิน เล่นกันได้อย่างสนุกสนาน
ประโยชน์ที่ได้  ถ้ามาคิดหรือวิเคราะห์ดูให้ดีก็จะพบว่าเป็นการเล่นที่ฝึกทักษะในการควบคุมบังคับจังหวะมือ ให้สัมพันธ์กับสายตา ฝึกให้มีความพยายามและความอดทนในการเล่นหรือการทำกิจกรรมร่วมกันได้เป็นอย่างดี

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น