ฤดูฝน
ชาวนาใช้ควายไถนาภาพจาก google |
ในหน้าฝนนอกบริเวณหมู่บ้านด้านหลัง ซึ่งเป็นนาข้าว ทำนาแบบนาดำ โดยการไถทำเทือกไว้ก่อน 1 แปลง เพื่อหว่านพันธุ์ข้าวปลูกไว้สำหรับ การปักดำเมื่อฝนตกมากขึ้น น้ำเริ่มขังในแปลงนา โดย ใช้คันไถเทียมควาย นาแปลงหลังหมู่บ้านนี้เนื้อที่ประมาณ 15 – 20 ไร่ เจ้าของใช้ควายเพียงตัวเดียวในการไถหว่าน
เมื่อข้าวกล้าโตได้ที่เขาก็จะเริ่มการปักดำนา ด้วยการถอนข้าวที่เพาะพันธุ์ไว้ใช้ตอกมัดไว้เป็นกำใหญ่ๆ และตัดปลายยอดข้าวออกบ้างให้เท่ากันประมาณ 20 - 30 ซ.ม. และแช่น้ำไว้ในนานั้นเอง ทำเช่นนี้จนหมดต้นข้าวที่เพาะไว้ในแปลง ต่อจากนั้นการดำนาก็เริ่มขึ้น โดยนำพันธุ์ข้าวที่มัดไว้ใส่ไม้คาน หาบไปวางในแปลงนาที่ไถและมีน้ำขังอยู่แล้ว วางไว้ห่างๆ กัน จากนั้นก็เริ่มดำนาด้วยการแกะพันธุ์ข้าวที่มัดกำไว้ออก หยิบออกมาครั้งละ 2-3 ต้น แล้วจิ้มลงไปในนาที่ไถพรวนดินไว้แล้วนั้น ที่เรียกว่า ”ดำนา” ก็คงเพราะในนามีน้ำกระมังต้องเอาต้นข้าวดำลงในน้ำเอารากต้นข้าว จิ้มลงไปในดินที่ชุ่มน้ำ กดลงดินให้อยู่ไม่ลอยขึ้น ชาวนาจะแบ่งต้นข้าวจิ้มลงๆ อย่างว่องไว เป็นแถวๆ โดยจะเดินถอยหลังไปเรื่อยๆ จนกว่าจะหมดแต่ละแปลงนา
รอยต่อของแปลงนาแต่ละแปลงจะทำคันกั้นน้ำไว้ในแต่ละแปลงย่อยๆ เรียกว่าคันนา ซึ่งเป็นทางเดินของชาวนาและชาวบ้านที่จำเป็นต้องเดินผ่าน ดินที่คันนาจะเป็นดินเหนียว ถ้าฝนตกใหม่ๆ จะลื่นเดินยาก ต้องเดินบนหญ้าที่ขึ้นอยู่ริมข้างขอบคันนา เด็กๆ อย่างแม่ก็หาของเล่นได้อีกจากดินเหนียวที่คันนานี้ นำมาปั้นเป็นตัวอะไรเล่นกัน แต่ที่ปั้นกันมากที่สุดก็เห็นจะเป็นควายนั้นเอง อาจจะเนื่องมาจากมีควายให้เห็นเป็นแม่แบบในการปั้นนั่นเอง
เป็นวิถีชีวิตของผู้คนในยุคนั้นก็ได้ ที่ใช้ควายประกอบอาชีพและเห็นคุณค่าของมัน หมายถึง เห็นคุณค่าของควายที่ไถนาปลูกข้าวให้ผู้คนได้กินกัน จนมีคำพังเพยที่ว่าไปอาศัยอยู่บ้านผู้อื่น ให้ช่วยงานทุกอย่างแม้แต่การปั้นวัวปั้นควายให้ลูกหลานท่านเล่น ไม่ใช่คำในปัจจุบันที่ดูถูกควายว่าโง่เง่าจึงต้องไถแต่นา และเอามาเปรียบเปรยคนด้วยกันว่าโง่เป็นควาย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น