วันอังคารที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2553

หุงข้าวเช็ดน้ำ

       พอโตขึ้นหน่อยเด็กผู้หญิงจะไม่ค่อยมีเวลาเล่นมากนัก เด็กผู้หญิงอายุ 8 - 9 ขวบ ต้องหุงข้าวเป็น ทำกับข้าวง่ายๆได้ แม่ก็ไม่แตกต่างจากเด็กผู้หญิงอื่นๆ การหุงข้าวนั้นเป็นการหุงแบบเช็ดน้ำ ไม่ใช่ของง่ายๆนักหรอก ใช้เวลาในการหุงข้าวครั้งละชั่วโมงกว่าจึงหุงข้าวเสร็จ พอแม่กลับจากโรงเรียนจะต้องรีบกลับมาติดไฟถ่านหุงข้าว กวาดบ้านและถูบ้านเป็นประจำ


       การหุงหาอาหารใช้เตาถ่านหรือบางครั้งก็เตาฟืน เตาถ่านเป็นเตาที่ปั้นจากดินเผา ตรงกลางจะมีรังผึ้ง (เป็นตะแกรงสำหรับรองถ่านในเตา ปั้นจากดินเผาเป็นแผ่นกลมๆ ใส่เตาได้ตามขนาดของเตา มีรูเล็กๆ ไว้เป็นช่องระบายอากาศ) การติดไฟก็ไม่ยาก หาเชื้อไฟเก็บไว้เป็นเศษไม้ มาแจรก (อ่านว่า เจียก คือทำให้แยกหรือแตกออก) เป็นชิ้นเล็กๆ ยาวขนาดฝ่ามือแจรกใส่ปี๊บเก็บไว้ หรือจะเป็นกาบมะพร้าวมาฉีกหรือหั่นเก็บไว้ก็ได้

      ขั้นตอนต่อไปของการติดไฟก็คือ ถ้าใช้กาบมะพร้าวเป็นเชื้อไฟ เอากาบมะพร้าวที่ฉีกหรือหั่นเก็บไว้มาวางไว้บนตะแกรงเตาก่อน เอาถ่านวางลงไปอย่าให้แน่น พอให้อากาศผ่านได้ จากนั้นก็เอาถุงกระดาษห่อของที่เก็บไว้สำหรับติดไฟมาค่อยๆแกะออก กลางอ่านให้หมดทุกเรื่องทุกตัวอักษรก่อนทุกครั้ง จึงขยุ้มใส่ใต้เตาเอาไม้ขีดไฟจุดที่กระดาษก่อน (มีไม้ขีดไฟอยู่ 2 ยี่ห้อคือตราพญานาค และตราสวัสดี) และใช้พัดให้ไฟลุกติดกาบมะพร้าว ถ่านก็จะติดไฟจากเชื้อของกาบมะพร้าว การติดไฟด้วยวิธีนี้ควันไฟจะคลุ้งตลบอบอวล

        แต่ถ้าติดไฟโดยใช้เศษไม้ที่แจรกชิ้นเล็กๆไว้ ก็ใช้มือขยุ้มกระดาษวางบนรังผึ้งเตาแล้วค่อยๆเรียงเศษไม้ไว้บนกระดาษ และวางถ่านเพียง 3 - 4 ก้อนไม่ให้เศษไม้ล้มจึงขีดไฟที่กระดาษเศษไม้จะค่อยๆ ติดไฟ เมื่อเศษไม้ติดไฟลุกดีแล้วจึงค่อยวางถ่านลงไปจนเต็มเตา ติดไฟด้วยวิธีนี้ควันไฟจะไม่มากนัก การติดไฟทำกับข้าวนี้ ถ้ามองแต่ไกลๆ พอได้เวลาที่จะต้องทำอาหารกันในเวลาเช้าและเย็น ก็จะเห็นควันไฟจากบ้านโน้นบ้าง บ้านนี้บ้างเป็นม่านควันจางๆ ไร่เรียงกันไปทุกๆบ้าน

