วันพฤหัสบดีที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

เรือเมล์สองชั้น

        มีอยู่ครั้งเมื่อหวนกลับไปทบทวนเวลาแล้ว แม่น่าจะเรียนอยู่ระหว่างชั้น ป. 3 - ป. 4  อายุประมาณ9 – 10 ปี มีโอกาสได้เดินทางไปบ้านยายที่ ต.ย่านยาว อ.สามชุก จ.สุพรรณบุรี จำไม่ได้ว่าไปด้วยเรื่องอะไร จำได้แต่ว่าไปกันสองคนกับตาของลูกด้วยเรือเมล์สองชั้น เป็นครั้งแรกและครั้งเดียวในชีวิต เพราะต่อมาเมื่อมีการขยายเส้นทางรถยนต์ทางบกทำให้การเดินทางรวดเร็วขึ้น การเดินทางทางน้ำด้วยเรือเมล์โดยสารและขนส่งสินค้าจึงเลิกไปเองโดยปริยายเอาเป็นว่าการเดินทางในช่วงเวลานั้น การเดินทางจากบ้านท้ายวัดที่ตำบลท่าหลวง อำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ไปบ้านยาย(แม่เฒ่า) ที่ ต.ย่านยาว อ.สามชุก จ.สุพรรณบุรี นั้นทั้งไกลและลำบากมาก แม่กับตาออกจากบ้านตั้งแต่เช้ามืด เดินมาข้ามเรือจ้างที่ท้ายตลาดท่าหลวง แล้วเดินประมาณ 2 กม.มาคอยต่อรถสองแถวตรงโค้งหน้าโรงภาพยนตร์ศรีอรุณท่าลาน เพื่อไปที่อำเภอท่าเรือ

       เมื่อลงรถสองแถวแล้วเดินผ่านตลาดสดหม่อมเจ้าไปสถานีรถไฟท่าเรือ (ตัวสถานีเดิมที่อยู่ใกล้สะพานข้ามแม่น้ำป่าสัก ตรงกับตัวตลาดท่าเรือ ปัจจุบันสถานีรถไฟท่าเรือย้ายมาอยู่ตรงข้ามวัดหนองแห้ว) และรอขึ้นรถไฟเที่ยวล่อง โดยซื้อตั๋วมาลงที่สถานีอยุธยา แล้วต่อรถเมล์ไปที่อำเภอบ้านแพน
เพื่อรอขึ้นเรือเมล์โดยสารที่ท่าเรือเมล์บ้านแพน เรือจะเดินทางขนสินค้า และผู้โดยสารมาจากท่าเตียน กรุงเทพฯ ถึงบ้านแพนราวๆ 2 – 3 โมงเย็น

       ก่อนลงเรือได้หาซื้ออาหารมื้อเย็นใส่ภาชนะไว้เป็นอาหารมื้อเย็นในเรือ เมื่อลงเรือแล้วก็ขึ้นไปเลือกหาที่นั่งที่นอนกันบนชั้นที่สอง มีคนลงเรือและเดินมาขึ้นบนชั้นสองเลือกหาที่นั่งกันอีกหลายคน มีคนหนึ่งเป็นทหารอากาศแต่งเครื่องแบบสวมหมวกหล่อ และเท่มาก เลือกที่นั่งท้ายๆและเอาหนังสือพิมพ์มาอ่านเงียบๆไม่ยุ่งกับใคร

       ส่วนชั้นล่างของเรือจะใช้สำหรับวางสินค้ามากมายที่มีผู้สั่งให้เรือจัดล่งตามที่ต้องการ มีสินค้าหลากหลายทั้งของสดของแห้งและของสำหรับใช้สอยในชีวิตประจำวันจากเมืองหลวง ถูกส่งมาทางเรือยังท่าเรือต่างๆโดยเฉพาะท่าเรือที่ไม่มีการเดินทางทางบกได้อย่างตลาดสามชุกในยุคนั้นเป็นต้น

