วันศุกร์ที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2553

ตำลึง

ตันตำลึง
ตำแยแพ้ตำลึง - ตำแยชุบแป้งทอด
ต้นตำแย


ต้นตำแย

      บางทีการเล่นซนของเด็กๆ ไปเก็บต้นไม้หรือหาของเล่น บังเอิญไปถูกต้นตำแยเข้า ก็จะมีอาการคันคะเยอ  ยิ่งเกาก็ยิ่งคัน ผู้ใหญ่ก็จะเก็บใบตำลึงแก่ๆ มาสักกำมือหนึ่ง ล้างให้สะอาดแล้วโครกกับครกไม่ต้องให้ละเอียดนัก ผสมกับเหล้าขาวเล็กน้อย  ขยำข้นๆให้เข้ากันแล้วทาตามตัวตรงที่ถูกตำแยหรือที่คัน  แอลกอฮอร์นในเหล้าขาวทำให้เย็น  มาผสมใบตำลึง เป็นยาสมุนไพรทำให้หายผื่นคันจากลมพิษได้  (ที่ลูกๆ เป็นกันบ่อยๆ แม่ก็ใช้สมุนไพรใกล้บ้านนี้ถูทาให้ก็หายทุกที)  จนเด็กๆ จะร้องกันเล่นเป็นคำกลอนเลยว่า ”ตำแยแพ้ตำลึง ๆ ตำแยแพ้ตำลึง ๆ ” เป็นที่สนุกสนาน

      เมื่อพูดถึงตำแยมีเรื่องเล่าอีกเมื่อฝนตก  ตำแยเป็นพืชที่ขึ้นง่ายโดยทั่วไปตามทางเดิน ในป่า และตามริมรั้ว  ส่วนใหญ่ผู้ใหญ่จะตัดทิ้ง  เนื่องจากเอาไปใช้ประโยชน์อะไรไม่ได้  แต่ยายของลูกเคยทำอาหารจากยอดอ่อนและใบของตำแยให้แม่กินหลายครั้ง  โดยการนำยอดและใบอ่อนของตำแยมาชุบแป้งทอดให้กิน ก็อร่อยดี และไม่คันเวลากินด้วย  ปกติเราถูกใบตำแยก็จะคันคะเยอ

       ยาย มีวิธีหรือเทคนิคในการเก็บใบและยอดจากต้นตำแยมาชุบแป้งทอดรับประทาน  โดยไม่คันมือและคันคอ คือ เก็บได้เฉพาะเวลาเช้าหลังฝนตกใหม่ๆเมื่อคืน ในขณะที่ยอดและใบตำแยยังชุ่มน้ำค้างอยู่ และนำมาชุบแป้งทอด  แม่กินใบตำแยชุบแป้งทอดหลายครั้งในฤดูฝนก็อร่อยดี  แต่ไม่ได้กินมานานประมาณ 30 กว่าปี (หลังจากมีครอบครัว) และปัจจุบันต้นตำแยก็มีให้เห็นน้อยมากอยู่แล้ว

       พูดถึงผักชุบแป้งทอด  ก็จะนึกถึงผักอีก 2 ชนิด คือ ยอดพริกขี้หนูและใบผักเป็ด ยายจะเก็บยอดอ่อนพริกขี้หนูมีพริกขี้หนูอ่อนๆ และดอกเล็กๆ ติดอยู่ด้วย หรือใบผักเป็ดริมน้ำ   มาทอดให้กินบ่อยๆ ที่เล่าๆมาผักชุบแป้งทอดที่ชอบมาก และหากินจนถึงปัจจุบันคือ ใบผักเป็ดชุบแป้งทอด

ต้นผักเป็ด


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น