วันอังคารที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2553

หลวงพ่อโต –วัดสะตือ

       มีงานวัดอยู่งานหนึ่งที่เด็กๆ ใจจดใจจ่อ รอคอยอยู่ คืองานประจำปีปิดทองหลวงพ่อโตวัดสะตือ ซึ่งอยู่ไม่ไกลนักเดินตามถนนหน้าโรงเรียนผ่านตลาดผ่านที่ทำการสำนักงานชลประทานป่าสักใต้ จนถึงตัวสันเขื่อนพระราม 6 ไม่ต้องขึ้นที่สะพานสันเขื่อน ให้เดินเลาะไปตามตลิ่งริมแม่น้ำป่าสัก(ที่เป็นตลาดปลาริมเขื่อน)ทางใต้เขื่อนที่ผ่านวัดสะตือ มองเห็นพระนอนองค์ใหญ่หรือหลวงพ่อโตได้แต่ไกล มีคลองขวางอยู่ เป็นคลองที่ขุดตอนใต้ของเขื่อนอ้อมวัดสะตือลัดเลาะตลาดท่าหลวงเข้าประตูน้ำพระนเรศน์ ที่ติดต่อถึงหน้าโรงเรียนสำหรับให้เรือผ่านประตูน้ำเข้าแม่น้ำป่าสักทางเหนือน้ำได้


      คลองนี้เองที่ผ่านตลาดท่าหลวง แล้วอ้อมผ่านบริษัทปูนซีเมนต์ไทย โดยโค้งอ้อมกลับมาถึงหน้าบ้านเรา สิ้นสุดที่ถนนหน้าวัดถลุงเหล็กและอีกด้านของตลาดท่าหลวง ต้องข้ามเรือไปอีก แต่เป็นทางที่ไปวัดสะตือได้ใกล้และสะดวกที่สุด ในสมัยที่ยังไม่มีรถยนต์ และรถจักรยานยนต์มากมายเช่นปัจจุบันนี้

       ในสมัยนั้นเมื่อมีงานประจำปีของวัดสะตือ ทุกครั้งบริษัทปูนซีเมนต์ไทย จะล่งเรือปูน 2 ลำ มาเรียงต่อกันกั้นคลองเป็นทางเดินให้คนข้ามไปและกลับ เพื่อสักการะองค์หลวงพ่อโตที่วัดสะตือ ตรงจุดนี้ทุกปี ผู้คนจากที่ใกล้และไกลต่างหลั่งไหลกันมาอย่างไม่ขาดสาย จำได้ว่ามีคนตั้งโต๊ะนั่งเก็บเงินค่าเรือข้ามฟาก นำเงินเข้าวัดคนละ 50 สตางค์ หรือ 1 บาท ก็จำไม่ได้แน่นอน ต่อมาการเดินทางด้วยรถยนต์และรถจักรยานยนต์สะดวกมากขึ้น งานประจำปีวัดสะตือก็ไม่มีเรือปูนจอดให้ข้ามคลองนานแล้ว

                      ช่วงที่เรือปูนสองลำจอดให้คนเดินข้ามคลองจากถนนริมเขื่อนมาวัดสะตือ


       หลวงพ่อโตวัดสะตือเป็นพระพุทธรูปปางไสยาสน์องค์ใหญ่อยู่กลางแจ้ง เป็นที่เคารพบูชาของประชาชนทั้งใกล้และไกลตลอดมาเนิ่นนานแล้ว เล่ากันมาว่าสมเด็จพระพุฒาจารย์ โต พรหมรังสี เป็นผู้สร้างพระนอนองค์ใหญ่นี้ เนื่องจากสมเด็จท่านมาถือกำเนิดในเรือที่จอดพักนอนอยู่บริเวณท่าน้ำหน้าวัด ท่านจึงมาสร้างพระพุทธรูปนอนองค์ใหญ่ไว้เป็นที่ระลึก



