วันอังคารที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2553

น้ำเหนือหลาก - ฝูงปลาสร้อย

          ในช่วงเดือนแปด ถึงเดือนสิบ ( สิงหาคม – ตุลาคม )  น้ำเหนือเริ่มมาน้ำในคลองหน้าบ้านเต็มเปี่ยม ในวัยเด็กจนถึงรุ่นสาวแม่จะเห็นฝูงปลาสร้อย  ฝูงปลาสร้อยนี้จะมีอยู่ไม่กี่วัน แม่ชอบดูมาก เพราะว่าในช่วงกลางคลองจะมองเห็นฝูงปลาสร้อยเคลื่อนยาวมาตามน้ำมองไปทางไหน ก็จะเป็นสีเขียวเข้มออกดำเต็มไปหมด ทั้งกลางวันและกลางคืน                          
น้ำปลาที่ทำจากปลาสร้อย
ปลาลร้อย
ปลาสร้อย
ยิ่งถ้าเป็นคืนเดือนหงายนะ  เห็นฝูงปลาสร้อยไหลเรียงมาเป็นสายในน้ำ มองช่วงกลางคลอง  ฝูงปลาสร้อยจะกระโดดเล่นแสงจันทร์ น้ำแตกกระจายขาวโพลนราวสีเงินยวงดูพร่างพราวสวยงามนัก  ในช่วงนี้ถ้าใครมียอก็จะเตรียมยกยอ  ใครมีแหก็จะทอดแหจับปลาสร้อย ปลาสร้อยมีมากๆจริงๆ  มากเหมือนปลาไม่มีวันหมดเขียวเป็นสายตลอดกลางคลอง
      ตาก็เหมือนชาวบ้านทั่วไปทอดแหจับปลาสร้อย  ตอนนี้แม่ไม่ชอบเลยเพราะว่าแต่ละคนได้ปลาสร้อยกันมากเหลือเกิน  ปลาสร้อยตัวมันก็ไม่ใหญ่นัก  เป็นหน้าที่ที่จะต้องช่วยยายของลูกทำปลาที่ตาหามาได้  ทำกันเกือบทั้งคืนกว่าจะเสร็จ  ปลาจำนวนมากมายเหล่านี้ได้  การทำปลาก็คือยายจะตัดหัวปลาดึงไส้ออกล้างน้ำ  แล้วเรียงใส่ตับที่ทำด้วยไม้ไผ่ ย่างด้วยไฟอ่อนและครอบเตาถ่านที่เผาด้วยฝาสังกะสี  เพื่อย่างเก็บไว้กินได้นานๆ
ย่างไว้แล้วก็ต้องนำออกตากแดดให้แห้ง  แล้วจึงจะเก็บใส่ปี๊บปิดฝาให้ดีเก็บไว้ได้นาน  ส่วนปลาที่ทำไม่ทันก็จะหมักเกลือใส่ไห เก็บไว้ทำเป็นน้ำปลาจากปลาสร้อยแท้ๆไว้กิน  น้ำปลาที่ทำจากปลาสร้อยนี้จะสะอาดและอร่อย  เก็บไว้กินได้นาน  วิธีทำน้ำปลาปลาสร้อยแม่ไม่รู้กำวิธีในการทำ  เนื่องจากยังเด็กนัก ไม่ค่อยได้สนใจ ไว้จะสอบถาม  วิธีในการทำจากคนเก่าๆมาให้ถ้ามีโอกาส  ( นำปลาที่ทำแล้วคลุกเคล้ากับเกลือโดยประมาณ หมักไว้ในโอ่งมังกรขนาดพอเหมาะกับจำนวนปลาสร้อยหรือไห ประมาณ 10-12 เดือน แล้วนำมาต้ม และกรอง จากนั้นเก็บใส่ขวดนำมาตากแดด  เก็บไว้ได้นาน น้ำปลาปลาสร้อยแท้ที่ได้มาใส และมีกลิ่นหอม 10/03/48 ) หรือปลาที่มีมากๆนี้ถ้าทำไม่ทันก็จะเน่า  ปลาเริ่มอ่อนตัวก็จะขอดเกล็ดล้างน้ำหมักทำปลาร้าไว้ได้อีก คือใช้ประโยชน์ได้ทั้งหมด
