วันอังคารที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2553

บ้านท้ายวัด

       อย่างที่เล่าแล้วบ้านอยู่ท้ายวัด เวลาเช้าพระมาบิณฑบาตผ่านหน้าบ้าน และได้ใส่บาตรทุกวัน ยายตื่นตั้งแต่ ตี 4 หุงข้าว ทำกับข้าว พอ ตี 5 ก็ปลุกลูกๆ ทุกคน มาช่วยทำงาน ถึงไม่มีอะไรทำก็ต้องตื่นมานั่ง ไม่ให้เป็นคนนอนตื่นสาย ในหน้าหนาวแม่ตื่นมาก็ไม่ได้ทำอะไร นั่งหนาวนั่งง่วงอยู่ แม่คิดในใจว่า เรียกให้ตื่นมาแต่มืดทำไมก็ไม่รู้ ทำอะไรก็ไม่ได้ ต้องรอสว่างก่อนถึงจะทำได้ (ยังไม่มีไฟฟ้าไช้) ตรงนื้เป็นสิ่งที่จำได้แม่นยำและมั่นคงนัก ตั้งใจไว้เลยว่า ถ้าโตขึ้นมีครอบครัวแยกบ้านไปแล้วหากไม่มีอะไรที่จำเป็น หรือไม่ได้มีอาชีพที่ต้องตื่นแต่เช้าแล้ว จะไม่แหกขี้ตาตื่น แบบนี้เป็นเด็ดขาด

       ส่วนใหญ่แม่จะเป็นคนคอยใส่บาตรเองทุกเช้า ยายหุงข้าวและทำกับข้าวเสร็จแล้ว ต้องไปตลาดซื้อของมาเตรียมไว้ขาย แม่ตักข้าวและกับมาวางที่โต๊ะหน้าบ้านคอยพระ บางทีระหว่างรอใส่บาตร ก็ทำงานอื่นไปด้วย ไม่เห็นพระมารอ ลูกสิทธิ์พระก็จะร้องตะโกนบอก “พระมาแล้วครับ” ก็จะรีบออกมาใส่บาตร

      พอวันพระก็ทำอาหารไปทำบุญกับยายที่วัดทุกวันพระ ตั้งแต่ยังเล็กๆ พอโตขึ้นยายต้องออกไปขายของ ก็จะไปทำบุญที่วัดเอง และมีงานทำบุญบ้านใครยายก็จะให้แม่ไปใส่บาตรแทนเป็นอย่างนี้ตลอดมาที่อยู่บ้านใกล้วัด

       บ้านใกล้วัดนั้นในช่วยเข้าพรรษา เวลาเช้ามืดประมาณ ตี 4 เกือบครึ่ง พระจะตีกลอง ตีระฆังเสียงดัง ตะลุ่ม ตุ้ม ... เม้ง ... ตะลุ่ม ตุ้ม ... เม้ง .... “  เพื่อสวดมนต์ ทำวัตรเช้า ก่อนที่จะออกไปบิณฑบาต และเวลาเพลก็ตีกลองเพื่อบอกเวลาฉันเพลอย่างปกติ เวลาเย็นประมาณ 17.30 น. พระก็จะตีกลอง ตีระฆัง เสียงดัง ตะลุ่ม ตุ้ม ... เม้ง ... ตะลุ่ม ตุ้ม ... เม้ง .... “ เพี่อสวดมนต์เย็นอีกครั้งทุกวันตลอดเข้าพรรษา

      ในวันพระตลอด 3 เดือน ที่เข้าพรรษานั้น จะมีคนมาทำบุญที่วัดมากกว่าวันพระปกติ แม่จำได้ทุกวันพระเข้าพรรษานี้ ป้าถม จะซื้อดอกไม้และธูปเทียน มาจัดเป็นกำๆใส่ถาด ถวายพระทุกองค์ พอจัดเสร็จป้าถมถือถาดดอกไม้ที่จัดกำแล้ว เดินให้ทุกคนจบอนุโมธนาบุญ สาธุ ด้วยกันทุกครั้ง

      ทุกวันพระมีคนที่อายุมากหน่อย อยู่ถืออุโบสถศีล  และค้างคืนที่วัดกันหลายคน ในช่วงทำบุญเช้ามีพระรูปหนึ่งขึ้นเทศนาที่บนธรรมาศ มีคนถือขันใส่ดอกไม้ธูปเทียน เดินรับปัจจัยจากผู้มาทำบุญสำหรับติดกัณฑ์เทศน์ ใส่ขันมากน้อยตามกำลังศรัทธา