       ตลาดสามชุกในยุคนั้นเป็นชุมทางในการขนส่งสินค้าจากเมืองหลวงมาพัก เพื่อส่งต่อไปยังอำเภอและตำบลห่างไกล ไม่มีเส้นทางที่จะส่งของป่า และพืชผลทางการเกษตรเข้าเมืองหลวงและรับสินค้าที่ไม่มีไปขายได้ เช่นที่ตำบลหนองหญ้าไซ (ปัจจุบันเป็นอำเภอ) อำเภอด่านช้าง อำเภอเดิมบางนางบวชเป็นต้น และเมื่อเรือกลับกรุงเทพฯ ก็จะขนสินค้าจากป่า และพืชผลไปส่งขายในเมืองหลวง ตลาดสามชุกในยุคนั้น จึงเป็นยุคทองเป็นชุมทางที่คึกคักด้วยผู้คนและสินค้าที่มีขึ้นล่องทุกวัน (เหมือนรถโชว์ห่วยขนล่งสินค้าตามผู้สั่ง ที่ท่าเตียนในปัจจุบัน)

       เรือแล่นมาเรื่อยๆแทบจะไม่จอดรับส่งผู้โดยสารอีกเลย เรือเมล์โดยสารสองชั้นนี้ใหญ่ มีรูปทรงคล้ายกับเรือท่องเที่ยวในปัจจุบันบรรจุคนและสินค้าได้มาก และคนโดยสารมากก็ยังมีที่ให้เลือกนั่งหรือนอนกับพื้นได้อย่างสบาย จนเย็นมากแล้วต่างคนก็เอาอาหารที่เตรียมมารัปทานกันเงียบๆ

      เรือออกจากบ้านแพน แม่น้ำเจ้าพระยา จากการสอบถามตาของลูก และคนเก่าๆที่เคยสัญจรขึ้นล่อง ทางเรือเป็นประจำในสมัยนั้น ทำให้ได้ข้อมูลการเดินเรือขึ้น-ล่อง ท่าเตียน-สามชุก สมบูรณ์ขึ้น ว่าเรือตัดเข้าแม่น้ำท่าจีน(สุพรรณบุรี) ทางเส้นทางน้ำมาอย่างไรตาเล่าว่า ออกจากแม่น้ำเจ้าพระยาที่ปากคลองหัวเวียงบางไทร เข้าเขื่อนเจ้าเจ็ดที่บางบาล ออกประตูน้ำบางยี่หนอยู่เหนือบางปลาม้าเข้าแม่น้ำสุพรรณ ผ่านประตูน้ำวัดพร้าวที่โพธิ์พระยาเรื่อยมา จนสุดทางที่ท่าเรือตลาดสามชุก
เวลาเดินเรือ วันละครั้ง จากท่าเตียน 09.00 น. – สามชุก เวลาประมาณ 13.00 น. ของอีก หนึ่งวัน และ ออกจากสามชุก เวลา 09.00 น. - ท่าเตียนเวลาประมาณ 13.00 น. ของอีก หนึ่งวัน
 
       เมื่อเรือแล่นมาถึงเขื่อนเจ้าเจ็ดเป็นเวลาค่ำแล้ว จริงๆน่าจะเป็นประตูน้ำแต่ในสมัยนั้นเรียกกันติดปากว่าเขื่อน เรือจะต้องรอเข้าประตูน้ำเจ้าเจ็ดที่กักเปิดและปิดประตูน้ำเพื่อปรับระดับน้ำให้เท่ากันที่ละด้าน เรือต้องรอนอกประตูก่อน ประตูน้ำจะปิดด้านเหนือและเปิดด้านใต้ที่เรือรออยู่ค่อยๆเปิดปรับระดับน้ำให้เท่ากันแล้วจึงเปิดเต็มที่ให้เรือที่รออยู่หลายลำผ่านเข้าไป แล้วจึงปิดประตูน้ำด้านใต้ เรียบร้อยแล้วก็ค่อยๆยกประตูน้ำด้านเหนือขึ้น เพื่อปรับระดับน้ำในเขื่อนให้เท่ากับเหนือเขื่อนแล้วจึงเปิดเต็มที่ให้เรือที่รออยู่ในประตูน้ำหลายลำผ่านออกไปได้

