วันพุธที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2553

ทุ่งนาหลังเก็บเกี่ยว
ปัจจุบันใช้รถเกี่ยว
     เมื่อถึงเดือน มีนาคม – เมษายน ของทุกปี ชาวนาเกี่ยวข้าวเสร็จ ท้องนาที่เก็บเกี่ยวแล้วเป็นที่เล่นสนุกสนานของเด็กๆ และเป็นที่พักผ่อนของพวกผู้ใหญ่ในหมู่บ้าน ในเวลาเย็นอากาศที่ทุ่งนาเย็นสบาย บรรยากาศรื่นรมย์ หลังกลับจากโรงเรียนและทำงานบ้านเรียบร้อยแล้ว (หุงข้าว ทำกับข้าว) แม่และเด็กๆในหมู่บ้านเล็กๆ 20 กว่าหลังคาเรือนนี้   ก็จะพากันออกไปทุ่งนาหลังบ้านมีพวกผู้ใหญ่ออกไปนั่งคุย นั่งพักผ่อนกันบ้างหรือเอาข้าวมานั่งป้อนลูก หลาน เล็กๆ และดูเด็กๆเล่นกันบริเวณทุ่งนา  โดยนั่งกันบนคันนานั่นเอง ดินบนคันนาจะแห้งและแข็งนั่งได้ไม่เปื้อน (ไม่มีฝุ่น)
   ลงแขกเกี่ยวข้าว

      เด็กๆจะลุยไปในนาที่เจ้าของเก็บเกี่ยวไปแล้ว เพื่อหาเก็บข้าวตก ข้าวตกที่ว่านี้คือ  รวงข้าวที่ชาวนาเก็บเกี่ยวไปไม่หมดหรือร่วงอยู่มีอยู่มากมาย  ส่วนใหญ่จะเป็นรวงเล็กและสั้นๆ เด็กๆจะวิ่งไปหาเก็บตามซังข้าว ใครหาเก่งเก็บข้าวตกได้มากก็นำไปขายให้คนในหมู่บ้านที่เลี้ยงไก่ รับซื้อข้าวตกจากเด็กในราคาลิตรละ 50 สตางค์ เด็กคนหนึ่ง ๆ จะเก็บมาขายได้คนละหลายบาท
    ชีวิตในวัยเด็กของแม่ ผู้คนจะอยู่กันอย่างสบายๆ มีความพอเพียง ชีวิตไม่เร่งรีบกับเวลา ของกินของใช้ส่วนมากจะหาและทำใช้กันเอง จะซื้อก็แต่ของที่จำเป็นหรือหามาทำเองไม่ได้เท่านั้น และตามหมู่บ้านนอกๆออกไปยังใช้วิธีแลกข้าวแลกของกันอยู่ มีการเอาข้าวเปลือกหรือข้าวสารไปแลกของใช้ของกิน เช่นข้าวแลกกับไข่เป็ด หรือไข่ไก่ หรือแลกกับผ้านุ่งผ้าขาวม้าเป็นต้น แต่แม่จำอัตราที่เขาใช้แลกเปลี่ยนกันไม่ได้  
        ในช่วงหลังเก็บเกี่ยวข้าวและเก็บข้าวตกกันแล้ว ในเวลาเย็นหลังเสร็จจากงานบ้านแล้วเมื่อออกไปนั่งเล่นกันที่ทุ่งนาพวกผู้ใหญ่ก็คุยกันไป เด็กเล็กๆ ก็หาของเล่นหรือวิ่งเล่นกัน ที่โตๆหน่อยก็มีโอกาสนั่งคุยกันเป็นกลุ่มๆ มีทั้งเด็กเล็ก เด็กโตรุ่นๆ และผู้ใหญ่ในหมู่บ้านเล็กๆไม่กี่หลังคาเรือนนี้จะออกมานั่งเล่นพักผ่อน และเสวนากัน ที่ทุ่งนาหลังหมู่บ้านในฤดูกาลนี้เป็นประจำ
       อากาศยามเย็นที่ทุ่งนามีลมพัดผ่านเย็นสบาย เป็นที่ผ่อนคลายความเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าจากการงานและความร้อนในช่วงเวลากลางวัน เด็กๆรุ่นเล็กอย่างแม่จะมีผู้ใหญ่ทำของเล่นจากวัสดุใกล้ตัวให้ เช่นถอนต้นข้าวที่เก็บเกี่ยวแล้วโดยที่โคนต้นยังเขียวอยู่ มาตัดตรงส่วนบนของข้อออก ยาวประมาณฝ่ามือ ใช้มีดผ่าทำช่อง ทำลิ้น  เมื่อนำมาเป่าจะคล้ายเสียงปี่ เราจะเรียกกันว่าทำปี่ เป่าเล่นกัน