       ช่วงที่ติดไฟกว่าถ่านจะแดงจนหมดควัน ก็จะตวงข้าวใส่หม้อถ้ามีกรวดหรือกลากข้าวก็เก็บออกก่อน นำไปล้างซาวด้วยน้ำให้สะอาด สัก 2 ครั้ง เทน้ำซาวข้าวทิ้งแล้วใส่น้ำในหม้อข้าวให้ท่วม 2-3 เท่าของข้าวที่หุง น้ำซาวข้าวนี้ใช้ประโยชน์ในการดองผักได้หลายชนิด หม้อที่ใช้หุงข้าวเป็นหม้ออลูมีเนียมหรือหม้อดิน แม่ไม่เคยใช้หม้อดินในการหุงข้าว การใส่น้ำหุงข้าวเท่าใดต้องอาศัยความชำนาญ กะน้ำเอาเองถ้ากะคร่าวๆ ก็ต้องน้ำ 3 เท่าของจำนวนข้าว พอหมดควันไฟแล้วก็ยกหม้อข้าวมาตั้ง หมอข้าวนี้จะหนักมาก พอตั้งแล้วสักพัก ต้องเปิดฝาหม้อใช้ทัพพีคนข้าวในหม้อมิฉะนั้นข้าวจะติดก้นหม้อทำให้ข้าวไหม้ได้ การหุงข้าวแบบนี้ไม่ง่ายเหมือนปัจจุบันที่หุงข้าวด้วยหม้อไฟฟ้า เสียบปลั๊กกดเปิด แล้วไปไหน หรือทำไรก็ได้ไม่ต้องคอยนั่งเฝ้า คอยใช้ทัพพีคน และตักฟองข้าวออกทิ้ง เมื่อข้าวเดือดให้เปิดฝาหม้อวางไว้ถ้าเผลอหรือไปทำอะไร ปล่อยข้าวเดือดจนล้นออกมา หม้อข้าวจะเปื้อนเลอะเทอะและน้ำจากหม้อข้าวจะไหลลงเตาทำให้ขี้เถ้าฟุ้งออกมาขาวไปหมด

       การหุงข้าวจึงต้องนั่งอยู่ไม่ไกล ต้องคอยมาดู ต้องกะเวลาเป็น พอข้าวเดือดพลั่กๆ ต้องคอยคน และตักเมล็ดข้าวออกมาดูว่าข้าวสุกหรือยัง ถ้ายังหุงข้าวไม่เก่งดูเมล็ดข้าวไม่เป็น ก็ต้องคอยใช้ทัพพีตักข้าวขึ้นมาใช้นิ้วหยิบบี้เมล็ดข้าวดูว่าสุกหมดหรือยัง คือถ้าลองบี้แล้วเมล็ดข้าวข้างในยังแข็งอยู่บี้เป็นเม็ดๆ ก็ต้องเคี่ยวต่อไปอีกจนข้าวสุก สำหรับคนที่หุงข้าวจนชำนาญแล้วแค่ตักเมล็ดข้าวออกมาดูเท่านั้นก็รู้ว่าข้าวสุกหรือไม่สุก

       เมื่อข้าวสุกได้ที่แล้วก็ยกหม้อข้าวลงจากเตาซึ่งต้องระวังมากหม้อข้าวทั้งหนักทั้งร้อน การยกหม้อข้าวลงจากเตาต้องใช้ผ้าจับหูหม้อทั้ง 2 ข้าง ค่อยๆเทน้ำข้าวลงในอ่างจนถึงเมล็ดข้าว วางหม้อข้าวและปิดฝาให้สนิทใช้ไม้ขัดหม้อข้าวสอดไม้เข้าไปที่หูทั้งสอง โดยผ่านหูของฝาหม้อด้วย แล้วยกขึ้นวางบนไม้ที่ทำไว้ลองโดยเฉพาะบนปากอ่าง เพื่อให้น้ำข้าวไหลออกจากหม้อให้หมด (ข้าวเสด็จน้ำ) เหลือแต่เมล็ดข้าว

       จากนั้นก็ราไฟในเตา โดยใช้เหล็กคีบถ่านที่เป็นเหล็กแบนยาวๆ 2 ข้างเชื่อมติดกัน คีบถ่านออกใส่ไหใบเล็กๆปิดให้ถ่านดับด้วยกะลาเสียบ้าง ให้เตาลดความร้อนลงบ้างแล้ว ยกหม้อข้าวขึ้นตั้ง เรียกว่าดงข้าวโดยวิธี ตั้งตรงบ้าง เอียงซ้ายบ้าง ขวาบ้าง สลับกันไป คอยหมั่นพลิกหม้อข้าวกลับไป-หมา เพื่อไม่ให้ข้าวไหม้ ในช่วงนี้ใช้ผ้าขาวบางชุบน้ำบิดให้หมาด เช็ดทำความสะอาดหม้อข้าวทุกด้าน เมื่อดงข้าวได้ที่แล้วก็ยกหม้อข้าวลง ทำกับข้าวต่อไป ถ้าจะกินน้ำข้าวก็รินน้ำข้าวใส่ถ้วยไว้ก่อนเช็ดข้าว (ข้าวสุกแล้วการเทน้ำข้าวออกให้แห้งเรียกว่าการเช็ดข้าว) แล้วจึงเทน้ำข้าวที่เหลือลงอ่างเอาไว้เลี้ยงหมา การหุงข้าวแบบเช็ดน้ำนี้กว่าจะหุงเป็น จนได้ที่ให้ข้าวร่วนสวยนั้นแต่ละคนก็จะผ่านการหุงข้าวดิบ แฉะ ไหม้ หรือสุกๆดิบๆ กันมาก่อนแทบทั้งนั้น

1 ความคิดเห็น: