วันอังคารที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2553

ยายขายขนม

       เมื่อแม่เรียนอยู่ชั้นประถมปีที่ 2 ปลายปี ตาเข้าร่วมประท้วงกับคนงานก่อสร้างในกลุ่มนายกล้า (เจ้าของโรงเรียนเอกชนสอนเด็กประถมที่อยู่ไม่ไกลบริษัทปูนซีเมนต์ไทยนัก) ผลที่ตามมาผู้ที่ประท้วงถูกให้ออกจากงานทุกคนรวมตาของลูกด้วย คราวนี้ยายของลูกเลิกสานตะกร้า ต้องออกมาหารายได้ให้มากขึ้น ลูก 4 คนยังเล็กและเรียนหนังสือทุกคน


       ยายเลือกทำขนมขาย ยายทำขนมประกริมไข่เต่า ข้าวเหนียวถั่วดำ ลอดช่องเย็น หรือเผือก+ลอดช่องเขียวน้ำกะทิ ขนมบัวลอย ทำจนเต็มหาบมีถ้วยใส่ขนมมีถังไว้ใส่น้ำหิ้วติดมือไปด้วย บ่ายายคอนไม้คานหาบขนมที่หนักอึ้งขายเลี้ยงคนทั้งบ้าน พอทำเสร็จยายก็อาบน้ำแต่งตัวหาบขนมเดินจากบ้านไปขายจนถึงบ้านพักพนักงานบริษัทปูนซีเมนต์ไทย ที่อยู่ไกลมาก แต่ในสมัยนั้นเห็นการเดินแบบนี้เป็นเรื่องธรรมดา

       แต่เมื่อแม่หวนกลับมาคิดย้อนหลังแล้วสงสารยาย ยายทำงานที่หนักเกินแรงผู้หญิง (แต่ช่วงนั้นยายยังสาวและแข็งแรง) ช่วงนั้นแม่ยังเด็กไม่ได้คิดอะไร เพราะทุกคนก็ช่วยกันตาช่วยปอก ช่วยหั่น ช่วยต้มในการทำขนม ยายผสมและนวดแป้งสำหรับทำขนมบัวลอยไว้ตอนเย็น พอค่ำแม่ช่วยยายปั้นขนมบัวลอยเสร็จแล้วคลุมแป้งที่ปั้นไว้ด้วยผ้าดิบชุบน้ำบิดแห้งพอหมาด แล้วจึงจะได้นอน เช้ามืดก่อน 05.00 น.เด็กทุกคนจะถูกปลุกให้ตื่น มาช่วยงาน แม่ก็จะช่วยยายดูหม้อข้าวที่ยายตั้งไว้ก่อนแล้ว ยายไปตลาดแต่มืดเพื่อซื้อกับข้าวมาทำกินและซื้อของที่จะมาทำขาย แม่หุงข้าวและอุ่นของที่มีอยู่ และต้มถั่วดำที่แช่น้ำไว้ตั้งแต่เย็นวาน เมื่อยายกลับจากตลาดก็จะใส่น้ำตาลทรายและน้ำกะทิแล้วยกลง ทำกับข้าวต่อ เด็กอาบน้ำทานข้าวแล้วไปโรงเรียน ยายทำขนมต่อโดยมีตาคอยช่วยกว่าจะเสร็จและเตรียมตัวไปขายได้ก็สายมากแล้ว จากนั้นตาก็เก็บของที่ใช้ทำขนมล้าง (ถ้าเป็นวันที่โรงเรียนหยุดแม่ก็จะเก็บล้างเอง)

       ถ้าเป็นช่วงต้นตาลที่อยู่ติดบ้าน (อยู่ใกล้หน้าต่างบางทีหล่นใส่หลังคาบ่อยครั้ง) มีลูกแก่หล่นมาหลายลูกส่งกลิ่นหอม ยายก็จะเอามาทำขนมตาลขายด้วยการแกะเปลือกออกใส่ตะแกรงยีๆ คือจับลูกตาลหมุนด้วยมือยีให้เนื้อและน้ำตาลออกมา แล้วใส่ผ้าขาวบางผูกห้อยไว้ประมาณครึ่งวันให้น้ำตาลออกเหลือแต่เนื้อตาล หรือยีลูกตาลใส่ผ้าขาวบางทับน้ำไว้ทั้งคืนก็ได้ การโม่แป้งทำขนมต้องแช่ข้าวค้าง 1 คืน แล้วจึงโม่ด้วยมือแม่จะเป็นคนโม่แป้งประจำด้วยเครื่องโม่แป้งที่ใช้


ในภาพนี้ เป็นโม่ประจำบ้านอายุการใช้งานน้อยกว่าคนเขียน 8 ปี (29-06-53)
 และภาพกระต่ายขูดมะพร้าวของยายที่แม่เก็บไว้

      การโม่แป้ง ใช้ช้อนตักข้าวที่แช่ไว้ ที่ละช้อนหมุนโม่ไปในทิศทางเดียวกัน โม่ไปเติมไปถ้าโม่ฝืดก็เติมน้ำบ้างจนหมด เอาแป้งที่ทำเสร็จใส่ถุงผ้าดิบมัดและใช้อะไรหนักๆทับไว้ให้แห้ง (ไม่มีเครื่องรับจ้างโม่แป้งด้วยไฟฟ้า และยังไม่มีแป้งสำเร็จรูปขาย) แห้งแล้วเอาแป้ง มาผสมกับเนื้อตาล น้ำตาลทราย ให้เข้ากันดีไม่เหลว นำไปตากแดดให้ขึ้นฟู จึงใส่กระทงใส่มะพร้าวขูดเคล้าเกลือนึ่ง ยายทำขนมใช้ความเคยชินกะๆเอาใส่อะไรเท่าไรออกมารสชาติก็อร่อยเหมือนเดิมทุกครั้ง การทำอาหารและขนมถ้าใช้กะทิ ก็ขูดมะพร้าวเองครั้นเองทุกอย่าง การปอกและผ่ามะพร้าวเป็นหน้าที่ของตาการขูดการครั้นยายกับแม่

