วันศุกร์ที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

บ้าน

       บ้านของแม่นั้น (ที่จริงบ้าน ตา-ยาย) เป็นเรือนไม้ใต้ถุนสูง เป็นบ้านแบบของชาวไทยภาคกลางทั่วๆ ไป ลักษณะทรงไทยมีจั่วสูง  หลังคาช่วงกลางบ้านจะสูง แล้วค่อยๆ ลาดลงมาโดยรอบ  ที่ว่าทรงไทยนั้น พูดให้ดูโก้ๆไปเท่านั้นเอง  ไม่ใช่บ้านทรงไทยที่สวยงามแบบบ้านคนรวยหรอกนะลูก  เป็นเพียงบ้านทรงไทยแบบชาวบ้านๆ เท่านั้นเอง

       บ้านมีหน้าต่างโดยรอบแถมยังมีบานเลื่อนไว้รับลมอีกหลายบาน ลมพัดผ่านได้ดี  เสียแต่หลังคาเท่านั้นที่มุงสังกะสี (เวลาฝนตกเสียงฝนหล่นกระทบหลังคาดังมากคิดว่านอนฟังเสียงดนตรีแสนไพเราะจนหลับไปก็แล้วกัน) บ้านถ้ามุงด้วยแฝก หรือกระเบื้องก็จะไม่ร้อน  เมื่อมุงด้วยสังกะสีหน้าร้อนในช่วงเดือน มี.ค. - เม.ย.  แดดจัดบนบ้านก็จะร้อนมากจนไม่มีใครอยู่ได้ในเวลากลางวัน  ส่วนใหญ่จะลงมาทำงานหรือพักผ่อนกันที่พื้นใต้ถุนบ้าน บนบ้านช่วงกลางวันร้อนก็จริงแต่พอหมดแดดสักพัก บ้านเป็นบ้านไม้ก็จะคลายความร้อนได้เร็วในช่วง  6  โมงเย็น ถึง 1 ทุ่ม  อากาศก็เย็นสบายแล้ว

      ในบ้านนั้น  กั้นห้องเพียงห้องเดียว  ยายของลูกใช้เก็บของมีค่าต่างๆ ในห้องมีตู้อยู่  1  หลัง และสัมภาระต่างๆ อีกมากมาย ยายจะใส่กุญแจที่ประตูห้องไว้ตลอด (ห้องไม่ได้มีไว้นอนมีไว้เก็บของ แม่ก็ไม่เข้าใจว่าทำไมไม่นอนในห้องกัน)  นอกนั้นก็ปล่อยไว้โล่งๆ พื้นบ้านเป็นไม้กระดานสะอาดเป็นมัน นั่งหรือ นอนเล่นตรงไหนก็ได้ เวลากลางคืนก็กางมุ้งนอนกันบริเวณที่โล่งๆ นั้น เป็นส่วนๆมุมใครมุมมัน  นี่อาจจะเป็นเพราะประเทศเราอยู่ในเขตอากาศร้อน ที่อยู่อาศัยจึงสร้างโปร่งๆให้อากาศถ่ายเทได้  และคนไทยเรามีนิสัยที่ชอบอิสระก็เป็นได้ (อันนี้เป็นความคิดของแม่เอง) จึงไม่ชอบอยู่ในที่จำกัด  ไม่ชอบถูกกักขังชอบอยู่ในที่โล่งกว้าง (จึงไม่ชอบนอนในห้อง)  ซึ่งบ้านในสมัยนั้นในแต่ละบ้านไม่มีรั้วกั้นกันทั้งหมู่บ้าน  หน้าต่างไม่มีมุ้งลวด / เหล็กดัด ไฟฟ้าก็ยังไม่มีใช้

       พื้นใต้ถุนบ้านเป็นดินอัดแน่นเรียบ  เป็นที่สุขสำราญของผู้ใหญ่และเด็ก เนื่องจากลมพัดผ่านได้สะดวก เย็นสบาย ไม่ร้อน เป็นที่นั่งเล่น  นอนเล่นและทำงานจิปาถะ ในเวลากลางวัน  ใต้ถุนบ้านแต่ละหลังจะมีแคร่ไม้ใหญ่ๆ ไว้นั่ง 1 หรือ 2 ตัว มีกันทุกบ้าน แคร่กว้างพอที่จะนอนอย่างสบายได้ประมาณ 2-3 คน ในแต่ละบ้านตัวแคร่อาจจะเป็นแคร่ไม้กระดานหรือแคร่ไม้ไผ่ พื้นดินใต้ถุนบ้านที่แน่น และถูกกวาดให้เตียนโล่งดูสะอาดอยู่เสมอทำให้ไม่มีฝุ่น พื้นดินส่วนที่อยู่นอกบ้านเป็นดินปนทราย   เวลากลางวันใต้ถุนบ้านจะเป็นที่เล่น ที่นอน ที่รับแขกและเป็นที่ทำงานอื่นๆจิปาถะ ทั้งของเด็กและผู้ใหญ่

วันพฤหัสบดีที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

กระแตเวียน

         กระแตเวียน เป็นอุปกรณ์สำหรับช่วยให้เด็กหัดเดิน เป็นภูมิปัญญาของผู้คนในยุคนั้น  ที่คิดทำกระแตเวียนให้เด็กหัดเดิน ใช้วัสดุจากไม้ไผ่ที่หาได้ง่ายและมีอยู่ทั่วไป โดยตัดกระบอกไม้ไผ่ให้มีข้อติดอยู่ข้างหนึ่ง แล้วสวมลงกับหลักไม้ เหนือข้อตอนบน สอดไม้ขวางให้ยาวพอสมควรสำหรับให้เด็กเกาะเดิน
        ตั้งหลักกระแตเวียนบนพื้นดิน ทำกระแตเวียนให้หมุนไม่เร็วนัก หากหมุนเร็วเกินไป เด็กอาจเวียนหัว และหกล้ม ก้นกระแทกได้ เด็กๆรุ่นแม่หัดเดินด้วยกระแตเวียนที่ผู้ใหญ่ทำให้ ด้วยกันทั้งนั้น รวมทั้งแม่ด้วย มาสมัยลูกๆ มีรถกลมๆ สำหรับให้เด็กนั่งและยืนเกาะ ใช้หัดเดินออกมาขายให้ซื้อหามาใช้ ได้สะดวกดีเป็นที่นิยมใช้กัน กระแตเวียนจากกระบอกไม้ไผ่ จึงหายไปไม่มีใครใช้ให้เห็นกันอีกแล้ว

ภาพจากพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542  หน้า39

กำไลข้อเท้า

        เขียนถึงตะปิ้งแล้วสิ่งที่ขาดเสียไม่ได้อีกอย่างก็คือ กำไลข้อเท้าที่ใช้ได้กับเด็กทั้งหญิงและชาย เป็นที่นิยมใส่กันมาก ไม่ว่าจะเป็นการรับขวัญให้ลูกหรือหลาน ในร้านขายทองมีให้เลือกซื้อ ทำจาก เงิน นาค และทอง ตามฐานะและความพอใจ ส่วนใหญ่ในหมู่บ้านจะใช้แต่กำไลข้อเท้า ที่ทำจากเงินกันอย่างเดียวเท่านั้น ลูกทุกคนก็ใส่กำไลข้อเท้าเงิน ชุดเดียวกัน (ใช้แล้วเก็บนำมาใช้ต่อได้อีก หายไปเมื่อถูกขโมยเข้าบ้านลักไป)  

       ประโยชน์ของการใส่กำไลข้อเท้าให้เด็ก  คือเมื่อเด็กยังนอนหลับอยู่ในเปล หรือในที่นอน แม่หรือคนเลี้ยงละไปทำงานอื่นๆ ในบ้านไม่ไกลนักได้ เมื่อเด็กตื่นก็จะขยับแขนหรือขา เสียงกระพรวนในกำไล ก็จะดังให้รู้ว่าเด็กตื่นแล้วนะ เมื่อเด็กโตขึ้นและเดินได้ เสียงกระพรวนจากกำไลก็จะทำให้รู้ว่าเด็กอยู่ที่ไหนได้



 



กำไลข้อเท้าเงินและนาคใช้สวมใส่ได้ทั้งเด็กชายหรือเด็กหญิง

ตะปิ้ง


           ตะปิ้ง เป็นอะไรเด็กสมัยนี้คงไม่รู้จักกันแล้ว ในสมัยที่แม่เป็นเด็กเล็กๆ ยายบอกว่า เด็กผู้หญิงเกือบทุกคน (รวมแม่ด้วย ก็ใช้ตอนเล็กๆที่ยังจำความไม่ได้) ต้องใส่ตะปิ้ง ตะปิ้งเป็นเครื่องปกปิดของลับ ของเด็กผู้หญิงและยังเป็นสิ่งที่ สามารถบ่งบอกฐานะหรือความมั่งมี ของผู้สวมใส่ได้ จากวัสดุที่ทำตะปิ้ง เช่นทำจากทอง นาค หรือเงิน โดยส่วนใหญ่คนทั่วๆไป จะใช้ตะปิ้งที่ทำจากเงิน ถ้ามีฐานะดีหน่อยก็เป็นตะปิ้งทำจากนาค หรือทอง


         ประโยชน์ของการใส่ตะปิ้ง  นอกจากเป็นเครื่องปกปิดของลับของเด็กผู้หญิงแล้ว ที่แม่พบเห็นมาตอนที่มีลูกผู้หญิงคนเล็กแล้ว ก็คือในตอนนั้นคนเก่าๆ ยังใส่ตะปิ้งให้ลูกผู้หญิงยังพอมีให้เห็นอยู่บ้าง ไม่ไกลจากบ้านแม่นัก เขามีลูกผู้หญิงเหมือนแม่ เกิดปีเดียวกันกับลูกสาวแม่ เขายังใช้ตะปิ้งคาดให้ลูกเขาอยู่ เวลาแม่พาลูกไปเลี้ยงนอกบ้าน  เด็กๆก็จะเล่นกันเด็กคนนั้นใส่ตะปิ้ง  เมื่อฉี่เปรอะก็จะมีแมลงหวี่มาตอมและเกาะที่ตะปิ้ง น่ารำคาญแต่ก็เข้าไปในตะปิ้งไม่ได้

คือป้องกันแมลงหวี่บินเข้าหรือตอมอวัยวะเพศของเด็กผู้หญิงได้บ้าง เสียดายนะแม่ไม่ได้หาเก็บตะปิ้งไว้ให้ลูกให้หลานได้ดูบ้าง

* และขอแถมด้วย จับปิ้ง ตะปิ้ง หรือจะปิ้ง ที่ในสังคมไทยใช้เฉพาะกับเด็กเท่านั้นเพื่อปกปิดของสงวนมิให้ออกสู่สายตาผู้คนและสามารถแสดงฐานะของผู้สวมใส่โดยดูจากวัสดุที่ทำตะปิ้งชิ้นนั้น *

 
 
ตะปิ้งทอง

ตะปิ้งเงิน ทอง นาค

ภาพเขียน
เด็กใสตะปิ้ง+กำไลข้อเท้า
 


ข้อมูลและภาพถ่ายสืบค้นจาก googel หนังสืออักขราภิธานศรับท์
หมอปรัดเลย์(น.๑๕๐, Dr. D. Bradley)

การอบสมุนไพรหลังคลอดบุตร

       แม่ยังโชคดีที่มียายของลูกคอยช่วยดูแลหลังคลอด และที่แม่ชอบมากที่สุด คือยายนำสมุนไพรสดๆมาต้มให้แม่อบน้ำสมุนไพร ตามกำวิธีและสูตรของยาย จะเขียนชื่อสมุนไพรตามที่แม่พอจำได้นะ เพราะไม่รู้ว่าจะถามต้นตำรับได้อย่างไร ( ปัจจุบันต้นตำรับอายุ 80 ความจำหลงลืม   พูดและไปไหนไม่ได้ 24 ก.ย. 2549)

       มีใบส้มป่อย ใบมะขาม ข่า ตะไคร้ ลูกมะกรูด หัวไพลทุบพอแตก พิมเสน การบูร ขมิ้น เกลือเม็ดและเมลทอล (ถ้าไม่มียายใช้ยาหม่องควักใส่ลงไปแทนได้ ใช้ใส่ตอนเปิดหม้อเพื่ออบสมุนไพร) ใส่หม้อใบใหญ่ตั้งไฟเคี่ยวจนเดือดส่งกลิ่นหอมอบอวน สักครู่ยกลง หลังๆแม่เพิ่มใบแจงลงไปอีกด้วย

       ยายเอาสุ่มไก่ของตามาทำเป็นที่อบสมุนไพรโดยให้แม่นุ่งผ้าถุงกระโจมอกนั่งในสุ่มไก่ และวางหม้อต้มสมุนไพรที่ร้อนอยู่ในสุ่มไก่  ยายปิดสุ่มไก่ด้วยผ้าห่มผืนโตๆ ครอบและคลุมมิดชิดให้กลิ่นหอม และไอร้อนของสมุนไพรอบอวลอยู่แต่ในสุ่มเท่านั้น

       โดยแม่จะค่อยๆ เปิดฝาหม้อให้ความร้อนของสมุนไพรออกมา  เท่าที่จะทนความร้อนได้ ให้ปลดผ้านุ่งออกบ้าง ให้ก้มหน้ารับกลิ่นและสูดลมหายใจจากไอความร้อน และกลิ่นหอมของสมุนไพรในหม้อตรงๆด้วย อบอยู่นานจนน้ำต้มสมุนไพรเย็นจึงดึงสุ่มออก และพักให้ตัวเย็น จึงเอาน้ำผสมสมุนไพรที่ใช้อบเทน้ำสมุนไพรออก  แล้วมาผสมน้ำอาบ (กากสมุนไพรที่เหลือเก็บไว้ผสมกับของสดๆต้มรวมกันอาบได้อีก)