เพิ่มภาพน้ำท่วม 21/10/53

       ชาวบ้านใกล้เคียงและต่างถิ่นไกลล้วนนับถือหลวงพ่อโตองค์นี้ว่าศักดิ์สิทธิ์มาก ที่แม่ได้ยินจากผู้เฒ่าผู้แก่เล่ากันต่อๆมาถึงความศักดิ์สิทธิ์ของท่าน คือเรื่องสมัยสงครามโลก การบอกเล่าไม่ชัดเจนว่าสงครามโลกครั้งที่ 1 หรือ 2 ฟังเหตุการณ์จากคำบอกเล่าแล้วคาดว่าเป็นสงครามครั้งที่ 2 เครื่องบินมาทิ้งระเบิดหลวงพ่อโตใช้มือซ้ายปัดลูกระเบิดไป ไม่ให้ตกในชุมชนแถบนั้นและข้อมือซ้ายขององค์หลวงพ่อโตเป็นรอยค่อยๆแตกร้าวไปจริงๆ เคยสอบถามผู้เฒ่าผู้แก่ว่ารู้ได้อย่างไร ก็ได้รับคำตอบว่าหลวงพ่อมาเข้าฝันบอก เล่าต่อกันมาจนไม่รู้ว่าเข้าฝันใครแล้ว

         มีอีกครั้งลูกสาวแพทย์ประจำตำบล ตกน้ำ ที่ใต้เขื่อนพระราม 6 ไม่ไกลสถานีอนามัยประจำตำบลไก่จ้นที่เป็นบ้านพักของแพทย์ด้วย ซึ่งเป็นตลิ่งสูงและน้ำไหลแรงมีผู้ช่วยเหลือทันไม่บาดเจ็บและไม่เสียชีวิต คำเล่าลือต่อมาคือพลวงพ่อโตช่วยรับเด็กไว้จึงไม่บาดเจ็บและไม่เสียชีวิต

          ผู้คนมากมายทุกสารทิศต่างมาสักการะและปิดทององค์หลวงพ่อโตกันเป็นประจำ โดยเฉพาะในวันงานประจำปี ในแต่ละปี ที่มีงานเทศกาล 2 ครั้ง คือ กลางเดือน 5 และกลางเดือน 12 (เดือนไทย ตามจันทร์คติ) โดยเฉพาะงานกลางเดือน 12 งานจะมี 3 วัน 3 คืน ในวันสุดท้ายของงานจะตรงกับวันลอยกระทงของทุกปี

       งานในตอนกลางวันผู้คนจะหลั่งไหลกันมานมัสการและปิดทององค์หลวงพ่อโตกันอย่างเนืองแน่น ล้นหลามจนต้องเดินไหลตามกันไป ทั้งๆที่ในยุคนั้นการเดินทางมาวัดไม่สะดวก ไม่มีรถประจำทางผ่านหนทางเป็นถนนลูกรังฝุ่นแดง ไม่สะดวกสบายเหมือนปัจจุบัน งานกลางวันไม่เก็บเงินค่าผ่านประตู และบ่ายๆมียังมีลิเกให้ดูฟรีอีกด้วย ในลานวัดมีทั้งผู้คน ทั้งร้านค้าที่นำสินค้าจากต่างถิ่นมาขายกันอย่างมากมาย

       ที่แม่ชอบและโปรดปรานมากทุกครั้งที่ไปงานปิดทองหลวงพ่อโตในเวลาเย็นๆแดดไม่ร้อน และคนมาจากที่ไกลๆกลับแล้ว คนไม่แน่นเดินในวัดได้สบาย ที่จะขาดเสียไม่ได้ทุกปีจนถึงปัจจุบันถ้ามีโอกาสได้ไปก็คือ สินค้าที่เป็นเครื่องจักสาน ที่ชาวบ้านจากอำเภอบางปะหัน หรือจากอำเภออื่นๆ ของจังหวัดพระนครศรีอยุธยานำมาขาย โดยวางขายนอกรั้ววัด ริมแม่น้ำป่าสักไม่ไกลตรงที่แม่ข้ามเรือปูนและเดินตรงมาก่อนเข้าประตูวัด ตอนที่แม่เป็นเด็กผู้หญิงตัวเล็กๆ ยายของลูกก็จะซื้องอบเล็กๆสำหรับเด็กผู้หญิงให้ ตัวงอบปักดอกไม้ดอกเล็กๆด้วยเชือกฟาง สีเขียว แดง และเหลืองเป็นดอกบานชื่นบ้าง ดาวเรืองบ้าง น่ารักมากแม่สวมงอบไม่ยอมถอดเลย และใช้จนพัง มีงานอีกก็ซื้อใหม่ทุกครั้ง (ไม่เคยสนใจจดจำราคา)