อาหารจากปลาสร้อยที่แม่ชอบมากที่สุดก็คือ  ปลาสร้อยสดๆตัดหัวดึงไส้ออกขอดเกล็ดล้างให้สะอาด  นำมาสับด้วยมือ (ยังไม่มีเครื่องบด หรือเครื่องปั่นอย่างปัจจุบัน) ให้ละเอียดเนื้อปลาจะเหนียวแล้วนำมาแกงเผ็ด  เรียกกันว่าแกงสับนก ส่วนประกอบในการแกงคือปลาและพริกแกง  มะเขือ  ใบโหรภา  พริกสดเม็ดใหญ่และกะทิทุกอย่างทำเองหมดไม่มีการซื้อพริกแกงหรือกะทิสำเร็จรูปอย่างปัจจุบัน  สมัยนั้นเรียกว่าการจะแกงกันแต่ละทีกว่าจะเตรียมของและทำ ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ แม้แต่เตาก็ยังเป็นเตาถ่านยังไม่มีเตาแก๊สใช้
การหุงข้าวและแกงด้วยเตาถ่าน แต่ได้รสชาติของอาหารอร่อยมาก  แกงสับนกที่ว่านี้แม่ชอบมากคือนำเนื้อปลาสดๆมาสับให้ละเอียด แล้วแกงเลยนั้นอร่อยจริงๆ แม่ไม่ได้กินแกงสับนกที่ทำกินกันเองแสนอร่อยๆ แบบนี้นานนับกี่สิบปีมาแล้วจำไม่ได้ เคยซื้อที่เขาแกงขายก็ไม่อร่อยเลย คือ ปลาไม่สด เนื้อปลาที่สับมาแกงขายก็จะเละๆ พริกแกงส่วนใหญ่ก็เป็นพริกแกงซื้อไม่อร่อยเลย  แกงสับนกที่ว่านี้  แม่เห็นว่าเรียกแปลกมาก ทำจากปลาสับแท้ๆ (สับปลากับมือ) กลับเรียกว่าแกงสับนก (ไม่ทราบถึงเหตุผลในการตั้งชื่อเลย)
อาหารที่ทำจากปลาสร้อย (หรือ ปลาอื่นๆ) อีกอย่างก็ คือ การทำปลาเห็ด (ภาษาสุภาพ คือ ทอดมัน)  แกงสับนกและปลาเห็ดนี้เป็นของชอบทำกินเองได้ การทำปลาเห็ด คือ นำปลาที่ทำแล้วมาสับให้ละเอียดและโขลกกับพริกแกงให้เหนียวใส่ใบมะกรูดหั่นฝอยๆด้วย  ปลาเห็ดแบบสูตรชาวบ้านนี้จะอร่อยไปอีกแบบ คือ ทอดออกมาแผ่นปลาเห็ดจะกรอบ มีรสเค็ม เผ็ดนิดหน่อย หอมใบมะกรูด  กินกับข้าวสวยร้อนๆ หรือกินเล่นก็แสนอร่อย  ผิดกับทอดมันซึ่งเนื้อปลาจะต้องโขลกจนเหนียว รดชาดไปอีกแบบหนึ่ง ปลาเห็ดแบบที่ว่านี้ทำจากปลาที่หาได้เป็นปลาสดๆ ถึงเป็นปลาที่เนื้อไม่เหนียวแต่รสชาติของความสดและเครื่องปรุงที่ถูกรสจึงแสนอร่อย
ปัจจุบันจะหาปลาเห็ดแบบที่ว่านี้กินได้บ้าง จากแม่ค้าตามต่างจังหวัดนานๆจะเจอที่อร่อยแบบเก่าๆ บ้างคือ เมื่อทอดปลาเห็ดแล้วกรรมวิธีในการขาย คือ ร้อยปลาเห็ดเป็นพวงมัดด้วยตอก  ขายพวงละ 10 บาท มี 10 ชิ้นเป็นต้น ปลาเห็ดแบบนี้จะแห้งไม่มีน้ำมันที่ทอดติดเยิ้ม เหมือนกับทอดมันที่ขายในปัจจุบันที่เหนียวนิ่มดี แต่มีน้ำมันติดเยิ้ม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น