        มีของเล่นอีกอย่างที่แม่ชอบมากก็คือการเก็บปล้องอ้อมาเล่น เดินตามคันนาไปจนสุดคันนามีคูน้ำติดถนน ซึ่งถ้าหน้าแล้งน้ำก็จะแห้งแต่ดินก็ยังชื้นอยู่ มีพืชชนิดหนึ่งขึ้นมากคือต้นอ้อที่เป็นไม้เลื้อย ไม่ใช่ต้นอ้อที่ขึ้นสูงๆเป็นป่าอยู่ในสระบัวหน้าวัดหรอกนะ เป็นพืชที่ขึ้นอยู่ริมคูชาวนานี่เอง แม่จะดึงต้นอ้อยาวๆ มาหลายๆต้น แล้วมาตัดเป็นท่อนๆ ต้องตัดตรงข้อปล้องออกเอาไว้แต่ตัวของปล้องยาวๆเท่านั้น
      เมื่อเอากลับมาบ้านก็หาไม้กำลังพอเหมาะมาเสียบกับรูปล้องอ้อ ปล้องอ้อที่งามๆจะมีขนาดหลอดกาแฟนั่นเองเมื่อหาไม้เสียบกลมๆให้ยาวกว่าปล้องอ้อ (โดยมากใช้ไม้ที่ตาเหลาไว้เสียบพริก เลียบปลาใช้ย่างนั่นเอง) นำไม้มาดันเข้าไปในปล้องอ้อจนสุด ไส้อ้อก็จะเด้งหล่นออกมามีลักษณะคล้ายกับฟองน้ำที่ใช้ล้างถ้วยชาม แต่มีสีขาวทรงกลมยามตามปล้องอ้อนั่นเอง เด็กผู้หญิงจะชอบเล่นไส้อ้อนี้มาก เก็บกันมาคนละมากๆ เอามาย้อมสีต่างๆไว้ทำของเล่นกัน เช่นเอามาตกแต่งเป็นตุ๊กตา หรือตัวสัตว์ต่างๆแล้วแต่จะคิดหรือประดิษฐ์ออกมาเป็นของเล่นเก็บไว้ได้นาน
ต้นอ้อ
ปล้องอ้อ
                        ส่วนเด็กผู้ชายที่โตหน่อยก็จะเล่นว่าวกัน การเล่นว่าวนี้ มีทางเลือก 2 ทางคือจะทำตัวว่าวเองหรือซื้อตัวว่าวสำเร็จรูปที่ตลาด ถ้าทำเองหรือให้ญาติทำให้ก็เริ่มตั้งแต่หาตัดไม้ไผ่มาเหลาทำโครงว่าว มีกอไผ่มากมายหาตัดได้ซื้อกระดาษว่าวสีต่างๆตามชอบมาแปะและซื้อด้ายป่านยาวๆ มาทำสายป่านว่าว เสร็จแล้วมาประลองว่าวกันว่า ว่าวใครจะขึ้นดีกว่ากัน เด็กโตส่วนใหญ่จะทำว่าวกันเอง หรือคนในบ้านทำให้ มากกว่าที่จะซื้อ เนื่องจากทำให้ได้ว่าวตัวใหญ่หรือเล็กและแบบของว่าวได้ตามต้องการ เป็นว่าวจุฬา ว่าวปักเป้า ว่าวอีลุ้ม หรือว่าวดุ๋ยดุ่ย เป็นต้น
       มีเพียงเด็กเล็กๆที่ยังเล่นไม่ได้หรือไม่เป็นเท่านั้น ที่ผู้ใหญ่จะซื้อไว้ให้ถือวิ่งเล่น  ตาของลูกทำว่าวได้สวยนัก ตาจะตัดไม้ไผ่มาเหลา แล้วเอาไม้ไผ่ลนไฟต่อยๆดัด ค่อยๆเกลา อย่างประณีต ว่าวของตาสวยและขึ้นดีทุกตัว ว่าวเป็นการเล่นของเด็กผู้ชาย เราเด็กผู้หญิงก็นั่งดูและเชียร์ว่าว่าวใครจะขึ้นสูงกว่ากัน  จนถึงติดลมบนที่แรง  จนสายป่านอาดขาดว่าวลอยหายไปก็มีอยู่บ่อยๆ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น