         ทุกครั้งที่แม่คลอดลูกทุกคนยายจะทำให้ และเมื่ออยู่บ้านที่อำเภอท่าเรือ ยายยังทำให้แม่อบตัวอีกหลายครั้ง จนยายย้ายกลับมาอยู่ที่สุพรรณแม่ก็ไม่เคยมีโอกาสได้อบน้ำสมุนไพรสดๆ แบบนี้อีกเป็นเวลานานกว่า 30 ปี มาแล้ว ในปัจจุบันการไปอบสมุนไพรตามสปาร์ หรือตามร้านเสริมความงาม ส่วนใหญ่จะเป็นตู้อบและใช้สมุนไพรแห้งใส่หม้อต้ม เสียบไฟฟ้าให้เดือด ก็หอมดี แต่สู้การอบตามสูตรของยายที่ใช้สมุนไพรสดๆไม่ได้


บ้านของเราที่ลูกๆเกิด และเติบโต  ถ่ายภาพ 09/10/50 ( หลังจากขายไปนานแล้ว)



การอยู่ไฟฟืน – ไฟชุดหลังคลอดบุตร

       เมื่อแม่แต่งงานกับพ่อแล้ว และยังไม่ได้แยกบ้านอยู่จนมีลูกคนโต คือแอ๊ดแม่ยังอยู่รวมบ้านกับยาย และคลอดบุตรชายคนแรกคือแอ๊ดที่บ้านยายโดยหมอตำแยแบบโบราณคนเดียวในหมู่บ้าน ที่ทำคลอดเด็กในหมู่บ้านทุกคนที่เกิดใหม่ คือ ป้าปี มีบ้านอยู่ติดกับบ้านยายและเป็นญาติกันด้วย

       ป้าปีเคยได้เข้ารับการอบรมการสาธารณสุขชุมชน (สถานีอนามัย) ในการทำคลอดอย่างถูกวิธีและปลอดภัยเพิ่มเติม และได้รับกล่องเครื่องมือทำคลอดและประกาศนียบัตร ในการเข้ารับการอบรมในครั้งนั้นด้วย ป้าปีเล่าว่าการอบรมวิธีคลอดก็ไม่แตกต่างจากที่ทำอยู่แล้วเพียงแค่เน้น เรื่องความสะอาดของเครื่องมือเครื่องใช้  และความสะอาดของแม่และเด็กในการทำคลอดทุกครั้ง

       แม่ยังจำได้ว่า แม่ยังคลอดแบบโบราณเหมือนในหนังเก่าๆ คือมีคนช่วยจับแขนจับขา มีเชือกให้ห้อยโหนตัวเบ่งคลอด  มียายติดไฟเตาถ่านตั้งน้ำร้อนกาใหญ่ๆไว้ให้  ถึงมีคนช่วยหลายคนความรู้สึกของแม่ยังดูว่าป้าปีทำคลอดดีแม่ไม่เจ็บปวดมากนัก และไม่จับแม่โป้เลย มีผ้าปิดตลอดเวลาเปิดกว้างอยู่ช่วงล่างตรงที่ป้าปีนั่งทำคลอดอยู่เท่านั้น

       ตอนนั้นที่จำได้มีพ่อของลูกนั่งช่วยอยู่ด้านหัวนอน  มีอาแฉล้มช่วยโกยท้องและจับขาไว้ ยายตั้งน้ำร้อน คนอื่นๆมีอีกหรือเปล่าจำไม่ได้ หลังคลอด 1 วัน มีสิ่งที่จำได้ไม่ลืมคือ มีอาการคันบริเวณแถวๆช่องคลอดในร่มผ้ามาก เรียกว่าคันจนดิ้นทุรนทุราย จนยายของลูกไปหา หัวไพรสดๆมาปอกล้างน้ำให้สะอาดแล้วโขลก ไม่ต้องให้ละเอียดมากนัก เอาทั้งเนื้อและน้ำไพรสดๆมาทาพอกบริเวณที่คันให้ แสบจนสระใจแต่ก็หายคันได้ทันใจเป็นปริดทิ้ง มาคิดทบทวนดูในปัจจุบันนี้ว่า อาการคันที่เกิดขึ้นนี้ อาจจะเกิดจากการทำความสะอาดในการทำคลอดไม่ดีพอก็เป็นได้

       แม่คลอดแอ๊ด วันพุธที่ 9 กันยายน 2513 เวลา 23.15 น. คลอดที่บ้านยายที่ตำบลท่าหลวง อำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา แต่พ่อของลูกมีชื่อในทะเบียนบ้านอยู่ที่บ้านญาติคือลุงกอง เวลาแจ้งเกิดจึงไปแจ้งเกิดที่อำเภอบ้านหมอตามเลขที่บ้านในใบสูติบัตร (ในสมัยนั้นไม่เข้มงวดในการรับแจ้ง)

        ในช่วงเวลานั้นผู้หญิงในหมู่บ้านส่วนใหญ่ที่คลอดบุตร จะอยู่ไฟฟืนให้ มดลูกเข้าอู่เร็ว แบบโบราณ ที่เห็นมาคือในระหว่างที่แม่ท้องลูกคนแรก มีเพื่อนบ้านที่สนิทกันดี คลอดบุตรก่อนแม่ 2 เดือน เห็นบ้านเขาช่วยกันเตรียมหาไม้มาทำฟืนกันไว้ก่อนคลอดล่วงหน้าเป็นเดือน ทำเตาไฟมีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ากว้างประมาณหนึ่งเมตรให้ยาวเท่ากับคนที่จะอยู่ไฟนิดหน่อย มีเตียงไม้เตี้ยๆไว้ให้หญิงแม่ลูกอ่อนนอนอยู่ไฟและใช้เวลาในการอยู่ไฟไม่น้อยกว่า 7-10 วัน

       ในขณะที่เพื่อนบ้านอยู่ไฟหลังคลอด แม่ไปเยี่ยมและดูวิธีการอยู่ไฟ ความรู้สึกของแม่ไม่เอาด้วยแน่ ทั้งความร้อนจากเปลวไฟ ทั้งควันไฟรม โอ๊ยทนได้อย่างไรกัน ไม่อยู่ไฟแบบนี้แน่นอนเป็นไงเป็นกัน มีแต่คนทักถ้าไม่อยู่ไฟฟืน เรียกว่ามดลูกจะเข้าอู่ช้า เวลาหน้าฝนลมฝนมาก็จะหนาวสั่นเป็นลักษณะของการอยู่ไฟไม่ถึง

       แม่ถามป้าปีหมอตำแยในเรื่องนี้ว่า  พอจะมีวิธีไหนใช้แทนการอยู่ไฟฟืนบ้างไหม ป้าปีบอกว่าถ้าไม่อยู่ไฟฟืน ให้ลองไปที่ร้านขายยาในตลาดที่อำเภอดู ได้ข่าวว่ามีไฟชุดใช้อยู่ไฟแทนได้สะดวกดีไว้ขาย แม่สนใจไปขอดูและสอบถาม ร้านขายยาแนะนำวิธีการใช้ให้จนแม่พอใจจึงซื้อมาเตรียมไว้ จำไม่ได้ว่าราคาเท่าไร (ปัจจุบันราคา รวมชุดละ 130 บาท 9 กันยายน 2550)

       ไฟชุดมีลักษณะเป็นกล่องอลูมิเนียมรูปทรงกว้างประมาณเกือบ 3 นิ้ว ยาวประมาณ 4/2 นิ้วมีขวาบนกล่องเลื่อนเปิดปิดได้ สำหรับใส่ถ่านไฟเป็นแท่งกลมๆอัดด้วยเชื้อไฟ เมื่อจุดก็จะค่อยๆลุกและร้อนอยู่ในกล่องจนหมดเชื้อ ก็เปลี่ยนถ่านเชื้อไฟก้อนใหม่ ชุดกล่องหนึ่งใช้ถ่านเชื้อไฟครั้งละ 1 ก้อน

       ผ้าใส่กล่องไฟชุดมีสายสำหรับคาดรอบเอว มีเชือกสำหรับผูกรัดตามขนาดเอวของผู้ใช้ที่เล็กหรือใหญ่ได้ ใช้ผ้าพันกล่องไฟชุดไว้อีกรอบกันร้อนมากอีกก็ได้ ใช้สะดวกมาก เมื่อพาดกล่องไฟชุดไว้ตรงหน้าท้องร้อนมากก็ค่อยๆขยับกล่องไฟ  ไปรอบด้านของเอวได้ สามารถเดินไปไหนมาไหนได้ อย่างสะดวกไม่ต้องทนนอนร้อนอยู่หน้าเตาไฟถ่านตลอดเวลา จำได้ว่าแข็งแรงเร็ว อยู่ไฟชุดหลังคลอด สัปดาห์เดียวก็ทำงานบ้าน  ทำกับข้าวทำงานเล็กๆน้อยๆ เองได้แล้ว มีเพื่อน ๆ มาเยี่ยมยังทำกลับแกล้มให้กินกันได้ นั่นเป็นการคลอดบุตรคนแรกที่บ้าน เมื่อ 36 ปีที่ผ่านมา (19 กุมภาพันธ์ 2550)

       เมื่อมีบุตรคนต่อมาการเดินทางสะดวกสบาย การสาธารณสุขดีขึ้น ต๋อมและกุ้ง ไปคลอดที่โรงพยาบาลสระบุรีทั้งสองคน เมื่อกลับมาบ้านก็อยู่ไฟชุดเหมือนเดิม และไม่เห็นมีใครอยู่ไฟฟืนหลังคลอดแบบเก่าอีกแล้ว

       แต่การแจ้งเกิดก็ยังแจ้งเกิดที่บ้านของตัวเองอีกเช่นกัน (ไม่แจ้งเกิดตามใบที่โรงพยาบาลให้มา)


  ชุดสำหรับอยู่ไฟ

การเดินทางมาบ้านยายชวดครั้งต่อๆไป

       จากการที่เดินทางไปบ้านยายชวด ครั้งที่ไปเรือสองชั้นแล้ว แม่ก็ไม่ได้ไปอีกนานมาก แต่ทราบว่ามีการตัดถนนจากกรุงเทพฯ ไปนครปฐมและเชื่อมต่อไปสุพรรณบุรีได้ทำให้การเดินทางสะดวกและรวดเร็วขึ้น ใช้เวลาน้อยกว่า ต่อมาการเดินทาง และขนส่งสินค้าทางเรือก็เลิกไปโดยปริยาย จนกลับตำนานการเดินทางด้วยเรือโดยสารสองชั้น และจบกลับการเป็นชุมชนที่คึกคักด้วยผู้คน ชุมทางของท่าเรือโดยสารขนส่งผู้คนและสินค้าของป่าจากอำเภอหรือตำบลนอกๆ ที่ไม่อยู่ติดแม่น้ำท่าจีน(สุพรรณ) ของตลาดสามชุก


       ครั้งที่สองแม่มาบ้าน คุณยายชวดของลูก ปกติคนสุพรรณบุรีจะเรียกยายว่า ”แม่คุณ” และเรียกตา ว่า “พ่อคุณ” เป็นคำเรียกขานเฉพาะของคนสุพรรณ แต่ยายให้แม่เรียกคุณยายชวดของลูกว่า แม่เฒ่า  ไม่ทราบและไม่ได้ถามว่า ทำไมจึงไม่เรียกแม่คุณเหมือนคนอื่นเขา จำไม่ได้ว่าตอนนั้นแม่อายุเท่าไร ประมาณว่า 11 – 12 ปี การเดินทางสะดวกขึ้น ออกเดินจากบ้านตั้งแต่เช้า มาขึ้นลิฟ(กระเช้า)ข้ามคลองหลังตลาดท่าหลวง (มีกระเช้าให้ข้ามฟากแทนเรือจ้างแล้ว) เดินมาขึ้นรถโดยสารที่โค้งหน้าโรงหนังศรีอรุณ เพื่อไปขึ้นรถไฟที่สถานีท่าเรือล่องเข้ากรุงเทพฯ เมื่อลงรถไฟที่ปลายทางสถานีหัวลำโพงแล้ว
ยายพาขึ้นรถเมล์ไปสถานีขนส่งสายใต้ที่พรานนก หรือบางกอกน้อยไม่แน่ใจ เพื่อขึ้นรถบัสโดยสารไปสุพรรณบุรี (ปัจจุบันเรียกเส้นทางสายนี้ว่า สุพรรณสายเก่า หลังจากตัดเส้นทางสายใหม่ ตลิ่งชัน – สุพรรณบุรี ) ในช่วงนั้นเส้นทางอ้อมและไกล ถนนก็มีที่ลาดยางบ้าง เป็นถนนลูกรังบ้างแต่ก็ยังดี ผ่านนครปฐม กำแพงแสน สวนแตง อู่ทอง เมื่อมาถึงสถานีขนส่งสุพรรณบุรีแล้ว ก็นั่งรถเมล์เหลืองสุพรรณ – ด่านช้าง ไปถึงถนนคันคลองชลประทาน หลังบ้านแม่เฒ่าก็เย็นมากใกล้ค่ำแล้ว ซึ่งดีกว่าการเดินทางด้วยเรือโดยสารสองชั้นที่ต้องค้างวันค้างคืนมากนัก การขนส่งสินค้าทางบกก็สะดวกมากขึ้น