     หลังเข้าพรรษายังมีเทศน์ชุดใหญ่คือ เทศมหาชาติเรื่องมหาเวสสันดรชาดก จากชุดทศชาติชาดก ที่เป็นพระชาติสุดท้ายขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ศาลาวัดถลุงเหล็กใกล้บ้านแม่จะติดภาพ เรื่องมหาเวสสันดรชาดก เทศมหาชาติ ทั้ง 13 กัณฑ์ ไว้บนเสาไม้ที่ศาลาทั้ง 13 เสาร์
ชุดทศชาติชาดก มี 13 กัณฑ์ คือ
 
     1.กัณฑ์ทศพร ประดับด้วย      19   พระคาถา เพลงพิณพาทย์ประจำกัณฑ์ คือ เพลงสาธุการ
     2.กัณฑ์หิมพานต์ ประดับด้วย 134 พระคาถา เพลงพิณพาทย์ประจำกัณฑ์ คือ เพลงตวงพระธาตุ
     3.กัณฑ์ทานกัณฑ์ 209 พระคาถา เพลงพิณพาทย์ประจำกัณฑ์ คือ เพลงพระยาโศก
     4.กัณฑ์วนปเวศน์ 57 พระคาถา เพลงพิณพาทย์ประจำกัณฑ์ คือ เพลงพระยาเดิน
     5.กัณฑ์ชูชก 79 พระคาถา เพลงพิณพาทย์ประจำกัณฑ์ คือ เพลงเซ่นเหล้า
     6.กัณฑ์จุลพน 35 พระคาถา เพลงพิณพาทย์ประจำกัณฑ์ คือ เพลงคุกพาทย์ หรือ รัวสามลา
     7.กัณฑ์มหาพน 80 พระคาถา เพลงพิณพาทย์ประจำกัณฑ์ คือ เพลงเชิดกลอง 
     8.กัณฑ์กุมาร 101 พระคาถา เพลงพิณพาทย์ประจำกัณฑ์ คือ เพลงโอดเฉิดฉิ่ง
     9.กัณฑ์มัทรี 90 พระคาถา เพลงพิณพาทย์ประจำกัณฑ์ คือ เพลงทะยอยโอด
    10.กัณฑ์สักกบรรพ 43 พระคาถา เพลงพิณพาทย์ประจำกัณฑ์ คือ เพลงกลม หรือ เหาะ
    11.กัณฑ์มหาราช 63 พระคาถา เพลงพิณพาทย์ประจำกัณฑ์ คือ เพลงกราวนอก
    12.กัณฑ์ฉกษัตริย์ 36 พระคาถา เพลงพิณพาทย์ประจำกัณฑ์ คือ เพลงตระนอน
    13.สุดท้ายกัณฑ์นครกัณฑ์ 48 พระคาถา เพลงพิณพาทย์ประจำกัณฑ์ คือ เพลงกลองโยน

       วัดจะนัดวันเวลาที่จะจัดงานเทศมหาชาติ ในวัดพระวันใดวันหนึ่งในระหว่างเทศกาลเข้าพรรษา และ บอกบุญกับชาวบ้าน ใครจะรับกัณฑ์เทศกัณฑ์ใดบ้างจนครบทั้ง 13 กัณฑ์ ถ้าคนรับกัณฑ์ไหนมาก  ก็ให้ร่วมเป็นเจ้าภาพกัณฑ์นั้นด้วยกัน

      ก่อนถึงวันเทศมหาชาติ ชาวบ้านจะมาช่วยกันจัดสถานที่ เช่นติดริ้วกระดาษสีหน้าธรรมาสน์เทศน์ ดูสวยงาม บันใดศาลาทุกขั้นจัดแต่งด้วยแผงไม้ระแนงยื่นออกมาเป็นประตู ตัดต้นกล้วยประดับ ประตูละ 2 ต้น ติดริ้วกระดาษสีสันสวยงาม


