วันพฤหัสบดีที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

เช้าในฤดูหนาว

       ลมหนาวมาแล้ว เช้าๆไม่อยากเดินไปไหนเลย มีสิ่งที่มากับลมหนาวก็คือไส้เดือน ออกมาตั้งแถวเลื้อยกันตามพื้นดินมากมาย พอสายๆ แดดแรงก็จะแห้งตายไปเอง ในหน้าหนาวนี้ถ้าปีไหนหนาวมากเช้าๆ คนแก่ก็จะห่มผ้าและก่อกองไฟตรงลานบ้านไว้ผิงรับความอบอุ่นกัน หลายคนก็จะมานั่งอิงไออุ่นจากกองไฟ ที่ฟืนลุกแดงเมื่อลมพัดมาก็จะวูบๆหนาวกัน บางคนก็ยื่นมือรับไออุ่นจากฟืนที่ลุกโพลอยู่


       บางครั้งหนาวทั้งวันโดยไม่มีแสงแดดเลยก็มี ถึงหน้าหนาวนี้ในช่วงเช้าที่คนแก่จะนั่งรับความอบอุ่นกันอยู่ที่รอบๆกองไฟ เด็กๆหลายคนทั้งชายและหญิง ก็จะเดินถือไม้ไผ่เล็กๆไม่ยาวนัก ทำเชือกเป็นห่วงสำหรับคล้องจิ้งจกและกระตุกจับจิ้งจก เด็กๆพากันเดินหาจับจิ้งจกเมื่อคล้องและกระตุกจับได้แล้ว ก็จะใส่กระป๋องไว้แล้วหาจับต่อ  ถ้าจำไม่ผิด (ไม่แน่ใจนัก) จากนั้นพวกเด็กผู้ชายก็โยนจิ้งจกที่จับได้ เข้ากองไฟเผามากินกัน ส่วนเด็กผู้หญิงก็จะเอาเม็ดมะขามที่แกะไว้ มาใส่กระป๋อง วางบนไฟใช้ไม้คนไม่ให้เม็ดมะขามไหม้ จนเม็ดมะขามสุขหอมเอากระป๋องออกมาวางทิ้งไว้ให้เย็น เม็ดมะขามเผาไฟก็เป็นของขบเคี้ยวกินเล่นได้อีก
       แม่เป็นคนที่กลัวและไม่ชอบสัตว์เลื้อยคลานเช่น งู และตุ๊กแก เป็นอย่างมาก มีอยู่ครั้งแม่จำได้ยายเอาตุ๊กแกเคล้าเกลือปิ้ง และให้แม่กินโดยที่ไม่บอกว่าเป็นตัวอะไรปิ้ง แม่กินแล้วก็ไม่มีความแตกต่างหรือแปลกไปจากเนื้อนกหรือไก่ปิ้งคือกินแล้วก็อร่อยดี พอหลังจากนั้นจึงบอกว่าเป็นตุ๊กแกปิ้ง เพื่อรักษาอาการพุงโรก้นป่องของแม่ตอนนั้น (จำได้ว่าแม่ผอมแห้งและท้องป่อง) ในสมัยนั้นผู้ใหญ่จะบอกว่า แม่เป็นโรคตาลขโมย ผอมหัวโตและพุงโร ซึ่งผู้ใหญ่ในสมัยนั้นต่างคิดว่า แม่คงไม่มีชีวิตอยู่รอดไปได้จนถึงโตเป็นแน่ (ไม่รู้ว่าเป็นเพราะกินตุ๊กแกปิ้ง จริงหรือเปล่าทำให้หายและอยู่รอดมาได้จนทุกวันนี้)

       เมื่อแม่มีครอบครัวและคลอดลูกคนแรกที่บ้าน หมอตำแยที่มาทำคลอดคือป้าปี และคนข้างบ้านป้าแฉล้มที่ขายของที่โรงเรียน ได้มาช่วยในตอนคลอดด้วยก็คุยกันและบอกเล่าว่า นึกไม่ถึงว่าแม่จะอยู่รอดมาจนถึงปัจจุบัน(เวลาขณะนั้น)ได้ เพราะตอนเล็กๆป่วยเกือบตายจน ทุกคนมีความเห็นว่าคงไม่รอด เรื่องนี้ยายเล่าไว้ว่าแม่ขี้โรคป่วยบ่อยมากไม่แข็งแรง มีอยู่ครั้งตอนยังไม่สองขวบ  ป่วยหนักจนอาเจียนเป็นเลือดและมีตัวพยาธิปนออกมาด้วย

       ป่วยคราวนั้นเกือบตาย ยายตามหมออนามัยเป็นหมอผู้หญิง ชื่อหมอฉวีมีบ้านอยู่ที่ตลาดท่าหลวง หมอฉวีรักษาแม่จนหาย และยายยกแม่ให้เป็นลูกหมอฉวี เอาเคล็ดหมอฉวีก็รับแม่เป็นลูกและฝากให้ยายเลี้ยงให้ แม่จะถูกล้อมาตลอดว่าเป็นลูกหมอฉวี แม่เคยเห็นและรู้จัก ในความทรงจำว่าหมอฉวีเป็นผู้หญิงรูปร่างผอมๆบางๆ ใส่แว่นตา ผมยาวรวบไว้ เป็นคนอารมณ์ดี ยิ้มและทักทายเมื่อเห็นแม่ แม่จะอายและคอยหลบๆอยู่เสมอ แม่จำไม่ได้ว่าหลังกินตุ๊กแกปิ้งแล้วอาการพุงโรก้นป่องหายไปหรือไม่ จำได้เพียงว่าเคยกินตุ๊กแกปิ้งเท่านั้น

       ที่ตีนท่าน้ำตรงบ้านลุงจอมมีต้นมะเดื่อต้นใหญ่และสูงมากอยู่ต้นหนึ่ง ในหน้าหนาวต้นมะเดื่อออกผลดกห้อยระโยงระยาง และจะมียางเหนียวๆซึมที่ลำต้นซึ่งอยู่ไม่สูงนัก เด็กๆก็จะหาไม้ยาวๆ พอที่จะสอยถึง โดยใช้ไม้ยาวนี้จี้ไปที่ยางเหนียวของต้นมะเดื่อแล้วหมุนไม้ที่ยางเหนียวๆ ให้ติดไม้แล้วดึงไม้ที่ติดยางมะเดื่อนี้ออกมา ใช้สำหรับจับตัวจักจั่นที่มีเกาะอยู่มากมาย ที่ต้นมะเดื่อ และต้นไม้อื่นๆ อีกมากเป็นที่ชื่นชอบของเด็กๆอีกอย่าง

       ในหน้าหนาวนี้เวลาเช้าและค่ำ จะมีเสียงจักจั่นและเรไรร้องดังระงม เป็นเสียงแห่งดนตรีทิพย์ ที่บรรเลงได้อย่างไพรเราะเพาะพริ้งจากอ้อมอกของธรรมชาติจริงๆ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น