       จำได้ว่ามาสุพรรณคราวนี้มางานแต่งงานพี่มะปรางลูกสาวลุงตุ้ย จัดที่บ้านแม่เฒ่ามีญาติมาช่วยงานกันมากมาย มีแม่ครัวทั้งอาหารคาว อาหารหวาน มีผู้คนในหมู่บ้านกุลีกุจอมาช่วยงานกันอย่างคึกคักก่อนวัน สุกดิบ เห็นลูกมะพร้าวกองใหญ่ เป็นพันลูกได้ สำหรับทำอาหารทั้งคาวและหวาน มีคนช่วยปอก ก่อนวันงาน 3 – 4 วัน

       วันสุกดิบ (ก่อนงาน 1 วัน) หนุ่มๆ สาวๆ ก็จะมาช่วยผ่าและขูดมะพร้าวกันด้วยกระต่าย ที่ทำจากไม้มีเหล็กคมเป็นซี่ สำหรับนั่งขูด (ไม่มีกระต่ายที่ใช้ไฟฟ้าขูดมะพร้าวแบบปัจจุบัน) คิดดูมะพร้าวกองใหญ่เป็นพันลูก ใช้คนขูดด้วยมือต้องใช้คนและเวลานานขนาดไหน และยังการเตรียมเครื่องปรุงอื่นๆอีกด้วย ต้องใช้คนมากเท่าไร การจัดงานแต่ละครั้ง จึงรวมผู้คนที่มาช่วยทำของ และญาติที่มาจากต่างถิ่นเรียกว่ารวมญาติที่ไปทำมาหากินอยู่ที่ไกลๆ มาพบปะมาค้างในบ้านงานกัน

       แม่เข้าช่วยเป็นลูกมือในอาหารหวาน ขนมที่จัดทำในงานแต่งมี ทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง เม็ดขนุน ข้าวเหนียวสังขยา เป็นต้น โดยจะเลือกขนมที่เป็นมงคลในงานแต่ง แม่ช่วยปั้นเม็ดขนุนกับเด็กสาวๆลูกลุงรุ่นเดียวกันหลายคนจนดึก (การมีงานแต่ละครั้งจะสื่อให้เห็นถึงประเพณี วัฒนธรรม และความรักสามัคคีของผู้คนในชุมชนยุคสมัยนั้นได้อย่างแท้จริง)

       จะเล่างานแต่งอีกงาน งานแต่งงานลูกลุงที่รุ่นเดียวกันชื่อ มาลา(น้อย) การจัดเตรียมงานก็ไม่แตกต่างกันแต่แม่ก็รุ่นสาวแล้ว พบปะญาติมิตรและคราวนี้ได้อยู่ช่วยในงานพิธีด้วยในตอนเย็นถูกขอให้ช่วยหายดอกไม้ จะเล่าประเพณีแต่งในช่วงเย็นที่แตกต่างจากที่บ้านอยุธยาและสระบุรีที่แม่อยู่

       คือจะมีฝ่ายเจ้าบ่าวมาเยี่ยมหอเป็นขบวนใหญ่ ฝ่ายเจ้าสาวก็จะขายดอกไม้ แม่ก็ไม่เข้าใจขายดอกไม้อะไรขายทำไม ที่บ้านเราไม่เห็นมี สรุปเตรียมทำดอกไม้สดช่อเล็กๆ ติดเข็มกลัดใส่พานเตรียมไว้ พอเย็นเจ้าสาวและบรรดาสาวๆ  แต่งตัวกันสวยงาม ก็มีแขกมาร่วมงานในช่วงเย็น  มีการเลี้ยงอาหารคาวหวานกัน คือเป็นงานเลี้ยงฉลองงานมงคลสมรสนั่นเอง เป็นงานเลี้ยงแบบแขกมาก็นั่งล้อมวงทานอาหารกันบนบ้าน มีเครื่องเสียงเปิดเพลงกล่อมหอ

       เมื่อเจ้าบ่าวและเพื่อนๆหรือญาติหนุ่มๆสาวๆ ของเจ้าบ่าวมาถึง  ก็ถูกเชื้อเชิญให้ขึ้นบ้าน นั่งอยู่ด้านหนึ่ง เจ้าสาวถูกเรียกออกมาต้อนรับ เพื่อนเจ้าสาวก็ถือถาดดอกไม้ออกมาด้วย ทางโฆษกก็จะพูดถึงงานมงคลของบ่าว สาว พิธีการและขั้นตอนต่างๆ แล้วชักชวนฝ่ายเจ้าบ่าวซื้อดอกไม้เพิ่อเป็นกองทุนให้บ่าวสาว เริ่มจากเจ้าสาวกลัดดอกไม้คิดอกเสื้อให้เจ้าบ่าว เพื่อนเจ้าสาวก็ถือขันยื่นให้ เจ้าบ่าวก็จะหยิบเงินใส่ขันถ้าใส่มากก็จะได้เสียงตบมือและเฮ ถ้าใส่น้อยก็จะได้ยินเสียงโห่ ต้องใส่เพิ่มจนฝ่ายเจ้าสาวเลิกโห่ จึงจะมีการเสริฟอาหารเจ้าบ่าวได้

       ไม่ใช่ว่าจะได้ทานอาหารง่ายๆนะ  ยังมีการเล่นกันอีกมาก เรียกว่ากว่าเจ้าบ่าวจะได้ทานอาหาร ปกติ ก็โดนกลั่นแกล้งอย่างสนุกสนานอีกหลายขั้นตอน เช่นเพื่อนๆ เจ้าสาวจะเอาขนมเม็ดขนุนมาป้อนใส่ปากให้ไม่รับก็ไม่ได้ ในเม็ดขนุนจะยัดไส้ด้วยพริกขี้หนูสดสองถึงสามเม็ด เมื่อเผ็ดก็จะมีแก้วน้ำมาป้อน แม่จำไม่ได้ว่าเขาใส่อะไรในแก้วน้ำ จำได้แต่เจ้าบ่าวกินน้ำแล้วสำลักหน้าตาแดงไปหมด จากนั้นเจ้าบ่าวไม่กล้ากินอะไรอีก ช่วงนี้เพื่อนเจ้าสาวก็ช่วยติดเข็มกลัดดอกไม้ให้ฝ่ายเจ้าบ่าว และทุกคนที่ได้ติดดอกไม้ก็จะหยิบเงินใส่ในขัน

       ที่แม่เห็นแปลกอีกอย่างในงานทั้งช่วงเช้าและเย็น คือการช่วยเงินของแขกที่มางาน พอแขกขึ้นบ้านจะมีคนฝ่ายเจ้าภาพนั่งอยู่พร้อมขันใส่เงิน ข้างๆ มีสมุด 1 เล่มพร้อมปากกา แขกที่มาก็จะเขียนชื่อ และจำนวนเงินที่ช่วยงาน แล้วใส่เงินลงขันตามจำนวนที่ลงไว้ในสมุด โดยไม่ต้องใส่ซอง แล้วจึงเดินเข้าไปนั่งทานอาหารเป็นวง ต่างกับที่บ้านแม่ แขกจะเข้างานเลยและเมื่อพบเจ้าภาพ  จึงช่วยงานด้วยเงินที่ใส่ซองเตรียมมา แต่มานึกทบทวนย้อนหลังดูแล้ว วิธีการที่ท้องถิ่นบ้านคุณยายชวดของลูกใช้ เป็นลักษณะเดียวกับการจัดเลี้ยงในงานมงคลสมรสปัจจุบัน ที่มีโต๊ะรับซองช่วยงาน แจกของชำร่วย และมีสมุดเขียนคำอำนวยพรให้บ่าวสาวในงานมงคลสมรสปัจจุบันที่จัดตามโรงแรมนั่นเอง

       ในช่วงเช้าขบวนขันหมากมาทางเรือมีการเล่นกันสนุกนัก กว่าที่จะทำพิธีมงคลได้ เช่นเจ้าสาว เสียท่าถูกหลอกลงเรือขันหมาก เรือออกไปไม้ยอมเทียบท่าต้องเสียค่าไถ่กันพอหอมปากหอมคอ จึงทำพิธีมงคลสมรสได้

       หลังจากมีเส้นทางสายใหม่ ตลิ่งชัน - สุพรรณบุรีแล้ว การเดินทางจากกรุงเทพฯ สะดวกและรวดเร็วขึ้นมาก หรือแม่อยู่ที่บ้านท่าหลวง (เขตจังหวัดพระนครศรีอยุธยา) และที่บ้านท่าลาน (เขตติดต่อจังหวัดสระบุรี) ก็สะดวกมีรถโดยสารประจำทาง สุพรรณบุรี – สระบุรี หรือมาด้วยรถส่วนตัวใช้เวลาเดินทางประมาณชั่วโมงกว่าๆเท่านั้น ระยะทาง 75 กิโลเมตร ต่างกับการเดินทางในช่วงแม่ยังเด็ก ทีใช้เวลาในการเดินทางเกือบ 2 วัน

ส้วมหลุม - พยาธิตัวตืด

       เรื่องนี้อาจไม่น่าอ่านนัก แต่เป็นเรื่องและเหตุการณ์ในยุคสมัยที่การสาธารณสุข ในยุคนั้นยังเข้าไม่ถึง ไม่ดีสำหรับชาวบ้านที่อยู่นอกเมืองหรือไกลๆออกไป จะดีก็แต่ในเมืองเท่านั้นในช่วงแม่ยังเล็ก อายุที่จำได้ประมาณหกหรือเจ็ดขวบนั้น การขับถ่ายยังใช้ส้วมหลุม ที่ในหมู่บ้านมีไม่กี่ที่ เท่าที่จำได้มีสามหรือสี่ที่เท่านั้นอยู่ไกลบ้านออกไป มีการถ่ายอุจจาระในป่ากันบ้าง สำหรับเด็กเล็กมากๆ ก็จะถ่ายตามพื้นดิน และเจ้าสุนัขก็จะเข้ามากินไม่เหลือให้มีกลิ่นเหม็น (เป็นสมัยที่สุนัขยังกินอุจจาระและน้ำข้าว สมัยนี้ไม่มีอุจจาระเรี่ยราดให้สุนัขกิน จนสุนัขมันไม่รู้จักและกินไม่เป็นแล้วกระมัง)


       แม่จำได้แม้แต่ในโรงเรียน เมื่อแรกแม่เข้าเรียนใหม่ๆ ก็ยังเป็นส้วมหลุมอยู่ ต่อมาบริษัทปูนซีเมนต์ไทยได้จัดทำห้องสุขาให้ทางโรงเรียน จึงได้ใช้โถส้วมซึมที่บริษัทผลิตออกมาจำหน่าย ทำให้โรงเรียน
มีโถส้วมแบบนั่งยองใช้ กว่าจะพัฒนารูปแบบสุขภัณฑ์ห้องสุขาเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน จริงๆเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ไม่น่าเล่าหรอกเป็นเรื่องที่บ่งบอกถึงความด้อยพัฒนาของบ้านเราเมืองเราในสมัยกว่า 50 ปี ที่ผ่านมา แต่ก็กลับมาคิดว่ามันน่าจะเป็นสิ่งที่ลูกหลานน่าจะรู้ไว้บ้าง ว่าคนในสมัยนั้นเขาใช้ชีวิตประจำวัน การกินอยู่หลับนอน และขับถ่ายกันอย่างไรจึงเขียนเล่าไว้ด้วย

       ที่บ้านยายไม่มีส้วมหลุมในบ้าน แม่จำได้ถ้าปวดท้องถ่ายกัน ต้องไปเข้าส้วมหลุมที่ป่าหลังบ้านป้าเฟี้ยม ถ้าเป็นตอนกลางคืนก็จะออกมาถ่ายหรือฉี่กัน ที่นอกชานบ้านที่โล่งไม่มีหลังคา ตรงที่ตาทำร่องไว้ให้ ร่องนี้ใช้สำหรับฉี่ในเวลากลางคืนมานาน ถึงต่อมาจะมีส้วมซึมอยู่ที่พื้นดินข้างบ้านแล้วก็ตาม (ยังไม่มีไฟฟ้าใช้ เวลากลางคืนไม่มีใครกล้าลงไปเข้าส้วมหลังบ้านได้) เช้ามาก็จะไม่มีอุจจาระให้เห็น เป็นอาหารเจ้าสุนัขไปแล้ว ถ้ามีกลิ่นฉี่เหม็น ตาก็จะขุดดินมากลบไม่ให้มีกลิ่นเหม็น เพราะเวลากลางวันก็จะใช้พื้นและแคร่ไม้ ใต้ถุนบ้านที่ไกลออกมามากทำงาน และพักผ่อนในชีวิตประจำวันอยู่แล้ว

       สิ่งที่จำได้มาจนถึงทุกวันนี้จากการใช้ส้วมหลุมคือ แม่มีเพื่อนรุ่นเดียวกันที่สนิท และบ้านอยู่ติดกันชื่อม็อก เป็นลูกลุงช่วยกับป้าเฟี้ยม คือบ้านใกล้แบบเปิดหน้าต่างพูดกันได้ มีอยู่วันชวนกันไปสอยมะขามเทศมันต้นใหญ่ที่ลานกลางหมู่บ้าน เกิดปวดท้องเลยเลิกสอยมะขามเทศ และเดินไปเป็นเพื่อน ให้เข้าส้วมหลุม แม่คอยดูต้นทาง (กลัวใครจะมาเข้าส้วมหรือแอบดู) ม็อกเข้าส้วมอยู่นานไม่เสร็จเสียที จนแม่ต้องร้องถามทำไมไม่เสร็จเสียที การเข้าส้วมนี่ไม่ใช่สิ่งที่น่ารื่นรมย์เลยนี่ ส้วมหลุมทุกที่ ถ้าไม่ใช้ไม้วางปิดให้ทั่วจนมิดละก็จะมองเห็นตัวหนอนยุบยับยั้วเยี้ยเต็มไปหมด และส่งกลิ่นไม่พึงปรารถนา ม็อกร้องบอกมาว่ามีอะไรออกมาจากก้น มันเอาออกไม่ได้ตกใจและกลัวมาก ให้แม่เข้าไปดูและช่วยด้วย

