จากการที่เดินทางไปบ้านยายชวด ครั้งที่ไปเรือสองชั้นแล้ว แม่ก็ไม่ได้ไปอีกนานมาก แต่ทราบว่ามีการตัดถนนจากกรุงเทพฯ ไปนครปฐมและเชื่อมต่อไปสุพรรณบุรีได้ทำให้การเดินทางสะดวกและรวดเร็วขึ้น ใช้เวลาน้อยกว่า ต่อมาการเดินทาง และขนส่งสินค้าทางเรือก็เลิกไปโดยปริยาย จนกลับตำนานการเดินทางด้วยเรือโดยสารสองชั้น และจบกลับการเป็นชุมชนที่คึกคักด้วยผู้คน ชุมทางของท่าเรือโดยสารขนส่งผู้คนและสินค้าของป่าจากอำเภอหรือตำบลนอกๆ ที่ไม่อยู่ติดแม่น้ำท่าจีน(สุพรรณ) ของตลาดสามชุก
ครั้งที่สองแม่มาบ้าน คุณยายชวดของลูก ปกติคนสุพรรณบุรีจะเรียกยายว่า ”แม่คุณ” และเรียกตา ว่า “พ่อคุณ” เป็นคำเรียกขานเฉพาะของคนสุพรรณ แต่ยายให้แม่เรียกคุณยายชวดของลูกว่า แม่เฒ่า ไม่ทราบและไม่ได้ถามว่า ทำไมจึงไม่เรียกแม่คุณเหมือนคนอื่นเขา จำไม่ได้ว่าตอนนั้นแม่อายุเท่าไร ประมาณว่า 11 – 12 ปี การเดินทางสะดวกขึ้น ออกเดินจากบ้านตั้งแต่เช้า มาขึ้นลิฟ(กระเช้า)ข้ามคลองหลังตลาดท่าหลวง (มีกระเช้าให้ข้ามฟากแทนเรือจ้างแล้ว) เดินมาขึ้นรถโดยสารที่โค้งหน้าโรงหนังศรีอรุณ เพื่อไปขึ้นรถไฟที่สถานีท่าเรือล่องเข้ากรุงเทพฯ เมื่อลงรถไฟที่ปลายทางสถานีหัวลำโพงแล้ว
ยายพาขึ้นรถเมล์ไปสถานีขนส่งสายใต้ที่พรานนก หรือบางกอกน้อยไม่แน่ใจ เพื่อขึ้นรถบัสโดยสารไปสุพรรณบุรี (ปัจจุบันเรียกเส้นทางสายนี้ว่า สุพรรณสายเก่า หลังจากตัดเส้นทางสายใหม่ ตลิ่งชัน – สุพรรณบุรี ) ในช่วงนั้นเส้นทางอ้อมและไกล ถนนก็มีที่ลาดยางบ้าง เป็นถนนลูกรังบ้างแต่ก็ยังดี ผ่านนครปฐม กำแพงแสน สวนแตง อู่ทอง เมื่อมาถึงสถานีขนส่งสุพรรณบุรีแล้ว ก็นั่งรถเมล์เหลืองสุพรรณ – ด่านช้าง ไปถึงถนนคันคลองชลประทาน หลังบ้านแม่เฒ่าก็เย็นมากใกล้ค่ำแล้ว ซึ่งดีกว่าการเดินทางด้วยเรือโดยสารสองชั้นที่ต้องค้างวันค้างคืนมากนัก การขนส่งสินค้าทางบกก็สะดวกมากขึ้น
จำได้ว่ามาสุพรรณคราวนี้มางานแต่งงานพี่มะปรางลูกสาวลุงตุ้ย จัดที่บ้านแม่เฒ่ามีญาติมาช่วยงานกันมากมาย มีแม่ครัวทั้งอาหารคาว อาหารหวาน มีผู้คนในหมู่บ้านกุลีกุจอมาช่วยงานกันอย่างคึกคักก่อนวัน สุกดิบ เห็นลูกมะพร้าวกองใหญ่ เป็นพันลูกได้ สำหรับทำอาหารทั้งคาวและหวาน มีคนช่วยปอก ก่อนวันงาน 3 – 4 วัน