เทศมหาชาติที่วัดตาลเอน 10 ต.ค.53

       การเทศน์มหาชาติจะเริ่มเทศน์คาถาพันก่อนตั้งแต่เช้ามืด ก่อนเวลาทำบุญเช้าในวันพระที่นัดหมายกัน การเทศน์คาถาพัน หมายถึงการเทศน์มหาชาติที่เป็นภาษาบาลีล้วนๆ จำนวน 1,000 พระคาถา ซึ่งเป็นความรู้ที่สืบต่อกันมาว่า เป็นจำนวนคาถาในเวสสันดรชาดก จากนั้นต่อด้วยกัณฑ์แรก จนครบกัณฑ์
ที่ 13 กินเวลาจนดึก การเทศน์ทุกกัณฑ์จะมีผู้เป็นเจ้าภาพจัดกัณฑ์เทศน์ถวาย เมื่อพระที่ตนรับกัณฑ์เทศน์ขึ้นเทศน์เจ้าภาพจะจุดเทียนบูชาคาถาหว่านข้าวตอก ข้าวสาร ใครเป็นเจ้าภาพกัณฑ์เทศกัณฑ์ใด ก่อนถึงเวลาก็จะหอบหิ้ว หรือหาบข้าวของที่จะใช้ติดกัณฑ์เทศด้วยกระบุงหรือกระจาดมาที่วัด ของที่ใช้ติดกัณฑ์เทศที่เห็นและพอจำได้ ก็มีผลไม้ตามฤดูกาล เช่นกล้วยน้ำว้า หรือกล้วยหอมหวีงามๆ ส้มโอ ส้มเขียวหวาน หรือยกมาติดกัณฑ์เทศกันทั้งเครือก็มี ขนม ข้าวสารและปัจจัยอื่นๆ

       หากใครรับกัณฑ์เทศในช่วยเพลก็จะนำอาหารคาวหวานมาถวายด้วย ยายเคยรับกัณฑ์เทศ แม่ก็ไปด้วยและได้เคยฟังกัณฑ์เทศติดต่อกันไม่น้อยกว่า 3 กัณฑ์จากคำบอกเล่าของผู้ใหญ่ว่าใครได้ฟังเทศน์มหาชาติติดต่อ ทั้ง 13 กัณฑ์ภายในวันเดียวกันหริอบูชาธูปเทียนดอกไม้จำนวน 1,000 เท่ากับจำนวนพระคาถาจะได้พบกับศาสนาพระศรีอาริย์ ได้บุญมาก จนถึงขั้นขึ้นสวรรค์ (อิ่มบุญจริง)

     เมื่อแม่แต่งงานแยกครอบครัวแล้ว ไม่ว่าจะไปอยู่ที่ใดถ้ามีพระมาบิณฑบาตถึง ก็จะใส่บาตรไม่เคยขาด นอกจากไปอยู่ในที่พระมาบิณฑบาตไม่ถึงจึงไม่ได้ใส่ แต่การไปทำบุญที่วัดในวันพระไม่ได้ไปยกเว้นวัดพระใหญ่ๆ ที่เป็นวันหยุดจึงไปได้

      นานๆที่วัดข้างบ้านจะจัดงานมีมหรสพ เพื่อหาเงินสร้างถาวรวัตถุ ที่ผุพังหรือสร้างเพิ่มเติม เท่าที่จำได้ ก่อนย้ายมานั้นไม่เกิน 3 ครั้ง ซึ่งเป็นงานที่มีการเก็บเงินค่าบัตรผ่านประตู เราชาวบ้านที่อยู่บริเวณใกล้เคียงวัด ก็จะออกมาช่วยวัด ทั้งแรงกายแรงใจ และปัจจัยอื่นๆ มากหรือน้อยตามศรัทธา ในเวลากลางวันแม่ก็จะช่วยเป็นลูกมือ ทำดอกไม้บ้าง ทำอาหารบ้าง เวลากลางคืนก็จะนั่งขายบัตรผ่านประตู

       หากเป็นงานทอดกฐิน หรือทอดผ้าป่า เวลากลางคืนก็จะมีมหรสพเช่น ภาพยนตร์ (หนัง) นาฏดนตรี (ลิเก) ให้ดูฟรี เป็นการฉลององค์กฐิน ชาวบ้านก็จะพร้อมใจกันออกมาช่วยงานที่วัดกันทั้งหมู่บ้าน วัดกับชาวบ้านจะผูกพันกัน วัดเป็นศูนย์กลางของหมู่บ้านในทุกชุมชน  เมื่อมีเรื่องราวต่างๆ ไม่ว่าเรื่องดี หรือเรื่องร้ายเกิดขึ้น พระก็จะตีระฆัง เสียงดังกังวาน ถี่ๆครั้ง เรียกชาวบ้าน เมื่อเสียงระฆังดังถี่ขึ้น ถี่ขึ้น ชาวบ้านก็จะวางงานที่ทำอยู่ พากันออกเดินมารวมตัวกันที่วัด รอฟังเรื่องราวที่เกิดขึ้น จากอาจารย์เจ้าอาวาส หรือจากกำนัน ผู้ใหญ่บ้านหรือเจ้าหน้าที่จากอำเภอ มาแจ้งไม่ว่าจะเป็นข่าวดี หรือข่าวร้าย
ก็ตาม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น