       แม่ก็เดินเข้าไปและก้มดู  เห็นเป็นตัวอะไรยาวๆ แกว่งอยู่ที่ก้นเพื่อน ก็นึกขึ้นได้ นี่น่าจะเป็นเจ้าตัวที่เคยเห็นจากรูปภาพในแผ่นโปสเตอร์ที่ครูสอน  คือพยาธิตัวตืด ตัวมันแบนยาวเป็นปล้องๆ ที่มองเห็นประมาณ 20 ซ.ม. แม่ก็ขยะแขยงแต่ก็ต้องช่วยเพื่อน ตอนนี้มันร้องไห้แล้ว ทำไงดีม็อกมีกระดาษเตรียมไว้เช็ดก้นแล้วเยอะพอสมควร (ใช้กระดาษหนังสือพิมพ์เก่าหรือกระดาษสมุดที่ใช้แล้ว) แม่ใช้กระดาษที่เพื่อนเตรียมไว้เช็ดก้นหลับหูหลับตา จับเจ้าพยาธิตัวตืดนี้ดึงอย่างแรงจนหลุดออกมาจากก้นเพื่อนเสียงดังบรึบ สะดุ้งแล้วปล่อยมือโยนทิ้งลงไปในหลุมส้วม อย่างไม่มองรีบเดินออกมารอข้างนอก พอเพื่อน ออกมาก็ชวนกันไปล้างมือล้างไม้กัน นังม็อก เล่าว่ามันถ่ายมีตัวอะไรออกมา มันตกใจและกลัวมากมันลองดึงดูแล้ว ยิ่งดึงยิ่งออกมายาวมากจนมันดึงไม่ถึงและกลัวมากมันขอบใจแม่ และขอร้องแม่อย่าเล่าให้ใครรู้มันอาย ตั้งแต่บัดนั้นจนบัดนี้เพิ่งจะเล่าคราวนี้เอง ( 50 กว่าปีมาแล้ว)

เช้าในฤดูหนาว

       ลมหนาวมาแล้ว เช้าๆไม่อยากเดินไปไหนเลย มีสิ่งที่มากับลมหนาวก็คือไส้เดือน ออกมาตั้งแถวเลื้อยกันตามพื้นดินมากมาย พอสายๆ แดดแรงก็จะแห้งตายไปเอง ในหน้าหนาวนี้ถ้าปีไหนหนาวมากเช้าๆ คนแก่ก็จะห่มผ้าและก่อกองไฟตรงลานบ้านไว้ผิงรับความอบอุ่นกัน หลายคนก็จะมานั่งอิงไออุ่นจากกองไฟ ที่ฟืนลุกแดงเมื่อลมพัดมาก็จะวูบๆหนาวกัน บางคนก็ยื่นมือรับไออุ่นจากฟืนที่ลุกโพลอยู่


       บางครั้งหนาวทั้งวันโดยไม่มีแสงแดดเลยก็มี ถึงหน้าหนาวนี้ในช่วงเช้าที่คนแก่จะนั่งรับความอบอุ่นกันอยู่ที่รอบๆกองไฟ เด็กๆหลายคนทั้งชายและหญิง ก็จะเดินถือไม้ไผ่เล็กๆไม่ยาวนัก ทำเชือกเป็นห่วงสำหรับคล้องจิ้งจกและกระตุกจับจิ้งจก เด็กๆพากันเดินหาจับจิ้งจกเมื่อคล้องและกระตุกจับได้แล้ว ก็จะใส่กระป๋องไว้แล้วหาจับต่อ  ถ้าจำไม่ผิด (ไม่แน่ใจนัก) จากนั้นพวกเด็กผู้ชายก็โยนจิ้งจกที่จับได้ เข้ากองไฟเผามากินกัน ส่วนเด็กผู้หญิงก็จะเอาเม็ดมะขามที่แกะไว้ มาใส่กระป๋อง วางบนไฟใช้ไม้คนไม่ให้เม็ดมะขามไหม้ จนเม็ดมะขามสุขหอมเอากระป๋องออกมาวางทิ้งไว้ให้เย็น เม็ดมะขามเผาไฟก็เป็นของขบเคี้ยวกินเล่นได้อีก
       แม่เป็นคนที่กลัวและไม่ชอบสัตว์เลื้อยคลานเช่น งู และตุ๊กแก เป็นอย่างมาก มีอยู่ครั้งแม่จำได้ยายเอาตุ๊กแกเคล้าเกลือปิ้ง และให้แม่กินโดยที่ไม่บอกว่าเป็นตัวอะไรปิ้ง แม่กินแล้วก็ไม่มีความแตกต่างหรือแปลกไปจากเนื้อนกหรือไก่ปิ้งคือกินแล้วก็อร่อยดี พอหลังจากนั้นจึงบอกว่าเป็นตุ๊กแกปิ้ง เพื่อรักษาอาการพุงโรก้นป่องของแม่ตอนนั้น (จำได้ว่าแม่ผอมแห้งและท้องป่อง) ในสมัยนั้นผู้ใหญ่จะบอกว่า แม่เป็นโรคตาลขโมย ผอมหัวโตและพุงโร ซึ่งผู้ใหญ่ในสมัยนั้นต่างคิดว่า แม่คงไม่มีชีวิตอยู่รอดไปได้จนถึงโตเป็นแน่ (ไม่รู้ว่าเป็นเพราะกินตุ๊กแกปิ้ง จริงหรือเปล่าทำให้หายและอยู่รอดมาได้จนทุกวันนี้)

       เมื่อแม่มีครอบครัวและคลอดลูกคนแรกที่บ้าน หมอตำแยที่มาทำคลอดคือป้าปี และคนข้างบ้านป้าแฉล้มที่ขายของที่โรงเรียน ได้มาช่วยในตอนคลอดด้วยก็คุยกันและบอกเล่าว่า นึกไม่ถึงว่าแม่จะอยู่รอดมาจนถึงปัจจุบัน(เวลาขณะนั้น)ได้ เพราะตอนเล็กๆป่วยเกือบตายจน ทุกคนมีความเห็นว่าคงไม่รอด เรื่องนี้ยายเล่าไว้ว่าแม่ขี้โรคป่วยบ่อยมากไม่แข็งแรง มีอยู่ครั้งตอนยังไม่สองขวบ  ป่วยหนักจนอาเจียนเป็นเลือดและมีตัวพยาธิปนออกมาด้วย

       ป่วยคราวนั้นเกือบตาย ยายตามหมออนามัยเป็นหมอผู้หญิง ชื่อหมอฉวีมีบ้านอยู่ที่ตลาดท่าหลวง หมอฉวีรักษาแม่จนหาย และยายยกแม่ให้เป็นลูกหมอฉวี เอาเคล็ดหมอฉวีก็รับแม่เป็นลูกและฝากให้ยายเลี้ยงให้ แม่จะถูกล้อมาตลอดว่าเป็นลูกหมอฉวี แม่เคยเห็นและรู้จัก ในความทรงจำว่าหมอฉวีเป็นผู้หญิงรูปร่างผอมๆบางๆ ใส่แว่นตา ผมยาวรวบไว้ เป็นคนอารมณ์ดี ยิ้มและทักทายเมื่อเห็นแม่ แม่จะอายและคอยหลบๆอยู่เสมอ แม่จำไม่ได้ว่าหลังกินตุ๊กแกปิ้งแล้วอาการพุงโรก้นป่องหายไปหรือไม่ จำได้เพียงว่าเคยกินตุ๊กแกปิ้งเท่านั้น

       ที่ตีนท่าน้ำตรงบ้านลุงจอมมีต้นมะเดื่อต้นใหญ่และสูงมากอยู่ต้นหนึ่ง ในหน้าหนาวต้นมะเดื่อออกผลดกห้อยระโยงระยาง และจะมียางเหนียวๆซึมที่ลำต้นซึ่งอยู่ไม่สูงนัก เด็กๆก็จะหาไม้ยาวๆ พอที่จะสอยถึง โดยใช้ไม้ยาวนี้จี้ไปที่ยางเหนียวของต้นมะเดื่อแล้วหมุนไม้ที่ยางเหนียวๆ ให้ติดไม้แล้วดึงไม้ที่ติดยางมะเดื่อนี้ออกมา ใช้สำหรับจับตัวจักจั่นที่มีเกาะอยู่มากมาย ที่ต้นมะเดื่อ และต้นไม้อื่นๆ อีกมากเป็นที่ชื่นชอบของเด็กๆอีกอย่าง

       ในหน้าหนาวนี้เวลาเช้าและค่ำ จะมีเสียงจักจั่นและเรไรร้องดังระงม เป็นเสียงแห่งดนตรีทิพย์ ที่บรรเลงได้อย่างไพรเราะเพาะพริ้งจากอ้อมอกของธรรมชาติจริงๆ

ลมฝนแรง – เก็บฝักมะขาม

       ในช่วงปลาย ๆ ฤดูฝนจนถึงต้นฤดูหนาว ประมาณเดือน ตุลาคม – พฤศจิกายน ยังมีลมแรงและฝนตก จนถึงช่วงใกล้หมดฝนที่เราเรียกกันว่าฝนสั่งลา หรือฝนสั่งฟ้าจะมีเสียงฟ้าร้องคำรามเสียงแน่นๆ ในช่วงนี้เมื่อมีลมแรงๆ ติดบ้านยายมีต้นมะขามใหญ่อยู่สองต้น พอลมมาฝนมา บ้านใกล้เรือนเคียง ต่างก็คว้าถังสังกะสีเปล่า คนละถังสองถังรีบมาเก็บมะขามที่ถูกลมตีร่วงลงมามากมาย คือต่างรีบมาเก็บ ก่อนที่ฝนจะตก มะขามที่หล่นลงมาเปียกน้ำฝนก็จะใช้ไม่ได้ ฝักมะขามถูกลมแรงๆ หล่นจนมองไม่เห็นพื้นดินแม่ก็เอาถังลงไปเก็บมะขามไว้เหมือนกัน กว่าฝนจะตกต่างคนก็ได้มะขามกันคนละถังสองถัง เรียกว่าวันไหนลมมาฝนมา ก็วิ่งกันมาเก็บมะขามกัน จนกว่ามะขามจะล่วงจนหมดต้น เพื่อเก็บมะขามมาไว้กิน บ้านละมากๆ


       เวลากลางวันที่ว่างจากงานอื่นๆแล้ว ก็จะเอามะขามที่เก็บไว้  มานั่งแกะเปลือกกันจนหมด แล้วจึง
ใช้มีดแงะเม็ดมะขามออก และปั้นมะขามที่แกะเปลือกและแงะเม็ดออกแล้วเป็นกำๆ เรียกว่ามี มะขามเปียกเก็บไว้ใช้ปรุงรสอาหาร สามารถเก็บใส่โหลหรือปี๊บไว้ใช้ได้ตลอดปี จนกว่ามะขามใหม่จะออก โดยไม่ต้องซื้อมะขามเปียกใช้ตลอดปี เม็ดมะขามที่แกะออกมีอยู่มาก บางทีก็เอามาแช่น้ำไว้ให้ร่อนแล้วเอามากินได้ หรือโยนเม็ดมะขามเข้าเตาไฟเผาให้สุก แล้วมาเคี้ยวกินเป็นของขบเคี้ยวสำหรับคนฟันดีๆก็ได้

กระป๋องออมสิน - กระบอกไม้ไผ่

       เมื่อเริ่มไปโรงเรียนแล้ว ยายจ่ายค่าขนมให้วันละ 50 สตางค์เท่านั้น ตากับยาย สอนให้เก็บเงินที่เหลือจากซื้อขนม ใส่กระปุกออมสินไว้ พอเต็มกระปุกออมสินแล้ว จะพาไปฝากเงินที่ธนาคารออมสินที่อำเภอท่าเรือ จะได้แวะเที่ยวที่ตลาดท่าเรือด้วย เป็นการจูงใจ กระปุกออมสินนี้ตาทำให้จากกระบอกไม้ไผ่คนละกระบอกทั้ง 4 คนพี่น้อง คิดดูสิว่ากระบอกไม้ไผ่ที่เป็นกระปุกออมสิน ตัดตรงระหว่างรอยต่อของปล้องไม้ไผ่และเจาะช่องให้ใส่สตางค์ได้ และทำที่แขวนหรือวางพิงได้ ไม้ไผ่ทั้งลำใหญ่และปล้องยาว ได้เงินวันละ 50 สตางค์ กี่ปีกี่ชาติจะเก็บเงินได้เต็มกระปุกออมสินกระบอกไม้ไผ่ของตาได้สักทีล่ะ

เรือเมล์สองชั้น

        มีอยู่ครั้งเมื่อหวนกลับไปทบทวนเวลาแล้ว แม่น่าจะเรียนอยู่ระหว่างชั้น ป. 3 - ป. 4  อายุประมาณ9 – 10 ปี มีโอกาสได้เดินทางไปบ้านยายที่ ต.ย่านยาว อ.สามชุก จ.สุพรรณบุรี จำไม่ได้ว่าไปด้วยเรื่องอะไร จำได้แต่ว่าไปกันสองคนกับตาของลูกด้วยเรือเมล์สองชั้น เป็นครั้งแรกและครั้งเดียวในชีวิต เพราะต่อมาเมื่อมีการขยายเส้นทางรถยนต์ทางบกทำให้การเดินทางรวดเร็วขึ้น การเดินทางทางน้ำด้วยเรือเมล์โดยสารและขนส่งสินค้าจึงเลิกไปเองโดยปริยายเอาเป็นว่าการเดินทางในช่วงเวลานั้น การเดินทางจากบ้านท้ายวัดที่ตำบลท่าหลวง อำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ไปบ้านยาย(แม่เฒ่า) ที่ ต.ย่านยาว อ.สามชุก จ.สุพรรณบุรี นั้นทั้งไกลและลำบากมาก แม่กับตาออกจากบ้านตั้งแต่เช้ามืด เดินมาข้ามเรือจ้างที่ท้ายตลาดท่าหลวง แล้วเดินประมาณ 2 กม.มาคอยต่อรถสองแถวตรงโค้งหน้าโรงภาพยนตร์ศรีอรุณท่าลาน เพื่อไปที่อำเภอท่าเรือ