       ในช่วงที่เรือรอการปรับระดับน้ำอยู่ในประตูน้ำนี้ มีสิ่งที่ประทับใจ และจดจำมาได้จนทุกวันนี้คือ ไม่เคยเห็นปลาที่ไหนตัวใหญ่และมาก ฮุบน้ำกันโผงผางไม่ได้หยุดนั่งดูปลาฮุบน้ำจนง่วงและนอนหลับไปท่ามกลางเสียงปลาฮุบ แสดงออกถึงความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติในสายน้ำได้เป็นอย่างดี

       อีกเรื่องก็คือ เมื่อตื่นมาตอนเช้ามืดประตูน้ำยังไม่เปิดเรือยังออกไม่ได้ มีแม่ค้าขายข้าวแกงพายเรือขายอยู่ในประตูน้ำเป็นข้าวราดแกงที่กินนอกบ้านครั้งแรก ข้าวร้อนๆราดแกงเนื้อใส่มะเขือพวงอร่อยและแปลกมากเรือขายข้าวแกงเข้ามาขายได้อย่างไร และเข้ามาตอนไหนแต่เช้ามืดแล้วข้าวและแกงยังร้อนๆอยู่เลย ขายดีมากตักแทบไม่ทันเลย

       ตอนหลังๆสอบถามได้ความว่าในเวลาประมาณนี้ของทุกวันเรือเมล์โดยสารสองชั้นและเรืออื่นๆ จะรอผ่านออกไปทุกวัน แม่ค้าก็จะให้คนพายเรือพร้อมของใช้ในการขายแกงเข้ามาในประตูน้ำพร้อมกัน เมื่อเรือเข้ามาและปิดประคูน้ำแล้ว ให้เรือพายจอดตรงบันไดทางขึ้นลงพอเช้ามืดแม่ค้าก็เอาข้าวและแกงที่ทำมาร้อนๆ จากบ้านมาใส่เรือที่จอดรออยู่ในประตูน้ำ แล้วขนใส่เรือพายขายผู้ที่ติดอยู่บนเรือโดยสารทำแบบนี้ทุกวัน

       เมื่ออิ่มข้าวกันแล้วพอสายๆหน่อยประตูน้ำก็เปิดให้เรือผ่านออกไปได้ เรือแล่นมาต้องผ่านเขื่อนที่โพธิ์พระยามีประตูสำหรับปรับระดับน้ำเล็กๆอีกคือประตูน้ำวัดพร้าว รอเปิดปิดเพื่อปรับระดับน้ำในประตูน้ำไม่นานนัก หลังออกจากประตูน้ำวัดพร้าวมาแล้วเรือก็เริ่มจอดส่งผู้โดยสารและสินค้าตามท่าเรือตลาดต่างๆ มีที่พอจะจำได้เช่น ตลาดพังม่วง ตลาดบ้านกล้วย ตลาดวังหว้า ตลาดวังหิน และส่งผู้โดยสารตามท่าน้ำหน้าบ้านบ้าง ช่วงนี้เรือจะแล่นช้า เมื่อถึงหน้าบ้านแม่เฒ่า (ยายชวดของลูก) ที่มีบ้านอยู่ริมน้ำฝั่งตรงกันข้ามกับโรงงานน้ำตาลสุพรรณบุรี ขึ้นจากเรือที่ท่าน้ำหน้าบ้าน เวลาประมาณ 11.00 น.กว่าๆ แล้ว เป็นการเดินทางมาที่นี่เป็นครั้งแรกของแม่ และไม่เคยคิดมาก่อนเลยว่าในอีก 40 ปีให้หลัง จะต้องมาสร้างหลักปักฐานอยู่อย่างถาวร ณ ที่นี่