        ส่วนยายของลูกก็จะเลือกซื้อเครื่องจักสานสำหรับใช้ในบ้าน เช่น กระชอน กระด้ง ฯลฯ เป็นต้น เป็นสินค้าที่แม่ค้าทำเองด้วยมือของตัวและยังมีของเพื่อนบ้านใกล้เรือนเคียงฝากมาขาย อีกด้วย สินค้ามีมากอย่าง ทั้งชิ้นเล็ก ชิ้นน้อย ชิ้นกลางจนถึงชิ้นใหญ่ๆอย่างเช่นกระบุง ตะกร้าจนถึงซุ่มไก่ ขายดีมีคนมาเลือกหาซื้อกันไม่หยุด

        เครื่องจักสานที่ทำด้วยมือนี้แม้จะแบบเดียวกันก็จริงแต่ว่าแต่ละชิ้นจะแตกต่างกันที่ฝีมือในการจักสานชิ้นไหนทำได้ดีกว่ากัน ยายจะเลือกซื้องานชิ้นที่ดีและใช้ได้ถนัดมือเท่านั้น จนถึงทุกวันนี้ถ้าแม่มีโอกาสไปงานปิดทองหลวงพ่อโตที่วัดสะตือในช่วงเทศกาล แม่ก็จะเข้าไปเลือกซื้อเครื่องจักสานทุกครั้ง

       ในช่วงงานเดือน 12 นี้ โดยเฉพาะวันขึ้น 15 ค่ำ คนจะมากมายมาจากทุกทิศทุกทางที่มุ่งสู่วัดสะตือ คนมาเที่ยวสายที่ผ่านถนนหน้าโรงเรียนมากกว่าทุกเส้นทาง (ในยุคสมัยนั้น) หลังจากพักกลางวันแล้วเด็กๆ ไม่เป็นอันที่จะเรียนหนังสือกันแล้ว กระสับกระส่ายชะเง้อมองกันแต่ที่หน้าต่าง มองดูผู้คนที่เดินผ่านไปและกลับมากมายทั้งสองข้างของถนน ส่วนใหญ่หลังพักกลางวันแล้วเข้าเรียน ครูจะสอนทำกระทงกันเกือบทุกห้องจากวัสดุธรรมชาติคือกาบกล้วยและใบตองที่สั่งไว้ล่วงหน้าให้นำมาจากบ้าน เตรียมไว้ลอยกระทงในตอนกลางคืนถือเป็นประเพณีของท้องถิ่นเลย

      โรงเรียนจะปล่อยเด็กกลับบ้านเมื่อนักเรียนห้องไหนทำกระทงเสร็จก็กลับบ้านได้ ถ้าไม่ปล่อยกลับเร็วแบบนี้ จะมีเด็กมาโรงเรียนในวันนั้นน้อยมาก จริงแล้วตั้งแต่เช้าก็ไม่ค่อยได้เรียนหรอก ส่วนใหญ่ครูจะใช้วิธีสอนทำกระทงตั้งแต่ตอนเช้าโดยให้ทุกคนนำหยวกกล้วย ใบตอง ธูป เทียน ดอกไม้และไม้กัดมาจากบ้าน เด็กทุกคนต้องทำกระทงของตัวเองให้ได้และส่งก่อนพักกลางวัน พอเข้าเรียนก็คืนกระทงให้และปล่อยกลับบ้านเลยเด็กจะรีบกลับถึงบ้าน เพื่อไปเที่ยวและปิดทองพระที่วัดสะตือกับพ่อหรือแม่ที่รออยู่ที่บ้านในตอนบ่ายๆถึงเย็นกับครอบครัว โดยไม่เถลไถลเลย (ครูส่วนใหญ่ก็ไปเหมือนกัน)