       เมื่อลงรถสองแถวแล้วเดินผ่านตลาดสดหม่อมเจ้าไปสถานีรถไฟท่าเรือ (ตัวสถานีเดิมที่อยู่ใกล้สะพานข้ามแม่น้ำป่าสัก ตรงกับตัวตลาดท่าเรือ ปัจจุบันสถานีรถไฟท่าเรือย้ายมาอยู่ตรงข้ามวัดหนองแห้ว) และรอขึ้นรถไฟเที่ยวล่อง โดยซื้อตั๋วมาลงที่สถานีอยุธยา แล้วต่อรถเมล์ไปที่อำเภอบ้านแพน
เพื่อรอขึ้นเรือเมล์โดยสารที่ท่าเรือเมล์บ้านแพน เรือจะเดินทางขนสินค้า และผู้โดยสารมาจากท่าเตียน กรุงเทพฯ ถึงบ้านแพนราวๆ 2 – 3 โมงเย็น

       ก่อนลงเรือได้หาซื้ออาหารมื้อเย็นใส่ภาชนะไว้เป็นอาหารมื้อเย็นในเรือ เมื่อลงเรือแล้วก็ขึ้นไปเลือกหาที่นั่งที่นอนกันบนชั้นที่สอง มีคนลงเรือและเดินมาขึ้นบนชั้นสองเลือกหาที่นั่งกันอีกหลายคน มีคนหนึ่งเป็นทหารอากาศแต่งเครื่องแบบสวมหมวกหล่อ และเท่มาก เลือกที่นั่งท้ายๆและเอาหนังสือพิมพ์มาอ่านเงียบๆไม่ยุ่งกับใคร

       ส่วนชั้นล่างของเรือจะใช้สำหรับวางสินค้ามากมายที่มีผู้สั่งให้เรือจัดล่งตามที่ต้องการ มีสินค้าหลากหลายทั้งของสดของแห้งและของสำหรับใช้สอยในชีวิตประจำวันจากเมืองหลวง ถูกส่งมาทางเรือยังท่าเรือต่างๆโดยเฉพาะท่าเรือที่ไม่มีการเดินทางทางบกได้อย่างตลาดสามชุกในยุคนั้นเป็นต้น

       ตลาดสามชุกในยุคนั้นเป็นชุมทางในการขนส่งสินค้าจากเมืองหลวงมาพัก เพื่อส่งต่อไปยังอำเภอและตำบลห่างไกล ไม่มีเส้นทางที่จะส่งของป่า และพืชผลทางการเกษตรเข้าเมืองหลวงและรับสินค้าที่ไม่มีไปขายได้ เช่นที่ตำบลหนองหญ้าไซ (ปัจจุบันเป็นอำเภอ) อำเภอด่านช้าง อำเภอเดิมบางนางบวชเป็นต้น และเมื่อเรือกลับกรุงเทพฯ ก็จะขนสินค้าจากป่า และพืชผลไปส่งขายในเมืองหลวง ตลาดสามชุกในยุคนั้น จึงเป็นยุคทองเป็นชุมทางที่คึกคักด้วยผู้คนและสินค้าที่มีขึ้นล่องทุกวัน (เหมือนรถโชว์ห่วยขนล่งสินค้าตามผู้สั่ง ที่ท่าเตียนในปัจจุบัน)

       เรือแล่นมาเรื่อยๆแทบจะไม่จอดรับส่งผู้โดยสารอีกเลย เรือเมล์โดยสารสองชั้นนี้ใหญ่ มีรูปทรงคล้ายกับเรือท่องเที่ยวในปัจจุบันบรรจุคนและสินค้าได้มาก และคนโดยสารมากก็ยังมีที่ให้เลือกนั่งหรือนอนกับพื้นได้อย่างสบาย จนเย็นมากแล้วต่างคนก็เอาอาหารที่เตรียมมารัปทานกันเงียบๆ

      เรือออกจากบ้านแพน แม่น้ำเจ้าพระยา จากการสอบถามตาของลูก และคนเก่าๆที่เคยสัญจรขึ้นล่อง ทางเรือเป็นประจำในสมัยนั้น ทำให้ได้ข้อมูลการเดินเรือขึ้น-ล่อง ท่าเตียน-สามชุก สมบูรณ์ขึ้น ว่าเรือตัดเข้าแม่น้ำท่าจีน(สุพรรณบุรี) ทางเส้นทางน้ำมาอย่างไรตาเล่าว่า ออกจากแม่น้ำเจ้าพระยาที่ปากคลองหัวเวียงบางไทร เข้าเขื่อนเจ้าเจ็ดที่บางบาล ออกประตูน้ำบางยี่หนอยู่เหนือบางปลาม้าเข้าแม่น้ำสุพรรณ ผ่านประตูน้ำวัดพร้าวที่โพธิ์พระยาเรื่อยมา จนสุดทางที่ท่าเรือตลาดสามชุก
เวลาเดินเรือ วันละครั้ง จากท่าเตียน 09.00 น. – สามชุก เวลาประมาณ 13.00 น. ของอีก หนึ่งวัน และ ออกจากสามชุก เวลา 09.00 น. - ท่าเตียนเวลาประมาณ 13.00 น. ของอีก หนึ่งวัน
 
       เมื่อเรือแล่นมาถึงเขื่อนเจ้าเจ็ดเป็นเวลาค่ำแล้ว จริงๆน่าจะเป็นประตูน้ำแต่ในสมัยนั้นเรียกกันติดปากว่าเขื่อน เรือจะต้องรอเข้าประตูน้ำเจ้าเจ็ดที่กักเปิดและปิดประตูน้ำเพื่อปรับระดับน้ำให้เท่ากันที่ละด้าน เรือต้องรอนอกประตูก่อน ประตูน้ำจะปิดด้านเหนือและเปิดด้านใต้ที่เรือรออยู่ค่อยๆเปิดปรับระดับน้ำให้เท่ากันแล้วจึงเปิดเต็มที่ให้เรือที่รออยู่หลายลำผ่านเข้าไป แล้วจึงปิดประตูน้ำด้านใต้ เรียบร้อยแล้วก็ค่อยๆยกประตูน้ำด้านเหนือขึ้น เพื่อปรับระดับน้ำในเขื่อนให้เท่ากับเหนือเขื่อนแล้วจึงเปิดเต็มที่ให้เรือที่รออยู่ในประตูน้ำหลายลำผ่านออกไปได้

       ในช่วงที่เรือรอการปรับระดับน้ำอยู่ในประตูน้ำนี้ มีสิ่งที่ประทับใจ และจดจำมาได้จนทุกวันนี้คือ ไม่เคยเห็นปลาที่ไหนตัวใหญ่และมาก ฮุบน้ำกันโผงผางไม่ได้หยุดนั่งดูปลาฮุบน้ำจนง่วงและนอนหลับไปท่ามกลางเสียงปลาฮุบ แสดงออกถึงความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติในสายน้ำได้เป็นอย่างดี

       อีกเรื่องก็คือ เมื่อตื่นมาตอนเช้ามืดประตูน้ำยังไม่เปิดเรือยังออกไม่ได้ มีแม่ค้าขายข้าวแกงพายเรือขายอยู่ในประตูน้ำเป็นข้าวราดแกงที่กินนอกบ้านครั้งแรก ข้าวร้อนๆราดแกงเนื้อใส่มะเขือพวงอร่อยและแปลกมากเรือขายข้าวแกงเข้ามาขายได้อย่างไร และเข้ามาตอนไหนแต่เช้ามืดแล้วข้าวและแกงยังร้อนๆอยู่เลย ขายดีมากตักแทบไม่ทันเลย

       ตอนหลังๆสอบถามได้ความว่าในเวลาประมาณนี้ของทุกวันเรือเมล์โดยสารสองชั้นและเรืออื่นๆ จะรอผ่านออกไปทุกวัน แม่ค้าก็จะให้คนพายเรือพร้อมของใช้ในการขายแกงเข้ามาในประตูน้ำพร้อมกัน เมื่อเรือเข้ามาและปิดประคูน้ำแล้ว ให้เรือพายจอดตรงบันไดทางขึ้นลงพอเช้ามืดแม่ค้าก็เอาข้าวและแกงที่ทำมาร้อนๆ จากบ้านมาใส่เรือที่จอดรออยู่ในประตูน้ำ แล้วขนใส่เรือพายขายผู้ที่ติดอยู่บนเรือโดยสารทำแบบนี้ทุกวัน

       เมื่ออิ่มข้าวกันแล้วพอสายๆหน่อยประตูน้ำก็เปิดให้เรือผ่านออกไปได้ เรือแล่นมาต้องผ่านเขื่อนที่โพธิ์พระยามีประตูสำหรับปรับระดับน้ำเล็กๆอีกคือประตูน้ำวัดพร้าว รอเปิดปิดเพื่อปรับระดับน้ำในประตูน้ำไม่นานนัก หลังออกจากประตูน้ำวัดพร้าวมาแล้วเรือก็เริ่มจอดส่งผู้โดยสารและสินค้าตามท่าเรือตลาดต่างๆ มีที่พอจะจำได้เช่น ตลาดพังม่วง ตลาดบ้านกล้วย ตลาดวังหว้า ตลาดวังหิน และส่งผู้โดยสารตามท่าน้ำหน้าบ้านบ้าง ช่วงนี้เรือจะแล่นช้า เมื่อถึงหน้าบ้านแม่เฒ่า (ยายชวดของลูก) ที่มีบ้านอยู่ริมน้ำฝั่งตรงกันข้ามกับโรงงานน้ำตาลสุพรรณบุรี ขึ้นจากเรือที่ท่าน้ำหน้าบ้าน เวลาประมาณ 11.00 น.กว่าๆ แล้ว เป็นการเดินทางมาที่นี่เป็นครั้งแรกของแม่ และไม่เคยคิดมาก่อนเลยว่าในอีก 40 ปีให้หลัง จะต้องมาสร้างหลักปักฐานอยู่อย่างถาวร ณ ที่นี่

       ได้ข้อมูลเพิ่มเติมมาอีกว่า เรือโดยสารสองชั้นขนาดใหญ่ และขนาดกลางหรือเรือชั้นเดียว ที่สัญจรขึ้นล่องในแม่น้ำสุพรรณ เป็นของบริษัทสุพรรณขนส่ง เรือชั้นเดียวล่องขึ้นลงในแม่น้ำสุพรรณ จากตัวจังหวัด – ประตูน้ำโพธิ์พระยา – ศรีประจันต์ – ประตูน้ำสามชุก – ท่าช้างเดิมบางนางบวช มีทุกวัน ขึ้นล่องวันละหลายเที่ยว

       เรือสองชั้นขนาดกลางขึ้นล่อง สุพรรณ ท่าระหัด ประตูน้ำบางยี่หน ประตูน้ำเจ้าเจ็ด ออกแม่น้ำเจ้าพระยา บางไทร ลานเท ท่าเตียน ทุกวันทั้งไปและกลับ

       ส่วนเรือสองชั้นขนาดใหญ่ ที่ขึ้นล่องระหว่างแม่น้ำเจ้าพระยา – แม่น้ำสุพรรณ จากต้นทางที่ท่าเตียน บ้านแพน ปากคลองหัวเวียง ประตูน้ำเจ้าเจ็ด ประตูน้ำบางยี่หน ประตูน้ำโพธิ์พระยา ศรีประจันต์ ประตูน้ำสามชุกชลมาร์ค เดินเรือวันละเที่ยวใช้เวลา เทียวละ เกือบ 2 วัน

       เรือของบริษัทสุพรรณขนส่งเหล่านี้ ตั้งชื่ออย่างไพเราะจากชื่อของตัวละครในวรรณคดี ขุนช้าง – ขุนแผน เช่น เรือศรีมาลา เรือพิมพิลาไลย เรือพลายเพชร เป็นต้น

       ยังมีการเดินเรือยนต์เล็ก ที่รับส่งผู้โดยสาร เป็นช่วงสั้นๆ และส่ง – รับ ผู้โดยสาร ข้ามต่อกันตรงแต่ละประตูน้ำโดยไม่ต้องรอเวลาที่ประตูน้ำเปิด อีกเป็นช่วงๆ

       โดยมีเรือรับต่อกัน ตั้งแต่ จังหวัด – โพธิ์พระยา

                                             โพธิ์พระยา - ศรีประจันต์ ถ่ายเรือ

                                             ศรีประจันต์ - สามชุก ถ่ายเรือ

                                            สามชุก - เดิมบาง - ท่าช้าง – หันคา ถ่ายเรือ

                                            หันคา - ท่าโบสถ์ – ท่าแห - ถ่ายเรือ

                                            ท่าแห - มโนรมย์

มีเรือยนต์เล็กคอยรับส่งทุกช่วงประตูน้ำ และมีเรือยนต์เล็กให้เหมาลำได้ หรือใช้โยงเรือขนส่งสินค้าได้ตลอดลำน้ำสุพรรณ