       ได้ข้อมูลเพิ่มเติมมาอีกว่า เรือโดยสารสองชั้นขนาดใหญ่ และขนาดกลางหรือเรือชั้นเดียว ที่สัญจรขึ้นล่องในแม่น้ำสุพรรณ เป็นของบริษัทสุพรรณขนส่ง เรือชั้นเดียวล่องขึ้นลงในแม่น้ำสุพรรณ จากตัวจังหวัด – ประตูน้ำโพธิ์พระยา – ศรีประจันต์ – ประตูน้ำสามชุก – ท่าช้างเดิมบางนางบวช มีทุกวัน ขึ้นล่องวันละหลายเที่ยว

       เรือสองชั้นขนาดกลางขึ้นล่อง สุพรรณ ท่าระหัด ประตูน้ำบางยี่หน ประตูน้ำเจ้าเจ็ด ออกแม่น้ำเจ้าพระยา บางไทร ลานเท ท่าเตียน ทุกวันทั้งไปและกลับ

       ส่วนเรือสองชั้นขนาดใหญ่ ที่ขึ้นล่องระหว่างแม่น้ำเจ้าพระยา – แม่น้ำสุพรรณ จากต้นทางที่ท่าเตียน บ้านแพน ปากคลองหัวเวียง ประตูน้ำเจ้าเจ็ด ประตูน้ำบางยี่หน ประตูน้ำโพธิ์พระยา ศรีประจันต์ ประตูน้ำสามชุกชลมาร์ค เดินเรือวันละเที่ยวใช้เวลา เทียวละ เกือบ 2 วัน

       เรือของบริษัทสุพรรณขนส่งเหล่านี้ ตั้งชื่ออย่างไพเราะจากชื่อของตัวละครในวรรณคดี ขุนช้าง – ขุนแผน เช่น เรือศรีมาลา เรือพิมพิลาไลย เรือพลายเพชร เป็นต้น

       ยังมีการเดินเรือยนต์เล็ก ที่รับส่งผู้โดยสาร เป็นช่วงสั้นๆ และส่ง – รับ ผู้โดยสาร ข้ามต่อกันตรงแต่ละประตูน้ำโดยไม่ต้องรอเวลาที่ประตูน้ำเปิด อีกเป็นช่วงๆ

       โดยมีเรือรับต่อกัน ตั้งแต่ จังหวัด – โพธิ์พระยา

                                             โพธิ์พระยา - ศรีประจันต์ ถ่ายเรือ

                                             ศรีประจันต์ - สามชุก ถ่ายเรือ

                                            สามชุก - เดิมบาง - ท่าช้าง – หันคา ถ่ายเรือ

                                            หันคา - ท่าโบสถ์ – ท่าแห - ถ่ายเรือ

                                            ท่าแห - มโนรมย์

มีเรือยนต์เล็กคอยรับส่งทุกช่วงประตูน้ำ และมีเรือยนต์เล็กให้เหมาลำได้ หรือใช้โยงเรือขนส่งสินค้าได้ตลอดลำน้ำสุพรรณ

1 ความคิดเห็น:

  1. ขอขอบคุณที่ให้ข้อมูลและคลายความสงสัยกับการเดินทางเรือสายนี้ ว่าเรือไปจอดที่ไหนบ้าง ตอนเด็กๆเคยขึ้นกับย่า 5 - 6 ครั้ง เพื่อไปหาพ่อที่กรุงเทพ สนุกมากและได้บรรยากาศเดียวกันกับผู้เขียนที่เล่ามา แต่เรามาลงที่ตลาดเก้าห้อง(อ.บางปลาม้า)เลยไม่ทราบว่าเขาไปต่อถึงไหน ขอบคุณครับ
    คนสุพรรณ

    ตอบลบ