วันสุกดิบ (ก่อนงาน 1 วัน) หนุ่มๆ สาวๆ ก็จะมาช่วยผ่าและขูดมะพร้าวกันด้วยกระต่าย ที่ทำจากไม้มีเหล็กคมเป็นซี่ สำหรับนั่งขูด (ไม่มีกระต่ายที่ใช้ไฟฟ้าขูดมะพร้าวแบบปัจจุบัน) คิดดูมะพร้าวกองใหญ่เป็นพันลูก ใช้คนขูดด้วยมือต้องใช้คนและเวลานานขนาดไหน และยังการเตรียมเครื่องปรุงอื่นๆอีกด้วย ต้องใช้คนมากเท่าไร การจัดงานแต่ละครั้ง จึงรวมผู้คนที่มาช่วยทำของ และญาติที่มาจากต่างถิ่นเรียกว่ารวมญาติที่ไปทำมาหากินอยู่ที่ไกลๆ มาพบปะมาค้างในบ้านงานกัน
แม่เข้าช่วยเป็นลูกมือในอาหารหวาน ขนมที่จัดทำในงานแต่งมี ทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง เม็ดขนุน ข้าวเหนียวสังขยา เป็นต้น โดยจะเลือกขนมที่เป็นมงคลในงานแต่ง แม่ช่วยปั้นเม็ดขนุนกับเด็กสาวๆลูกลุงรุ่นเดียวกันหลายคนจนดึก (การมีงานแต่ละครั้งจะสื่อให้เห็นถึงประเพณี วัฒนธรรม และความรักสามัคคีของผู้คนในชุมชนยุคสมัยนั้นได้อย่างแท้จริง)
จะเล่างานแต่งอีกงาน งานแต่งงานลูกลุงที่รุ่นเดียวกันชื่อ มาลา(น้อย) การจัดเตรียมงานก็ไม่แตกต่างกันแต่แม่ก็รุ่นสาวแล้ว พบปะญาติมิตรและคราวนี้ได้อยู่ช่วยในงานพิธีด้วยในตอนเย็นถูกขอให้ช่วยหายดอกไม้ จะเล่าประเพณีแต่งในช่วงเย็นที่แตกต่างจากที่บ้านอยุธยาและสระบุรีที่แม่อยู่
คือจะมีฝ่ายเจ้าบ่าวมาเยี่ยมหอเป็นขบวนใหญ่ ฝ่ายเจ้าสาวก็จะขายดอกไม้ แม่ก็ไม่เข้าใจขายดอกไม้อะไรขายทำไม ที่บ้านเราไม่เห็นมี สรุปเตรียมทำดอกไม้สดช่อเล็กๆ ติดเข็มกลัดใส่พานเตรียมไว้ พอเย็นเจ้าสาวและบรรดาสาวๆ แต่งตัวกันสวยงาม ก็มีแขกมาร่วมงานในช่วงเย็น มีการเลี้ยงอาหารคาวหวานกัน คือเป็นงานเลี้ยงฉลองงานมงคลสมรสนั่นเอง เป็นงานเลี้ยงแบบแขกมาก็นั่งล้อมวงทานอาหารกันบนบ้าน มีเครื่องเสียงเปิดเพลงกล่อมหอ
เมื่อเจ้าบ่าวและเพื่อนๆหรือญาติหนุ่มๆสาวๆ ของเจ้าบ่าวมาถึง ก็ถูกเชื้อเชิญให้ขึ้นบ้าน นั่งอยู่ด้านหนึ่ง เจ้าสาวถูกเรียกออกมาต้อนรับ เพื่อนเจ้าสาวก็ถือถาดดอกไม้ออกมาด้วย ทางโฆษกก็จะพูดถึงงานมงคลของบ่าว สาว พิธีการและขั้นตอนต่างๆ แล้วชักชวนฝ่ายเจ้าบ่าวซื้อดอกไม้เพิ่อเป็นกองทุนให้บ่าวสาว เริ่มจากเจ้าสาวกลัดดอกไม้คิดอกเสื้อให้เจ้าบ่าว เพื่อนเจ้าสาวก็ถือขันยื่นให้ เจ้าบ่าวก็จะหยิบเงินใส่ขันถ้าใส่มากก็จะได้เสียงตบมือและเฮ ถ้าใส่น้อยก็จะได้ยินเสียงโห่ ต้องใส่เพิ่มจนฝ่ายเจ้าสาวเลิกโห่ จึงจะมีการเสริฟอาหารเจ้าบ่าวได้
