วันพฤหัสบดีที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

การอยู่ไฟฟืน – ไฟชุดหลังคลอดบุตร

       เมื่อแม่แต่งงานกับพ่อแล้ว และยังไม่ได้แยกบ้านอยู่จนมีลูกคนโต คือแอ๊ดแม่ยังอยู่รวมบ้านกับยาย และคลอดบุตรชายคนแรกคือแอ๊ดที่บ้านยายโดยหมอตำแยแบบโบราณคนเดียวในหมู่บ้าน ที่ทำคลอดเด็กในหมู่บ้านทุกคนที่เกิดใหม่ คือ ป้าปี มีบ้านอยู่ติดกับบ้านยายและเป็นญาติกันด้วย

       ป้าปีเคยได้เข้ารับการอบรมการสาธารณสุขชุมชน (สถานีอนามัย) ในการทำคลอดอย่างถูกวิธีและปลอดภัยเพิ่มเติม และได้รับกล่องเครื่องมือทำคลอดและประกาศนียบัตร ในการเข้ารับการอบรมในครั้งนั้นด้วย ป้าปีเล่าว่าการอบรมวิธีคลอดก็ไม่แตกต่างจากที่ทำอยู่แล้วเพียงแค่เน้น เรื่องความสะอาดของเครื่องมือเครื่องใช้  และความสะอาดของแม่และเด็กในการทำคลอดทุกครั้ง

       แม่ยังจำได้ว่า แม่ยังคลอดแบบโบราณเหมือนในหนังเก่าๆ คือมีคนช่วยจับแขนจับขา มีเชือกให้ห้อยโหนตัวเบ่งคลอด  มียายติดไฟเตาถ่านตั้งน้ำร้อนกาใหญ่ๆไว้ให้  ถึงมีคนช่วยหลายคนความรู้สึกของแม่ยังดูว่าป้าปีทำคลอดดีแม่ไม่เจ็บปวดมากนัก และไม่จับแม่โป้เลย มีผ้าปิดตลอดเวลาเปิดกว้างอยู่ช่วงล่างตรงที่ป้าปีนั่งทำคลอดอยู่เท่านั้น

       ตอนนั้นที่จำได้มีพ่อของลูกนั่งช่วยอยู่ด้านหัวนอน  มีอาแฉล้มช่วยโกยท้องและจับขาไว้ ยายตั้งน้ำร้อน คนอื่นๆมีอีกหรือเปล่าจำไม่ได้ หลังคลอด 1 วัน มีสิ่งที่จำได้ไม่ลืมคือ มีอาการคันบริเวณแถวๆช่องคลอดในร่มผ้ามาก เรียกว่าคันจนดิ้นทุรนทุราย จนยายของลูกไปหา หัวไพรสดๆมาปอกล้างน้ำให้สะอาดแล้วโขลก ไม่ต้องให้ละเอียดมากนัก เอาทั้งเนื้อและน้ำไพรสดๆมาทาพอกบริเวณที่คันให้ แสบจนสระใจแต่ก็หายคันได้ทันใจเป็นปริดทิ้ง มาคิดทบทวนดูในปัจจุบันนี้ว่า อาการคันที่เกิดขึ้นนี้ อาจจะเกิดจากการทำความสะอาดในการทำคลอดไม่ดีพอก็เป็นได้

       แม่คลอดแอ๊ด วันพุธที่ 9 กันยายน 2513 เวลา 23.15 น. คลอดที่บ้านยายที่ตำบลท่าหลวง อำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา แต่พ่อของลูกมีชื่อในทะเบียนบ้านอยู่ที่บ้านญาติคือลุงกอง เวลาแจ้งเกิดจึงไปแจ้งเกิดที่อำเภอบ้านหมอตามเลขที่บ้านในใบสูติบัตร (ในสมัยนั้นไม่เข้มงวดในการรับแจ้ง)

        ในช่วงเวลานั้นผู้หญิงในหมู่บ้านส่วนใหญ่ที่คลอดบุตร จะอยู่ไฟฟืนให้ มดลูกเข้าอู่เร็ว แบบโบราณ ที่เห็นมาคือในระหว่างที่แม่ท้องลูกคนแรก มีเพื่อนบ้านที่สนิทกันดี คลอดบุตรก่อนแม่ 2 เดือน เห็นบ้านเขาช่วยกันเตรียมหาไม้มาทำฟืนกันไว้ก่อนคลอดล่วงหน้าเป็นเดือน ทำเตาไฟมีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ากว้างประมาณหนึ่งเมตรให้ยาวเท่ากับคนที่จะอยู่ไฟนิดหน่อย มีเตียงไม้เตี้ยๆไว้ให้หญิงแม่ลูกอ่อนนอนอยู่ไฟและใช้เวลาในการอยู่ไฟไม่น้อยกว่า 7-10 วัน