        ที่วัดคนแน่นมากเดินแบบไหลตามกันไป ร้อนก็ร้อนคนก็มากเดินกันฝุ่นฟุ้ง กว่าจะถึงบริเวณที่ทางวัดจัดขายธูป เทียน ดอกไม้และทองคำเปลว ทางวัดมีถังใส่น้ำมนต์ใบใหญ่มีจอกเล็กๆ ลอยอยู่ ใครจะดื่มหรือตักใส่ขวดไปก็ได้ (หลายปีต่อมาทำเป็นบาตรพระลูกใหญ่สำหรับใส่น้ำมนต์) พระนอนองค์ใหญ่บริเวณที่คนเอื้อมมือปิดทองได้ถึงนั้นเหลืองอร่ามไปด้วยทองคำเปลวยาวตลอดทั้งองค์พระ

       เด็กๆ เมื่อปิดทองแล้วบังเอิญเอามือที่ติดเศษแผ่นทองคำเปลวไปเช็ดหน้าหรือแขนทองเปลวก็จะติดหน้า ติดผม ติดแขนกันแทบทุกคนหรือติดโดยตั้งใจก็มี เป็นการบอกว่าไปปิดทองที่วัดสะตือมาแล้ว ยายพาแม่มาปิดทองไหว้พระทุกปี เป็นเด็กนี้สนุก มองเห็นอะไรก็น่าดู น่ารื่นรมย์ไปหมด

       ในวัดมีคนมาออกร้านขายของเต็มพื้นที่ และจัดเนื้อที่เป็นทางสำหรับเดิน มีร้านยิงปืนไม้ก๊อก ชิงช้าสวรรค์ มอเตอร์ไซไต่ถัง ร้านขายของก็มากแม่ค้าก็มาก มีของทุกๆอย่างคนที่มางานวัดจากจังหวัดอื่นๆ ที่ใกล้เคียง หรือห่างไกลออกไปก็มี ยายจะพาแม่มาหาซื้อเครื่องจักสานที่มีอยู่หลายร้านส่วนใหญ่เป็นชาวบ้านมาปิดทองและนำสินค้ามาขายด้วยราคาที่ไม่แพง เนื่องจากไม่ผ่านมือพ่อค้าคนกลาง ยายจะซื้อสินค้าจำพวกกระชอนกรองมะพร้าว กระด้งใบใหญ่ๆ ไว้ใส่ของตากแดด ตะแกรงไว้ช้อนปลา ช้อนกุ้งตรงชายน้ำอย่างที่เล่ามาแล้ว จากนั้นก็จะพาไปดูลิเก เมื่อลิเกเลิกแล้วจึงกลับบ้านกัน

      ส่วนงานลอยกระทงตอนค่ำคนยิ่งมาก เด็กๆจะไม่มีโอกาสได้ไปเที่ยว นอกจากผู้ที่อยู่ใกล้ๆวัดและเดินทางไปกลับสะดวกเท่านั้น ส่วนใหญ่จะเป็นหนุ่มสาวและผู้ใหญ่ไปเที่ยวงานลอยกระทงและดูมหรสพ มีภาพยนตร์(หนัง) กลางแจ้ง มีลิเก (นาฏดนตรี) อาจมีวงดนตรีลูกทุ่งมาปิดวิค ด้วยเป็นบางครั้ง งานกลางคืนทางวัดขายบัตรค่าผ่านประตู เด็ก 1 บาท ผู้ใหญ่ 3 บาทงานกลางคืนนี้กว่าที่แม่จะมีโอกาสไปเที่ยวก็อีกหลายปี ในตอนรุ่นสาวแล้ว

                                                                    เขื่อนพระรามหกถ่ายภาพจากริมตลิ่งหน้าวัดสะตือ


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น