วันพุธที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

นั่งเรือเมล์โดยสาร

       ในระยะแม่มาอยู่บ้านป้าที่ตลาดวังหินเมื่อ 30 ปีที่ผ่านมา การเดินทางไปไหนใช้แม่น้ำเป็นเส้นทางสัญจรมีเรือขึ้นล่อง ไปไหนใช้เรือ ไม่อย่างนั้นก็ต้องเดินด้วยเท้ากันจริงๆ หรือขี่รถจักรยานไป  ยังไม่มีรถจักรยานยนต์ มีรถประจำทางบ้างเป็นส่วนนัอย ส่วนใหญ่ใช้เรือพายเดินทางไปมาหาสู่กัน หรือจะไปที่ตัวอำเภอก็มีเรือเมล์โดยสาร  เป็นเรือคล้ายเรือด่วนเจ้าพระยาในปัจจุบัน  เพียงแต่จุผู้โดยสารได้น้อยกว่าเท่านั้น จะมีเรือเมล์โดยสารผ่านและจอดรับส่งผู้โดยสารตามท่าน้ำ ที่มีผู้โดยสารรออยู่เป็นเวลา แม่เห็นอยู่ทุกวัน เวลาลงไปอาบน้ำ ล้างจานและซักผ้าที่แพลูกบวบ ท่าน้ำของตลาดวังหินและยัง เคยลงเรือไปธุระที่ตัวอำเภอสามชุกกับญาติผู้พี่ หนึ่งหรือสองครั้งไม่แน่ใจ

        เล่าความเฉิ่มของแม่อีกอย่างให้ฟัง ในช่วงหลังปีใหม่ ปี พ.ศ. 2510 หลังวันเกิด 15 มกราคม แม่มี อายุครบ 15 ปีบริบูรณ์ อยากถ่ายรูปเก็บไว้ดู วันที่ 15 กุมภาพันธ์ ขอป้าไปถ่ายรูป ป้าให้ไปเองได้ ก็ต้องนั่งเรือโดยสารไปถ่ายรูปที่ตลาดสามชุก ขาไปมีคนยืนรอเรือ ไปตลาดสามชุกกันอยู่ที่ท่าน้ำหลายคนเรือเข้ามารับโดยที่ไม่ต้องโบกมือเรียก ขาลงเรือที่ท่าน้ำตลาดสามชุกก็จอดส่งเลย โดยที่ไม่ต้องบอกหรือ ทำสัญญาณใดๆ กับใคร

        เมื่อขึ้นจากเรือก็เข้าไปถ่ายรูปที่ร้านดัง ของอำเภอในขณะนั้น คือร้านยิ้มสวย พอถ่ายรูปแล้วก็เดินดูของในตลาด แล้วจึงมารอเรือกลับบ้านที่ท่าน้ำ มีคนรอลงเรืออยู่หลายคนแต่ไม่มีคนที่รู้จักเลย เมื่อลงเรือที่จอดรออยู่ที่ท่าน้ำสามชุก เรือล่องกลับก็นั่งดูสองฝั่งแม่น้ำอย่างเพลิดเพลิน และเห็นคนเดินไปที่หัวเรือพูดอะไรกับคนขับ หลายครั้งแล้วบางคนก็เดิน ไปที่ท้ายเรือสักพักเรือก็จอดส่งคนก็ยังไม่เข้าใจและไม่สงสัยอะไร เพราะเห็นบางคนที่นั่งอยู่ใกล้ๆ พอจะขึ้นจากเรือก็เดินไปรอที่ท้ายเรือ เรือก็จอดส่ง

        พอจะถึงท่าตลาดวังหินก็เดินไปคอยที่ท้ายเรืออยู่คนเดียวท่านี้ไม่มีคนอื่นด้วย เรือไม่จอดตกใจมาก ร้องขึ้นให้จอดส่งด้วย กระเป๋าเรือที่อยู่ท้ายเรือก็ตะโกนบอกคนขับเรือให้จอดด้วยและถามว่าบอกคนขับหรือเปล่า ว่าจะขึ้นที่ท่าไหน ก็ตอบว่าไม่ได้บอกเนื่องจากจ่ายเงินค่าตั๋วขึ้นที่ตลาดวังหินแล้วคิดว่าเรือจะจอดส่งตามตั๋วเรือ กระเป๋าจึงบอกว่าต่อไปทุกครั้งให้เดินไปบอกคนขับเรือก่อน จึงเดินมารอที่ท้ายเรือ วันนั้นเรือเลยมาจอดส่งที่ท่าวัดวังหิน ต้องเดินย้อนมาอีกและมีคนอยู่ที่ท่าน้ำตลาดเห็นเหตุการณ์ความเฉิ่มแม่เสียอีก นี่เป็นบทเรียนที่สำคัญเลยว่า ถ้าไม่เคยรู้และสงสัยให้ถาม

งานวัด

       คนแถบถิ่นนี้นะถ้ามีงานวัดที่ไหนตอนกลางคืนมีมหรสพไม่ว่าใกล้หรือไกลแค่ไหน ก็จะไปเที่ยวทั้งๆที่การเดินทางก็ไม่สะดวก มีแต่รถจักรยานขี่ซ้อนกันไป แม่ยังเคยไปงานจำไม่ได้ว่างานอะไร น่าจะเป็นงานทอดกฐินที่วัดหนองโรง พี่สาวชวนไป พากันซ้อนจักรยานหนุ่มข้างบ้าน ไปกันคนละคัน ไปแต่เช้าพอทอดกฐินเสร็จก็กลับ แม่ว่าไกลมากนั่งซ้อนจักรยาน เมื่อยมาก กว่าจะกลับถึงบ้านก็ตกเกือบ 16.00 น. แต่ก็สนุกตามวัยนะแล้วก็ไปกันหลายคนไม่มีอันตรายและไม่น่ากลัว ถนนในช่วงนั้นยังเป็นถนนลูกรัง คนขี่จักรยานให้นั่งคงเหนื่อย หนทางไม่ใกล้เลย

       อีกครั้งนั่งเรือยนต์เล็กที่ใช้สำหรับโยงเรือพ่วง ไม่มีเก้าอี้นั่ง นั่งกับพื้นไม้ในเรือไปเที่ยวงานวัด ที่วัดพังม่วงตอนกลางคืนก็ไกลอีกเหมือนกัน นั่งเรือไปประมาณสามชั่วโมงกว่าจึงถึง มีเรือที่พาผู้คนมาเที่ยวงานกลางคืนจอดเรียงรายอยู่ที่ท่าน้ำหลายสิบลำ ผู้ที่นั่งเรือไปเที่ยวชุดเดียวกันที่พอนึกได้ก็มี เจ้ จงรักษ์ กรูทอง จันทร์เพ็ญ จำไม่ได้ว่าที่วัดพังม่วงมีงานอะไรแต่ผู้คนมาเที่ยวงานกันเยอะมาก

       ถึงวัดก็พากันเดินเที่ยวงานและดูมหรสพมี ภาพยนตร์(หนัง) มีนาฏดนตรี(ลิเก) มีดนตรี ในงานวัดที่ขาดไม่ได้ก็คือ ร้านยิงปืนหุ่นด้วยลูกไม้ก๊อก ชิงช้าสวรรค์ มีปิดวิกเก็บเงินดูมอเตอร์ไซค์ไต่ถังคณะนายเปรื่อง เรืองเดช ปิดวิกเก็บเงิน ดูเมียงูบ้าง หรือคนแคระบ้าง ของที่เดินขายก็มี ตุ๊กตาตกแต่งสวยงามทำจากไม้ก๊อก หรือจากต้นโสนห้อยติดปลายไม้และเสียบกับไม้ยาว มีโรตีสายไหม มีไม้หึ่ง แกว่งๆ ดังหึ่งๆขาย มีอ้อยควั่นเสียบไม้เป็นแฉกๆคล้ายดอกไม้บาน เสียบกับไม้ยาวเดินขาย มีขนมอีกอย่างจำไม่ได้เรียกชื่ออะไร งานไหนงานนั้นมีขายทุกงาน ผูกเป็นพวงแบบพวงมาลัยมีกระดาษสีสดใสตัดขั้นขนมดูสวยงาม ห้อยคล้องตะขอแขวนขาย ขายดีและมีขายในงานวัดเป็นประจำเด็กๆชอบซื้อมาห้อยคล้องคอหรือถือหิ้วไว้กิน
ไม้หึ่ง


ขนมพวงมาลัย

       ที่ขาดเสียไม่ได้ทุกงานคือลูกโป่งห้อยปลายไม้และเสียบกับไม้ยาว เดินขายและขายดีกับเด็กๆ มีร้านมาขายของกินเช่น กล้วยทอด กล้วยแขก ข้าวเกรียบว่าว ข้ามโพดคั่ว น้ำแข็งกดใส่น้ำหวานต่างสีแล้วราดนมข้น มีขายของเล่น และของอื่นๆอีกมากมาย เดินดูกันรอบจนเหนื่อย เมื่อถึงเวลานัดกลับบ้านก็พากันมาที่เรือ ขานั่งเรือมาก็คุยกันอย่างสนุกสนาน ขากลับนี่นั่งกันเงียบ นอนหลับกันก็มีระยะทางนั่งเรือก็เท่ากันแต่ทำไมขากลับจึงดูไกลนัก นั่งเรือกันนานเท่าไรก็ไม่ถึงสักที นี่เป็นการเที่ยวกลางคืนครั้งที่ 2 ที่ไกลและตึกมากในช่วงเวลานั้น

ปลาที่สระหนองเข้

       ที่นาของแม่เฒ่า (ยายของแม่) มีสระใหญ่มากอยู่คือ สระหนองเข้ มีปลามากมายวิดสระปีละครั้งเก็บปลากันไม่หวาดไม่ไหว ตอนแม่ไปอยู่ที่ตลาดวังหิน ญาติๆพากันวิดปลาที่หนองเข้แบ่งกัน ป้าไปด้วยและหาบปลาที่วิดมาเต็มหาบ ป้าเลือกเอามาแต่ปลาช่อนเป็นส่วนใหญ่

       เอาอีกแล้วต้องช่วยกันทำปลาที่มากมาย ทำสำหรับกินสดๆบ้าง ที่เหลือแผ่ทำเป็นปลาเค็ม หมักและตากให้แห้งเก็บใส่ปี๊บแหวนไว้  ทำข้าวเหนียวหน้าปลาแห้งบ้าง ไว้ปิ้งกินบ้าง หรือต้มโคล้งบ้าง ส่วนพุงปลาช่อนที่มากมายก็ทำต้มยำ และตากแห้งไว้ทอดกินทีหลัง นี่ป้าเอามาแค่หาบเดียวนะ ญาติๆคนอื่นแต่ละคนก็หอบปลากลับบ้านกันไม่หวาดไม่ไหว

       มีอยู่ครั้งเมื่อแม่มีลูกๆแล้ว การเดินทางมาจากที่บ้านท้ายวัดถลุงเหล็ก มาสุพรรณสะดวกขึ้น ลุงส่งข่าวไปให้มาเที่ยว จะวิดปลาที่สระหนองเข้ ตอนนั้นซื้อรถยนต์แล้วเป็นรถกระบะสีขาวยี่ห้อโตโยต้า ที่มาด้วยกันก็มี พ่อกับแม่และลูกกุ้ง ยาย ลุงเล็ก และชวนลุงอนันต์ - น้าน้อย ก็มาด้วยมาค้างที่บ้านตาเวียน (ลุงของแม่) 2 คืน ทั้งดูและช่วยกันจับปลาที่มีมากมาย มาแบ่งปันกัน

วันพฤหัสบดีที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

เก็บพุทรา

       มีอยู่วันหนึ่งป้าชวนไปเก็บพุทรา ก็พากันหาบตะกร้าคอนไม้คานไปกันคนละหาบ เดินจากตลาดวังหินลัดเลอะตามคันนาระยะทางประมาณ 3 กิโลเมตรเศษมาจนถึงนาแถวหนองเข้ เป็นนาของพี่และน้องยายทั้งนั้นรวมกันอยู่ 100 กว่าไร่ ในขณะนั้นยังเป็นป่า และเป็นหนองน้ำอยู่มาก ใช้เป็นที่ทำนาได้ยังไม่มากนัก


       ซึ่งมีต้นพุทราขึ้นตามคันนา และในป่ามากมาย ส่วนใหญ่จะเลือกเก็บพุทราที่แก่และหล่นอยู่ตามโคนต้นมากกว่าที่จะเก็บจากต้นโดยตรง เหตุผลคือบางต้นก็สูงมากปีนเก็บไม่ได้ บางต้นไม่สูงก็เข้าไปเก็บไม่ถึงเนื่องจากต้นพุทรามีหนามแหลมคมมาก จึงเลือกเก็บใต้ต้นเท่าที่เก็บได้ แค่นี้ก็เก็บไม่หวาดไม่ไหวพักเดียวก็เต็ม 2 หาบ พากันคอนหาบพุทรากลับบ้าน ทั้งหนัก ทั้งร้อนและเหนื่อยกว่าจะถึงบ้าน (อยู่บ้านไม่เคยทำ)

       รุ่งขึ้นเช้าป้าทำร้านเอาพุทราที่เก็บมาล้างน้ำ วางตากแดดบนร้าน 2-3 วัน จนแห้งดีทิ้งไว้ให้เย็น  แล้วจึงเก็บใส่ปี๊บปิดฝาได้ถึง 2-3 ปี๊บ แล้วเอาปีบใส่สาแหรกห้อยเก็บไว้กันมอดหรือแมลงสามารถเก็บ
ไว้ได้นานเป็นปี เมื่อเวลามีงานหรืออยากกิน ก็จะเอาปี๊บพุทราออกมา แบ่งเอาแต่ส่วนที่จะทำ ส่วนที่เหลือเก็บไว้แบบเดิม

วิธีการทำพุทราเชื่อมของป้า เอาพุทราล้างน้ำอีกครั้ง

1.ถ้าจะเชื่อมทั้งลูก ล้าง แล้วก็แช่น้ำไว้หนึ่งคืนจนพุทราชุ่มน้ำแล้วจึงผึ่งใส่ตะแกรงให้เสด็ดน้ำก่อนจึงเชื่อม

2.ถ้าจะเชื่อมแบบทุบลูกพุทราให้แตกแบบหยาบๆ ก็ล้างแล้วผึ่งให้แห้ง แล้ววางทุบด้วยค้อนบนทั่ง (เป็นเหล็กท่อนกลมมีลักษณะคล้ายกระป๋องใส่น้ำผลไม้มีเส้นผ่าศูนย์กลางสามนิ้วเศษสูงสี่นิ้วใช้รองทุบของด้วยค้อน) หรือเขียงก็ได้โดยบุบๆ พอแตก จึงนำมาเชื่อม

3.ถ้าจะเชื่อมเป็นพุทราแผ่น หรือทำพุทรากวน ก็ล้างแล้วผึ่งให้แห้ง แล้วใส่ครกตำข้าว (เป็นครกไม้ใหญ่ และมีสากไม้ใหญ่ ตำด้วยการยืนหรือหาเก้าอี้มานั่งตำ) ปัจจุบันใช้เครื่องบดได้ละเอียดและสบายกว่ามาก ตำแล้วกรองด้วยตะแกรง ที่ยังละเอียดไม่ได้ที่ไม่หลุดจากตะแกรงก็เอากลับมาตำไม่ ในสมัยนั้นกว่าจะทำขนมอะไรกินสักอย่างได้ก็ใช้เวลามาก และส่วนใหญ่ต้องทำกินและแบ่งปันกันเอง วันๆแทบไม่ได้ใช้จ่ายเงินกันมากนัก จะจัดซื้อหาของก็แต่ที่ทำเองไม่ได้เท่านั้น เช่นต้องซื้อน้ำตาลในการทำขนมเป็นต้น

4.การทำน้ำเชื่อมพุทราตามข้อ 1-3 ยกเว้นพุทรากวน ทำแบบเดียวกัน ใช้น้ำตาลปี๊บใส่เกลือป่นครึ่งช้อนชา เคี่ยวพอเหนียวใส่พุทราคนหนึ่งครั้ง ยกลงจากเตาคนพุทราเบาๆ ให้เข้ากับน้ำเชื่อม ทิ้งไว้ให้เย็น นำมากินกับพริกกะเกลือได้

ขนข้าวเปลือก

       ยังมีเรื่องเล่าอีกเรื่องช่วยร้านอากรูม่วยที่ค้าขายของอยู่ในตลาด เป็นญาติทางเตี่ยของเจ้ม่วยเล็ก ขนข้าวเปลือก ที่รับซื้อจากลานนวดข้าวของชาวนา เพื่อมาเก็บไว้ในยุ้งข้าวขนาดใหญ่ หลังตลาดวังหินในเวลาค่ำ ซึ่งปกติเขามีลูกจ้างอยู่แล้ว มีอยู่ครั้งเดียวที่ไม่มีคนงาน แมจึงถูกเกณฑ์ไปช่วย เกิดมาก็เพิ่งเคยนี่แหละ ติดรถไปขนข้าวที่ลานนวดข้าวที่ควายกำลังเหยียบและย่ำข้าวเปลือกอยู่จนเมล็ดข้าวหลุดจากรวง


       ได้เห็นเขาตวงข้าวซื้อขายกัน เห็นการตวงข้าวด้วยถังไม้กลมๆ และวิธีตวงข้าวซื้อและตวงข้าวขายของพ่อค้าคนกลางที่แตกต่างกัน การตวงซื้อจะเทและกระแทกแรงๆ แถมจับถังตวงข้าวเขย่าๆ ให้ได้เนื้อเมล็ดข้าวมากๆ เวลาใช้ไม้ปาดขอบถังก็ปาดหย่งๆ แต่เวลาขายข้าวก็จะตวงและเทเบาๆ ไม่มีเขย่าถัง ตอนปาดข้าวก็ปาดให้ต่ำกว่าขอบถังนิดหน่อย  ทำแบบให้ดูเหมือนไม่ตั้งใจ เป็นแบบนี้ทุกครั้ง ช่วยขนข้าวจากลานนวดขึ้นรถจนหมด และมาลงที่ยุ้งท้ายตลาด ตอนลงยกใส่บ่าส่งเข้าเครื่องกวัดข้าวเล็กอีกครั้งก่อนแล้วจึงขนใส่ยุ้งข้าว ที่มีข้าวเปลือกสูงเกินครึ่ง ต้องใช้ไม้พาดและส่งต่อๆกันเข้าไป ใช้คนงานทั้งหมดเกือบ 10 คน กว่าจะแล้วเสร็จเกือบตี 2 เหนื่อยมาก แต่ก็สนุกและอาจจะเป็นที่ว่า อายุยังน้อยจึงทำไหว แต่เรียกว่าวันรุ่งขึ้นก็สะบักสบอมเลยทีเดียว จำไม่ได้ว่าได้รับค่าจ้างเท่าไร จำได้อย่างเดียวเป็นงานที่ทำเป็นครั้งแรก และเป็นประสบการณ์ตรงในชีวิตเพียงครั้งเดียวก็เกินพอ

วันพุธที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

ใส่บาตร - สาแหรกปิ่นโต

       มาอยู่กลับเจ้ มีเรื่องที่แสนจะอายมากจนไม่ลืมถึงบัดนี้ ปกติป้า หรือเจ้ จะเป็นคนใส่บาตรเองแม่ก็ไม่เคยออกไปดูพระมารับบินฑบาตรหน้าบ้านเลย ถ้าไม่ตั้งใจเดินออกไปดูก็จะไม่เห็น รู้แต่ว่าทุกเช้าพอพระผ่านมาก่อนจะวางปิ่นโต ที่มีสาแหรกห้อยอยู่ไว้หน้าบ้านที่ใส่บาตรกันเป็นประจำ เจ้าของบ้านหยิบปิ่นโตมาใส่กับข้าวที่ทำไว้แล้ว และออกมารอใส่บาตรพระตอนขากลับ


สาแหรกปิ่นโต
        มีอยู่วันแม่ต้องออกมาใส่บาตรเอง มีลุงผู้ชายคอยใส่บาตรอยู่คนหนึ่งไม่มีโต๊ะวางขันข้าวและปิ่นโต มีสาแหรก แม่เห็นลุงคนนั้นแกถือขันข้าวมือหนึ่ง และอีกมือหิ้วปิ่นโตมีสาแหรกไว้ แม่ไม่เห็นมีที่วาง ก็เรียนแบบ ถือแบบลุง พอพระมา ลุงก็ยกปิ่นโตโดยจับตัวปิ่นโตใต้สาแหรก พระก็จะรับขอเกี่ยวบนสาแหรกแล้วส่งต่อให้เด็กวัด แล้วลุงจึงตักข้าวใส่บาตร พอถึงแม่แม่ก็ทำแบบนั้นบ้าง เอ๊ะทำไมพระไม่รับส่งให้กี่ครั้งก็ไม่รับงงมาก จนลุงบอกว่าให้วางไว้กับพื้นดิน พระจึงหยิบสาแหรกปิ่นโตแล้วส่งต่อให้เด็กวัด แล้วจึงได้ใส่บาตรอายมาก จริงๆก็รู้นะว่า พระไม่รับของโดยตรงจากผู้หญิง แต่ไม่เคยใส่บาตรโดยไม่มีโต๊ะวางข้าวและกับข้าว แถมปิ่นโตมีสาแหรกหิ้วได้อีกด้วย ดูแบบจากคนที่ใส่ก่อนลืมคิดไปว่าเป็นผุ้ชายเสียอีก ไม่กล้าเล่าให้ป้าและพี่สาวฟัง แต่วันหลังลุงข้างบ้านเล่าให้พี่สาวฟังโดนเขาขำกันกลิ้งทั้งบ้านเลยอายจ้ง

เรียนตัดเสื้อและตัดผม

       เมื่อเรียนจบชั้นประถมปีที่ 7 แล้ว ยายของลูกไม่ให้แม่เรียนต่อ ในขณะที่เพื่อนสนิทกันมาก เรียนก็ไม่เก่งมีโอกาสดีพ่อแม่ให้เรียนต่อ และก็ยังติดต่อกันอยู่จนจบ ม.ศ. 6 ที่อำเภอท่าเรือ และไปสมัครเรียนที่วิทยาลัยครูพระนครศรีอยุธยา ยังมาเล่าการสอบสัมภาษณ์ให้แม่ฟ้ง ถูกถามว่า เจดีย์เจ้าอ้ายเจ้ายี่ อยู่ที่จังหวัดไหน คุณเพื่อนเธอตอบไม่ได้ ยังกลับมาถามแม่ว่าอยู่ที่ไหนแม่ก็บอกว่าก็อยู่ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาเรานี่เอง
    
        ผลสอบออกมาเพื่อนสอบได้แต่คะแนนไม่ดีนัก ถึงต้องไปเรียนที่ไกล คือวิทยาลัยครูบ้านจอมบึงจังหวัดราชบุรี ตั้งแต่นั้นก็ไม่ค่อยได้ติดต่อกันอีก จนจบและได้บรรจุเป็นครู นึกถึงก็เสียดายนักในสมัยนั้นถ้ายายให้เรียนต่อ  แม่น่าจะมีโอกาสและใช้ชีวิตแบบที่ตัวเองชอบและถนัดได้มากกว่านี้ ยายบอกว่าลูกผู้หญิงพอมีครอบครัวแล้วสามีก็เลี้ยงเองไม่ต้องเรียนมากนัก (อันนี้เป็นความคิดของผู้เป๊นพ่อแม่ ในยุดสมัยนั้นส่วนใหญ่จริงๆ) ในขณะที่ยายส่งลูกชายทั้งสองคนเรียนต่อ (ต่อไปต้องหาเลี้ยงครอบครัว) พี่ชายคนที่สองเรียนไม่ไหวจบ ม.ศ. 3 แบบเรียนซ้ำชั้นหลายครั้ง จึงไม่เรียนต่อ ออกมาฝึกงานอ็อกเหล็กที่ร้านมุ่ยเส็ง อยู่ตรงสะพานดำที่กรุงเทพฯ กับญาติๆ ที่เป็นลูกป้าที่ทำอยู่ก่อนแล้ว ส่วนพี่ชายคนโต เรียนที่วิทยาลัยเทคนิคทุ่งมหาเมฆกรุงเทพฯ อยู่แผนกช่างก่อสร้าง

       ครูประจำชั้นก็ถามทำไมแม่ไม่ส่งหนูเรียนต่อทั้งที่เรียนดี ก็ตอบไปว่า “แม่จะให้เรียนตัดเย็บเสื้อผ้ากับพี่สาวลูกป้าที่สุพรรณ แม่คิดว่าลูกผู้หญิงให้เรียนแล้วทำงานอยู่กับบ้านน่าจะดีกว่า” ในสมัยนั้นเด็กถูกสอนและถูกอบรมมาให้เชื่อฟัง และไม่เถียงผู้ใหญ่ แม่ก็ยังเด็กนัก โลกภายนอกรับรู้จากการฟังวิทยุ และอ่านจากหนังสือที่มี หรือหาอ่านได้จากถุงกระดาษห่อของบ้าง หนังสือพิมพ์เก่าที่ซื้อมาตัดทำถุงขายบ้างและยืมเพื่อนอ่านบ้าง ไม่มีร้านขายหนังลือในตลาดใกล้บ้าน ไม่ได้มีโอกาสออกไปไหนด้วย ทำให้ไม่เห็นความจำเป็นเรื่องการศึกษาต่อ

       แต่เมื่อนึกย้อนกลับไป คิดและทบทวนดูสาเหตุที่ไม่ได้เรียนต่อ น่าจะเป็นที่เราไม่มีเงินเรียนมากกว่า ในเมื่อตาไม่ได้ทำงานมีเงินเดือนประจำ ยายหาบขนมขาย เป็นงานหนักมากมาหาเลี้ยงครอบครัว ส่งลูกชายเรียนกรุงเทพฯได้ ต้องใช้จ่ายเงินมากนัก ยายขยันและทำงานหนักมาตลอดชีวิตปัจจุบันยายอายุ 80 ปี เหนื่อยจนไม่ยอมสู้ ไม่รับรู้อะไรแม้แต่การใช้ชีวิตประจำวันก็ทำไม่ได้อีกแล้ว

       หลังจากจบชั้นประถมปีที่เจ็ด เมื่อปี 2509 อายุ 14 ปี แม่อยู่ช่วยยายทำงานบ้าน และช่วยเตรียมของขายให้ยาย ไม่กี่เดือนต่อมายายพาไปอยู่กับป้าที่เป็นพี่สาวยาย ที่บ้านเลขที่ 7/5 หมู่ 5 ตลาดวังหิน ตำบลย่านยาว อำเภอสามชุก จังหวัดสุพรรณบุรี เพื่อเรียนตัดเย็บเสื้อผ้ากับพี่สาวลูกของป้า แม่อยู่ที่บ้านป้ากับพี่สาวที่เรียกกันว่า เจ้ม่วยเล็ก (หมวยเล็ก) อยู่นานน่าจะเป็นปี ไม่ได้บันทึกไว้จำไม่ได้ ดูจากในรูปถ่าย ได้จดวันเดือนปีไว้ คือ 15 กุมภาพันธ์ 2510 อายุ 15 ปีกับ 1 เดือน

