วันศุกร์ที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2553

ข้าวโพดคั่ว

       เป็นอันว่าถ้าที่วัดมีหนังกลางแปลงมาฉาย หรือมีงานวัดที่ขายของได้ก็จะออกขายทุกครั้ง ยายยังเพิ่มของขายอีกอย่างคือ คั่วข้าวโพดขาย ตอนนั้นไม่ได้ซื้อ ที่คั่วข้าวโพด ตาทำให้ใช้เอง ใช้คั่วข้าวโพดขายได้ดี อีกหลายปีต่อมามีที่คั่วข้าวโพดขายจึงซื้อมาใช้ ยายทำน้ำคลุกข้าวโพดคั่ว อร่อย มีรสหวานไม่มาก เน้นรสมัน และเค็ม ไม่เหมือนกับที่ขายกันอยู่ทั่วไปในปัจจุบันนี้ที่ทำแยกกันคนละรสเลย แบบเค็มก็เค็มอย่างเคียว แบบหวานก็หวานเพียงอย่างเดียว หรือเป็นช้าวโพดอบเนยไปเลย


       การทำน้ำคลุกข้าวโพด ยายคั้นน้ำกะทิใส่หม้อเคลือบมีหูขิ้ว ใส่น้ำตาลปีบ ใส่เกลือป่นใส่แบะแซ ตั้งไฟใช้ทัพพีคนเคี่ยวให้เหนียวและเข้ากันดี ชิมรสแต่แม่จำได้ยายไม่ต้องชิมทำกี่ครั้งก็รสชาติเหมือนกันทุกครั้ง แล้วยกลงจากเตาทิ้งไว้ให้เย็น ตอนนั้นแม่ไม่ได้สนใจจดจำ มานึกทบทวนดูเห็นยายใส่เกลือป่น 1 ถุง (ถุงเดี๋ยวนี้เล็กกว่า) ใส่น้ำดาลปีบ 1 กิโลกรัม แบะแซ ½ กิโลกรัม จำไม่ได้ว่าใช้น้ำกะทิมากน้อยแคร่ไหนในแต่ละครั้ง กระว่าประมาณครึ่งหม้อที่ยายใช้ใส่ทำน้ำคลุกข้าวโพด

       การคั่วข้าวโพดเมื่อเมล็ดข้าวโพดแตกหมดแล้ว ก็เทลงใส่ตระแกรงพักไว้ คั่วต่ออีกครั้งเทรวมกัน แล้วจึงใช้ไม้จุ่มน้ำคลุกให้โชกมาคนเมล็ดข้าวโพดที่คั่วแล้วในตระแกรงให้เข้ากัน 1- 2 ครั้ง ทิ้งให้ข้าวโพดเย็น แล้วกรอกใส่ถุงมัดยางวางขายได้ คราวนี้พอมีงานขายกลางคืนก็ต้องเอาข้าวโพดมาคั่วขายด้วย ขายดีนะเพราะข้าวโพดเมื่อร้อนก็จะแตกเสียงดังเพี้ยพะๆ และส่งกลิ่นหอมได้ไกล  นั่งดูหนังไปกินช้าวโพดคั่วไปอย่างเพริดเพลิน

       ต่อมายายเริ่มหัดขี่รถจักรยานจนแข็ง และเลิกหาบผลไม้ขาย จำไม่ได้ว่ายายเลิกขายเพราะสาเหตุใด หันมาขายข้าวโพดคั่วเพียงอย่างเดียวไปคั่วข้าวโพดขายอยู่ที่ริมถนนด้านเข้าตลาดใหม่ท่าลาน ยายเอาเตาถ่าน ตะแกรงและที่คั่วข้าวโพด ไปฝากไว้ที่บ้านน้าบุญเรือนคนชอบพอกัน บ้านใกล้กลับเพิงขายของ ที่ทำด้วยหลังคาสังกะสีกันแดดและกันฝนได้ มีโต๊ะวางของขายมีเก้าอี้นั่ง

       เช้าหลังเสร็จงานที่บ้านยายก็ขี่รถจักรยานเอาของที่เตรียมไว้มัดใส่ท้ายรถและห้อยหน้ารถ ไปที่ร้าน เอาของออกมาเตรียมทำขาย ติดเตาอุ่นหรือทำน้ำคลุกข้าวโพดก่อนอื่น เมื่อยกลงจากเตาแล้ว ยายจึงทำอย่างอื่นต่อเสร็จแล้วจึงเริ่มคั่วข้าวโพด น้ำคลุกข้าวโพดก็จะเย็นใช้ได้พอดี

       ตอนนี้แม่เริ่มรุ่นสาวแล้ว ยายขายข้าวโพดคั่วอยู่นานหลายปีมาก ตาก็เป็นยามที่ตลาด แม่ทำงานในบ้าน นานๆครั้งแม่จึงออกไปช่วยยายขายของบ้าง ครั้งแรกที่ออกไปขายก็เจอหนุ่มโรงงานรูปหล่อนิสัยดี ยิ้มง่ายและอารมณ์ดี ทำงานที่บริษัทเหล็กสยามซึ่งต่อมาแยกเป็น บริษัทนวโลหะไทยเป็นบริษัทในเครือปูนซีเมนต์ไทยจำกัด มานั่งกินข้าวและสนทนากลับคนขับรถโดยสารสาย ท่าลาน – สระบุรี ชื่อเผือก อยู่ที่ร้านขายอาหารของลุงทาบ และพี่หล่อเป็นประจำ  (ปัจจุบันคนหนุ่มที่ยิ้มง่าย และอารมณ์ดี ไม่รู้หายไปไหนเสียแล้ว)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น