ไม่ใช่ว่าจะได้ทานอาหารง่ายๆนะ ยังมีการเล่นกันอีกมาก เรียกว่ากว่าเจ้าบ่าวจะได้ทานอาหาร ปกติ ก็โดนกลั่นแกล้งอย่างสนุกสนานอีกหลายขั้นตอน เช่นเพื่อนๆ เจ้าสาวจะเอาขนมเม็ดขนุนมาป้อนใส่ปากให้ไม่รับก็ไม่ได้ ในเม็ดขนุนจะยัดไส้ด้วยพริกขี้หนูสดสองถึงสามเม็ด เมื่อเผ็ดก็จะมีแก้วน้ำมาป้อน แม่จำไม่ได้ว่าเขาใส่อะไรในแก้วน้ำ จำได้แต่เจ้าบ่าวกินน้ำแล้วสำลักหน้าตาแดงไปหมด จากนั้นเจ้าบ่าวไม่กล้ากินอะไรอีก ช่วงนี้เพื่อนเจ้าสาวก็ช่วยติดเข็มกลัดดอกไม้ให้ฝ่ายเจ้าบ่าว และทุกคนที่ได้ติดดอกไม้ก็จะหยิบเงินใส่ในขัน
ที่แม่เห็นแปลกอีกอย่างในงานทั้งช่วงเช้าและเย็น คือการช่วยเงินของแขกที่มางาน พอแขกขึ้นบ้านจะมีคนฝ่ายเจ้าภาพนั่งอยู่พร้อมขันใส่เงิน ข้างๆ มีสมุด 1 เล่มพร้อมปากกา แขกที่มาก็จะเขียนชื่อ และจำนวนเงินที่ช่วยงาน แล้วใส่เงินลงขันตามจำนวนที่ลงไว้ในสมุด โดยไม่ต้องใส่ซอง แล้วจึงเดินเข้าไปนั่งทานอาหารเป็นวง ต่างกับที่บ้านแม่ แขกจะเข้างานเลยและเมื่อพบเจ้าภาพ จึงช่วยงานด้วยเงินที่ใส่ซองเตรียมมา แต่มานึกทบทวนย้อนหลังดูแล้ว วิธีการที่ท้องถิ่นบ้านคุณยายชวดของลูกใช้ เป็นลักษณะเดียวกับการจัดเลี้ยงในงานมงคลสมรสปัจจุบัน ที่มีโต๊ะรับซองช่วยงาน แจกของชำร่วย และมีสมุดเขียนคำอำนวยพรให้บ่าวสาวในงานมงคลสมรสปัจจุบันที่จัดตามโรงแรมนั่นเอง
ในช่วงเช้าขบวนขันหมากมาทางเรือมีการเล่นกันสนุกนัก กว่าที่จะทำพิธีมงคลได้ เช่นเจ้าสาว เสียท่าถูกหลอกลงเรือขันหมาก เรือออกไปไม้ยอมเทียบท่าต้องเสียค่าไถ่กันพอหอมปากหอมคอ จึงทำพิธีมงคลสมรสได้
หลังจากมีเส้นทางสายใหม่ ตลิ่งชัน - สุพรรณบุรีแล้ว การเดินทางจากกรุงเทพฯ สะดวกและรวดเร็วขึ้นมาก หรือแม่อยู่ที่บ้านท่าหลวง (เขตจังหวัดพระนครศรีอยุธยา) และที่บ้านท่าลาน (เขตติดต่อจังหวัดสระบุรี) ก็สะดวกมีรถโดยสารประจำทาง สุพรรณบุรี – สระบุรี หรือมาด้วยรถส่วนตัวใช้เวลาเดินทางประมาณชั่วโมงกว่าๆเท่านั้น ระยะทาง 75 กิโลเมตร ต่างกับการเดินทางในช่วงแม่ยังเด็ก ทีใช้เวลาในการเดินทางเกือบ 2 วัน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น