       เจ้ม่วยเล็ก สอนตัดเย็บเสื้อผ้าตามหลักสูตรฮ่องกงบราเชียร์ เรียนทั้งทฤษฎีและปฏิบัติ มีสมุดเขียนวิธีทำและวาดแบบเสื้อเป็นสมุดปกแข็งเล่มใหญ่ แม่ก็เรียนไปทำได้ตัดเย็บได้อาจ จะเป็นด้วยไม่รักไม่ชอบก็เป็นได้ เหมือนยายให้เรียนก็เรียนไปงั้นๆ แหละ เอาดีและเก่งไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นการตัดเย็บ หรือการดัดผม (ขนาดการดัดผมตัวเอง ตั้งแต่รุ่นสาวมาจนถึงปัจจุบัน ปี 2549 ยังดัดผมนับครั้งได้ ไม่เกิน 5 ครั้ง) แต่ก็ไม่อยากขัดใจยาย และที่สำคัญอยากเปลี่ยนบรรยากาศและสถานที่อยู่บ้าง (เบื่อพ่อหรือตาของลูกที่ดุมาก)

       ได้เปลี่ยนบรรยากาศจริง ชีวิตในช่วงนี้มีอะไรแตกต่างจากที่เคยทำเคยเป็น และเคยรู้เคยเห็นอยู่มากทีเดียว เอาง่ายๆ แค่การหุงข้าวป้าให้นั่งพับเพียบเรียบร้อย ตักข้าวสารจากปี๊บใส่ข้าวด้วยกะลาตาเดียวที่ขัดและใช้มาจนเงามัน แล้วยกขึ้นหัวกล่าวบูชาและขอขมาแม่พระโพสพแล้วจึงเทข้าวใส่หม้อหุงข้าวได้
อยู่ที่บ้านกับยาย  แม่จะเป็นคนคอยใส่บาตรทุกเช้า  ยายต้องเตรียมอาหารและของขาย แม่ต้องคอยใส่บาครพระ ที่หน้าประตูจะมีโต๊ะสำหรับวางขันข้าว ถ้วยใส่กับข้าวและถ้วยใส่ขนมถ้ามี บางทีก็ทำไม่ทันหรือยังไม่ได้ยกของใส่บาตรออกมา พอพระมาถึงไม่เห็นคนทีหน้าบ้าน เด็กวัดก็จะส่งเสียง “พระมาแล้วครับ” การใส่บาตรต้องนั่งยองๆกลับพื้นให้เรียบร้อย แล้วยกขันข้าวขึ้นหัวจบ จึงลุกขึ้นใส่ข้าวที่บาตรพระทุกองค์ที่มา องค์ละ 1-2 ทัพพี แล้วนั่งยองลงไหว้พระ จนพระเดินไปแล้วจึงลุกขึ้นยืน ส่วนเด็กวัดก็จะเอาถ้วยกับข้าวและขนมเทใส่ปิ่นโตที่ถือมา เป็นอันเสร็จการใส่บาตรเช้า เก็บขันและถ้วยใส่บาตรไปล้าง

มีงาน - อุปสมบท

       ในหมู่บ้านชนบทของแม่นี้ ถ้าบ้านใครมีงาน เราเด็กๆก็จะสนุกสนานกันมากโดยเฉพาะ วันก่อนวันงานที่เรียกว่าวันสุกดิบ บ้านงานและบริเวณรอบๆ จะสว่างไสวด้วยแสงจากตะเกียงเจ้าพายุ หลายๆดวง พวกแม่ครัวก็จะเตรียมเครื่องปรุงสำหรับประกอบอาหารทั้งคาวและหวาน มีแม่ครัวใหญ่และสาวๆ หนุ่มๆในหมู่บ้านมาช่วยกันเป็นลูกมือ สาวๆ ก็จะช่วยปอกหัวหอม ปอกกระเทียม ล้างผักหั่นผัก เตรียมไว้แกงเช้ามืดวันพรุ่งนี้ การปอกหัวหอมนี้ทำเอาสาวๆร้องไห้น้ำตาไหลไปตามๆกัน (จากน้ำมันของหัวหอมระเหยออกมาเข้าตา วิธีแก้ไขให้เอาเกลือป่นสักหนึ่งกำมือ  วางข้างเขียงที่ใช้หั่นหอม จะช่วยให้ไม่แพ้น้ำมันหอมระเหยของหัวหอม) ส่วนพวกหนุ่มๆก็แน่นอน โขลกพริกแกงบ้าง ขูดมะพร้าวโดยใช้กระต่าย
กระต่ายขูดมะพร้าว


ขูดมะพร้าวบ้าง
        ส่วนทางด้านของหวาน  ก็จะช่วยกันกวนถั่วเขียวกับน้ำตาลทรายไว้เตรียมทำขนม แล้วปั้นถั่วเป็นก้อนๆ  สำหรับทำเม็ดขนุน ช่วยตอกไข่เป็ดบ้าง ทำน้ำเชื่อมบ้าง ทำทองหยอด ฝอยทอง ทำสังขยาบ้าง ขนมทุกอย่างต้องทำเองมีแม่ครัวทำขนมและใช้ลูกมือที่มาช่วยงานหลายคน ใช้ไข่เป็ดเป็นร้อยเป็นพันฟอง ใช้น้ำตาลทรายและน้ำตาลปีบซื้อยกปี๊บ ใช้เนื้อสัตว์มากต้องล้มหมู และวัว
กันเองแหวนห้อยไว้เป็นต้น สนุกและใช้คนมาก หนุ่มสาวมีโอกาสได้พบและรู้จักกันก็เวลามีงานนี้แหละ มาช่วยงานได้ทำงานร่วมกันและสนิทสนมกัน จนอาจจะถึงขั้นเป็นคนรักกันได้ในบางคู่

       เด็กๆก็จะอิ่มหมีพีมัน จนถึงขั้นอยากให้มีงานบ่อยๆ (ปกติทุกคนก็มีอาหารกินกันไม่มีใครอดอยาก เพียงแต่ถ้ามีงานจะพิเศษมีอาหารและขนมมากมายที่ปกติไม่ได้มีทำกินกัน) โดยปกติถ้าไม่มีงานพอมืดค่ำ เด็กๆก็จะไม่ได้รับอนุญาตให้ลงจากเรือน นอกจากมีงานเช่นนี้เท่านั้น เด็กก็จะวิ่งเล่นกันอย่างสนุกสนานท่ามกลางแสงไฟสว่างไสวจากตะเกียงเจ้าพายุ พากันวิ่งเล่นซ่อนแอบหากันจนกว่าจะถูกเรียกตัวกลับบ้านเข้านอน

        บ้านงานจะสว่างไสวด้วยแสงจากตะเกียงเจ้าพายุ บ้านข้างๆจะสว่างเฉพาะส่วนที่ตะเกียงส่องถึง จะมืดเป็นบางมุม มุมมืดๆนั้นเป็นที่เด็กๆชอบแอบเล่นซ่อนหากัน ทั้งๆที่ทุกคนก็กลัวความมืด กลัวผีที่เคยได้ฟังแต่คำบอกเล่า ไม่เคยมีตัวตนให้พบเห็นแต่ก็กลัว แต่มีความสนุกเป็นอันมากที่ได้แอบผู้ใหญ่  เล่นซ่อนหากัน ถ้าผู้ใหญ่รู้ว่าแอบเล่นซ่อนหากันตอนกลางคืน ก็จะถูกดุไม่ให้เล่นและให้กลับเข้าบ้านนอนทันที พวกผู้ใหญ่ก็จะบอกว่าเล่นซ่อนหาหรือซ่อนแอบตอนกลางคืนไม่ได้ ห้ามเล่น เพราะผีจะจับตัวซ่อนไว้หากันไม่เจอจนหายไปได้

       ต่อมาเมื่อมีวุฒิภาวะมากขึ้น มาคิดย้อนกลับไปก็น่าจะเป็นว่า การเล่นซ่อนแอบในเวลาค่ำคืนนั้นเสี่ยงมาก เด็กๆอาจจะถูกงู หรือสัตว์มีพิษอื่นๆ กัด หรือตกหลุม ตกบ่อ โดยที่มองไม่เห็นได้ สรุปว่าอาจมีอันตรายจากสัตว์มีพิษ หรืออุบัติเหตุเกิดขึ้นได้มากกว่าในเวลากลางวัน

       เด็กๆรุ่นแม่ในช่วงอายุ 12-13 ปี ก็ยังไม่ค่อยรู้เรื่องเพศ เรียกว่ายังไม่รู้ประสีประสาอะไรกันนัก ยังแก้ผ้ากระโดดน้ำแม่น้ำเล่นกันอยู่เลย ทั้งๆที่ นมขึ้นตุ่ยๆแล้ว ทั้งผู้หญิงและผู้ชายเรื่องเพศ จะไม่ค่อยรู้กันเหมือนในปัจจุบันนี้ มีอยู่ครั้งตอนแม่เริ่มรุ่นๆสาวแล้ว (อายุ 15-16) คนในหมู่บ้านคืออาเภาและอาไหว ที่เป็นญาติห่างๆจะบวชหลานชาย แต่ไปบวชที่วัดตะเข้ซึ่งอยู่ไกลออกไป คนละจังหวัดเป็นวัดที่อยู่ริม แม่น้ำป่าสัก การเดินทางต้องไปทางเรือ อาเภาและอาไหวก็เกณฑ์สาวๆในหมู่บ้านไปช่วยงานกัน โดยขออนุญาตพ่อกับแม่ของแต่ละคน แม่ก็เป็นคนหนึ่งที่ได้ไปด้วย ไปกันทางเรือมีสาวๆในหมู่บ้านไปด้วยเป็นกลุ่มประมาณ 13 หรือ 14 คน นี่แหละที่จำได้มี พี่ผา สมบัติ แป้ว นิภา ตุ๊ ตาน ม็อก แม่ ไปกันวันสุขดิบก่อนวันอุปสมบท 1 วัน

       ไปกันแต่ช้ำช่วยกันถือของไปลงเรือตรงท่าน้ำหลังโรงเรียน ไปช่วยกันเตรียมของทำบุญบ้าง ช่วยห่อของถวายพระบ้างต้องค้างคืน พอเช้าบวชนาคเสร็จแล้ว เลี้ยงฉลองพระเพลแล้วจึงจะกลับ บ้านที่จัดงานเป็นบ้านชั้นเดียวใต้ถุนสูงมีนอกชานทรงบ้านก็คล้ายๆกันโดยทั่วไป  มีที่แม่ชื่นชอบและฝ้งใจเป็นพิเศษคือ มีต้นลูกจันทร์ต้นใหญ่มีลูกห้อยมากมาย อยู่ติดนอกชานบ้านส่งกลิ่นหอมสามารถเอื้อมมือเก็บลูกที่อยู่ใกล้ๆได้ แม่เป็นคนที่ชอบความหอมและชอบกินเนื้อของลูกจันทร์อยู่แล้วด้วย แถวบ้านไม่มี
        ในคืนวันสุขดิบ เมื่อช่วยกันทำงานจนเสร็จก็ดึกแล้ว จึงอาบน้ำเตรียมเข้านอนกันก็นอนเรียงๆ  กันอยู่ที่ชานในตัวบ้าน เรียกว่านอนเรียงๆกันไปเลย โดยจุดตะเกียงเจ้าพายุไว้ตลอดคืน คือผู้หญิงถูกจัดให้นอนริมด้านใน เรียงกันมา แม่อาบน้ำทีหลังเหลือที่นอนริมนอกสุด ต่อจากแม่มีพวกผู้ชายนอนเรียงๆต่อกันไปอีก ความที่ไม่รู้ประสีประสาอะไรเลย (อายจังไม่เคยเล่าและถามใครมาก่อนเลย) ในช่วงวัยขนาดนั้น แม่ก็นอนไม่ค่อยหลับ คิดว่าแย่แน่ๆเลย แม่โดนนอนอยู่ใกล้ๆผู้ชาย จะท้องหรือเปล่านะ ในขณะนั้นคิดว่าที่ชายหญิงเขาแต่งงานกันและนอนด้วยกันเฉยๆก็มีลูกได้ (ทั้งโง่ทั้งเซ่อจังนะ อาจจะเห็นจากปลากัดก็ได้ ที่อยู่กันคนละโหลยังมีท้องมีลูกได้)  ไม่ได้รู้เรื่องเพศสัมพันธ์เลย ผู้คนในยุคนั้น ก็ไม่ทำอะไรประเจิดประเจ้อให้เด็กๆเห็น การแต่งกายก็ไม่วับๆแวมๆ แม่กลับจากงานบวช ก็ไม่กล้าพูด ไม่กล้าถามใคร ได้แต่วิตกอยู่เช่นนั้น กลัวอยู่ตั้งนาน และก็ยังไม่รู้ว่าคนมีครรภ์จะไม่มีประจำเดือน เรื่องนี้เป็นเรื่องที่จำฝังใจจนถึงทุกวันนี้ ถึงความไม่รู้ของตนเอง มานึกย้อนหลังกลับไปในสมัยนั้นส่วนใหญ่จะไม่ค่อยรู้เรื่องกัน (ไม่เหมือนในปัจจุบันมีสื่อมากมาย) มีเรื่องขำๆ เล่าเพิ่มหน่อย ในภายหลัง มีเพื่อนคนหนึ่งแต่งงานไปนานมีลูกจนโตแล้วเล่าให้ฟัง ตอนที่เขาแต่งงานเขาก็ไม่เคยรู้เรื่องนี้  เขาก็ไม่ยอมให้แฟนถูกเนื้อต้องตัวได้เป็นเดือน กว่าจะค่อยๆตะล่อมๆสอบถามผู้ใหญ่จนรู้เรื่อง