จาจี - อีตัก
มะขามเทศ |
เม็ดมะขามเทศที่แกะแล้วเหล่านี้ เด็กๆชอบกันนัก เก็บเม็ดมะขามเทศสีดำๆ นี้มาเล่น อีตัก กันเป็นที่สนุกสนาน วิธีการเล่นก็คือ นำเม็ดมะขามเทศจำนวนหนึ่งประมาณหนึ่งกำมือ มาเล่นกันกี่คนก็ได้ หากระดาษแข็งนิดหน่อย เช่นกระดาษหน้าปกของสมุดปกอ่อน มาตัดและพับเป็นลักษณะ รูปกรวยปากกว้างอันเล็กๆ คนละหนึ่งอัน แล้วก็ “ จาจี ” กัน แม่ก็ไม่รู้ว่าการ จาจี นั้นมีความหมายและประวัติความเป็นมาจากไหนอย่างไร ( เคยค้นจากพจนานุกรมก็ไม่มีคำอธิบายแม้แต่พจนานุกรมฉบับล่าสุด พ.ศ. 2542 )
เด็กๆในสมัยนั้นรู้จักการจาจีกันดี การจาจีนั้นคล้ายกับการจับไม้สั้นไม้ยาวนั่นเอง เพื่อจุดประสงค์ที่ใครจะได้เล่นเกมนี้ก่อนนั่นเอง วิธีการ จาจี ก็คือ ทุกคนที่จะเล่นอีตักด้วยกัน เอามือขวากำไว้ข้างหลังของตัวเอง แล้วพูดพร้อมกันว่า “ จาจี จุ้ยจ๊าย จับโป้ง ” พอกล่าวคำว่า โป้ง ทุกคนต้องชักมือขวาออกมา เป็นสัญลักษณ์ต่างๆ ที่มีอยู่ 3 รูปแบบ เป็นที่รู้กันดี
คือ
1. ท่ากำมือคว่ำลง หมายถึง ค้อน (เครื่องมือช่างไม้)
2. ท่ากางมือหงายขึ้น “ กระดาษ
3. ท่าชูนิ้ว 2 นิ้ว (นิ้วชี้และนิ้วกลาง) “ กรรไกร
เช่น เล่นกัน 3 คน กำมือเสีย 2 คน = ค้อน 2 คน อีก 1 คน กางมือ คือกระดาษ คนกางมือก็ชนะ ความหมายคือกระดาษห่อค้อนได้ ค้อนไม่สามารถตีกระดาษได้ คนชนะก็ถอยออกมารอ 2 คนที่เหลือ ที่ต้อง จาจี กันใหม่ เพื่อหาผู้ชนะที่จะได้เล่นเป็นคนที่ 2 ถ้าจาจีออกมาแล้ว ทำสัญลักษณ์เหมือนกันเรียกว่า เจ๊า กันก็จาจีใหม่ จนกว่าจะหาผู้เล่นได้ตามลำดับ ก่อน หลังต่อไปได้
สรุปแล้ว สัญลักษณ์ทั้ง 3 มีค่าดังนี้
- ค้อน แพ้ กระดาษ ชนะ กรรไกร
- กระดาษ “ กรรไกร “ ค้อน
- กรรไกร “ ค้อน “ กระดาษ
เป็น วัฎจักรกันเช่นนี้ตลอดไป เมื่อหา ”ผู้ชนะ” เรียงตามลำดับ 1,2,3 ได้แล้ว ก็เริ่มเล่น วิธีการเล่น คือ นั่งล้อมวง เว้นที่ว่างตรงกลางไว้ คนที่หนึ่งกำเม็ดมะขามเทศไว้ในมือทั้งหมดแล้วหว่านให้อยู่ในบริเวณที่ว่าง กลางวง ถ้าหว่านเม็ดมะขามเทศได้กระจายไม่เกาะกันมากเท่าไร โอกาสจะชนะก็มีมาก เมื่อหว่านแล้วก็ใช้กรวยกระดาษที่ทำไว้มาตัก
วิธีการตักต้องห่อกรวยให้แคบนิดหน่อย แล้วช้อนตักเร็วๆ ต้องตักเม็ดมะขามเทศให้เข้ากรวยครั้งละ 1 เม็ด แล้วนำมาวางไว้ข้างตัว และตักต่อไปจนกว่าเม็ดมะขามเทศจะหมด หรือจนกว่าจะตายในเกม การตายในเกมคือตักเม็ดมะขามเทศไปถูกเม็ดอื่นๆ หรือตักแล้วหล่นจากกรวย ก็ต้องหยุดเล่นให้คนต่อไปเป็นผู้เล่นด้วยวิธีการเดียวกัน เวียนกันเล่นจนเม็ดมะขามเทศหมดกอง
จากนั้นจึงนับเม็ดมะขามเทศที่ตักได้ของแต่ละคน ใครได้มากกว่าก็เป็นผู้ชนะในเกมการเล่นนั้น และเป็นผู้เริ่มเล่นเกมต่อไปก่อน ตามด้วยคนที่นับได้รองๆ กันต่อมา เด็กๆ จะเล่นกันหลายๆ ตา (เกม) จนกว่าจะเบื่อ หรือเมื่อยจึงเลิก เป็นการเล่นของเด็กผู้หญิงในยุคแม่ โดยไม่ต้องใช้เงินจับจ่ายซื้อหาของเล่น ก็เล่นกันได้อย่างสนุกและเพลิดเพลิน (และยังเป็นการฝึกทักษะการใช้มือ ในการตักใช้สมองคิดวิธี ที่จะเล่นและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างไร )
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น