       กลับมาจากโรงเรียน แม่จะช่วยยายเก็บหม้อและของในหาบมาล้าง แล้วจึงเตรียมติดไฟตั้งข้าวต่อ ยายทำกับข้าวแล้วก็ทานอาหารเย็นกัน เก็บล้างเก็บทำ อาบน้ำอาบท่าแล้ว ช่วยยายปั้นขนมต่อ แล้วจึงเข้านอน ในช่วยนั้นตาไปทำงานเป็นคนทำสวนที่บ้านพักของหมอทนงศักดิ์ แพทย์ประจำสถานพยาบาลของบริษัทปูนซีเมนต์ไทย ในระยะนี้แม่ต้องเป็นคนเก็บล้างทั้งหมด ต่อมาบริษัทปูนซีเมนต์ไทย ปิดทางเข้าบ้านพักพนักงานและทางเข้าบริษัทปูนซีเมนต์ไทย โดยไม่ให้บุคคลหรือรถยนต์ที่ไม่เกี่ยวข้องผ่านเข้าออก โดยเปิดโรงอาหารให้แม่ค้าขายอาหาร ขนม กาแฟและน้ำดื่ม ให้แม่ค้าที่เคยเข้าไปขายมีโอกาสจองที่ขายก่อน โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายและค่าน้ำค่าไฟในโรงอาหาร ยายไม่เอาเพราะบ้านอยู่ไกล ไม่มีรถที่จะขนของไป-กลับได้ ตกลงยายก็ต้องเลิกขายขนม

       คราวนี้ยายหันมาปอกผลไม้ดองบ้างแล้วเฉาะขายสดบ้าง ทำพริกเกลือทั้งน้ำตาลปีบ และน้ำตาลทราย ผลไม้ก็มีมะม่วงแก้วแก่ๆ มะยมดอง กระท้อนทรงเครื่อง ชมพู่ ฝรั่ง มะกอก อ้อยควั่น พุทราเชื่อมและผลไม้ตามฤดูกาล หาบไปขาย พริกเกลือของยายทำอร่อย ไม่ทำอย่างแม่ค้าทั่วๆไป พริกเกลือของยายใส่ครกตำจริงๆ ถ้าเป็นพริกเกลือน้ำตาลปีบยายจะตำกระเทียม และพริกขี้หนูสดด้วยกันแล้วตักแยกไว้ แล้วจึงเอาเกลือเม็ดโขลกให้ละเอียดตักขึ้นมาคุกเค้ากับน้ำตาลปีบ ให้มีรสหวานนำเค็มแล้วจึงเอากระเทียมกับพริกที่โขลกไว้มาคนให้เข้ากัน (ใช้เกลือป่นแทนได้) ส่วนพริกเกลือน้ำตาลทรายก็ตำกระเทียม และพริกขี้หนูสดด้วยกันแล้วตักแยกไว้เหมือนกัน แต่ยายจะโขลกเกลือกับน้ำตาลทรายด้วยกัน แล้วจึงเอากระเทียมกับพริกที่โขลกไว้มาคนให้เข้ากัน

       ยายมีไม้ที่ตาทำให้ไว้ควั่นอ้อยขาย ดูของจริงที่แม่เก็บไว้จากภาพประกอบเป็น"ที่ควั่นอ้อย"ที่ ยายใช้ควั่นอ้อยขายมานาน จนหาบของขาย ไม่ไหวหรืออะไรแม่ก็ไม่รู้ ในช่วงนี้หมอทนงศักดิ์ ที่ตาเป็นคนสวนอยู่ ได้ย้ายเข้าไปเป็นแพทย์ประจำสถานพยาบาล อยู่ที่สำนักงานใหญ่บางซื่อ กรุงเทพฯ ตาไม่ได้ออกไปทำงานก็ช่วยยายปอกอ้อย หาปลา และเลี้ยงปลากัด

       ต่อมาอีกไม่นานนักตาได้งานเป็น รปภ. ที่ตลาดใหม่ท่าลาน เป็นตลาดที่บริษัทปูนซีเมนต์ไทยสร้างและขายให้ผู้ที่มีร้านค้าอยู่ที่ ตลาดสะพานหนึ่ง ที่ทางบริษัทมีนโยบายที่จะปิดทางเข้าออกและทำรั้วถาวร กั้นอาณาเขต ของบริษัทโดยเว้นเป็นทางให้รถจักรยานยนต์เข้าออกได้เท่านั้น

       ในช่วงนี้หลังจากแม่แยกครอบครัว และลูกแม่ทั้งสามคนโตหมดแล้ว ยายกลับมาสร้างบ้าน ทำสวนและดูแลที่นาที่อำเภอสามชุก จังหวัดสุพรรณบุรี ตาอยู่บ้านกับน้านี ตาทำงานอยู่นานมากจนทางตลาดเลิกจ้างยาม จึงกลับไปอยู่กับยายที่บ้าน ต.ย่านยาว อ.สามชุก จังหวัดสุพรรณบุรี

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น