       ในขณะที่เพื่อนบ้านอยู่ไฟหลังคลอด แม่ไปเยี่ยมและดูวิธีการอยู่ไฟ ความรู้สึกของแม่ไม่เอาด้วยแน่ ทั้งความร้อนจากเปลวไฟ ทั้งควันไฟรม โอ๊ยทนได้อย่างไรกัน ไม่อยู่ไฟแบบนี้แน่นอนเป็นไงเป็นกัน มีแต่คนทักถ้าไม่อยู่ไฟฟืน เรียกว่ามดลูกจะเข้าอู่ช้า เวลาหน้าฝนลมฝนมาก็จะหนาวสั่นเป็นลักษณะของการอยู่ไฟไม่ถึง

       แม่ถามป้าปีหมอตำแยในเรื่องนี้ว่า  พอจะมีวิธีไหนใช้แทนการอยู่ไฟฟืนบ้างไหม ป้าปีบอกว่าถ้าไม่อยู่ไฟฟืน ให้ลองไปที่ร้านขายยาในตลาดที่อำเภอดู ได้ข่าวว่ามีไฟชุดใช้อยู่ไฟแทนได้สะดวกดีไว้ขาย แม่สนใจไปขอดูและสอบถาม ร้านขายยาแนะนำวิธีการใช้ให้จนแม่พอใจจึงซื้อมาเตรียมไว้ จำไม่ได้ว่าราคาเท่าไร (ปัจจุบันราคา รวมชุดละ 130 บาท 9 กันยายน 2550)

       ไฟชุดมีลักษณะเป็นกล่องอลูมิเนียมรูปทรงกว้างประมาณเกือบ 3 นิ้ว ยาวประมาณ 4/2 นิ้วมีขวาบนกล่องเลื่อนเปิดปิดได้ สำหรับใส่ถ่านไฟเป็นแท่งกลมๆอัดด้วยเชื้อไฟ เมื่อจุดก็จะค่อยๆลุกและร้อนอยู่ในกล่องจนหมดเชื้อ ก็เปลี่ยนถ่านเชื้อไฟก้อนใหม่ ชุดกล่องหนึ่งใช้ถ่านเชื้อไฟครั้งละ 1 ก้อน

       ผ้าใส่กล่องไฟชุดมีสายสำหรับคาดรอบเอว มีเชือกสำหรับผูกรัดตามขนาดเอวของผู้ใช้ที่เล็กหรือใหญ่ได้ ใช้ผ้าพันกล่องไฟชุดไว้อีกรอบกันร้อนมากอีกก็ได้ ใช้สะดวกมาก เมื่อพาดกล่องไฟชุดไว้ตรงหน้าท้องร้อนมากก็ค่อยๆขยับกล่องไฟ  ไปรอบด้านของเอวได้ สามารถเดินไปไหนมาไหนได้ อย่างสะดวกไม่ต้องทนนอนร้อนอยู่หน้าเตาไฟถ่านตลอดเวลา จำได้ว่าแข็งแรงเร็ว อยู่ไฟชุดหลังคลอด สัปดาห์เดียวก็ทำงานบ้าน  ทำกับข้าวทำงานเล็กๆน้อยๆ เองได้แล้ว มีเพื่อน ๆ มาเยี่ยมยังทำกลับแกล้มให้กินกันได้ นั่นเป็นการคลอดบุตรคนแรกที่บ้าน เมื่อ 36 ปีที่ผ่านมา (19 กุมภาพันธ์ 2550)

       เมื่อมีบุตรคนต่อมาการเดินทางสะดวกสบาย การสาธารณสุขดีขึ้น ต๋อมและกุ้ง ไปคลอดที่โรงพยาบาลสระบุรีทั้งสองคน เมื่อกลับมาบ้านก็อยู่ไฟชุดเหมือนเดิม และไม่เห็นมีใครอยู่ไฟฟืนหลังคลอดแบบเก่าอีกแล้ว

       แต่การแจ้งเกิดก็ยังแจ้งเกิดที่บ้านของตัวเองอีกเช่นกัน (ไม่แจ้งเกิดตามใบที่โรงพยาบาลให้มา)


  ชุดสำหรับอยู่ไฟ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น